
พระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑ - ๑๐
ราชวงศ์จักรี (อังกฤษ: Chakri dynasty) เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรไทยต่อจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบรมนามาภิไธย ในรัชกาลที่ ๑ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๕) ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์แรก (พระนามเดิมทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี (กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน) ยุคของราชวงศ์นี้ นิยมเรียกว่ายุครัตนโกสินทร์
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัยของโลก เป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์ทรงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบการปกครองบ้านเมือง เปลี่ยนชื่อจากรัตนโกสินทร์ เป็นสยาม ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และเปลี่ยนเป็นไทย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘
พระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงรับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แต่ในทางนิตินัยถือว่าได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ประวัติความเป็นมา
ที่มาของชื่อและสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์
ชื่อของราชวงศ์จักรี มีที่มาจากบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี คำว่าจักรี นี้พ้องเสียงกับคำว่าจักร และตรี ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระวิษณุ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักร และพระแสงตรี ไว้ ๑ สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน
พระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี
จะกล่าวถึงเจ้านายจำพวกซึ่งเป็นปฐมเป็นต้นแซ่ต้นสกุลเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์แลเจ้าราชินิกุลที่เรียกนามว่าคุณ ว่าหม่อม มีบรรดาศักดิ์เนื่องในพระบรมราชวงศ์นี้ ซึ่งบัดนี้เป็นจำพวกต่าง ๆ อยู่ จะให้รู้แจ้งว่าเนื่องมาแต่ท่านผู้ใด พระองค์ใด เป็นเดิมแต่แรกตั้งกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา นี้มา พึงรู้โดยสังเขปว่าบุรุษนารีมีบรรดาศักดิ์ ซึ่งเรียกว่าเป็นจำพวกเจ้า คือเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ทั้งปวงนั้น ล้วนปฏิพัทธ์พัวพันสืบต่อลงมาแต่องค์สมเด็จพระมหาไปยกาธิบดี คือ องค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระเจ้าหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรโมรุถชามหาจักรีบรมนาถ ซึ่งปรากฏพระนามในบัดนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปฐมบรมอัครมหาราชาธิราชในพระบรมมหาราชวัง
จึงนับได้ว่าสมเด็จพระมหาไปยกาธิบดี หรือสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เป็นพระมหาชนกพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี และเป็นเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรี พระองค์แรกอย่างแท้จริง โดยพระมหาสังข์ เดิม ซึ่งเป็นพระมหาสังข์ที่ใช้บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งปัจจุบันใช้รดน้ำในพระราชพิธีมงคลให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น
รายพระนามพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี
ลำดับ | พระบรมสาทิสลักษณ์/พระนาม | ขึ้นครองราชย์/สิ้นสุด | ครองราชย์ |
---|---|---|---|
ร.๑ |
![]() พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ | ๒๗ ปี |
ร.๒ |
![]() พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย |
๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ - ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ | ๑๕ ปี |
ร.๓ |
![]() พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว |
๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ | ๒๖ ปี ๘ เดือน ๑๒ วัน |
ร.๔ |
![]() พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ | ๑๗ ปี |
ร.๕ |
![]() พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ | ๔๒ ปี |
ร.๖ |
![]() พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ | ๑๕ ปี ๓๔ วัน |
ร.๗ |
![]() พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว |
๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (๒๔๗๘) (สละราชสมบัติ) | ๘ ปี ๙๖ วัน |
ร.๘ |
![]() พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล |
๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (๒๔๗๘) - ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ | ๑๒ ปี ๙๙ วัน |
ร.๙ |
![]() พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช |
๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ | ๗๐ ปี ๑๒๖ วัน |
ร.๑๐ |
![]() สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร |
๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ - ปัจจุบัน | ยังอยู่ในราชสมบัติ |
ดูบทความหลักที่: รัตนโกสินทร์ สยามและไทย
พระบรมวงศานุวงศ์

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส
พระบรมวงศานุวงศ์ไทยในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระราชสมภพเมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๕ ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวีภายในพระบรมมหาราชวัง - สวรรคตเมื่อ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ณ วังสระปทุม) ต้นราชสกุลมหิดล กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พระนามเดิม: สังวาลย์ ตะละภัฏ, พระนามที่นิยมเรียกกันว่าสมเด็จย่า และชาวไทยภูเขาได้ถวายพระสมัญญานามว่าแม่ฟ้าหลวง, พระราชสมภพ: ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ณ จังหวัดนนทบุรี - สวรรคต: ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ณ กรุงเทพมหานคร) โดยสมเด็จพระบรมราชชนก นั้นเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) ถือเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่เดิมสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และครอบครัว ใช้นามสกุลว่าสงขลา ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานนามสกุลสำหรับผู้สืบสายพระบรมราชวงศ์ชั้น ๕ ว่ามหิดล เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามพระองค์ว่ากรมหลวงสงขลานครินทร์ หรือพระราชบิดา และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่าเจ้าฟ้าทหารเรือ และพระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่าเจ้าฟ้ามหิดล
เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเสด็จถึงจังหวัดเชียงใหม่ พระองค์มีความเอาใจใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่าหมอเจ้าฟ้า
หลังการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ ๘) พระอนุชาคือพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙) จึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกัน และภายหลังได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร) พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร (สนิทวงศ์) มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีพระองค์ปัจจุบัน
ราชวงศ์จักรี |
|
![]() สัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรี |
|
---|---|
ช่วงระยะเวลาปกครอง พ.ศ. ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน |
|
พระราชอิสริยยศ | พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - พ.ศ. ๒๓๙๙) |
พระมหากษัตริย์สยาม (พ.ศ. ๒๓๙๙ - พ.ศ. ๒๔๙๒) | |
พระมหากษัตริย์ไทย (พ.ศ. ๒๔๙๒ - ปัจจุบัน) | |
ปกครอง | ราชอาณาจักรไทย |
เชื้อชาติ | ดั้งเดิม ไทย จีน และมอญ ภายหลังเพิ่มเปอร์เซีย |
สาขา | ๘๔ ราชสกุล |
๔๒ บวรราชสกุล | |
จำนวนพระมหากษัตริย์ | ๑๐ พระองค์ |
ประมุขพระองค์แรก | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร.๑ |
ประมุขพระองค์ปัจจุบัน | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ร.๑๐ |
สถาปนา | พ.ศ. ๒๓๒๕ |
ราชวงศ์ก่อนหน้า | ราชวงศ์ธนบุรี (กรุงธนบุรี) |
วันสำคัญ | ๖ เมษายน วันจักรี วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ |
- ที่มา :
- ราชวงศ์จักรี วิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี (ภาษาไทย)
- Chakri dynasty วิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี (ภาษาอังกฤษ)
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระนามเดิมทองดี เป็นสมเด็จพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เนื่องด้วยทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนกในรัชกาลที่ ๑) ประดิษฐานอยู่ที่ เขาสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ประสูติที่บ้านสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี ทรงเป็นบุตรคนโตของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย (บ้างก็ว่า กรมนา) ในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีพระคลังในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นออกพระวิสุทธสุนทร และได้เดินทางไปถวายพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ทรงรับราชการในกรมมหาดไทย รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพินิจอักษร และพระอักษรสุนทรศาสตร์ ในตำแหน่งเสมียนตรากรมมหาดไทย มีหน้าที่ร่างพระราชสาส์นโต้ตอบกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเก็บรักษาพระราชลัญจกร
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เสกสมรสกับสองพี่น้องบุตรีของคหบดีชาวจีน คนพี่ชื่อว่าดาวเรือง (หรือ หยก) ส่วนคนน้อง ไม่ทราบนาม ตั้งบ้านเรือนอยู่ภายในกำแพงพระนคร ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณป้อมเพชร ซึ่งเป็นย่านอาศัยของชาวจีน
จังหวัดอุทัยธานี ได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ประดิษฐานอยู่ ณ เขาแก้ว (เขาสะแกกรัง-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดขนานกับแม่น้ำสะแกกรัง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
พระบรมนามาภิไธยและพระปรมาภิไธย

ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
พระบรมนามาภิไธย หมายถึง พระนามเดิมของพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ
ส่วนพระปรมาภิไธย มาจากศัพท์ ๓ คำ คือ พระ + ปรม + อภิไธย แปลว่าชื่ออันประเสริฐยิ่ง หมายถึงพระนามของพระมหากษัตริย์ราชเจ้า ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑ แล้วใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
พระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี แต่ละพระองค์ล้วนยาว ๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง เช่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ดังนั้น การเอ่ยอ้างพระปรมาภิไธย จึงมักกล่าวแต่เพียงคำนำหน้าที่เรียกกันว่าพระราชฐานันดรนาม ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทร หรือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร แล้วต่อด้วยพระปรมาภิไธย ประโยคต้นประโยคเดียว จากนั้นทำเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) ไว้ แล้วต่อด้วยสร้อยพระปรมาภิไธย ประโยคท้าย เช่น รัชกาลที่ ๙ อาจออกขานพระปรมาภิไธย เพียงว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
จะเห็นได้ว่า พระปรมาภิไธยเต็ม ของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ก็ดี พระปรมาภิไธยย่อจากพระสุพรรณบัฏ ก็ดี หรืออักษรพระปรมาภิไธยย่อ ๓ ตัว (ทั้งนี้ อักษรพระปรมาภิไธยย่อของบางพระองค์จะซ้ำกัน เพื่อให้ทราบว่าเป็นรัชกาลใด เมื่อประดิษฐ์เป็นตรา ผู้ประดิษฐ์ตรา จะเขียนหมายเลขประจำรัชกาลไว้ ระหว่างพระจอนของพระมหาพิชัยมงกุฎ ) ก็ดี ล้วนเป็นพระนามที่พรรณนาถึงพระคุณของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นั้น ๆ ซึ่งประพันธ์ถวายด้วยบทร้อยแก้วอันไพเราะเพราะพริ้ง อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติไทย
ดูบทความหลักที่: พระปรมาภิไธย
ราชสกุลมหิดล

ตราประจำราชสกุลมหิดล
ราชสกุลมหิดล เป็นราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นั้น สามารถพบได้ ๒ แบบ คือมหิดลอดุลเดช และมหิดลอดุลยเดช โดยเมื่อแรกเริ่มนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระนามแก่พระองค์ในการสมโภชเดือนว่ามหิดลอดุลเดช ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาได้ ๑๒ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ และพระราชทานพระสุพรรณบัฏ ขึ้น พร้อมกันนี้ พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่กรมขุนสงขลานครินทร์ โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎ ในครั้งนี้ว่ามหิดลอดุลยเดช
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระนามกรมของพระองค์ขึ้นเป็นกรมหลวงสงขลานครินทร์ (เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐรามาธิบดินทรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระนามของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏจึงกลับมาใช้ว่ามหิดลอดุลเดช อีกครั้ง)
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามสกุลสำหรับผู้สืบสายพระบรมราชวงศ์ชั้น ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายพระโลหิตจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้ใช้ราชสกุลว่ามหิดล จนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดาว่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และในสมัยปัจจุบันการเขียนพระนามของพระองค์ก็นิยมเขียนว่ามหิดลอดุลยเดช
— — ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒