วันดินโลก (World Soil Day) วันสำคัญที่สะท้อนพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ ที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

จากการประชุมขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ครั้งที่ ๑๔๔ ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนและร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้งวันดินโลก (อังกฤษ: World Soil Day) ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๙ อีกด้วย

สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ (อังกฤษ: Emeritus Professor Dr. Stephen Nortcliff) กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (อังกฤษ: International Union of Soil Sciences) เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (อังกฤษ: The Humanitarian Soil Scientist) เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ เกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์การสหประชาชาติ จัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะต่างๆ อาทิ การประกาศให้ พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ. ๒๐๑๕) เป็นปีดินสากล (อังกฤษ: International Year of Soils)

ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม นำเสนอประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยสืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลักดันข้อเสนอปีดินสากลต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อให้วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันดินโลก กระทั่งมีการรับรองข้อเสนอดังกล่าว

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับดิน

โครงการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ของพระบามสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ที่นั้น ราษฎร ๗ ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณหมู่ ๒ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๒๖๔ ไร่ เพื่อต้องการให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่ไหนก็พยายามที่จะพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น เนื่องจากผืนดินเสื่อมโทรมไม่สามารถทำการเกษตรได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้ที่ดิน แก่เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทาน ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๒๔

ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพความทุรกันดารของผืนดิน ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างการพังทลายของดินสูง ดินรองรับน้ำได้เพียง ๓๐ มิลลิเมตร มีการปลูกพืชชนิดเดียว (มันสำปะหลัง) ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ผลผลิตพืชที่ได้รับต่ำ จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ณ พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งหมู่บ้านรอบๆ ศูนย์ โดยการวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทั้งยังให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และสนามทดลองทางด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานและนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตาม และพัฒนาอาชีพและพื้นที่ของตน เพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อให้ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งพระองค์ยังมีพระราชดำริให้ส่งเสริมศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้จากอาชีพหลักอีกทางหนึ่งด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงปล่อยลูกปลาสวาย ปลานิล ปลาตะเพียน และลูกกุ้ง ลงในอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก และทรงพระราชปฎิสันถารกับราษฎรเกี่ยวกับลูกสุกร ซึ่งจะพระราชทานแก่สมาชิกโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๒๔

ต่อมาราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก ๔๙๗ ไร่ ผนวกกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ และได้ทรงซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับศูนย์ฯ เพิ่มเติมเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาส่วนพระองค์เขาหินซ้อน เนื้อที่ ๖๕๕ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดของศูนย์ ๑,๘๙๕ ไร่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมากจากพะราชดำริแห่งแรกในจำนวน ๖ ศูนย์ทั่วประเทศ

โครงการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

โครงการพัฒนาพิกุลทอง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อพัฒนาพื้นที่พรุในจังหวัดนราธิวาส โดยมีที่ตั้งโครงการอยู่ที่ ตำบลกะลุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส โครงการนี้ได้รับจัดตั้งขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในระหว่างวันที่ ๑๘ สิงหาคม - ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรโดยทั่วไปในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และความจำเป็นที่จะยกระดับความเป็นอยู่ ภาระเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่จังหวัดให้ดีขึ้น จึงมีพระราชดำริและพระราชกระแสรับสั่งต่อเจ้าหน้าที่และผู้ติดตามเสด็จ ให้พิจารณาปรับปรุงกิจการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่พรุ โดยมีพระราชกระแสรับสั่งต่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานและข้าราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง สรุปความว่า

...ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาส เป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดปี ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งมีเนื้อที่ ทั้งหมดประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ ประชากรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกหมดแล้วยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้เนื่องจากดินมีสารไพไรท์ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนาโดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษา และพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่พรุในโอกาสต่อไป...

หลังจากที่ได้พระราชทานพระราชดำริแล้ว ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างจังหวัดนราธิวาสและสำนักงานเลขานุการ กปร. ในสมัยนั้น เพื่อกำหนดนโยบายและจัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาขึ้น โดยใช้ชื่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานเลขานุการ กปร. ได้นำนโยบายดังกล่าวไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาปัญหาในพื้นที่และความเป็นไปได้ของโครงการ รวมทั้งวางแนวทางในการดำเนินงานโครงการโดยยึดพระราชดำริเป็นแนวทาง เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอโครงการขออนุมัติจาก กปร. ซึ่งต่อมา กปร. อนุมัติหลักการในการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ต่อมาได้กำหนดแนวทางดำเนินงานและจัดทำแผนแม่บทใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานพัฒนาต่อไป

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริในเรื่องต่างๆ โดยเน้นการศึกษา ทดลอง และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พรุ เพื่อนำผลการศึกษาและทดลองที่ประสบผลสำเร็จไปขยายผล โดยมีเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาคือ การพัฒนาคนให้สามารถดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกินและพึ่งตนเองได้เป็นหลัก

โครงการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตามประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ ครอบคลุมพื้นที่ ๒๒,๖๒๗ ไร่ เดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะตัวเนื้อทรายซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นลงมากินน้ำในลำห้วยเป็นจำนวนมาก พื้นที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่าห้วยทราย ต่อมาราษฎรได้เข้ามาอาศัยทำกินและมีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยขาดหลักวิชาการ ภายในระยะเวลาไม่ถึง ๔๐ ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและมีปริมาณลดน้อยลงจนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษา จนเกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ เกิดการการพังทลายของดินค่อนข้างสูง ประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรด ซึ่งต้องใช้สารเคมีปริมาณสูงทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ห้วยทรายว่า "หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด "

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๙

เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ ได้พระราชทานพระราชดำริแก่เจ้าหน้าที่เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้เอนกประสงค์ จัดให้ราษฎรที่เข้าทำกินอยู่เดิม ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ ได้ประโยชน์จากป่าไม้และไม่ทำลายป่าไม้อีกต่อไป มุ่งหมายที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ ศึกษาวิธีทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่าหรือที่เรียกว่าระบบป่าเปียก ให้ราษฎรสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ เพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่ไปด้วย และให้ราษฎรที่เข้ามาทำกินโดยมิชอบ เข้าร่วมกิจกรรมการดูแลรักษาป่าประกอบอาชีพ โดยใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต นอกจากนี้ยังให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อจะให้ประชาชนผู้ยากไร้อยู่รอดและธรรมชาติอยู่รอด

โครงการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ให้พิจารณาจัดตั้งขึ้นบริเวณป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ขอบเขตพื้นที่โครงการประมาณ ๘,๕๐๐ ไร่ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง การวิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่เหมาะสมและเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฎิบัติต่อไป และต่อมา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติม ให้มีการขยายบริการสู่ราษฎรบริเวณโดยรอบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี ๒๕๒๕ ในตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่โครงการ ๓๗,๕๕๑ ไร่ จำนวน ๑๐ หมู่บ้าน ๑,๓๖๗ ครัวเรือน ซึ่งทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้ทำการศึกษาพื้นที่ต้นน้ำให้ได้ผลสมบูรณ์และครบวงจร โดยกำหนดต้นทางเป็นการศึกษาด้านป่าไม้ ปลายทางเป็นการศึกษาด้านประมง มีกิจกรรมที่ดำเนินการหลายประเภทได้แก่ งานพัฒนาแหล่งน้ำ งานพัฒนาที่ดิน งานทดสอบพืช งานเกษตรกรรม อุตสาหกรรม งานปศุสัตว์ งานโคนม งานส่งเสริมการเกษตร ในหมู่บ้านรอบศูนย์ เพื่อนำผลการศึกษาด้านต่าง ๆ มาประยุกต์เป็นวิทยาการอย่างง่าย ๆ และส่งเสริมให้ราษฎรนำไปใช้ในลักษณะของกิจกรรมแบบผสมผสานในพื้นที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพหลักการเกษตร ส่งเสริมด้านการเกษตรอุตสาหกรรม และด้านส่งเสริมการสหกรณ์

โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี

โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการน้อมเกล้าถวายที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๖๙๔ ไร่ ๒ งาน ๓๘ ตารางวา จากราษฎรอดีตเป็นนายตำรวจยศสัญญาบัตร ต่อมา นายสี วรรณเทวี ได้น้อมเกล้าถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก ๖๓ ไร่ ๑ งาน ๓ ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มทางทิศเหนือให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริให้พัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวเป็น ๓ ส่วน คือ ให้ฟื้นฟูสภาพป่า ๑ ดำเนินการพัฒนา ๑ และปล่อยไว้ในสภาพเดิม ๑ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ติดกับพื้นที่โครงการซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาจัดซื้อเพิ่มเติมมีจำนวน ๙๑ ไร่ ๓ งาน ๘๑ ตารางวา ดังนั้น ในขณะนี้พื้นที่โครงการมีจำนวนทั้งสิ้นรวมทั้งสิ้น ๘๔๙ ไร่ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน ณ พื้นที่โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๕ ทรงฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มตามแนวพระราชดำริ โดยการปลูกหญ้าแฝก ณ พื้นที่ลาดชันเชิงเขาด้านทิศเหนือของพื้นที่โครงการ

พื้นที่แห่งนี้แต่เดิมทำเป็นฟาร์มปศุสัตว์และปลูกพืชไร่ มีการใช้ที่ดินอย่างผิดวิธีทำให้หน้าดินเสียหาย ที่ดินถูกชะล้างพังทลายและทำให้เสื่อมโทรมจนเกือบใช้ประโยชน์ไม่ได้ อีกทั้งได้มีการขุดดินลูกรังไปใช้ประโยชน์อีกด้วย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เกิดสภาพความแห้งแล้งโดยทั่วไป จนไม่สามารถปลูกพืชได้หรือผลผลิตลดลง

แปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์ และจักรยานพลังงานน้ำ เมื่อเราปั่นจักยาน น้ำก็จะพุ่งขึ้นมารดแปลงผัก

เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการปรับปรุงที่ดินเสื่อมโทรมแห่งนี้ให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ โดยวิธีการเสริมสร้างแหล่งน้ำปรับปรุงบ่อดิน แก้ปัญหาดินลูกรังและจัดระดับให้เหมาะสมเพื่อให้มีน้ำใช้สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้ พร้อมทั้งฟื้นฟูให้พัฒนาแหล่งน้ำเป็นที่ปลูกไม้ยืนต้นให้มีความชุ่มชื้น สวยงามตามธรรมชาติ รวมทั้งทรงยังแนะนำให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นแนวทางในการปรับปรุงดินให้แก่ราษฎรที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ตลอดจนเป็นรูปแบบสำหรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีปัญหาคล้ายๆกับที่ดินแห่งนี้

โครงการศึกษาทดลองแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้ศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่หมู่บ้านหนองคันจาม ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก สรุปประเด็นสำคัญคือ ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา แปลงที่ ๑ ให้ศึกษาทดลองแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว โดยใช้วิธีทางธรรมชาติ ส่วนในแปลงที่ ๒ ให้พิจารณาใช้ระบบน้ำ และใช้ปูนแก้ปัญหาดินเปรี้ยวได้ นอกจากนั้นให้พิจารณาพัฒนาปรับปรุงดินและส่งเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ด้วย และสำหรับแปลงที่ ๓ ให้จัดทำศูนย์ฝึกอาชีพด้านการเกษตร

นอกจากนี้ ยังใช้วิธีธรรมชาติอย่างการเปลี่ยนถ่ายดินจากแปลงหนึ่งสู่แปลงหนึ่ง เพื่อลดความเปรี้ยวของดิน อีกทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ปูนมาร์ล และสาหร่ายในการปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น และต่อมาก็ได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการศึกษาผลกระทบ ของการใช้เถ้าลอยลิกไนท์ เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวเพิ่มเติมอีกด้ว

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการนำหญ้าแฝก มาใช้ป้องกันการพังทลายของดิน

หญ้าแฝก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Chrysopogon zizanioides) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ เป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกัน แน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีข้อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ ๑๒ ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย ๒ ชนิด ได้แก่

  • กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร ๒ ศรีลังกา สงขลา ๓ และพระราชทาน ฯลฯ
  • กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร ๑ นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น

หลังจากที่ธนาคารโลก (อังกฤษ: World Bank) มีการรณรงค์ให้ใช้หญ้าแฝกในการแก้ปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงได้ทรงนำเรื่องหญ้าแฝกจากเอกสารของธนาคารโลก มาศึกษาต่อ ก่อนจะมีพระราชดำริขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก เริ่มจากการทดลองปลูก ขยายพันธุ์ และนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ในการบำรุงดินและน้ำ ต่อมา ทรงมีพระราชดำรัสเรื่องหญ้าแฝก เมื่อครั้งเสด็จ ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่า

แม้หญ้าแฝก จะเคยถูกมองว่าเป็นวัชพืชไร้ค่า แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงนำมาศึกษา เริ่มจากการทดลองปลูก ทดลองขยายพันธุ์ จนพบว่า เป็นต้นหญ้าที่มีคุณประโยชน์ในการบำรุงรักษาและช่วยแก้ปัญหาเรื่องดินและน้ำ อีกทั้งยีงมีคุณประโยชน์อื่นๆ อีกนานับประการ

ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมดำเนินการขยายพันธุ์ ทำให้มีกล้าหญ้าแฝกเพียงพอด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมหน้าที่ของหญ้าแฝก ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อการรักษาดิน ให้ทุกหน่วยงานและหน่วยงานราชการที่มีศักยภาพในการขยายพันธุ์ ให้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการผลิตกล้าหญ้าแฝก และแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เพียงพอ

— พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เรื่องหญ้าแฝก ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้

  • มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
  • มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
  • หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
  • ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
  • มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
  • ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
  • บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
  • ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
  • ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่างๆ

สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย

  • การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน ๒ เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน ๔-๖ เดือน
  • การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอ และแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหล อาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน ๒ เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำ ควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
  • การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล ๒.๕ เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรีย์วัตถุในดินต่อไป
  • การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแนะระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้น ในช่วงต้นฤดูฝน
  • การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝก จะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้
  • การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง ๑ แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก ๑-๒ แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่น เมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระ ตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระ และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย

การปลูกหญ้าแฝกจะช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดิน ปรับสภาพดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้ง ด้วยลักษณะรากฝอยที่สานกันแน่นและมีความยาวหยั่งลึกลงดิน จะช่วยพยุงดินให้แน่นหนาเหมือนกำแพงที่ทนแรงกัดเซาะ โอบอุ้มความชื้นไว้ใต้ดินลึกเพื่อปรับสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์ ข้อหนาๆ ที่กอต้นนั้นช่วยกรองตะกอนดินและเศษซากต่างๆ ที่ไหลมากับน้ำได้ ชะลอความเร็วและความแรงของน้ำไหลบ่า นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำมาทำแนวกั้นรั้ว ควบคุมมลพิษ ปลูกกักเก็บความชื้นให้ไม้ผล อีกทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำมาทำงานหัตถกรรม อย่าง สานเสื่อ สานตะกร้า ทำมู่ลี่ และทำกระเป๋า เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

แนวพระราชดำริแกล้งดิน

แกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

อันเนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ สมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดช ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส และทรงพบว่า ราษฎรมีความเดือดร้อนหลายเรื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของเกษตร มีการขาดแคลนที่ทํากิน หรือปัญหาในพื้นที่พรุซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปี ถึงแม้สามารถทําให้น้ำแห้งได้ ดินในพื้นที่เหล่านั้นก็ยังเป็นดินเปรี้ยวจัด ทําการเกษตรได้ผลน้อยไม่คุ้มทุน เพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทําการเกษตร และเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ทำให้ดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทําให้เพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จะเห็นได้จากความตอนหนึ่งในพระราชดํารัส ความว่า

...ที่ที่น้ำท่วมนี่หาประโยชน์ไม่ได้ ถ้าเราจะทำให้มันโผล่พ้นน้ำขึ้นมา มีการระบายน้ำออกไป ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชน ในเรื่องของการทำมาหากินอย่างมหาศาล...

พระองค์จึงทรงมีพระราชดําริให้ส่วนราชการต่างๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรให้มากที่สุด และให้คํานึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย พระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะแก้ไขปัญหานี้ให้กับราษฎร จึงกําเนิดโครงการแกล้งดิน ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นหน่วยดําเนินการสนองพระราชดําริ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกํามะถัน พระองค์ทรงมีพระราชดํารัสว่า

...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว...

— พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในพระราชดำริโครงการแกล้งดินศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงได้ดําเนินการสนองพระราชดําริโครงการแกล้งดิน โดยศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการแกล้งดินให้เปรี้ยว ด้วยการทําให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทําปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกํามะถันออกมา ทําให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้นแกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด กระทั่งพืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าว ให้สามารถปลูกพืชได้ จากการทดลองปรับปรุงดินทำให้พบว่า วิธีการปรับปรุงดินตามสภาพของดินและความเหมาะสม มีอยู่ ๓ วิธีการด้วยกัน คือ

  • ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เพราะเมื่อดินหายเปรี้ยว จะมีค่า pH เพิ่มขึ้น หากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟต ก็จะทำให้พืชให้ผลผลิตได้
  • ใช้ปูนมาร์ลผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน
  • ใช้ทั้งสองวิธีข้างต้นผสมกัน

ภาพแสดงขั้นตอนการเกิดดินเปรี้ยวในบริเวณป่าพรุและที่ราบต่ำขอบพรุ ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส

พรุที่มีน้ำขังอยู่ตามธรรมชาติ

เมื่อน้ำระเหยออกไปมากขึ้น ความหนาของดินที่เป็นกรดจัดจะเพิ่มมากขึ้น และชั้นอินทรียวุตถุตอนบนจะบางลง

เมื่อน้ำระเหยออกไปมากขึ้น ความหนาของดินที่เป็นกรดจัดจะเพิ่มมากขึ้น และชั้นอินทรียวุตถุตอนบนจะบางลง

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี ของการทรงงาน พระองค์ทรงสร้างรากฐานและพัฒนาพื้นที่ในประเทศไทยมากมาย เพื่อราษฎรจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนเกิดเป็นความเจริญ ขณะนี้พื้นที่ที่ดินเปรี้ยวจัด มิใช่พื้นที่ไร้ประโยชน์อีกแล้ว แต่สามารถนํามาทําการเกษตรได้ ทั้งปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ อ้อย งา มันเทศ พืชผัก ไม้ผล และไม้ยืนต้น พืชอาหารสัตว์ และขุดบ่อเลี้ยงปลา ได้ผลดีจนนําไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของราษฏรในแถบนั้น ซึ่งต่างพากันสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน มิรู้ลืม

พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงปรารภกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

จากซ้าย:หม่อมเจ้าอานันทมหิดล (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘) แม่ฟ้าหลวง (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙) หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ) ขณะประทับที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา เมืองพุยยี่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. ๑๙๓๙

พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาให้เป็นคนดี ขออัญเชิญความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสดังกล่าวเพื่อให้คนไทยได้น้อมนำมาใช้เป็นหลักในการอบรมบุตรหลานของตน ดังนี้

อันที่จริงเธอก็ชื่อ ภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน ...แม่อยากให้เธออยู่กับดิน พระราชดำรัสในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงปรารภกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ส่งผลให้ไทยมีพระมหากษัตริย์นักพัฒนา เกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ

ต้นไม้นี่มันคล้ายๆ คน ต้นบานชื่นนี้ฉันไม่ได้ปลูกด้วยเมล็ด แต่ไปซื้อต้นเล็กๆ ที่เขาเพาะแล้วมาปลูก แต่มันก็งามและแข็งแรงดี เพราะอะไรหรือ เพราะคนที่เขาขายนั้นเขารู้จักเลือกเมล็ดที่ดี และดินที่เขาใช้เพาะก็ดีด้วย นอกจากนั้นเขายังรู้วิธีว่าจะเพาะอย่างไร ซึ่งฉันไม่สามารถทำได้เช่นเขา เมื่อฉันเอามาปลูก ฉันต้องดูแลใส่ปุ๋ยเสมอ เพราะดินที่นี่ไม่ดี (ที่นี่ หมายถึงพระตำหนักวิลล่าวัฒนา เมืองพุยยี่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ต้องคอยรดน้ำพรวนดินบ่อยๆ ต้องเอาหญ้าและต้นไม้ที่ไม่ดีออก เด็ดดอกใบที่เสียๆ ทิ้ง คนเราก็เหมือนกัน ถ้าพันธุ์ดี เมื่อเป็นเด็ก ก็แข็งแรง ฉลาด เมื่อพ่อแม่คอยสั่งสอน เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนที่เจริญ และดีเหมือนกับต้นและดอกบานชื่นเหล่านั้น

— จากหนังสือดั่งสายธาร ศรีนครินทร์แห่งแผ่นดิน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงปรารภกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถึงความหมายของพระนามภูมิพล ไว้ว่า

อันที่จริงเธอก็ชื่อ ‘ภูมิพล’ ที่แปลว่า ‘กำลังของแผ่นดิน’ ...แม่อยากให้เธออยู่กับดิน

ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเคยรับสั่งว่า

เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดิน และอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน

— พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา