พุทธศาสนา หรือศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้า เป็นศาสดา (คือ ผู้ก่อตั้งศาสนา หรือ ผู้คิดค้น ริเริ่มในการนำคำสอนไปเผยแผ่) มีพระธรรม คือ ธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำออกเผยแผ่ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ (ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมพระพุทธองค์ แต่ทรงเป็นผู้ค้นพบแล้วนำมาประกาศ) มีพระสงฆ์ คือ หมู่สาวกผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช ถือวัตร ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนและกำหนดไว้ รวมเรียกว่าพระรัตนตรัย
ทั้งนี้ พระสงฆ์ในพระรัตนตรัย หมายถึงเฉพาะพระอริยสงฆ์ คือ บุคคลไม่ว่าคฤหัสถ์หรือนักบวช และไม่ว่ามนุษย์หรือเทวดา ที่ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุมรรคผล แต่โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าพระสงฆ์คือภิกษุ หรือภิกษุณี คือ มนุษย์ที่ได้ฟังคำสั่งสอนแล้วเกิดความเลื่อมใสจนสละเรือนออกบวชตามพระพุทธเจ้า เพราะต้องการจะได้บรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้
ศาสนาพุทธยังประกอบด้วยคำสอนสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีงามสำหรับผู้ที่ยังไม่ออกบวช (คฤหัสถ์ คืออุบาสก อุบาสิกา) ซึ่งหากรวมประเภทบุคคลที่นับถือและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาแล้ว จำแนกได้เป็น ๔ ประเภท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือที่เรียกว่าพุทธบริษัท ๔
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม และเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากศาสนาหนึ่งของโลก รองจากศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู ประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธเริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผู้ประกาศศาสนาและเป็นศาสดาของศาสนาพุทธคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะหรือเดือน ๖ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันเรียกว่าพุทธคยา จากนั้นพุทธศาสนาได้แผ่ขยายไปทั่วอินเดีย หลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี จึงแตกเป็นนิกายย่อย โดยนิกายที่สำคัญคือเถรวาท และมหายาน
นิกายในศาสนาพุทธ (อังกฤษ: Schools of Buddhism) คือหมวด, หมู่, พวก นิยมใช้ใน ๒ ความหมาย ดังนี้
ความหมายหนึ่ง เป็นชื่อเรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ที่แยกออกเป็น ๕ หมวด คือ ฑีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย
อีกความหมายหนึ่ง เป็นชื่อเรียกคณะนักบวชในศาสนาเดียวกัน แต่แยกไปเป็นพวกๆ ตามความเห็นที่ไม่ตรงกันซึ่งมีในทุกศาสนา ในพุทธศาสนาก็อย่างเช่นเถรวาท และมหายาน (นิกายพุทธดั้งเดิม) หรือมหานิกาย กับธรรมยุติกนิกาย (นิกายพุทธของไทยในปัจจุบัน แตกนิกายจากเถรวาท )
นิกายดั้งเดิม
นิกายพุทธของไทยในปัจจุบัน แตกนิกายจากเถรวาท
วันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นวันที่มีเหตุการณ์ที่สำคัญ อันเนื่องด้วยพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เหตุการณ์ที่สำคัญดังกล่าว เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า คือพุทธบริษัท ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ให้น้อมรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในหลักที่สำคัญ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจรรโลงให้พระพุทธศาสนา ดำรงคงอยู่สถิตสถาพร เป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตนเองและแก่สัตว์โลกทั้งปวง ซึ่งมิใช่จำกัดอยู่เพียงมนุษยชาติเท่านั้น
ในแต่ละปี เมื่อวันสำคัญทางพุทธศาสนาเวียนมาถึงในแต่ละครั้ง พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า พร้อมใจกันพึงน้อมรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการร่วมชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาตามพระอาราม ศาสนสถานต่างๆ โดยวันสำคัญแต่ละวัน ก็จะมีระเบียบพิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป
วันสำคัญปกติ
วันฉลองในโอกาสพิเศษ
พิธี คือแบบอย่าง แบบแผน หรือรูปแบบต่างๆ ที่พึงปฏิบัติในทางศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาเรียกว่าศาสนพิธี ซึ่งเป็นเรื่องที่มีด้วยกันทุกศาสนา และเป็นเรื่องเกิดขึ้นทีหลังศาสนา กล่าวคือ มีศาสนาเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมีพิธีต่างๆ เกิดตามมาภายหลัง โดยเหตุเกิดศาสนพิธีในพุทธศาสนานี้ เนื่องจากมีหลักการของพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธเจ้าทรงวางไว้ตั้งแต่ในปีที่ตรัสรู้ เพื่อสาวกจะได้ถือเป็นหลักในการออกไปประกาศพระศาสนา เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ มีหลักการสำคัญ ๓ ประการคือ ๑. สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง ๒. สอนให้อบรมกุศลให้พร้อม ๓. สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว เป็นอันว่าพุทธบริษัทต้องพยายามเลิกละความประพฤติชั่วทุกอย่าง จนเต็มความสามารถ และพยายามสร้างกุศลสำหรับตนให้พร้อมเท่าที่จะสร้างได้ กับพยายามชำระจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ เป็นการพยายามทำดี เรียกว่าทำบุญ พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุ คือที่ตั้งอันเป็นทางไว้โดยย่อๆ ๓ ประการ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ คือ ๑. ทาน คือการบริจาคสิ่งของของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๒. ศีล คือการรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อยไม่ล่วงพุทธบัญญัติ ๓. ภาวนา คือการอบรมจิตใจให้ผ่องใสในทางกุศล
บุญกิริยานี้เอง เป็นแนวให้พุทธบริษัทปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวข้างต้น และเป็นเหตุให้เกิดศาสนพิธีต่างๆ ขึ้นโดยนิยม กล่าวคือ ในกาลต่อๆ มา พุทธบริษัทนิยมทำบุญ ไม่ว่าจะปรารภเหตุใดๆ ก็ให้เข้าหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ นี้ โดยเริ่มต้นมีการรับศีล ต่อไปภาวนาด้วยการสวดมนต์เองหรือฟังพระสวดแล้วส่งใจไปตาม จบลงด้วยการบริจาคทานตามสมควร เพราะนิยมทำบุญเป็นการบำเพ็ญความดีดังกล่าวนี้ และทำในกรณีต่าง ๆ กันตามเหตุที่ปรารภ จึงเกิดพิธีกรรมขึ้นมากประการ เมื่อพิธีกรรมใด เป็นที่นิยมและรับรองปฏิบัติสืบต่อมาจนเป็นประเพณี พิธีกรรมนั้นก็กลายเป็นศาสนพิธีขึ้น
พิธีกรรมทางศาสนานั้น เปรียบเสมือนเปลือกของต้นไม้ ต้นไม้ที่ปราศจากเปลือกห่อหุ้ม ย่อมไม่สามารถยืนต้นอยู่ได้
ประเพณีไทย
ประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้นๆ ฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคม ลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติ มีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแปลกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น แต่โดยมากย่อมมีจุดประสงค์ และวิธีการปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเฉพาะส่วนปลีกย่อยที่เสริมเติมแต่งหรือตัดทอนไปในแต่ละท้องถิ่น สำหรับประเพณีไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาและพราหมณ์มาแต่โบราณ
ฮีตสิบสอง แต่เดิมนั้นเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชนชาติลาว ซึ่งรวมถึงประชาชนชาวไทยทางภาคอีสาน ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ฮีตสิบสอง เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่แสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติในแต่ละท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป
ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ฮีต หรือจารีต หมายถึงความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และสิบสอง หมายถึงสิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสอง จึงหมายถึง ประเพณีที่ชนชาติลาว รวมถึงชาวอีสาน ปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผี พิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ล้วนเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชน ได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์กันเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและเพื่อความสมัครสมานสามัคคี รักใคร่ปรองดองกันของคนในท้องถิ่น เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามมาแต่อดีต จวบจนปัจจุบัน
ฟังเอาเด๊อพี่น้อง ฮีตสิบสองของพ่อแม่ มีมาแต่เก่ากี้ ประเพณีตั้งต่อบุญ แต่ก่อนพุ้น พ่อแม่เฮาทำมา สืบฮอยตาวาฮอยยาย อย่าให้หายรักษาไว้ ความเป็นไทยอิสานของเฮานี้ ประเพณีมีคุณค่า วัฒนธรรมนำพา ปฏิบัติมาตั้งแต่เค้า โบราณเจ้าเผิ่นสั่งสอน...
ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)
นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์
สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ
สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น
สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี
๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด
๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม
ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐
ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี
ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน