รัตนโกสินทร์ สยามและไทย

สัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรี

ราชวงศ์จักรี เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรไทยต่อจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระนามเดิมทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ยุคของราชวงศ์นี้ เรียกว่า "ยุครัตนโกสินทร์" และด้วยความเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัยของโลก เป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์ทรงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบการปกครองบ้านเมือง เปลี่ยนชื่อจากรัตนโกสินทร์ เป็นสยาม ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และเปลี่ยนเป็นไทย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘

ที่มาของชื่อและสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์ ชื่อของราชวงศ์จักรี มีที่มาจากบรรดาศักดิ์ "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ " ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี คำว่า "จักรี" นี้พ้องเสียงกับคำว่า "จักร" และ "ตรี" ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระวิษณุ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ ๑ สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน

พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ โดยทรงรับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แต่ในทางนิตินัยถือว่าพระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

พระบรมสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๑ ในราชวงศ์จักรี พระปรมาภิไธย (พระนามเต็มของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้ว) คือ พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา ๓ ยาม ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (นามเดิม:ทองดี ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ) กับพระอัครชายา (หยก) พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา

พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี ราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วพระราชทานนามราชธานีแห่งใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทร์ (คือกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน) พระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา ๓ วัน

พระราชกรณีกิจที่สำคัญในรัชสมัยที่ทรงครองราชย์ คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่า ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ที่เรียกว่าสงครามเก้าทัพ

พระบรมสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่าฉิม (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) พระราชสมภพเมื่อวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน เวลาเช้า ๕ ยาม ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑)

พระปรมาภิไธย (พระนามเต็มของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้ว) คือ พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ปีมะเส็ง ขณะมีพระชนมายุได้ ๔๒ พรรษา (บรรดาศักดิ์เดิมของพระองค์ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในแผ่นดินพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑)

พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขา ทั้งทางด้านประติมากรรม ด้านการดนตรี โดยเฉพาะในด้านวรรณคดี จนอาจเรียกได้ว่ายุคนี้เป็นยุคทองของวรรณคดีไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด จนมีคำกล่าวว่า "ในรัชกาลที่ ๒ นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด " กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์เองแล้ว ยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓), สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, สุนทรภู่, พระยาตรัง และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเล่ม เช่น รามเกียรติ์ตอนลักสีดา, วานรถวายพล, พิเภกสวามิภักดิ์, สีดาลุยไฟ นอกจากนี้ยังมีพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดกลอนบทละครรำ

พระบรมสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๓ ในราชวงศ์จักรี พระองค์มีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้าพระนามว่าหม่อมเจ้าชายทับ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขณะนั้น พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอิศรสุนทร ) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาไลย ) ทรงเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม เวลาค่ำ ๑๐.๓๐ น. (สี่ทุ่มครึ่ง) ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ ณ พระราชวังกรุงธนบุรี (บ้างก็เรียกว่าพระราชวังเดิม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระองค์ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีวอก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ และทรงประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย (พระนามเต็มของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้ว) ของพระองค์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (บรรดาศักดิ์เดิมของพระองค์ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในแผ่นดินสมเด็จพระชนกนาถพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒)

เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงกำกับราชการกรมท่า (ในรัชกาลที่ ๒) ขณะนั้น พระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ทรงรอบรู้กิจการบ้านเมืองดี ทรงปราดเปรื่องในทางกฎหมาย การค้าและการปกครอง เหตุนี้ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่าพระบิดาแห่งการค้าไทย พระบิดาแห่งการพาณิชย์นาวีไทย และพระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา