กฐิน เป็นประเพณีที่อยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนชาวไทยมาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย พิธีทอดกฐินมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ อีกทั้งมีชื่อเรียกแยกย่อยแตกต่างกันไป การถวายผ้ากฐินของพระมหากษัตริย์ไทยจัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญมาตั้งแต่โบราณ

กฐิน (บาลี: กะ-ฐิ-นะ) เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวร ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกัน และเป็นผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยไม่ขาดพรรษา ทั้งนี้ การถวายผ้ากฐินนั้น จัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) กฐินไม่ได้หมายถึงเงินหรือทอง ตามที่เข้าใจกันเป็นส่วนมากในปัจจุบัน

อนึ่ง กฐินยังจัดเป็นกาลทาน หมายถึง มีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ตามพระธรรมวินัย มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัดเพียง ๑ เดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว กล่าวคือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกว่ากฐินกาล คือระยะเวลาทอดกฐิน หรือเขตกฐิน (ถ้าพ้นเขตกฐินแล้ว ก็ไม่เป็นกฐิน ไม่ได้อานิสงส์กฐิน จะได้แต่เป็นอานิสงส์ของสังฆทาน หรือผ้าบังสกุล) โดยแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น

กฐินเป็นพระพุทธานุญาตพิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ เช่นการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือการถวายน้ำปานะ เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงประทานอนุญาต เมื่อมีผู้ศรัทธามาทูลขอพระพุทธานุญาต เรื่องถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายน้ำปานะ แต่เรื่องกฐินไม่มีผู้ใดมาทูลขอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระพุทธานุญาตด้วยพระองค์เอง พุทธประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงพุทธานุญาตให้พระภิกษุกรานกฐินนั้น คือ เพื่อให้พระภิกษุได้พักผ่อน พอพื้นดินแห้งสมควรแก่การเดินทาง ๑ อนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ให้ได้เปลี่ยนผ้าครอง ๑ เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ ได้ช่วยกันตัดเย็บจีวรเป็นผ้ากฐิน ๑

ปฐมเหตุที่ทรงอนุญาตกฐิน

ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร หรือวัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา (อยู่ด้านทิศปัจฉิมในแคว้นโกศล) ประมาณ ๓๐ รูป ล้วนถือธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อ อาทิเช่น อารัญญิกังคธุดงค์ คือถือการอยู่ป่าเป็นวัตร, ปิณฑปาติกังคธุดงค์ คือถือการบิณฑบาตเป็นวัตร, และเตจจีวริกังคธุดงค์ คือถือผ้า ๓ ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร เป็นต้น อันมีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความตั้งใจจะพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งจำพรรษาในเมืองสาวัตถี แต่ต้องเดินทางไกล

พอไปถึงเมืองสาเกตซึ่งมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ ๖ โยชน์ ก็เผอิญถึงฤดูกาลเข้าพรรษาเสียก่อน เดินทางต่อไปไม่ได้ พระภิกษุเหล่านั้นจึงตกลงกันอธิษฐานใจอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกต ตลอดไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยมีใจรัญจวนว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่ก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วง ๓ เดือนออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้วก็เดินทางไปเมืองสาวัตถีโดยเร็ว

การที่พระผู้มีพระภาคทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั้น เป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถามถึงสุขทุกข์และความก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติธรรม ด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา พระภิกษุเหล่านั้นต่างพากันกราบทูลให้ทรงทราบถึงความลำบากตรากตรำในระหว่างเดินทางของตน เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน มีจีวรเก่า พากันเดินเหยียบย่ำโคลนตม จีวรเปรอะเปื้อนโคลนเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน

พระพุทธองค์ทรงทราบความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น และเห็นว่ากฐินตฺถาโร จ นาเมส สพฺพพุทฺเธหิ อนุญฺญาโต การกรานกฐินนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ทรงอนุญาตมา ดังนั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้ที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว รับผ้ากฐินของผู้มีจิตศรัทธาถวายได้

— — ที่มา: กฐินขันธกะ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒

จีวร หมายถึง ผ้าทุกชนิดที่ชนทั้งหลายถวาย ไม่ว่าจะเป็นกาลจีวรก็ดี อกาลจีวรก็ดี อัจเจกจีวรก็ดี วัสสิกสาฏิกาก็ดี ผ้านิสีทนะก็ดี ผ้าปูลาดก็ดี ผ้าเช็ดหน้าก็ดี (ฯลฯ) ถ้าเป็นผ้า ๒ ผืน เรียกว่าไทวจีวร (จีวร ๒ ผืน) ถ้าเป็นผ้า ๓ ผืน เรียกว่าไตรจีวร (จีวร ๓ ผืน) ไตรจีวร คืออันตรวาสก (ผ้านุ่ง) อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าทาบคลุมกันหนาว) ในความหมายโดยทั่วไป เข้าใจกันว่า จีวร คือ อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม)

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธานุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ จีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ จีวรทำด้วยฝ้าย ๑ จีวรทำด้วยไหม ๑ จีวรทำด้วยขนสัตว์ ๑ จีวรทำด้วยป่าน ๑ จีวรทำด้วยของเจือกัน ๑ (จากวัสดุ ๕ ชนิดมาปนกัน)

— — ที่มา: พระวินัยปิฎกมหาวรรค จีวรขันธกะ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม ๗/๙๑ น. ๒๖๔

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระพุทธานุญาตให้ตัดจีวรอย่างคันนาชาวมคธ ความว่า

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ เสด็จพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคีรีชนบท ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธสวยงาม มีจังหวะเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงตรัสถามพระอานนทเถระว่า สามารถตัดจีวรของพระภิกษุให้เหมือนนาของชาวมคธได้หรือไม่ พระเถระทูลสนองว่า สามารถตัดได้และได้ตัดเป็นตัวอย่างสำหรับพระภิกษุหลายรูปไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดและสรรเสริญพระอานนทเถระว่าเป็นผู้ฉลาด เป็นคนเจ้าปัญญา ทรงอนุญาตให้ใช้จีวรตัด และใช้แบบที่พระอานนทเถระถวายเป็นตัวอย่าง เป็นต้นมา

— — ที่มา: พระวินัยปิฎกมหาวรรค จีวรขันธกะ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม ๗/๙๑ น. ๒๗๕

นิยามความหมายของกฐิน

หากว่าได้นิยามความหมายของกฐินแล้วกฐิน มีความหมาย ๔ ประการ ดังนี้

๑. กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้

คำว่า กฐิน หมายถึงไม้สะดึง คือกรอบไม้แบบชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เป็นเครื่องมือเย็บจีวร ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ในสมัยก่อนการเย็บจีวรต้องใช้ไม้สะดึงขึงให้ตึงก่อนแล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐิน หรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเองก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว

การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือ ทาบผ้าลงไปกับแม่แบบ ตัด เย็บ ย้อม ตากให้แห้ง ควรแก่การใช้ได้ให้เสร็จภายในวันเดียว ด้วยความสามัคคีของพระสงฆ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้น เมื่อทำเสร็จหรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้น ก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นอีกในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไว้เรียกว่าเดาะ ฉะนั้น คำว่ากฐินเดาะ หรือเดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสต่อไป

การประชุมทำผ้ากฐินในครั้งพุทธกาล

มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ ว่า

ครั้งเมื่อพระอนุรุทธเถระ ได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ เสด็จเป็นประธานในวันนั้นพร้อมพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พร้อมพระอสีติมหาสาวกร่วมประชุมช่วยทำ พระมหากัสสปะเถระนั่งอยู่ต้นผ้า พระมหาสารีบุตรเถระนั่งอยู่ท่ามกลาง พระอานนทเถระนั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้าย พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง

— ที่มา: เรื่องพระอนุรุทธเถระ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗

โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ แสดงถึงพลังความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ อันเป็นพระพุทธประสงค์ในการทำผ้ากฐิน (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปมาแล้ว)

๒. กฐินที่เป็นชื่อของผ้า

กฐิน หมายถึง ผ้าที่ถวายใช้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นพระภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่พระสงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้

๓. กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา

กฐิน คือ การทำบุญถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวันหนึ่งครบ ๓ เดือน เพื่อสงเคราะห์พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกว่า การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปทอดหรือไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป กล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น เรียกได้ว่าเป็นกาลทาน คือการถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล ๑ เดือน ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก

๔. กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม

กฐิน คือ กิจกรรมของสงฆ์ ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของพระภิกษุทั้งหลาย ก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของพระภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว อนุญาตให้แสวงหาผ้า และเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความหมายของคำว่ากฐิน มีความเกี่ยวข้องกันทั้ง ๔ ประการ เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐิน คือแสดงความพอใจว่าได้กรานกฐินเสร็จแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธี

กฐินในปัจจุบัน มีผู้ถวายผ้ามากขึ้น มีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้น การใช้กรอบไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไป เพียงแต่รักษาชื่อประเพณีไว้โดยไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบ เพียงถวายผ้าขาวให้ตัด เย็บ ย้อม ตากให้แห้ง ควรแก่การใช้ได้ให้เสร็จภายในวันเดียว หรืออีกอย่างหนึ่งคือ นำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่าถวายผ้ากฐิน เหมือนกัน อีกทั้ง เนื่องจากยังมีประเพณีนิยมถวายผ้ากฐินกันแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย จึงนับว่าเป็นประเพณีนิยมในการบำเพ็ญกุศลที่ยังขึ้นหน้าขึ้นตาเป็นสาธารณะประโยชน์ ร่วมกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน

นิยามความหมายของผ้ากฐิน

ผ้ากฐิน

ผ้าที่พระบรมพุทธานุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐินได้นั้น มีดังต่อไปนี้ ผ้าใหม่ ๑ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ๑ ผ้าเก่า ๑ ผ้าบังสุกุล ๑ ผ้าที่มีขายอยู่ตามร้านตลาด ๑ ซึ่งผ้าเหล่านี้เอามาทำเป็นผ้ากฐินได้

ส่วนผ้าที่เอามาทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้ คือ ผ้าที่ยืมเขามา ๑ ผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๑ ผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๑ ผ้าเป็นนิสัคคีย์ ๑ ผ้าที่ขโมยมา ๑

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ผ้าที่เอามาทำเป็นผ้ากฐินได้ คือผ้าที่ได้มาโดยชอบหรือโดยสุจริต ส่วนผ้าที่เอามาทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้ คือผ้าที่ได้มาโดยมิชอบหรือโดยทุจริต

ผ้าขัณฑ์

ผ้าไตร ๓ ผืน ไม่ว่าจะเป็นผืนใดผืนหนึ่ง (สบง จีวร หรือสังฆาฏิ) จะต้องเป็นผ้าขัณฑ์ (ขัณฑ์ = ตอน ท่อน ส่วน ชิ้น เช่น จีวรมีขัณฑ์ ๕ คือมีผ้า ๕ ชิ้น มาเย็บติดกันเป็นผ้าผืนเดียวกัน)

เจ้าภาพกฐินที่ซื้อไตรจีวรสำเร็จรูป ต้องตรวจสอบว่า ผ้าสังฆาฏิ จีวร สบง เป็นผ้ามีขัณฑ์ทั้ง ๓ ผืนหรือไม่ ถ้าไม่ครบต้องหาให้ครบ และตรวจสอบผ้าทั้ง ๓ ผืน ว่าต้องเป็นผ้าที่มีการตัดก่อนแล้วจึงเย็บ หากไม่ตัดผ้า แต่มีการพับผ้าแล้วเย็บ จะไม่เป็นกฐินไม่ได้อานิสงส์กฐิน

เหตุที่ผ้ากฐินต้องมีผ้าขาวพับกำกับไปกับไตร (ที่มา: พระเทพมงคลสุธี กฐินกถา ๒๕๔๔)

แต่เดิม การกรานกฐินของพระสงฆ์ในครั้งนั้น ทำด้วยผ้าที่ทำเสร็จมาแล้วที่ทายกทายิกานำมาถวาย ไม่ตรงตามพระบาลีที่ให้ทำตั้งแต่ซัก กะ ตัด ถึงเย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้น ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แต่ครั้งยังทรงพระผนวช เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว จึงได้ทรงตั้งธรรมเนียมการกรานกฐินแบบธรรมยุต ขึ้น ดังความปรากฏในตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร ว่า

วัดนี้รับพระกฐินหลวงที่ทรงทอดตามธรรมเนียมนั้น ไม่ทรงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ถนัด จึงทรงแก้ไขเฉพาะในฝ่ายวัด ทรงรับพระกฐินตามธรรมเนียมเมืองแล้ว เอาผ้าไตรพระกฐินนั้นมาเลาะออกเป็นท่อนผ้าแล้วกะ ตัด เป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น แล้วจึงทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง

มาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ยุคสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เพิ่มธรรมเนียมเกี่ยวกับผ้าขาวพับกำกับไปกับไตร ความว่า

ผ้าพระกฐินทรงเติมผ้าขาวกำกับไปกับไตรด้วย วิธีรับผ้าพระกฐินงดการกรานหน้าพระที่นั่งไว้ ใช้ผ้าขาวตัดเป็นผ้ากฐิน เสร็จแล้วจึงกรานและอนุโมทนา

ต่อมาธรรมเนียมผ้าขาวพับกำกับไปกับไตร นี้ ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาในวัดธรรมยุตทั้งปวง โดยผ้าขาวผ้ากฐินนั้น ต้องซักน้ำก่อนแล้วกระพือให้แห้ง แล้วจึงตัดเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฏิ (ซึ่งในส่วนของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นสังฆาฎฺิ) แล้วต้องนำไปถวายเจ้าอาวาสหรือพระผู้ครองกฐิน เย็บหรือเนาให้ติดต่อกันก่อนพอเป็นพิธีอย่างน้อย ๗-๙ ผุด ต่อไปผู้อื่นจึงเย็บจนเสร็จ เย็บแล้ว จัดการย้อมให้ได้สีตามพระวินัยบัญญัติ แล้วนำไปในที่ชุมนุมสงฆ์ประกอบพิธีกรานกฐินและอนุโมทนาต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีกฐิน

ประเภทของกฐิน

แบ่งกฐินออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือกฐินหลวง และกฐินราษฎร์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทางน้ำถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๒ ภายหลังเสด็จพระราชพิธีในคลองบางกอกน้อย และทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม

๑. กฐินหลวง

ประวัติกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในประเทศไทย และประชาชนคนไทยที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณีของบ้านเมืองมาโดยลำดับ

พระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองได้ทรงรับเรื่องกฐินนี้ขึ้นเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงบำเพ็ญเป็นการประจำเมื่อถึงเทศกาลทอดกฐิน การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินโดยรับขึ้นเป็นพระราชพิธีนี้ เป็นเหตุให้เรียกกันว่า “กฐินหลวง” วัดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นพระอารามหลวง (วัดหลวง) หรือวัดราษฎร์ หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้ว เรียกว่า “กฐินหลวง” ทั้งสิ้น มิใช่กำหนดว่าทอดที่พระอารามหลวง (วัดหลวง) เท่านั้น จึงจะเรียกว่ากฐินหลวง

แต่สมัยต่อมา เรื่องของกฐินหลวงได้เปลี่ยนไปตามภาวการณ์ของบ้านเมือง เช่น ประชาชนมี ศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน ได้รับพระมหากรุณาให้ถวายผ้าพระกฐินได้ตามสมควรแก่ฐานะ เป็นเหตุให้แบ่งแยก “กฐินหลวง” ออกเป็นประเภทๆ ดังปรากฏในปัจจุบัน ดังนี้คือ

๑.๑) กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี

เป็นกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควร เป็นผู้แทนพระองค์นำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง (วัดหลวง) ที่สำคัญๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ซึ่งทางราชการกำหนดขึ้น มีทั้งหมด ๑๖ วัด เป็นประจำทุกปี

กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างเรียบร้อย เป็นประจำทุกปี จึงไม่มีการจองล่วงหน้า พระอารามหลวง (วัดหลวง) ๑๖ วัด มีดังนี้คือ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม

  • ในกรุงเทพมหานคร ๑๒ วัด
    • วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กทม.
    • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม.
    • วัดสุทัศนเทพวราราม กทม.
    • วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
    • วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กทม.
    • วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.
    • วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กทม.
    • วัดเทพศิรินทราวาส กทม.
    • วัดราชาธิวาส กทม.
    • วัดมกุฎกษัตริยาราม กทม.
    • วัดอรุณราชวราราม กทม.
    • วัดราชโอรสาราม กทม.
  • ในส่วนภูมิภาค ๔ วัด
    • วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
    • วัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา
    • วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จ.พระนครศรีอยุธยา
    • วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก

๑.๒) กฐินต้น

กฐินต้น เป็นกฐินที่เกิดขึ้นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่พระอารามหลวง (วัดหลวง) แต่เป็นวัดราษฎร์วัดใดวัดหนึ่ง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางราชการหรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  • เป็นวัดที่ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินมาก่อน
  • ประชาชนมีความเลื่อมใสในวัดนั้นมาก
  • ประชาชนในท้องถิ่นนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไป จะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิดด้วย

พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) ได้เล่าประวัติเรื่องการเกิดขึ้นของกฐินต้น ไว้ว่า

กฐินส่วนพระองค์นี้ ในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ จะเรียกว่าอย่างไรนั้นยังไม่พบหลักฐาน มาเรียกกันว่ากฐินต้น ในรัชกาลที่ ๕ ภายหลังที่ได้มีการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ การเสด็จประพาสครั้งนั้น โปรดให้จัดให้ง่ายกว่าการเสด็จประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ คือโปรดไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ พอพระราชหฤทัยจะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น บางคราวก็ทรงเรือเล็กหรือเสด็จรถไฟไปโดยมิให้ใครรู้ การเสด็จประพาสครั้งนั้นเรียกว่าเสด็จประพาสต้น

ประพาสต้น นี่เอง ที่เป็นมูลเหตุให้เรียกการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ว่าพระกฐินต้น

๑.๓) กฐินพระราชทาน

เป็นกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ้าพระกฐินของหลวงแก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เพื่อไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง (วัดหลวง) อื่นๆ ที่มิใช่ ๑๖ วัดซึ่งทางราชการกำหนดขึ้นเป็นพระราชพิธี

เหตุที่เกิดกฐินพระราชทาน ก็เพราะว่าปัจจุบันพระอารามหลวง (วัดหลวง) มีเป็นจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรเอกชน ตลอดจน คณะบุคคล หรือบุคคลที่สมควร รับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตนโดยเสด็จพระราชกุศล ตามกำลังศรัทธาด้วยก็ได้

ปัจจุบัน ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรเอกชน คณะบุคคล หรือบุคคลใด มีความประสงค์จะรับพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวาย ณ พระอารามหลวง (วัดหลวง) วัดใด ก็ติดต่อไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ตามระเบียบ ซึ่งเท่ากับเป็นการจองกฐินไว้ก่อนนั่นเอง

๒. กฐินราษฎร์

เป็นกฐินที่พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปทอด ณ วัดต่างๆ ซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ เว้นไว้แต่วัดที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องกฐินหลวง การทอดกฐินของราษฎรตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน มีชื่อเรียกแตกต่างกันคือ

๒.๑) กฐินหรือมหากฐิน

ปะรำพิธี มหากฐิน วัดธงชัย อ.พล จ.ขอนแก่น เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕

เป็นกฐินที่ราษฎรหรือประชาชนนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ ท่านผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็นำผ้ากฐินจัดเป็นองค์กฐิน อาจถวายของอื่นๆ ไปพร้อมกับองค์กฐิน เรียกกันว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันมีปัจจัย ๔ คือ เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มีไตรจีวร บริขารอื่นๆ ที่จำเป็น เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุสามเณรจะบริโภค นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพจะต้องมีผ้าห่มพระประธาน และเทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุ สวดพระปาติโมกข์ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า เทียนปาติโมกข์ จำนวน ๒๔ เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียน รูปจระเข้หรือสัตว์น้ำอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัดที่อยู่ตามริมแม่น้ำ

เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว และมีธงผ้าขาวเขียนเป็นรูปตะขาบ ปักไว้หน้าวัด สำหรับวัดที่ตั้งอยู่บนดอยไกลแม่น้ำ เพื่อแสดงให้ทราบว่า วัดนั้นๆ ได้รับกฐินแล้วและอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้ อนึ่ง ยังมีประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวลาของการทอดกฐิน ถ้าเป็นเวลาเช้าจะมีการทำบุญถวายอาหารเพลแก่พระภิกษุสามเณรในวัด

๒.๒) จุลกฐิน

ศิษยานุศิษย์หน่อแก้วพระพุทธศาสนาในพิธีจุลกฐิน อ.พล จ.ขอนแก่น เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

ปัจจุบันวัฒนธรรมประเพณีไทยหลายอย่าง ได้ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย หนึ่งในนั้นก็คือ ประเพณีจุลกฐิน หรือ กฐินน้อย ซึ่งเป็นกฐินที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว เดิมเรียกว่า กฐินแล่น ความหมาย คือ เร่งรีบ ต้องแล่น (วิ่ง) จึงจะเสร็จทันกาล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความสามัคคีของคนหมู่มาก จึงไม่ค่อยมีใครนิยมทำกันนัก

ด้วยเป็นกฐินที่ต้องทำด้วยความเร่งรีบ เจ้าภาพผู้ที่จะทอดกฐินเช่นนี้ได้ ต้องมีพวกมาก มีกำลังมาก เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การทำผ้าที่นำไปทอดตั้งแต่ต้น คือ เริ่มตั้งแต่นำฝ้ายที่แก่ใช้ได้แล้ว แต่ยังอยู่ในฝักมีปริมาณให้พอแก่การที่จะทำเป็นผ้าจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ แล้วทำพิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการหว่าน แตกงอกออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝัก แก่ สุก แล้วเก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เปียออกเป็นใจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วยน้ำข้าว ตากแห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอด ใส่กระสวยเครือ แล้วทอเป็นแผ่นผ้าตามขนาดที่ต้องการ นำไปทอดเป็นผ้ากฐิน

เมื่อพระสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว มอบแก่พระภิกษุผู้เป็นองค์ครอง ซึ่งพระองค์ครองจะจัดการต่อไปตามพระวินัย หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือนำผ้านั้นมาขยำทุบซัก แล้วตากให้แห้ง นำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง พับ รีดเสร็จเรียบร้อย แล้วนำไปถวายองค์ครองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านทำพินทุอธิษฐาน เสร็จแล้วจะมีการประชุมสงฆ์แจ้งให้ทราบ พระภิกษุทั้งหมดจะอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี

ในกรณีผู้ทอดจุลกฐินไม่มีกำลังมากพอ จะตัดตอนพิธีการในตอนต้นๆ ออกเสียก็ได้ โดยเริ่มด้วยการเอาผ้าขาวผืนใหญ่มากะประมาณให้พอที่จะตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วนำไปทอด เมื่อพระภิกษุสงฆ์ท่านนำไปดำเนินการตามพระวินัยแล้ว ก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายองค์ครองเพื่อพินทุอธิษฐานต่อไป เหมือนวิธีที่กล่าวมาแล้ว

อนึ่ง ข้อที่ควรกำหนดคือ จุลกฐินจะเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม จะต้องทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มต้นตั้งแต่เวลาเช้าถึงย่ำรุ่งของวันรุ่งขึ้น คือต้องทำให้เสร็จก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ไม่เช่นนั้นแล้วกฐินนั้นไม่เป็นกฐิน ส่วนบริวารของจุลกฐิน ผ้าห่มพระประธานและเทียนปาติโมกข์ ตลอดจน ธงจระเข้ ธงตะขาบ ก็คงเป็นเช่นที่กล่าวมาแล้วในเรื่องกฐินหรือมหากฐิน ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว

วิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่า ว่า

บางทีเป็นของหลวงทำในวันกลางเดือน ๑๒ คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน ๑๒ อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐินคงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้ หาพักต้องทอใหม่ไม่

๒.๓) กฐินสามัคคี

เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน แต่เพื่อไม่ให้การจัดงานยุ่งยากมากเกินไป ก็มักจะตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งดำเนินการ แล้วมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่นด้วย เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าไรก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐิน รวมทั้งบริวาร ปัจจัยที่เหลือก็ถวายวัด เพื่อทางวัดจะนำไปใช้จ่ายในทางที่ควร กฐินสามัคคีนี้มักนำไปทอดยังวัดที่กำลังมีการก่อสร้างหรือกำลังบูรณปฎิสังขรณ์ เพื่อสมทบทุนให้สิ่งอันพึงประสงค์ของวัดสำเร็จ

๒.๔) กฐินตกค้าง

กฐินตกค้าง นี้มีชื่อเรียกอีกว่ากฐินตก หรือกฐินโจร ในส่วนของกฐินตกค้างนี้ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เกิดกฐินตกค้าง นี้ว่า

ที่ทำกันเช่นนี้ ทำกันอยู่ในท้องถิ่นที่มีวัดมาก ซึ่งอาจมีวัดตกค้างไม่มีใครทอดก็ได้ จึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะหาวัดอย่างนี้เพื่อทอดกฐิน ตามปกติในวันใกล้ๆ จะสิ้นหน้าทอดกฐินหรือในวันสุดท้าย คือวันก่อนแรมค่ำหนึ่งของเดือน ๑๒ ทอดกฐินอย่างนี้เรียกกันว่ากฐินตกค้าง หรือเรียกว่ากฐินตก บางถิ่นก็เรียกกฐินโจร เพราะกิริยาอาการที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จู่ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวเล่าสิบล่วงหน้าไว้ให้วัดรู้ เพื่อเตรียมตัวกันได้พร้อมและเรียบร้อย

การทอดกฐินตก ถือว่าได้บุญอานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินตามปกติธรรมดา บางทีเตรียมข้าวของไปทอดกฐินหลายๆ วัด แต่ได้วัดทอดน้อยวัด เครื่องไทยธรรมที่ตระเตรียมเอาไปทอดยังมีเหลืออยู่ หรือทางวัดทอดไม่ได้ ก็เอาเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นจัดทำเป็นผ้าป่า เรียกกันว่าผ้าป่าแถมกฐิน

อนึ่งกฐินตกค้าง ต้องไม่มีเจ้าภาพจองจริงๆ ไม่ใช่มาประกาศบอกข่าวล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆ อย่างนี้ไม่เรียกว่า กฐินตกค้าง เพราะกฐินตกค้างที่แท้จริงต้องใกล้วารกาลที่จะหมดกาลเวลาของกฐินจริงๆ หมดเขตกฐิน (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒) วัดนั้นๆ ไม่มีผู้จองไปทอดกฐินจึงจะเป็นกฐินตกค้าง ไม่ใช่ประกาศแจ้งว่าเป็นกฐินตกค้างล่วงหน้ากันนานๆ และมีเป็นจำนวนมากวัดอย่างในปัจจุบัน

  • การแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้าง ในกรณีที่วัดใดวัดหนึ่งไม่มีผู้จองกฐิน วิธีแก้ปัญหาคือ ใครก็ได้ที่มีศรัทธาและมีทุนไม่มาก ไปซื้อผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งนำมาถวาย ก็เรียกว่า ทอดกฐินแล้ว หรือในกรณีที่บางวัดมีประเพณีให้ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น ก็ซื้อผ้าขาวผืนเดียวมาถวายก็จัดเป็นการทอดกฐินที่สมบูรณ์ตามพระธรรมวินัยแล้ว เป็นอันแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้างอย่างง่ายเพียงเท่านี้
  • เหตุที่ไม่มีผู้จองกฐิน เนื่องมากจากความเข้าใจผิดว่า การทอดกฐินจะต้องใช้เงินทองจำนวนมาก กฐิน กลายเป็นหมายถึง เงินทองต้องหาเงินให้วัดเป็นจำนวนมากๆ จึงจะทำ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง เนื่องจากการปลูกฝังความเข้าใจผิดนี้ มีต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ถ้าได้อ่านสิกขาในพระพุทธธรรมคำสอนแล้วจะรู้ว่ากฐิน หมายถึง ผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) ไม่ใช่หมายถึงเงินทอง ดังนั้น เมื่อเกิดความเข้าใจผิด ทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าไปทอดกฐิน เพราะไม่สามารถจะหาเงินทองจำนวนมากๆ มาถวายวัดได้ จะเห็นว่ามีวัดเป็นจำนวนมากที่ไม่มีผู้จองกฐิน ทำให้พระภิกษุขาดอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ

ถ้าพุทธศาสนิกชนได้รับความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องกฐิน วัดในประเทศไทย ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด ถ้ามีพระภิกษุครบ ๕ รูป จำพรรษาครบ ๓ เดือนในแต่ละวัด ก็จะสามารถรับกฐินได้ เพราะกฐินคือผ้า ไม่ใช่เงินทอง ซึ่งทายก ทายิกา ของแต่ละวัดก็สามารถที่จะหาผ้ากฐินผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน มาทอดได้ โดยไม่ต้องใช้เงินทองจำนวนมาก จะทำให้เจ้าภาพและพระภิกษุได้รับอานิสงส์ของกฐิน ส่วนการทำบุญสังฆทานวิหารทานอื่นๆ สามารถทำได้ในโอกาสต่อไป

เกร็ดน่ารู้เรื่องกฐิน

ธงกฐิน

ในเรื่องของการทอดกฐินนี้ ธงกฐิน เมื่อปักไว้ที่หน้าวัด เป็นเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าที่วัดนี้ได้จองกฐินหรือทอดกฐินแล้ว ด้วยถือกันมาว่าวัดหนึ่งๆ จะรับกฐินได้ปีละครั้งเดียวเท่านั้น ผู้ที่ผ่านไปมาจะได้พลอยอนุโมทนาด้วย เรื่องธงกฐินนี้โดยใจความแล้วไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือในหนังสือคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของธงกฐินอย่างชัดเจน สาเหตุอาจจะเป็นเพราะนักปราชญ์อีสานโบราณท่านสอนคนหรือแนะนำคน จะไม่ใช้วิธีการที่บอกหรือกล่าวสอนกันตรงๆ มักจะใช้ทำนองที่ว่าเลียบๆ เคียงๆ เป็นลักษณะของปริศนาธรรม เช่น ลักษณะที่เด่นและเห็นชัดเจน คือการใช้คำพูดในบทผญาหรืออีสานภาษิต ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเรื่องที่กำลังพูดกันตรงๆ

ธงจระเข้ และธงมัจฉา ที่นิยมประดับในงานกฐินในประเทศไทย

ความหมายของธงกฐิน ที่มา: คอลัมน์ “ตอบปัญหาสารพัน” โดย อ.ชำนาญ นิศารัตน์ ใน ธรรมะเพื่อชีวิต เล่มที่ ๕๘ ฉบับวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๒

มีข้อความในจาตุมสูตรตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสตักเตือนพระภิกษุ สามเณร ผู้บวชในพระพุทธศาสนาให้ระวังภัย ๔ อย่าง ที่จะเป็นเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาไป โดยทรงอุปมาภัย ๔ อย่าง ของพระภิกษุ สามเณร กับภัยของผู้ที่ลงไปในน้ำ มี ๔ อย่าง ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในศาสนานี้มีภัยอยู่ ๔ อย่าง ผู้ใดไม่กลัวภัยเหล่านั้น ผู้นั้นสามารถดำรงอยู่ศาสนานี้ได้ ภัย ๔ อย่างนั้น คือ

๑. อุมฺมิภยํ (ภัยคลื่น) คือ อดทนต่อคำสอนไม่ได้ เกิดความขึ้งเคียด คับใจเบื่อหน่ายคำตักเตือนพร่ำสอนต้องลาสิกขาไป

๒. กุมฺภีลภยํ (ภัยจระเข้) คือ เห็นแก่ปากท้อง ทนความอดอยากไม่ได้ ถูกจำกัดด้วยระเบียบวินัยเกี่ยวกับการบริโภค ทนไม่ได้ต้องลาสิกขาไป (จระเข้เป็นสัตว์ที่เห็นแก่กิน กินสัตว์ทุกชนิด จึงนำมาเปรียบเทียบกับคนที่เห็นแก่กิน)

๓. อาวฏฺฏภยํ (ภัยน้ำวน) คือ ห่วงพะวงใฝ่ทะยานในกามสุขเพลิดเพลินในกามคุณ ตัดใจจากกามคุณไม่ได้ บรรพชิตในศาสนานี้จมลงในกระแสน้ำวนของกามคุณ ๕ แล้วต้องลาสิกขาไป

๔. สุสุกาภยํ (ภัยปลาร้าย) เกิดความปรารถนาทางเพศ รักผู้หญิง ภิกษุในศาสนานี้เกิดความราคะในมาตุคาม (ผู้หญิง) ทนอยู่ไม่ได้ ต้องลาสิกขาไป (เพราะฉะนั้นมาตุคามจึงเป็นภัยของบรรพชิต เช่นเดียวกับปลาร้ายเป็นภัยแก่ผู้ที่ลงไปในน้ำ)

อุปมากับภัย ๔ อย่าง ของผู้ที่ลงไปในน้ำ คือ

  • ๑. อุมฺมิภยํ : ภัยคลื่น ผู้ที่ว่ายน้ำในทะเลอาจจะถูกคลื่นซัดออกจากฝั่ง หรือถูกคลื่นซัดจมน้ำตายได้
  • ๒. กุมฺภีลภยํ : ภัยจระเข้ ในน้ำอาจจะมีจระเข้ (ในทะเลมีจระเข้น้ำเค็ม ในแม่น้ำมีจระเข้น้ำจืด) จระเข้อาจจะคาบไปกินเป็นอาหารได้
  • ๓. อาวฏฺฏภยํ : ภัยน้ำวน ในแม่น้ำใหญ่หรือทะเล อาจจะมีน้ำวน ผู้ที่ว่ายเข้าไปในกระแสน้ำวนอาจจะถูกกระแสน้ำดูดให้จมลงไปได้
  • ๔. สุสุกาภยํ : ภัยปลาร้าย ในน้ำอาจจะมีปลาร้าย เช่น ปลาฉลาม ปลาปักเป้า ทำอันตรายถึงชีวิตได้

พระพุทธโอวาทที่ทรงตักเตือนพระภิกษุ สามเณร ให้ระวังภัยแห่งพรหมจรรย์ โดยเปรียบเทียบภัยของผู้ที่ลงไปในน้ำนี้ นักปราชญ์ได้นำมาเป็นปริศนาธรรม เพื่อเตือนพระภิกษุสามเณรผู้รับกฐินให้ระวังภัย ๔ อย่าง โดยทำเป็นรูปธง ๒ ผืน

  • ภัยคลื่นกับภัยจระเข้ ทำเป็นรูปจระเข้ว่ายน้ำฝ่าคลื่น
  • ภัยน้ำวนกับภัยปลาร้าย ทำเป็นรูปน้ำวนกับนางมัจฉา คือนางมัจฉาแทนปลากับมีน้ำวนรอบๆ ความหมายคือ ปลาร้ายแทนด้วยนางมัจฉา ซึ่งเป็นปลาและผู้หญิงด้วย

ได้ใจความโดยสรุปว่า

  • ๑. ภัยคือคลื่น เป็นชื่อแห่งความโกรธ อดทนต่อคำสอนไม่ได้
  • ๒. ภัยคือจระเข้ เป็นชื่อแห่งความเป็นผู้เห็นแก่กิน
  • ๓. ภัยคือน้ำวน เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
  • ๔. ภัยคือปลาฉลาม เป็นชื่อของมาตุคาม (ผู้หญิง)

ผู้ที่ทำธงกฐินรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจปริศนาธรรมข้อนี้ จึงคิดทำธงกฐินเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปนางฟ้าถือผ้าไตรบ้าง รูปสัตว์น้ำอื่นบ้าง เช่น เต่า ม้าน้ำ ช้างน้ำ กุ้ง ปู ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับหลักคำสอนของพระพุทธองค์

เหตุที่ใช้ธงจระเข้ในงานบุญทอดกฐิน

ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฏหลักฐานและข้อวิจารณ์อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี ๔ มติ คือ

๑. สมัยโบราณนิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยอาศัยเรือเป็นสำคัญ การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ เนือง ๆ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่ม ขบกัดผู้คนบ้าง คนแต่ก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่น ๆ ในน้ำ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีการทางศาสนา

๒. ในสมัยโบราณการจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบ เหมือนเช่นการยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในตอนจวนจะสว่าง การทอดกฐินมีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้นก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัด และภายหลังคงหวังจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว

๓. มีเรื่องเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลัง ว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

๔. มีเรื่องเล่าเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ เรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ในอดีตกาลท่านกล่าวถึงเศรษฐีคนที่มีเงิน ขี้ตระหนี่ มัจฉริยะ ความตระหนี่ ตอนที่มีชีวิตอยู่หาแต่เงิน เก็บแต่เงินไว้ ไม่ไปทำบุญให้ทาน ไม่ตักบาตร ไม่ถวายสร้างกุฏิ วิหาร ไม่ถวายสร้างโบสถ์ ไม่ถวายสร้างสะพาน ไม่ช่วยทำทางเข้าวัด เหล่านี้เป็นต้น คนขี้ตระหนี่ไม่ทำบุญ เมื่อไม่ทำบุญ สมัยก่อนเขาเอาเงินใส่ไหใส่ตุ่มไปฝังไว้ที่ริมฝั่งน้ำ ทีนี้เมื่อตายไป ก็ด้วยความห่วงสมบัติ เมื่อห่วงสมบัติก็ตายไปเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติอยู่แถวนั้นบ้าง ทีนี้นานเข้าก็เลยมาเข้าฝันญาติบอกว่า เงินอยู่ตรงนั้นให้ไปขุดเอาแล้วนำเงินไปทอดกฐินให้หน่อย ทำบุญอะไรก็ได้ ทอดกฐินก็ได้ ผ้าป่าก็ได้ ญาตินั้นก็รู้ ก็ไปเอาเงินนั้นไปทอดกฐิน ทีนี้เมื่อทอดกฐินสมัยก่อนเขาก็นั่งเรือ จระเข้ตัวนั้นก็ว่ายตามเรือไป ตามกองกฐินเขาไป เมื่อทอดกฐินเสร็จ เขาก็อุทิศส่วนกุศลให้บอกว่า นายนี้ที่ล่วงลับไป บัดนี้เอาเงินมาทอดกฐินถวายพระแล้ว ตอนนั้นจระเข้ก็จะโผล่หัวขึ้นมาเหมือนอย่างในฟาร์ม พอทอดกฐินจบ พระอนุโมทนาให้พรจบ จระเข้นั้นก็มุดน้ำหายไปเลย ทุกวันนี้ก็เลยมีธรรมเนียมอันนั้นขึ้นมา จระเข้คาบดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ในการทอดกฐิน ตะขาบนี้ก็เหมือนกัน เมื่อตายไปก็ไปเป็นตะขาบ ไปเฝ้าสมบัติเหมือนกัน

การทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ

การถวายกฐินมีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นดังนี้

๑. พิเศษเพราะจัดเป็นสังฆทานชนิดหนึ่ง มิได้เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

๒. พิเศษเพราะเป็นการถวายทานตามกาล ไม่มีทั่วไป เรียกว่า “กาลทาน” ตามพระธรรมวินัยกำหนดกาลไว้ คือ มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัดเพียงหนึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ โดยแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น และจะต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาครบ ๕ รูป

องค์สงฆ์ ๕ รูป ตามพระวินัยบัญญัติดังกล่าวนั้น มี ๔ รูป เป็นองค์พยาน และอีก ๑ รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน ภาษาสังฆกรรมของพระเรียกว่า “ปัญจวรรค

ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ ถ้าทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกทายิกาผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็นเช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

๓. พิเศษเพราะจำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน

๔. พิเศษเพราะจำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้

๕. พิเศษเพราะมีอานิสงส์ทั้งสองฝ่าย คือ อานิสงส์สำหรับพระภิกษุผู้รับกฐิน และอานิสงส์สำหรับผู้ถวายกฐิน

๖. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขา ทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง

พุทธบริษัท ๔ ควรรู้เรื่องกฐิน

๑. พุทธศาสนิกชนควรทอดกฐินให้ถูกต้องตามความมุ่งหมายของกฐิน ได้แก่ การบำเพ็ญกุศลด้วยการถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุซึ่งอยู่จำพรรษาครบสามเดือนตามพุทธานุญาต วัดที่จะรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุในวัดเดียวกันครบ ๕ รูป (เป็นอย่างน้อย) จำพรรษาครบ ๓ เดือนโดยไม่ขาดพรรษา จึงจะกรานกฐินได้ (ภิกษุที่ขาดพรรษาหรือเข้าปัจฉิมพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไม่ควรรับการกรานกฐิน)

ถ้าพระภิกษุในอารามนั้นไม่ครบคณะสงฆ์ ๕ รูป ถ้ามีสามเณรอายุครบอุปสมบทได้ (๒๐ ปี) จำพรรษาในอารามนั้น อุปสมบททันในเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ข้างขึ้น ๑-๒-๓-๔ รูป ก็ดี ให้พอครบคณะสงฆ์ ๕ รูป สามารถรับกฐินและได้อานิสงส์กฐิน

ถ้าวัดใดมีพระภิกษุไม่ครบ ๕ รูป จะไม่มีสิทธิ์รับผ้ากฐิน แต่จะมีสิทธิ์รับผ้าจำนำพรรษา (ผ้าจำนำพรรษา คือผ้าที่ทายกถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ในวัดนั้นๆ ได้ทุกรูป (๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป ๑ รูป) ภายในเขตจีวรกาล (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) ภิกษุเข้าพรรษาหลัง (หรือ ปัจฉิมพรรษา คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) ไม่มีสิทธิ์รับผ้ากฐิน และผ้าจำนำพรรษา ทายกผู้ฉลาดตั้งเจตนาถวายผ้ากฐินและผ้าจำนำพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปในวัด จึงจะได้อานิสงส์มาก ถ้าพระภิกษุไม่ครบ ๕ รูป แม้จะนิมนต์พระภิกษุมาจากวัดอื่น เพื่อให้ทำสังฆกรรมครบ ๕ รูป ก็ไม่เป็นกฐิน อย่างนี้เป็นบาปมหันต์ ส่วนสังฆกรรมอื่นสามารถนิมนต์พระภิกษุมาจากวัดอื่นได้ เช่นการบรรพชาอุปสมบท สังฆกรรมอุโบสถหรือการสวดอัพภานเพื่อพระภิกษุที่ต้องสังฆาทิเสส ซึ่งต้องใช้พระภิกษุ ๒๐ รูป เป็นต้น

๒. พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นปกตัตตะภิกษุ คือเป็นพระภิกษุปกติไม่ต้องโทษ ไม่ต้องอาบัติ พระภิกษุที่ต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่งควรปฏิบัติดังนี้ สำหรับ ครุกาบัติ (อาบัติหนัก : ปาราชิก สังฆาทิเสส) ถ้าภิกษุต้องอาบัติปาราชิกควรลาสิกขาบทจากความเป็นภิกษุทันที ส่วนภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสควรเข้าปริวาสกรรมทันที ส่วนลหุกาบัติ (อาบัติเบา) สามารถปลงอาบัติได้ พระภิกษุควรปลงอาบัติทุกวัน เพื่อพ้นจากอาบัติ และบริสุทธิ์ พร้อมในการปฏิบัติธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงป้องกันพุทธสาวกของพระพุทธองค์ โดยทรงพุทธานุญาตให้ปลงอาบัติ เปิดเผยความผิด การปลงอาบัติมีพลานิสงส์มาก ทำให้กลับมาเป็นปกตัตตะภิกษุได้ตามเดิม

๓. วัดใดหากพระภิกษุในวัดเดียวกันทะเลาะกัน โกรธ ไม่พูดจากัน ขัดใจกัน เป็นสังฆราชี (ความร้าวรานของสงฆ์) เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พระภิกษุทุกรูปจะต้องประชุมกันเพื่อทำสังฆกรรมที่เรียกว่ามหาปวารณา คำว่ามหา มีความหมายลึกซึ้งตั้งแต่ มหากุศลในกามาวจร มหากุศลในรูปาวจร มหากุศลในอรูปาวจร และมหากุศลในโลกุตตระ เมื่อกระทำกุศลถูกต้องตามพระธรรมวินัยจิตสามารถดำเนินเข้าสู่กระแสมรรค ผล และนิพพาน ได้ แต่ถ้าละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอกุศลจิต ก็มีมหานรก เป็นที่รองรับ วันมหาปวารณาเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์สามารถว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ตามหลักธรรมของพระธรรมวินัย มีการบอกกล่าวความขัดใจ ความไม่พอใจความโกรธซึ่งกันและกันได้ และจะมีการงดโทษหรือยกโทษให้แก่กันและกัน หากวัดใดยังมีพระภิกษุที่ยังไม่คืนดีต่อกัน ยังโกรธกัน ไม่พูดดีต่อกัน วัดนั้นไม่มีสิทธิ์รับกฐิน เพราะจะเป็นกฐินเดาะ ไม่ได้อานิสงส์กฐิน

๔. เจ้าภาพกฐินต้องไม่จัดเลี้ยงสุราเมรัยน้ำเมาทั้งหลาย เจ้าภาพกฐินต้องไม่ฆ่าสัตว์ มาทำเป็นอาหารเลี้ยงกันในงานบุญ เจ้าภาพกฐินต้องไม่มีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวดุด่าว่ากล่าวบุคคลอื่น ถ้ามีเหตุการณ์ดังกล่าว กฐินจะกลายเป็นกฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง ไม่เป็นที่อนุโมทนาของเทพพรหมเทวาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนั้น เจ้าภาพกฐินต้องตั้งใจ น้อมใจ ให้กุศลจิตขึ้นมาทำงานอยู่เสมอ มีเจตนาทาน ที่พร้อมไปในกุศลทั้ง ๓ ประการ คือ

  • ๔.๑ บุพพเจตนา เจตนาก่อนการะทำเต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมรรค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
  • ๔.๒ มุญจเจตนา (มุญจนเจตนา) เจตนาขณะกำลังกระทำ เต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมรรค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
  • ๔.๓ อปรเจตนา (อปราปรเจตนา) เจตนาหลังกระทำแล้ว เต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมรรค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑

งานบุญกฐินของท่านเจ้าภาพจะเต็มไปด้วยมหากุศล เป็นที่อนุโมทนาของเทพพรหมเทวา และมนุษย์ทั้งหลาย

๕. การจองกฐิน เป็นเรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการ บุคคลหมายถึง ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา (ที่ไม่ได้อยู่จำพรรษาวัดนั้น) เทวดา อุบาสก อุบาสิกา สามารถนำกฐินไปทอดได้ เริ่มตั้งแต่การถามเจ้าอาวาสของวัดว่า วัดของท่านมีผู้จองกฐินแล้วหรือยัง ถ้าท่านบอกว่า ยังไม่มีใครมาจองกฐิน ก็ถามอีกว่าท่านต้องการกฐินหรือต้องการเงิน ถ้าท่านบอกว่าต้องการเงิน เพราะยังมีสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย เราก็ไม่ไปทอด หรือถ้าท่านตอบว่าต้องการทั้งกฐินและเงิน เราก็ไม่ไปทอด เพราะกฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐิน ถึงนำกฐินไปทอด ก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แต่ถ้าเจ้าอาวาสบอกว่าต้องการกฐินแสดงว่าเจ้าอาวาสรู้พระวินัย เราก็สามารถทอดกฐินวัดนี้ได้ เพราะการทอดกฐินก็เพื่ออานิสงส์ของพระภิกษุสงฆ์ และแจ้งข่าวให้ทราบทั่วกัน ถ้าเป็นวัดหลวง ต้องได้รับพระราชทานเสียก่อน จึงจะจองได้

๖. การบอกบุญกฐิน โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เชิญร่วมบุญกฐินเพื่อสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานต่างๆ เช่นสร้างเจดีย์ โบสถ์ วิหาร ศาลา หอระฆัง หอฉัน เมรุ โรงครัว ห้องสุขา ฯลฯ หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น เพื่อช่วยคนพิการ คนชรา เด็กอนาถา สร้างโรงเรียน เป็นต้น กฐินนั้นจะเดาะตั้งแต่เริ่มตั้งบุพพเจตนาเพราะหวังจะได้เงินทอง ปรารถนาจะได้เงินเข้าวัดมากๆ เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ จิตที่ทำงานจะเป็นจิตโลภะ หรือการทำกฐินเป็นกองๆ แจ้งว่ากองละเท่านั้นเท่านี้ ก็เช่นกัน กฐินเป็นเรื่องผ้ากฐิน ไม่มีเป็นกองๆ เป็นเงินทอง ล้วนแต่เป็นเรื่องโลภะจิตทำงาน กฐินเดาะตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แต่ถ้าเป็นเจตนาเพื่อซื้อเครื่องกฐิน สามารถทำได้

๗. การแจ้งข่าวกฐิน ให้สาธุชนทั้งหลายรับทราบ ควรทำใบแจ้งการทอดกฐิน พร้อมกำหนดการโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสร้างวิหารทานใดๆ ถ้าวัดนั้นมีเจ้าภาพสร้างวิหารทานด้วย ควรทำใบแจ้งต่างหาก แยกออกจากใบกฐิน เพราะพิธีการทอดกฐินก็เป็นเรื่องของกฐินโดยเฉพาะ เมื่อเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว จึงจะแจ้งข่าวเรื่องการสร้างมหาทานอื่นๆ ต่อไป

๘. การประกาศขอกฐิน โดยพระภิกษุในวัดรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาโดยตรง หรือโฆษณาทางสื่อต่างๆ เช่นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ให้มาทอดกฐินที่วัดของตน ๆ กฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐินเพราะผิดพระวินัย

๙. การถวายผ้ากฐิน ต้องเกิดด้วยศรัทธาของทายกเอง ไม่ใช่พระภิกษุในวัดไปพูดแย้มพรายหรือพูดเลียบเคียงให้ถวาย ห้ามใช้ผ้าที่ไม่เป็นสิทธิ์ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามาทอด ไม่ใช้ผ้าที่ได้มาโดยอาการมิชอบ เช่นการทำนิมิตหรือพูดเลียบเคียง ไม่ใช้ผ้าที่เป็นสันนิธิ คือผ้าที่ทายกมาทอดแล้วพระภิกษุเก็บไว้ค้างคืน ไม่ใช้ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ คือผ้าที่พระภิกษุเสียสละ เพราะต้องโทษตามพระวินัยบัญญัติ

๑๐. การรวบรวมทุนที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงวัดหรือสถานศึกษาในวัด ควรให้เป็นไปตามความศรัทธาของผู้บริจาคโดยมีเหตุผลอันสมควร เช่น ช่วยปฏิสังขรณ์วัดที่ทรุดโทรมให้มั่นคงถาวรสืบไป

๑๑. ในการเดินทางไปทอดกฐิน ณ วัดที่อยู่ห่างไกล ซึ่งผู้จัดมักจะพ่วงวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวไว้ด้วยนั้น ควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ที่จะเดินทางไปเป็นหมู่คณะ ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท

๑๒. เจ้าภาพที่ปรารถนาจะทอดกฐินหลายวัด โดยนัดพระภิกษุวัดนั้นๆ มาประชุมรับผ้ากฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่งในวันเดียวกันนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะผิดพระวินัย เจ้าภาพต้องนำกฐินไปทอดเฉพาะวัดแต่ละวัดเท่านั้น (ในสมัยก่อน ถ้ามีผู้นำผ้าไปทอดหลายๆคน ท่านผู้ใดนำผ้าไตรกฐินเข้าเขตวัดก่อน ผ้าของท่านผู้นั้นจะเป็นผ้ากฐินทันที)

๑๓. ควรงดการใช้จ่ายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น โดยยึดถือการจัดให้ประหยัดเป็นหลักสำคัญ

๑๔. การฉลองหรือสมโภชกฐินก่อนทอดนั้น ควรทำเพียงเพื่อประโยชน์ของการนัดหมายให้พร้อม เพรียงกัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้มาร่วมงานเท่านั้น ไม่ควรมุ่งความสนุกสนานอันมิใช่วัตถุประสงค์ของการทอดกฐิน ถ้ามีขบวนแห่เชิญผ้าพระกฐินไป ผู้เข้าขบวนควรแต่งกายให้เรียบร้อย ถ้ามีขบวนฟ้อนรำควรเลือกการแต่งกายชุดสุภาพเพราะเป็นงานทางพระพุทธศาสนา

๑๕. การพิมพ์หนังสือแจกในงานกฐินนั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ไม่เป็นการบังคับ แต่ถ้ามีควรเลือกพิมพ์หนังสือที่มีสาระประโยชน์

๑๖. ในการพิมพ์ใบบอกบุญหรือฎีกาเพื่อเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธามาร่วมทำบญนั้น ไม่ควรพิมพ์ชื่อบุคคลเป็นกรรมการโดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าของก่อน

๑๗. โทษของการทอดกฐิน โดยละเมิดพระธรรมวินัย ทำให้เจ้าภาพกฐินไม่ได้รับอานิสงส์อันประเสริฐในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

สำหรับมวลหมู่มนุษย์ การทำกฐินผิดพระธรรมวินัย เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เป็นอกุศลจิต นำไปเก็บที่ดวงจิต อุเปกขาสหคตัง สันตีรณจิตตัง อสังขาริกัง กามาวจร อกุสลวิปากจิตตัง (ซึ่งเป็นวิบากจิตที่เก็บผลจากการทำอกุศล (โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒) เมื่อจุติแล้วไปปฏิสนธิในอบายภูมิ

สำหรับคฤหัสถ์ จุติแล้วปฏิสนธิจิต นำไปมหานรกขุม ๗ (มหาตาปนนรก) รับผลกรรมในนรกขุมนี้ยาวนานครึ่งอันตรกัป

สำหรับพระภิกษุ การทอดกฐินผิดพระธรรมวินัย อย่างเบา ต้องอาบัติสังฆาทิเสส หรืออย่างหนัก ต้องอาบัติปาราชิก จุติแล้วปฏิสนธิจิตนำไป มหานรกขุม ๘ (อเวจีมหานรก) รับผลกรรมในนรกขุมนี้ยาวนาน หนึ่งอันตรกัป

พระภิกษุผู้รับผ้ากฐินควรเป็นภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ

ในคัมภีร์ปริวารกล่าวว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรกรานกฐิน ธรรม ๘ ประการ นั้นคือ

๑. รู้จักบุพพกรณ์ ๗ ประการ ได้แก่ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาผ้า ๑ เย็บผ้า ๑ ย้อมผ้า ๑ พินทุผ้า ๑

๒. รู้จักถอนไตรจีวร วิธีถอนไตรจีวร (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยกผ้าเก่าทับผ้าใหม่ แล้วกล่าวคำถอนว่า

อิมํ สงฺฆาฏิ ปจฺจุทธรามิ, อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทธรามิ, อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทธรามิ.

(จะถอนผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

๓. รู้จักอธิษฐานไตรจีวร การอธิษฐานผ้าใหม่ (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยกผ้าใหม่ทับผ้าเก่า แล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า

อิมํ สงฺฆาฏิ อธิฏฐามิ, อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฐามิ, อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฐามิ.

(จะอธิษฐานผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

๔. รู้จักกรานกฐิน (ตามข้อความการกรานกฐิน)

๕. รู้จักมาติกา คือ หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน ในที่นี้การเดาะกฐิน หมายถึง การรื้อหรือการทำกฐินให้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกอานิสงส์กฐิน ที่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาต้นครบ ๓ เดือนแล้ว จะพึงได้รับตามพุทธานุญาต สาเหตุของการเดาะกฐิน มี ๘ ประการ คือ

  • ๕.๑ ปกฺกมนฺติกา กำหนดด้วยการหลีกไป หมายถึง ภิกษุนำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไปโดยไม่คิดจะกลับมาอีก
  • ๕.๒ นิฏฺฐานนฺติกา กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จแล้ว หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมาโดยคิดว่า “จะให้ทำจีวรที่ภายนอกสีมานี้แหละ โดยจะไม่กลับมาอีก” แล้วให้ทำจีวรนั้นจนแล้วเสร็จ
  • ๕.๓ สนฺนิฏฐานนฺติกา กำหนดด้วยตกลงใจ หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมา โดยตกลงใจหรือตัดสินใจว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ และจะไม่กลับมาอีก”
  • ๕.๔ นาสนนฺติกา กำหนด้วยผ้าเสียหาย หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมาโดยคิดว่า “จะให้ทำจีวรภายนอกสีมานี้แหละ และจะไม่กลับมาอีก” แต่ในขณะทำจีวรนั้น จีวรเกิดเสียหายเสียก่อน
  • ๕.๕ สวนนฺติกา กำหนด้วยได้ทราบข่าว หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “จะกลับมา” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จนั้น ก็ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว”
  • ๕.๖ อาสาวจฺเฉทิกา กำหนด้วยสิ้นหวัง หมายถึง ภิกษุหลีกออกไปโดยหวังว่า “จะได้จีวร” แม้ในขณะที่อยู่ภายนอกสีมาก็ยังคิดว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีความหวังว่าจะได้จีวร จะไม่กลับมาอีก” แต่เมื่อเข้าไปยังที่นั้นแล้ว ความหวังว่าจะได้จีวรของเธอกลับสิ้นสุดลง
  • ๕.๗ สีมาติกกนฺติกา กำหนดด้วยล่วงเขต หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “จะกลับมา” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จ และคิดว่า “จะกลับมา จะกลับมา” ปรากฎว่ากลับมาไม่ทันเขตกฐิน
  • ๕.๘ สหุพฺภารา กำหนด้วยเดาะพร้อมกัน หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “จะกลับมา” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จ และคิดว่า “จะกลับมา จะกลับมา” ในขณะที่กำลังกลับมาถึงอาวาสนั้นเอง ปรากฏว่าสงฆ์ภายในวัด พร้อมใจกันเดาะกฐินเสียแล้ว ดังนั้นการเดาะกฐินหรือการทำกฐินให้เสียหาย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ย่อมทำให้อานิสงส์กฐิน ที่จะพึงได้รับตามพุทธานุญาต สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง

๖. รู้จักปลิโพธ ในที่นี้ปลิโพธ หมายถึง กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน ปลิโพธ มีอยู่ ๒ ประการ คือ

  • ๖.๑ อาวาสปลิโพธ ภิกษุกรานกฐินแล้วมีกังวลอาลัยอยู่ในอาวาส หรือหลีกไปผูกใจอยู่ว่าจะกลับมา ชื่อว่ายังมี “อาวาสปลิโพธ”
  • ๖.๒ จีวรปลิโพธ ภิกษุยังไม่ได้ทำจีวรเลย หรือทำค้างอยู่ หรือหายไปเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นความหวังที่จะได้จีวรอีก ชื่อว่ายังมี “จีวรปลิโพธ”
  • ถ้าตรงกันข้ามทั้ง ๒ ปลิโพธ นั้น เป็นสิ้นเขตจีวรกาล เรียกว่า “กฐินเดาะ”

๗. รู้จักการเดาะกฐิน มีความรู้หลายประการที่ควรรู้เช่น รู้จักกฐินเป็นอันกราน กับกฐินไม่เป็นอันกราน (กฐินเดาะ)

  • ๗.๑ กฐินเป็นอันกราน หมายถึง การกรานกฐินที่ปฏิบัติได้ถูกต้องตามพุทธานุญาต มี ๑๗ ประการ คือ
    • ๗.๑.๑ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่
    • ๗.๑.๒ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่
    • ๗.๑.๓ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า
    • ๗.๑.๔ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสกุล
    • ๗.๑.๕ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน
    • ๗.๑.๖ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา
    • ๗.๑.๗ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา
    • ๗.๑.๘ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา
    • ๗.๑.๙ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน
    • ๗.๑.๑๐ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์
    • ๗.๑.๑๑ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำพินทุ
    • ๗.๑.๑๒ กฐินเป็นอันกราน ด้วยสังฆาฏิ
    • ๗.๑.๑๓ กฐินเป็นอันกราน ด้วยอุตตราสงค์
    • ๗.๑.๑๔ กฐินเป็นอันกราน ด้วยอันตรวาสก
    • ๗.๑.๑๕ กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ที่ตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
    • ๗.๑.๑๖ กฐินเป็นอันกราน เพราะมีบุคคลกราน
    • ๗.๑.๑๗ กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
  • ๗.๒ กฐินไม่เป็นอันกราน หรือกฐินเดาะ หมายถึง การกรานกฐินที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธานุญาต มี ๒๔ ประการ คือ
    • ๗.๒.๑ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงมีรอยขีด
    • ๗.๒.๒ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า
    • ๗.๒.๓ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า
    • ๗.๒.๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า
    • ๗.๒.๕ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า
    • ๗.๒.๖ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บผ้า
    • ๗.๒.๗ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
    • ๗.๒.๘ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังดุม
    • ๗.๒.๙ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต
    • ๗.๒.๑๐ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า
    • ๗.๒.๑๑ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า
    • ๗.๒.๑๒ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น
    • ๗.๒.๑๓ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
    • ๗.๒.๑๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา
    • ๗.๒.๑๕ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา
    • ๗.๒.๑๖ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน
    • ๗.๒.๑๗ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
    • ๗.๒.๑๘ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ทำพินทุ
    • ๗.๒.๑๙ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากสังฆาฏิ
    • ๗.๒.๒๐ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากอุตตราสงค์
    • ๗.๒.๒๑ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากอันตรวาสก
    • ๗.๒.๒๒ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
    • ๗.๒.๒๓ กฐินไม่เป็นอันกราน เพราะเว้นจากบุคคลกราน
    • ๗.๒.๒๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น

ดังนั้น กฐินที่เป็นอันกราน หมายถึง ได้กรานกฐินถูกต้องตามพุทธานุญาต ภิกษุผู้กรานกฐิน ย่อมมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ส่วนกฐินไม่เป็นอันกราน หมายถึง มิได้กรานกฐินให้ถูกต้องตามพุทธานุญาต จะมิได้รับอานิสงส์ของกฐินแต่ประการใด

๘. รู้จักอานิสงส์กฐิน คือรู้จักอานิสงส์ของกฐิน ๕ ประการที่พระภิกษุจะพึงได้รับจากการจำพรรษา และได้กรานกฐินถูกต้องตามพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ดังแสดงไว้ในเรื่องปฐมเหตุการทอดกฐิน

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าภาพถวายผ้ากฐินสำเร็จรูปก็ตาม พระภิกษุผู้เป็นองค์ครองกฐินจะต้องมีคุณสมบัติ อันสมควรนี้ และเมื่อทำผ้าจีวรได้สำเร็จแล้ว จะต้องประกาศให้คณะสงฆ์รับทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อคณะสงฆ์อนุโมทนาแล้ว พระภิกษุองค์ครองจึงจะมีสิทธิในผ้ากฐินนั้น และพระภิกษุในวัดทุกรูปมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ

อานิสงส์ของกฐิน

อานิสงส์สำหรับพระภิกษุผู้รับกฐิน

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน รับผ้ากฐินได้ เมื่อได้รับแล้วมีความสามัคคีร่วมกันทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย จะได้รับอานิสงส์หรือความยกเว้นในการผิดพระธรรมวินัย ๕ ประการ คือ

  • ๑. จาริกไปที่อื่นได้โดยไม่ต้องบอกลาเพื่อนสหธัมมิกด้วยกัน หมายความว่า พระภิกษุรับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่ง สามารถไปที่เรือนอื่นได้ในเวลาก่อนฉันหรือหลังฉัน โดยมิต้องบอกลาพระภิกษุอื่น
  • ๒. จาริกไปที่อื่นได้โดยไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบชุด หมายความว่า พระภิกษุสามารถอยู่ปราศจากผ้าผืนใดผืนหนึ่งที่อธิษฐานเป็นผ้าไตรจีวรได้
  • ๓. ฉันคณโภชน์ได้ หมายความว่า ทายกทายิกานิมนต์รับอาหารโดยระบุชื่ออาหาร พระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปรับแล้วนำมาฉันรวมกันเป็นหมู่คณะและฉันพร่ำเพรื่อ (ในเวลา) ได้
  • ๔. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ หมายความว่า พระภิกษุสามารถเก็บผ้าจีวรนอกจากผ้าไตรได้
  • ๕. จีวรเกิดขึ้นในวัดนั้น เธอมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง หมายความว่า ผู้มีจิตศรัทธาน้อมนำจีวรมาถวาย เธอจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับพระภิกษุในวัดนั้น กล่าวคือ มีส่วนได้ “อดิเรกลาภ” (ลาภพิเศษ) ที่เกิดขึ้นในวัดนั้น

พระภิกษุผู้ได้รับกฐินแล้วจะได้รับอานิสงส์นี้ เป็นเวลา ๔ เดือน ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

ตามหลักพระธรรมวินัยนั้น พระภิกษุจะเข้าบ้านต้องบอกลาพระภิกษุด้วยกัน, จะเดินทางเที่ยวไปต้องนำเอาไตรจีวรไปให้ครบชุด, เวลาฉันอาหารต้องนั่งเรียงกัน จะล้อมวงกันไม่ได้, จีวรที่เหลือใช้เก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วัน และลาภที่เกิดขึ้นต้องให้แก่พระภิกษุผู้มีอาวุโส คือที่บวชนานที่สุด ข้อบังคับเหล่านี้ย่อมเป็นความลำบากแก่พระภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก

ตัวอย่างเช่น การเข้าบ้านต้องบอกลากันเสมอไปนั้น ถ้าเผอิญอยู่คนเดียว ไม่มีใครจะรับลา ก็เข้าบ้านไม่ได้, การเดินทางต้องเอาไตรจีวรไปให้ครบ หมายความว่าต้องเอาผ้านุ่งห่มไปให้ครบชุด คือ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าซ้อนผ้าห่ม) ในครั้งก่อน พระภิกษุไม่มีโอกาสได้ผ้าบางเนื้อละเอียดอย่างสมัยนี้เสมอไป ถ้าไปได้ผ้าเปลือกไม้หรือผ้าอะไรชนิดหนา การที่จะนำเอาไปด้วยนั้นไม่เป็นการง่าย, การห้ามฉันอาหารล้อมวง ต้องนั่งเรียงกันฉันอาหารนั้น ถ้ามีอาหารน้อยก็ทำความลำบาก เราทราบอยู่แล้วว่าการรับประทานแยกกัน ย่อมปลีกอาหารมากกว่าการรับประทานรวมกัน

ส่วนเรื่องการเก็บจีวรที่เหลือใช้นั้น ในชั้นเดิมเป็นความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า ที่จะไม่ให้พระภิกษุเก็บสะสมทรัพย์สมบัติ ถ้ามีอะไรเหลือใช้จะเก็บไว้ไม่ได้ ต้องให้คนอื่นเสีย โดยเฉพาะเรื่องจีวรนี้มีบัญญัติว่า ถ้ามีจีวรเหลือใช้เก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วัน พ้น ๑๐ วันไปแล้วต้องสละให้คนอื่นไป ถ้าจะไม่สละต้องทำพิธี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า “วิกัป” คือไปทำความตกลงกับพระภิกษุอีกรูปหนึ่งให้เป็นเจ้าของจีวรด้วยกัน แล้วมอบให้ตนเก็บไว้ อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “อธิษฐาน” คือถ้าจีวรที่เหลือใช้นั้นใหม่กว่าของที่ใช้อยู่ ก็เอามาใช้เสีย แล้วสละของเก่าให้คนอื่นไป การห้ามกวดขันไม่ให้เก็บผ้าจีวรไว้เกินต้องการเช่นนี้ ในบางครั้งก็เกิดความลำบาก เช่น ถูกขโมยลักจีวร ซึ่งเคยถูกลักกันมามากในครั้งพุทธกาล หรือมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้จีวรนั้นใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีสำรองเสียเลย

ในเรื่องลาภที่เกิดขึ้นในวัดนั้น มีข้อบังคับกวดขันว่าให้ได้แก่พระภิกษุที่มีพรรษายุกาลมากที่สุด คือที่บวชก่อนคนอื่นในเรื่องนี้ทำความเดือดร้อนหลายครั้ง เช่น พระภิกษุอยู่ในวัดเดียวกัน อดอยากมาด้วยกัน มีผู้เอาของมาถวาย และในวันที่มีผู้เอาของมาถวายนั้น เผอิญมีพระภิกษุจรมาพักอยู่ในวัดนั้นด้วย และพระภิกษุจรมีพรรษายุกาลมากกว่าพระภิกษุที่อยู่ในวัด ลาภนั้นก็ต้องตกเป็นของพระภิกษุที่จรมา ส่วนพระภิกษุที่อยู่ในวัดก็ไม่มีส่วนได้

ความขัดข้องลำบากอันเกิดจากทางพระธรรมวินัยนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นมานานแล้ว แต่พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไม่เหมือนกับกฎหมาย คือกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้ว ถ้าเห็นว่าไม่ดีก็ประกาศยกเลิกและบัญญัติใหม่ได้ ส่วนพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าประกาศยกเลิกไม่ได้ ได้แต่งดชั่วคราวหรือมีข้อยกเว้นพิเศษให้เท่านั้น

เมื่อได้ทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ ๓๐ รูป ที่พากันมาเข้าเฝ้า ทรงเห็นชัดว่าควรให้ความยกเว้นในเรื่องการหอบหิ้วเอาไตรจีวรมาให้ครบ และเมื่อทรงยกเว้นในข้อนี้ ก็เลยทรงประทานข้อยกเว้นอื่นๆ ที่ทรงดำริมาแล้วแต่ก่อนด้วย จึงเกิดมีข้อยกเว้นในการผิดพระธรรมวินัยขึ้น ๕ ข้อดังกล่าวมาข้างต้น

แต่การงดชั่วคราวหรือให้ความยกเว้นเป็นพิเศษนั้น จะให้กันเฉยๆ ไม่ได้ พระภิกษุต้องได้ทำความดีอันใดอันหนึ่งจึงจะได้รับความยกเว้น ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้มีพิธีกรานกฐิน ด้วยพิธีกรานกฐินถือเป็นความดีความชอบอย่างหนึ่ง เพราะการทำจีวรในสมัยนั้นไม่ใช่ของง่ายๆ ตามปกติเวลามีการทำจีวร พระภิกษุย่อมได้รับความยกเว้นในวินัยหลายข้ออยู่แล้ว เมื่อต้องมาทำจีวรโดยรีบร้อนให้เสร็จในวันเดียว และตกเป็นสมบัติของคณะสงฆ์อีกเช่นนี้ ก็ควรเป็นความดีความชอบอันพึงได้รับความยกเว้นในการผิดพระธรรมวินัย

อานิสงส์สำหรับผู้ถวายกฐิน

โดยทั่วไปยังไม่เคยพบในพระบาลีที่ระบุไว้โดยตรง แต่ว่าการทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วัดหนึ่งทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่งๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง

น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า การทอดกฐินนี้ ผู้เข้าใจจึงปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จะได้รับผลคือสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติเพราะเราให้ทานเอง และสมบูรณ์ด้วยบริวารสมบัติเพราะชักชวนผู้อื่น บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศลด้วย กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระธรรมวินัย

วิธีปฏิบัติสำหรับผู้ประสงค์จะทอดกฐิน

พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้

การจองกฐิน

สำหรับวัดราษฎร์ทั่วไป เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือจองกฐินปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่วๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่นๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด

สำหรับการขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอด ณ พระอารามหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้นครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการี กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาน เพื่อกรมการศาสนาจะขึ้นบัญชีไว้กราบบังคมทูลและแจ้งให้วัดทราบ ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้ว จึงจะจองได้

การเตรียมการ

ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาในงานกฐิน

ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือ ไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่นๆ ตามแต่มีความศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร, คู่สวดองค์ละ ๑ ไตร)

วันงานทอดกฐิน

พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว การนำกฐินไปทอดทำได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือ ตั้งองค์พระกฐินกับเครื่องบริวาร ณ วัดที่จะทอดก่อน พอถึงวันกำหนดเจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของกฐิน หรือรับพระราชทานผ้ากฐินทานมา จึงพากันไปยังวัดเพื่อทำพิธีถวาย

อีกอย่างหนึ่ง ตามคติที่ถือว่าการทอดกฐินเป็นการถวายทานพิเศษแก่พระสงฆ์ที่ได้จำพรรษาครบไตรมาส นับว่าได้กุศลแรง จึงได้มีการฉลองกฐินก่อนนำไปวัด ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น ๒ วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินกับเครื่องบริวารที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ หรือจะไปตั้งที่วัดก็ได้ มีการทำบุญเลี้ยงพระและเลี้ยงผู้คนที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของกฐิน กลางคืนมีการมหรสพสมโภชครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็จะมาร่วมอนุโมทนา

รุ่งขึ้นไปยังวัดที่จะทอดเพื่อทำพิธีถวาย ถ้าไปทางบก ก็มีแห่แหนทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวง มีเครื่องบรรเลง มีการฟ้อนรำนำขบวนตามประเพณีนิยม หรืออื่นๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่แหนทางขบวนเรือ สนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระถวายภัตตาหารเพล

การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น

อนึ่ง ถ้าตั้งองค์พระกฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบท ตอนเย็นก็แห่องค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลอง รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเช้า แล้วทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล และบางงานอาจมีการรวบรวมปัจจัยไปวัดถวายพระอีกด้วย เช่น ในกรณีกฐินสามัคคี

ลำดับการถวายผ้ากฐิน

๑. นำผ้ากฐินไปวัดที่จะถวาย ถ้ามีการแห่แหนไป เมื่อเข้าไปในวัดแล้วจะนำองค์กฐินเวียนโบสถ์ (วัดหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ) เช่นเดียวกับการนำนาค จะเวียนโบสถ์ด้วยก็ได้ หรือจะไม่เวียนก็ได้

๒. นำผ้ากฐิน พร้อมด้วยเครื่องบริวารกฐิน ไปตั้งไว้ ณ สถานที่ที่ถวายให้เรียบร้อย สถานที่ถวาย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ จงพิจารณาดูว่าที่ไหนจะเหมาะ (คำว่า เหมาะ หมายถึง ที่กว้างพอที่จะเข้าไปนั่งร่วมอนุโมทนาได้พอสมควร) การถวายผ้ากฐินนั้น นิยมถวายในโบสถ์ โดยเฉพาะกฐินพระราชทาน ก่อนจะถึงกำหนดเวลาจะเอาเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ในโบสถ์ก่อน ส่วนผ้ากฐินพระราชทานจะยังไม่นำเข้าไป

เมื่อถึงกำหนดเวลาที่พระสงฆ์จะทำพิธีของท่าน (สังฆกรรม) ท่านจะต้องไปทำในโบสถ์เสมอ ทำนอกโบสถ์ไม่ได้ ถ้าวัดไม่มีโบสถ์ ก็ต้องทำในเขตแม่น้ำ หรือในเขตสระใหญ่ๆ

๓. เมื่อเจ้าภาพไปถึงสถานที่ถวายผ้ากฐินแล้ว ให้จุดธูปเทียนสักการบูชา และกราบพระรัตนตรัย ตั้งนะโม ๓ จบก่อน ดอกไม้ธูปเทียนสำหรับสักการบูชาพระรัตนตรัยนี้ เจ้าภาพจะนำไปด้วยก็ได้ หรือจะให้คนไปจัดไว้ที่วัดก่อนก็ได้ เรื่องนี้ตามประเพณีนิยมถือกันว่า ไปวัดทั้งทีควรมีดอกไม้ธูปเทียนไปสักการบูชาด้วย การนำไปพร้อมกับเจ้าภาพไม่ยุ่งยาก เพียงให้คนถือตามไป มีเทียน ๒ เล่ม ธูป ๓ ดอก ดอกไม้ ๑ กำ ก็พอแล้ว

เมื่อไปถึงก็นำไปสักการบูชา ณ สถานที่จัดไว้ ถ้าให้คนไปจัดไว้ที่วัดก่อน ควรมีโต๊ะสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปูผ้าขาว ตั้งแจกัน ๑ คู่ พร้อมด้วยธูป ๓ ข้างหน้าวางหมอนไว้ ๑ ใบ ถ้าไม่มีหมอนก็ใช้ผ้าขาวปูไว้แทน จะใช้ผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดขนาดเหมาะสมก็ได้ เมื่อเจ้าภาพไปถึง ก็ให้จุดเทียนธูปสักการบูชาพระรัตนตรัยที่จัดไว้นี้ แล้วกราบพระ ๓ ครั้ง

๔. ตามประเพณีนิยมในต่างจังหวัด ในบางถิ่น ถ้ามีการทอดกฐินชาวบ้านที่ทำบุญในวัดที่จะทอดนั้น จะพากันไปร่วมอนุโมทนาด้วยเป็นจำนวนมาก เวลาถวายผ้ากฐินก็ร่วมถวายด้วย ถ้าในถิ่นที่ชาวบ้านนิยมประเพณีนี้ก็ควรอนุโลม ถ้าหากเป็นกฐินของประชาชนหรือกฐินสามัคคี กล่าวคือ ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกกับผ้าไตรกฐิน (อย่าผูกให้แน่นนักจะแก้ออกลำบาก ให้ผูกเป็นเงื่อนกระตุกได้) เมื่อผูกแล้วโยงมาวงเครื่องบริวารกฐินให้รอบ ที่เหลือจากนั้น ให้ผู้ที่มาร่วมอนุโมทนาถือด้วยกันทุกคน

เวลาจะโยงมาวงเครื่องบริวารกฐิน ให้เว้นด้ายสายสิญจน์ไว้ในระยะประมาณ จากที่ตั้งองค์กฐินไปถึงหัวอาสน์สงฆ์ เพราะเวลานำผ้ากฐินไปประเคนนั้น ยังไม่ได้แก้ด้ายสายสิญจน์ออก ประเคนผ้ากฐินแล้วจึงแก้ออก ทั้งนี้ถือกันว่าผู้ร่วมอนุโมทนาได้ประเคนร่วมด้วย เพราะเขาถือกันว่า การทำบุญถ้าได้ประเคนกับมือตนเองได้บุญมาก เรื่องด้ายสายสิญจน์นี้ ถ้าในท้องถิ่นที่ไม่นิยมก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพียงแต่ประนมมือ ว่าคำถวายตามไปด้วยก็พอแล้ว

๕. เมื่อพร้อมแล้ว ถึงเวลาถวายผ้ากฐิน ให้เจ้าภาพหยิบผ้าห่มพระ (ผ้าห่มพระประธาน) มอบให้แก่มรรคนายกหรือผู้ช่วย เพื่อนำไปห่มพระประธาน แล้วประเคนตาลปัตรแด่พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน เพื่อท่านจะได้ใช้ในการให้ศีล

๖. มรรคนายกหรือผู้ช่วย อาราธนาศีล เจ้าภาพพร้อมด้วยผู้มาร่วมอนุโมทนากฐิน ตั้งใจรับศีลโดยพร้อมเพรียงกัน

๗. มรรคนายกหรือผู้ช่วย นำผ้ากฐินมามอบให้เจ้าภาพ เพื่อให้นำไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า ๕ รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ทั้งนั้น เป็นเอกฉันท์ ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น ส่วนพานแว่นฟ้าที่วางผ้ากฐิน โดยประเพณีมักจะนำไปตั้งไว้เบื้องหน้าพระสงฆ์รูปที่ ๒ หรือรูปที่ ๓ นับจากหัวอาสน์สงฆ์ เพื่อว่าเมื่อกล่าวคำถวายผ้ากฐินเสร็จแล้ว เจ้าภาพจะได้นำผ้ากฐินไปวาง ณ ที่นั้น

ศิษยานุศิษย์หน่อแก้วพระพุทธศาสนาและญาติธรรมในขบวนแห่จุลกฐิน อ.พล จ.ขอนแก่น เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

ทั้งนี้หมายความว่า ผ้ากฐินตั้งไว้รวมกับเครื่องบริวารกฐิน การตั้งรวมไว้เป็นหมวดหมู่ก็เพื่อความสวยงาม ไม่ได้ไปตั้งไว้ที่หัวอาสน์สงฆ์ก่อน เมื่อผู้เป็นเจ้าภาพรับผ้ากฐินแล้ว ให้อุ้มประคองประนมมือหันหน้าไปทางพระปฏิมาประธาน (ในการทอดกฐินนี้ ถ้าสามีภรรยาเป็นเจ้าภาพไปทอดด้วยกัน จะจับผ้ากฐินด้วยกันก็ได้ และก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะว่าได้ทำบุญร่วมกันจริงๆ) เมื่อหันหน้าไปทางพระประธานแล้ว ให้ตั้ง นะโม... ๓ จบ แล้วหันหน้าไปทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ดังนี้

คำถวายผ้ากฐิน (สำหรับวัดมหานิกาย )

อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (ว่า ๓ หน)

แปลว่า

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์

คำถวายผ้ากฐิน (สำหรับวัดธรรมยุต )

อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินนทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

แปลว่า

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐิน พร้อมทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

การกล่าวคำถวาย ถ้าจะไม่ว่าคำแปลด้วย ให้ทอดเสียงสองคำสุดท้าย สำหรับวัดมหานิกายคือ “โอโณชะยามะ” สำหรับวัดธรรมยุตคือ “หิตายะ สุขายะ” ให้ยาวหน่อย เพื่อให้พระสงฆ์สังเกตได้ว่าจบแล้ว ท่านจะได้กล่าวรับด้วยคำว่า “สาธุ” ขึ้นพร้อมกัน

๘. เมื่อกล่าวคำถวายจบ พระสงฆ์รับ “สาธุ” ขึ้นพร้อมกันแล้ว ให้นำผ้ากฐินไปประเคนแด่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ประเคนองค์ที่ ๒ หรือองค์ที่ ๓ ก็ได้ เพื่อท่านจะได้รับไว้แทนพระสงฆ์ เพราะผ้ากฐินยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อท่านรับแล้ว ต่อจากนี้ไปเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์ ซึ่งจะได้พิจารณามอบผ้ากฐินให้แก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้สมควร

กฐินของประชาชน หรือกฐินสามัคคี หรือในวัดบางวัด นิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญ หรือวิหารสำหรับทำบุญ แล้วมรรคนายกหรือผู้ช่วย จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์ ทำพิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง

การทำพิธีกฐินัตถารกิจของพระสงฆ์ เริ่มจากการกล่าวคำขอความเห็นที่เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) ในที่ประชุมสงฆ์ว่า ควรมีการกรานกฐินหรือไม่ และการสวดญัตติทุติยกรรม คือการยินยอมยกให้ พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระผู้ที่มีอายุมาก มีพรรษามาก มีจีวรเก่า เป็นผู้ที่ฉลาด รู้ธรรมวินัย

๙. เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีของท่านเสร็จแล้ว ให้มรรคนายกหรือผู้ช่วย ส่งไตรคู่สวดให้เจ้าภาพประเคน เพื่อท่านจะได้ออกไปครองผ้าพร้อมกัน (การถวายผ้ากฐินนี้ ถ้าถวายที่วิหารหรือศาลาการเปรียญ เวลาท่านจะไปทำสังฆกรรมในโบสถ์ ก็ให้ถวายไตรครองพระคู่สวดเสียก่อน ท่านจะได้ครองผ้าในโบสถ์ พร้อมกับองค์ครองกฐินเลยทีเดียว ไม่ต้องกลับมาแล้วให้ท่านครองอีก เป็นการเสียเวลา)

๑๐. พระสงฆ์ครองผ้ากลับเข้ามานั่งบนอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว มรรคนายกหรือผู้ช่วย ส่งของให้เจ้าภาพประเคน ให้ส่งเครื่องบริวารกฐินถวายองค์ครองให้เสร็จก่อน แล้วประเคนพระคู่สวดพระอันดับตามลำดับ ถ้ามีสามเณรก็ให้มารับไทยธรรมตอนนี้ด้วย

การประเคนของพระสงฆ์และสามเณรนี้ เจ้าภาพจะมีใจเอื้อเฟื้อให้ทายกทายิกา และผู้มาร่วมอนุโมทนาเข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินด้วยก็ได้ ทั้งนี้เฉพาะผู้ที่อยู่ในเครือญาติ หรือผู้ที่เคารพนับถือและรู้จักมักคุ้น

๑๑. ประเคนเครื่องไทยธรรมเสร็จแล้ว มรรคนายกหรือผู้ช่วย นำน้ำกรวดไปให้เจ้าภาพ พระสงฆ์ทั้งนั้นจับพัด ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ว่า (ยถา...) เจ้าภาพกรวดน้ำ ถ้าภาชนะปากแคบ ให้เทโกรกลงในที่รอง อย่าเอานิ้วรองรับสายน้ำให้หยดติ๋งๆ เมื่อพระสงฆ์ว่า “ยถา...” จบ ให้เทน้ำลงไปในที่รองกรวดให้หมด แล้วประนมมือรับพร ฟังพระสงฆ์อนุโมทนาต่อไปจนจบ ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

หมายเหตุ เรื่องการประเคนผ้ากฐินนี้ พระสงฆ์บางวัดรับประเคน แต่มีบางวัดไม่รับ เพราะฉะนั้น ขอให้ส่งผู้แทนไปซักซ้อมเรียนถามเสียก่อน จะได้เป็นการเรียบร้อยด้วยกันทั้งสองฝ่าย สำหรับวัดที่ท่านไปประเคน ประธานพึงวางผ้ากฐินไว้บนพานแว่นฟ้า ตรงเบื้องหน้าพระสงฆ์เถระนั้น

พิธีกรานกฐิน

พิธีของกฐินนี้มีอยู่ ๒ ระยะ คือ

๑. ระยะที่ทายกทายิกานำผ้ากฐินไปถวายระยะหนึ่ง ซึ่งมีกำหนดเวลาถวายที่จำกัดเพียงหนึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

๒. ระยะที่ภิกษุสงฆ์ท่านรับผ้ากฐินจากทายกทายิกาแล้ว ประชุมกันทำกรรมวิธีการตัด เย็บ ย้อม ตากให้แห้ง แล้วกรานกฐิน นี้ เป็นอีกระยะหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับฆราวาสแต่ประการใด

พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ กล่าวคือ ภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ตัด เย็บ ย้อม ตากให้แห้ง ควรแก่การใช้ได้ให้เสร็จภายในวันเดียว เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร

เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ ครั้นแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม ๓ จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้

ในปัจจุบัน การถวายผ้ากฐินโดยทั่วไปในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับบริวารกฐิน มากกว่าผ้ากฐิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกรานกฐิน

หมายเหตุ ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปล

๑. ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า

อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ (กล่าว ๓ จบ)

แปลว่า

ข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าสัมฆาฏินี้

๒. ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์ เปล่งวาจากรานกฐินว่า

อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ (กล่าว ๓ จบ)

แปลว่า

ข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้

๓. ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า

อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ (กล่าว ๓ จบ)

แปลว่า

ข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้

๔. ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกราบพระ ๓ หนเสร้จแล้วตั้ง นโม... พร้อมกัน ๓ จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้

อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ (กล่าว ๓ จบ)

แปลว่า

อาวุโส ! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา

หมายเหตุ คำว่าอาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็นภนฺเต

๕. ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้ว ให้ภิกษุทั้งปวงอนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูปๆ ว่า

อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ (กล่าว ๓ จบ)

สงฆ์ทั้งปวงรับว่า "สาธุ" ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา (ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษาแก่กว่าสงฆ์ทั้งปวง ให้เปลี่ยนคำว่าภนฺเต เป็นอาวุโส ) ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือ เสร็จแล้วจึงนั่งพับเพียบลง

๖. เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก ๓ จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่าอนุโมทามิ เป็นอนุโมทามะ เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง

๗. ต่อแต่นั้นกราบพระ ๓ หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธีการกรานกฐิน

พิธีทอดกฐินพระราชทาน

กฐินพระราชทาน คือ กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรเอกชน น้อมนำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงต่างๆ แทนพระองค์

การดำเนินการ

ให้หน่วยราชการ คณะบุคคล หรือเอกชนนำหนังสือขอจองไปที่กรมการศาสนา เพื่อรวบรวม กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่ามีจำนวนกี่วัด

การแต่งกาย

  • ประธานฯ ในพิธีแต่งเครื่องแบบปกติขาว คาดกระบี่
  • นายทหารสัญญาบัตรแต่งเครื่องแบบปกติขาว งดกระบี่
  • นายทหารประทวนแต่งเครื่องแบบปกติกากีแกมเขียว คอพับแขนยาว

ลำดับพิธี (ไม่มีการรับศีล)

๑. พระสงฆ์พร้อมที่อาสน์ในพระอุโบสถ

๒. ประธานฯ เดินทางมาถึงด้านหน้าประตูพระอุโบสถ ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรับผ้าพระกฐินจากพานแว่นฟ้าบนโต๊ะหมู่บูชา

๓. ประธานฯ ประคองผ้าพระกฐินขึ้นสู่พระอุโบสถ ไปวางผ้าพระกฐินบนพานแว่นฟ้าหน้าอาสน์สงฆ์

๔. ประธานฯ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบ ๓ หน

๕. ประธานฯ หยิบผ้าห่มให้พระประธานที่วางอยู่บนผ้าพระกฐิน ส่งให้เจ้าหน้าที่นำไปห่มพระพุทธปฏิมาประธาน

๖. ประธานฯ ยกผ้าพระกฐินขึ้นประคองประนมมือ หันหน้าไปทางพระพุทธปฏิมาประธาน กล่าวนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้าไปทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ดังนี้

ผ้าพระกฐินทาน พร้อมทั้งเครื่องบริวารทั้งปวงนี้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้..................................... (ระบุชื่อหน่วยราชการหรือบุคคล) น้อมนำมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาต นั้นเทอญ

เมื่อกล่าวจบแล้ว พระสงฆ์รับ “สาธุ” พร้อมกัน

๗. ประธานฯ ประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒ ซึ่งนั่งรองจากเจ้าอาวาส เสร็จแล้วยกพานเทียนปาติโมกข์ถวาย แล้วกลับนั่งที่สำหรับประธานฯ

๘. พระสงฆ์กระทำอปโลกนกรรม และสวดญัตติ

๙. ประธานฯ ถวายผ้าไตรแก่พระคู่สวด ๒ รูป จากนั้นพระสงฆ์องค์ครองผ้า และพระคู่สวดออกไปครองผ้า

๑๐. ประธานฯ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ช่วยกันถวายเครื่องบริวารพระกฐิน

๑๑. เจ้าหน้าที่อ่านปวารณาปัจจัยบำรุงวัด เสร็จแล้วประธานฯ ถวายปวารณาแด่เจ้าอาวาส

๑๒. พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานฯ กรวดน้ำ และประนมมือรับพร

๑๓. ประธานฯ กราบลาพระรัตนตรัย เป็นอันเสร็จพิธี

กฐินและการให้ทาน

สังฆทาน ๗ ชนิด

การทอดกฐินจัดเป็นการถวายสังฆทานชนิดหนึ่ง คือ การถวายทานเพื่อสงฆ์ ซึ่งบริสุทธิ์ดุจลอยมาจากนภากาศ แล้วตกลงท่ามกลางสงฆ์ มิได้เจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสแสดงสังฆทานไว้ ๗ ชนิด คือ

  • ๑. ถวายทานเพื่อภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
  • ๒. ถวายทานเพื่อสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
  • ๓. ถวายทานเพื่อพระภิกษุสงฆ์
  • ๔. ถวายทานเพื่อพระภิกษุณีสงฆ์
  • ๕. ถวายทานเพื่อสงฆ์ทั้งสองฝ่ายช่วยกันจัดการให้
  • ๖. ถวายทานเพื่อสงฆ์ ที่ภิกษุสงฆ์ช่วยจัดการให้
  • ๗. ถวายทานเพื่อสงฆ์ ที่ภิกษุณีช่วยจัดการให้

การทอดกฐินเป็นการถวายทานเพื่อพระภิกษุสงฆ์ ตรงกับข้อ ๓ พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญว่า สังฆทานมีอานิสงส์มาก ความจริงการถวายทานที่บุคคลมีศรัทธามั่นคงแล้วถวายในท่ามกลางสงฆ์ สามารถทำได้เฉพาะบุคคลที่น้อมใจเลื่อมใสในสงฆ์เท่านั้น

แต่การน้อมใจให้เลื่อมใสในสงฆ์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะว่าผู้ที่จัดเตรียมไทยธรรมแล้วคิดว่า เราจะถวายทานเพื่อสงฆ์ จึงเข้าไปวัดแล้วกราบนิมนต์ว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอกราบนิมนต์พระรูปใดรูปหนึ่งเพื่อมารับสังฆทาน”

เมื่อมีสามเณรรูปหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากสงฆ์มารับสังฆทาน ไม่แสดงอาการน้อยใจ หรือตัดพ้อต่อว่าอย่างไม่พอใจ แต่ตั้งใจถวายทานเพื่อสงฆ์ ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส

เมื่อมีพระเถระรูปหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากสงฆ์มารับสังฆทาน ไม่แสดงอาการชื่นชมยินดีมากนัก เพราะตั้งใจแน่วแน่ว่าเราถวายทานเพื่อสงฆ์ การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นการน้อมใจถวายทานเพื่อสงฆ์

สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ที่นิโครธาราม พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระน้านาง ทรงดำริว่าตั้งแต่พระพุทธองค์เสด็จมาพระนครนี้ พระประยูรญาติต่างพากันถวายสิ่งของต่างๆ จำนวนมาก แต่เรายังไม่ได้ถวายอะไรเลย ควรจะถวายผ้าจีวรเนื้อดีจะประเสริฐกว่า จึงดำเนินการเย็บจีวรตามขั้นตอนจนสำเร็จด้วยพระองค์เอง แล้วน้อมนำไปถวายพระพุทธองค์ นมัสการกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันตั้งใจเย็บจีวรเนื้อดีสีงดงาม เพื่อถวายพระพุทธองค์โดยเฉพาะ ขอจงรับเพื่อประโยชน์สุขแก่หม่อมฉันสิ้นกาลนานเถิด

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธว่ามีจีวรครบแล้ว ทรงแนะนำให้ถวายแก่สงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก พระนางมหาปชาบดีโคตมี อ้อนวอนด้วยความน้อยพระทัยให้รับถึง ๓ ครั้ง แต่พระพุทธองค์ยังคงปฏิเสธด้วยความนุ่มนวล พร้อมยืนยันให้ถวายสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก ด้วยพุทธประสงค์ให้เป็นแบบอย่างที่ดีในภายหน้า ให้พุทธบริษัทเคารพเลื่อมใสในพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงต่อไป

หลักการให้ทานของผู้ฉลาด ๕ ประการ

  • ๑. ให้ทานด้วยศรัทธา คือความเชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ผลของการให้ทานด้วยศรัทธานี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และมีรูปร่างงดงามสมส่วน น่ารัก ชวนมอง ผิวพรรณผ่องใสงามยิ่งนัก
  • ๒. ให้ทานด้วยความเคารพ ด้วยกาย วาจา และใจ เคารพในวัตถุสิ่งของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ผลของการให้ทานด้วยความเคารพนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ มีบุตร ภรรยา สามี ทาสคนใช้ หรือบริวาร เป็นคนเชื่อฟังคำสั่งสอน ว่านอนสอนง่าย ไม่ขัดใจในการงานที่ดีทุกอย่าง
  • ๓. ให้ทานตามกาล คือให้ทานในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ให้ทานตามที่กำหนดเวลา เช่น การทอดกฐิน หรือให้ทานในฤดูกาลแห่งพืชผักผลไม้ ผลของการให้ตามกาลนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และมีความเจริญรุ่งเรืองไปตามวัย ทั้งในปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย
  • ๔. ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ ไม่ยึดติดหรือเสียดายหลังจากให้แล้ว ผลของการให้ด้วยจิตอนุเคราะห์นี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ซึ่งเป็นสมบัติที่มีอยู่ของตนอย่างมีความสุข มิใช่เป็นเพียงผู้เฝ้าทรัพย์เท่านั้น
  • ๕. ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น เมื่อให้ทานแล้วตนเองไม่เดือดร้อน และไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนเช่นกัน ผลของการให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่นนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และสมบัติทุกอย่างที่มีอยู่จะไม่เสียหายวิบัติไปด้วยภัย คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม โจรปล้น ถูกยึดทรัพย์เข้าพระคลัง หรือภัยจากญาติที่เป็นศัตรูกันแย่งชิงไป

การทอดกฐินนี้ ผู้เข้าใจจึงปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จะได้รับผลคือสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาว่า

  • อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายในโลกนี้ บางคนคิดว่า เราควรให้ทานเฉพาะตนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ในการชักชวนผู้อื่น แล้วให้ทานเฉพาะตน ไม่ชักชวนผู้อื่น เขาเกิดมาจะมีโภคสมบัติเท่านั้น แต่ไม่มีบริวารสมบัติ
  • บางคนชักชวนผู้อื่น ตนเองไม่เคยให้ทาน เขาเกิดมาจะมีบริวารสมบัติเท่านั้น แต่ไม่มีโภคสมบัติ
  • บางคนไม่เคยให้ทาน และไม่เคยชักชวนผู้อื่น เขาเกิดมาไม่มีโภคสมบัติและไม่มีบริวารสมบัติ
  • บางคนให้ทานเองด้วย ชักชวนผู้อื่นด้วย เขาเกิดมาจะมีทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ

พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะการทอดกฐินมีอานิสงส์มาก ทำให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างถูกต้อง และได้ถวายทานเพื่อพระภิกษุสงฆ์ ถวายทานตามกาล นับเป็นมงคลสำหรับชีวิต

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา