
พระบรมสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๑ ในราชวงศ์จักรี พระปรมาภิไธย (พระนามเต็มของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้ว) คือ พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา ๓ ยาม ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (นามเดิม:ทองดี ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ) กับพระอัครชายา (หยก) พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา
พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี ราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วพระราชทานนามราชธานีแห่งใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทร์ (คือกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน) พระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา ๓ วัน
พระราชกรณีกิจที่สำคัญในรัชสมัยที่ทรงครองราชย์ คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่า ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ที่เรียกว่าสงครามเก้าทัพ
พระราชประวัติ
พระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่าทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ (วันที่ ๒๐ เดือน ๔ ตามปีจันทรคติ) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี ) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก กับพระอัครชายา (หยก) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ) ครั้นพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา ก็เสด็จออกผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลาย ๑ พรรษา แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ดังเดิม เมื่อพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา พระองค์เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่งหลวงยกกระบัตร ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และได้สมรสกับคุณนาค (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
รับราชการในสมัยกรุงธนบุรี
ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง แก่พม่าแล้ว พระยาตาก (สิน ) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ในขณะนั้นนายทองด้วง มีอายุ ๓๒ ปี ได้เข้าถวายตัวรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามคำชักชวนของน้องชายพระมหามนตรี (บุญมา ) โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชริน (พระราชวรินทร์ ) เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และย้ายมาอาศัยอยู่ที่บริเวณวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จขึ้นไปตีเมืองพิมาย ซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเจ้าเมืองพิมายอยู่ พระราชรินและพระมหามนตรีได้รับพระราชโองการให้ยกทัพร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย หลังจากการศึกในครั้งนี้ พระราชรินได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จที่มีความชอบในการสงครามครั้งนี้
-Wars-with-Burma.jpg)
ทัพของเจ้าพระยาจักรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ) ขณะทำศึกกับพม่า ภาพจากหนังสือเรียนภาษาไทย ป.๕ เล่ม ๒ โดยอ.รัชนี ศรีไพรวรรณ (หลักสูตรภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑) บทที่ ๑๒ เกียรติศักดิ์นักรบไทย หน้า ๑๖
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพระฝาง สำเร็จแล้ว มีพระราชดำริว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) นั้นมิแกล้วกล้าในการสงคราม ดังนั้น จึงโปรดตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ ขึ้นเป็นพระยายมราช เสนาธิบดีกรมพระนครบาล โดยให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรีแขกถึงแก่กรรมแล้วพระยาอภัยรณฤทธิ์ จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก พร้อมทั้งโปรดให้เป็นแม่ทัพเพื่อไปตีกรุงกัมพูชา โดยสามารถตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ และเมืองพุทไธเพชร (เมืองบันทายมาศ) ได้ เมื่อสิ้นสงคราม สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้นักองค์รามาธิบดีไปครองเมืองพุทไธเพชร ให้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชา และมีพระดำรัสให้เจ้าพระยาจักรี และพระยาโกษาธิบดี อยู่ช่วยราชการที่เมืองพุทไธเพชรจนกว่าเหตุการณ์จะสงบราบคาบก่อน
เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับพม่า เขมร และลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก และได้รับพระราชทานเสลี่ยงงากลั้นกลดและมีเครื่องทองต่าง ๆ เป็นเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ บนกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชนิพนธ์บทละครในรัชกาลที่ ๑
ปราบดาภิเษก
ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ขึ้นปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา แล้วประกาศเฉลิมฉลองพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หลังจากนั้น ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปี ได้เฉลิมพระเกียรติพระองค์โดยถวายพระราชสมัญญามหาราช ต่อท้ายพระปรมาภิไธย พระองค์ทรงตระหนักถึงการขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้ว่า ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการแสดงพระราชปณิธานของพระองค์อย่างชัดเจนว่า
ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑเสมา รักษาประชาชนและมนตรี
สวรรคต

พระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ ๑ ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า
หลังจากการฉลองวัดพระแก้ว แล้ว ก็ทรงป่วยด้วยพระโรคชรา พระอาการทรุดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปี
พระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงินประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๕๔ พระเมรุมาศซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจักให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ชำระกฎหมายเก่า แล้วรวบรวมเป็นประมวลกฎหมายขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้ว ทรงโปรดให้เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน) เป็นราชธานี และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี ปกครองราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ (วันจักรี) ภายหลังการเสด็จเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและทรงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ที่เรียกว่าสงครามเก้าทัพ
นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่า ที่มีมาแต่ครั้งโบราณ แล้วรวบรวมเป็นประมวลกฎหมายขึ้นเมื่อ จุลศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๗ โปรดให้เรียกว่ากฎหมายตราสามดวง ให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกสามชุด แต่ละชุดประทับตรา ๓ ดวง คือ ตราพระราชสีห์ (สำหรับตำแหน่งสมุหนายก) ๑ ตราพระคชสีห์ (สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม) ๑ และตราบัวแก้ว (สำหรับตำแหน่งโกษาธิบดี หมายถึง พระคลัง ซึ่งดูแลรวมทั้งกิจการด้านต่างประเทศ) ๑ ไว้ทุกเล่ม เก็บไว้ ณ ห้องเครื่องชุดหนึ่ง หอหลวงชุดหนึ่ง และศาลหลวงอีกชุดหนึ่ง สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง
กฎหมายตราสามดวงเป็นกฎหมายหลักของประเทศที่ใช้บังคับมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะเวลานานถึง ๑๐๓ ปี และได้เลิกใช้เมื่อมีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลตามแบบประเทศมหาอำนาจยุโรป
การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

แผนที่กรุงเทพมหานคร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ค.ศ. ๑๘๐๐
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระราชกรณียกิจประการแรกที่สำคัญยิ่ง คือ ทรงโปรดให้ย้ายพระนครหลวง มาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องกับกรุงเก่าธนบุรี พระนครเดิม ด้วยมีพระราชดำริว่าเห็นว่า ราชธานีเดิมที่ตั้งอยู่ ณ กรุงธนบุรี นั้น มีทำเลไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองหลวงถาวร ด้วยเหตุที่ทรงคาดคะเนได้ว่า ไม่ช้า พม่าก็จะต้องยกทัพมาตีไทย ซึ่งเพิ่งตั้งตัวขึ้นใหม่อีก กรุงธนบุรีประกอบด้วยอาณาเขตสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเป็นเมืองอกแตก ทำนองเดียวกับเมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยต้องทรงรักษามาแล้ว เมื่อคราวศึกอะแซหวุ่นกี้ ลำบากทั้งการลำเลียงอาหาร และอาวุธยุทธภัณฑ์ ตลอดจนการสับเปลี่ยนทหารและชาวเมือง ให้เป็นเวรรักษาหน้าที่ป้องกันบ้านเมือง อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร จึงทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นหัวแหลมฝั่งเดียว เอาแม่น้ำเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ แล้วขุดคลองขึ้นเป็นคูเมืองด้านทิศเหนือและตะวันออก เมืองหลวงใหม่นี้ก็จะมีน้ำล้อมรอบ เป็นชัยภูมิรับศึกได้อย่างดี โปรดให้ตั้งพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ และให้ก่อสร้างพระราชวังล้อมด้วยไม้ระเนียดไว้ก่อน พอให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕

พระบรมมหาราชวัง เมื่อมองจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๑๔๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังและสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อก่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ จึงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) จากพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถ และเมื่อสร้างพระนครแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ โปรดให้กระทำพิธีราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา ๓ วัน
เมื่อเสร็จสิ้นการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ว่ากรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ หรือเรียกอย่างสังเขปว่ากรุงรัตนโกสินทร์ (ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงสร้อยบวรรัตนโกสินทร์ เป็นอมรรัตนโกสินทร์ ) หรือที่เรียกกันว่ากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งต่าง ๆ อันมีความสำคัญต่อการสถาปนาราชธานี ได้แก่ ป้อมปราการ คลอง ถนนและสะพานต่าง ๆ มากมาย
การป้องกันราชอาณาจักร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด ๗ ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่

แผนที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ค.ศ. ๑๘๐๙
- สงครามครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๒๗ สงครามเก้าทัพ
สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่าคือ สงครามเก้าทัพ โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญา ของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบอาณาจักรสยาม จึงรวบรวมไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน กรีธาทัพจะเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น ๙ ทัพใหญ่ เข้าตีจากกรอบทิศทาง ส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง ๗๐,๐๐๐ คนเศษเท่านั้น
ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
- สงครามครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๒๙ สงครามท่าดินแดงและสามสบ
ในสงครามครั้งนี้ ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุด โดยแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีพม่าที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ หลังจากรบกันได้ ๓ วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่างๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ เขมร และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมืองกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเประก์

เสาชิงช้า ตั้งอยู่หน้า วัดสุทัศน์เทพวราราม รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ เพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าใน พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย
- สงครามครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองลำปางและเมืองป่าซาง
หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้แก่สยาม ก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๖,๐๐๐ นาย มาช่วยเหลือและขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
- สงครามครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองทวาย
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เกณฑ์ไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ
- สงครามครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๓๓๖ สงครามตีเมืองพม่า
ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
- สงครามครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๓๔๐ สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่
เนื่องจากสงครามในครั้งก่อนๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงทรงรับสั่งไพร่พล ๕๕,๐๐๐ นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น ๗ ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น ๔๐,๐๐๐ นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
- สงครามครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๓๔๖ สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒
ในครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑ รูปอุณาโลม ผูกตรานี้ขึ้นในวโรกาสกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๐๐ ปี
พระราชลัญจกร
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นตรางารูป "ปทุมอุณาโลม" หรือ "มหาอุณาโลม" หมายถึง ตาที่สามของพระศิวะ ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีอักขระ "อุ" แบบอักษรขอมอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวอันเป็นดอกไม้ที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ตราอุณาโลมที่ใช้ตีประทับบนเงินพดด้วงมีรูปร่างคล้ายสังข์ทักษิณาวรรต หรือ สังข์เวียนขวา มีลักษณะเป็นม้วนกลมคล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า "ด้วง" อยู่ในกรอบลายกนก เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระพุทธรูปประจำพระองค์
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ตามวันพระบรมราชสมภพ สร้างราว พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๑๑ สร้างด้วยทองคำ บาตรลงยา สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบรมอัยกาธิราช สูง ๒๙.๕๐ เซนติเมตร ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน
พระพุทธรูปประจำรัชกาล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ภายใต้พระเศวตฉัตร ๓ ชั้น สร้างราว พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔ หน้าตักกว้าง ๘.๓ ซ.ม. สูงเฉพาะองค์พระ ๑๒.๕ ซ.ม. สูงรวม ๔๖.๕ ซ.ม. ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ปางอุ้มบาตร ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) สร้างโดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)
พระปรมาภิไธย
เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี แล้ว พระองค์มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า
พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว
สืบเนื่องมาจากพระปรมาภิไธย ที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ นี้เป็นพระปรมาภิไธยเดียวกับพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ๓ พระองค์ ได้แก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง ), สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชษฐา ) และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ) ดังนั้น พระองค์จึงเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ออกพระนามรัชกาลที่ ๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามนามของพระพุทธรูปที่ทรงสร้างอุทิศถวาย และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เพิ่มพระปรมาภิไธยแก่สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจารึกลงในพระสุพรรณบัฏ ว่า
พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะเชียงแสน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปี รัฐบาลได้จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ในการนี้รัฐบาลและปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์โดยถวายพระราชสมัญญามหาราช ต่อท้ายพระปรมาภิไธย ออกพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ลำดับพระบรมนามาภิไธย และพระปรมาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- พ.ศ. ๒๒๗๕ - พ.ศ. ๒๓๐๑ ทองด้วง
- พ.ศ. ๒๓๐๑ - พ.ศ. ๒๓๑๑ หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
- พ.ศ. ๒๓๑๑ พระราชริน
- พ.ศ. ๒๓๑๑ - พ.ศ. ๒๓๑๒ พระยาอภัยรณฤทธิ์
- พ.ศ. ๒๓๑๒ - พ.ศ. ๒๓๑๓ พระยายมราช
- พ.ศ. ๒๓๑๓ - พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้าพระยาจักรี
- พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก
- พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มหากษัตริย์ศึก
- พ.ศ. ๒๓๒๕ - พ.ศ. ๒๓๕๒
- พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์บรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอักนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรบรมาธิเบศโลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร (พิธีราชาภิเษก)
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้ออกพระนาม)
- พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เพิ่มพระปรมาภิไธยแก่สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจารึกลงในพระสุพรรณบัฏ)
- พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)
- พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สำหรับใช้กับประเทศโลกตะวันตก)
- พ.ศ. ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปี)

กลุ่มพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เมื่อมองจากลานพระบรมมหาราชวัง
ลำดับประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ
- พ.ศ. ๒๒๗๙
- ๒๐ มีนาคม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชสมภพที่กรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิม ทองด้วง
- พ.ศ. ๒๓๒๕
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต
- ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
- สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี
- โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ขึ้นเป็นที่ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองอิน ขึ้นเป็นที่ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขฝ่ายหลัง
- องเชียงสือ (ญวน) และนักองค์เอง (เขมร) ขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
- โปรดให้อาลักษณ์คัดนิทานอิหร่านราชธรรม
- พ.ศ. ๒๓๒๖
- กำหนดระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอุณรุท
- เริ่มงานสร้างพระนคร ขุดคูเมืองทางฝั่งตะวันออก สร้างกำแพงและป้อมปราการรอบพระนคร
- สร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๓ ใน ๔ ของพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ในวัดโพธิ์ วัดประจำรัชกาลที่ ๑
- พ.ศ. ๒๓๒๗
- โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากหอพระแก้วในพระราชวังเดิม แห่ข้ามมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถในพระราชวังใหม่ พระราชทานนามพระอารามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้า
- สงครามเก้าทัพ พระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญา ของพม่า รวบรวมไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน กรีธาทัพจะเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น ๙ ทัพใหญ่ ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม กองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินไปทุกทัพ
- พ.ศ. ๒๓๒๘
- งานสร้างพระนครและปราสาทราชมณเฑียรสำเร็จเสร็จสิ้น
- พระราชทานนามของราชธานีใหม่
- พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามรบพม่าที่ท่าดินแดง
- ทรงพระราชนิพนธ์ นิราศรบพม่าท่าดินแดง
- โปรตุเกส ขอเข้ามาเจริญพระราชไมตรี
- สหราชอาณาจักร เช่าเกาะปีนัง จากพระยาไทรบุรี
- พ.ศ. ๒๓๓๐
- องเชียงสือ เขียนหนังสือขอถวายบังคมลา ลอบหนีไปกู้บ้านเมือง
- อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานภายในพระราชวังบวรสถานมงคล

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (ในอดีตบางทีก็เรียกว่าวัดเสาชิงช้า ) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐
- พ.ศ. ๒๓๓๑
- โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎก ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
- พ.ศ. ๒๓๓๓
- องเชียงสือ กู้บ้านเมืองสำเร็จและจัดต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาถวาย
- พ.ศ. ๒๓๓๗
- ทรงอภิเษกให้นักองค์เอง เป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ไปครองประเทศกัมพูชา
- พ.ศ. ๒๓๓๘
- โปรดเกล้าฯ ให้ชำระพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทานุมาศ
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาพิชัยราชรถ
- พ.ศ. ๒๓๓๙
- งานสมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
- พ.ศ. ๒๓๔๐
- ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่อง รามเกียรติ์

อีกมุมหนึ่งของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๒
- พ.ศ. ๒๓๔๒
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเวชยันตราชรถ
- พ.ศ. ๒๓๔๔
- ฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสระเกศ
- ฟื้นฟูการเล่นสักวา
- พ.ศ. ๒๓๔๕
- ราชาภิเษกพระเจ้าเวียดนามยาลอง (องเชียงสือ)
- พ.ศ. ๒๓๔๗
- โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ชำระกฎหมาย จัดเป็นกฎหมายตราสามดวง ขึ้น
- พ.ศ. ๒๓๔๙
- ทรงอภิเษกให้นักองค์จันทร์ เป็นสมเด็จพระอุทัยราชา ครองกรุงกัมพูชา
- พ.ศ. ๒๓๕๐
- เริ่มสร้างวัดสุทัศน์เทพวราราม
- พ.ศ. ๒๓๕๒
- ได้ริเริ่มให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย โปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
- เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
|
![]() พระบรมสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
|
---|---|
พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์ |
|
ครองราชย์ ๒๗ ปี ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ |
|
พิธีราชาภิเษก | ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระราชวังหลวง |
พระปรมาภิไธย | พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก |
พระบรมนามาภิไธย | ทองด้วง |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์จักรี |
พระราชสมภพ | ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ อาณาจักรอยุธยา |
สวรรคต | ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ (๗๓ พรรษา) พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระราชวังหลวง |
พระราชบิดา | สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก |
พระราชมารดา | พระอัครชายา (หยก) |
พระบรมราชินี | สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี |
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล |
|
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร | พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร |
วัดประจำรัชกาล | วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร |
วันสำคัญ | ๖ เมษายน วันจักรี วันรำลึกถึงที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี |
- ที่มา :
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี (ภาษาไทย)
- Rama I วิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี (ภาษาอังกฤษ)