ปกิณกพิธี ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติบางประการ ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ในหมวดต้น ๆ เพิ่มเติมอีก ๕ เรื่อง คือ ๑. วิธีแสดงความเคารพพระ ๒. วิธีประเคนของพระ ๓. วิธีทำหนังสืออาราธนา และทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย ๔. วิธีอาราธนาศีล - อาราธนาพระปริตร และ ๕. วิธีกรวดน้ำ

วิธีแสดงความเคารพพระ

พระที่เคารพในศาสนพิธีนี้ มี ๒ อย่าง คือ

๑. พระพุทธรูป หมายถึง ปูชนียวัตถุที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าทุกอย่าง เช่น พระเจดีย์.

๒. พระภิกษุ หมายถึง พระภิกษุ และสามเณร ในพระพุทธศาสนา ซึ่งทรงเพศสูงกว่าตน.

การแสดงความเคารพพระดังกล่าวนี้ มี ๓ วิธี คือ

๑. ประนมมือ ในบาลีเรียกว่าทำอัญชลี คือประกบฝ่ามือ ให้นิ้วแนบชิดติดตรงกัน ประคองไว้ตรงระหว่างอก ปลายนิ้วเชิดขึ้นศอกแนบชิดชายโครง. ในเวลาสวดมนต์ ฟังสวด ฟังเทศน์ รับศีล และเวลาพูดกับพระผู้ใหญ่ เป็นต้น.

๒. ไหว้ ในบาลีเรียกว่านมัสการ คือยกมือประนม ก้มศีรษะลงเล็กน้อย หัวแม่มือจดระหว่างคิ้ว นิ้วชี้จดส่วนบนหน้าผาก. ในเวลาพระนั่งเก้าอี้ หรือยืน เดินอยู่ในที่อันไม่ควรกราบ.

๓. กราบ ในบาลีเรียกว่าอภิวาท คือกราบลงด้วยองค์ ๕ เรียกว่าเบญจางคประดิษฐ์ มีองค์ ๕ คือ หน้าผาก ๑ ฝ่ามือตลอดถึงข้อศอก ๒ เข่า ๒ จดพื้น.

การกราบ

ผู้ชายนั่งท่าพรหม คือ คุกเข่า ฝ่าเท้ายันพื้นกับกัน

ผู้หญิงนั่งท่านเทพธิดา คือ คุกเข่า ฝ่าเท้าเหยียดออกไปรองกัน.

กราบในเวลาทำวัตร และเวลาแสดงคารวะอย่างสูง.

วิธีประเคนของพระ

องค์ประกอบของการประเคนของพระ มีดังนี้

  • การประเคนของพระ คือ การถวายของให้ถึงมือพระ. แต่ถ้าผู้หญิงประเคน ต้องวางบนผ้าหรือภาชนะ เช่น บาตร เป็นต้น ที่พระถืออยู่.
  • ของที่ประเคน ต้องไม่เป็นวัตถุอนามาส หรือของที่พระไม่ควรจับ เช่น เงิน ทองคำ และไม่เป็นของที่หนักถึงกับต้องหาม. แม้อาหารทุกชนิด ถ้าเลยเที่ยงแล้ว ก็ไม่ต้องประเคน.
  • ผู้ประเคน พึงเข้าใกล้พระประมาณ ๑ ศอก ไม่เกินศอกคืบ จะนั่งหรือยืน แล้วแต่สถานที่. จับของสองมือ (บางอย่างต้องจับมือเดียว เช่น ช้อนตักของใส่บาตร) ยกขึ้น น้อมถวาย เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี.
  • มารยาทของผู้ประเคน ต้องแสดงออกด้วยความเคารพ ไม่ใช่เสือกไสให้ ทิ้งให้ โดยไม่เคารพ. ไม่ควรสูบบุรี่ ปากคาบ หรือนิ้วหนีบบุหรี่ขณะประเคน. คนที่มืนเมา ก็ไม่ควรเข้าประเคน.

วิธีทำหนังสืออาราธนา และทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย

การนิมนต์ หรืออาราธนา (ก็คือ การเชิญ) พระ ไปประกอบพิธี ต้องระบุจำนวนพระ ระบุงาน ระบุสถานที่ ระบุวัน เดือน ปี พ.ศ. เวลา ระบุการไป - กลับ. ตัวอย่างดังต่อไปนี้

ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยสงฆ์รวมทั้งหมด...................รูป)

เจริญพระพุทธมนต์ในงานทำบุญวันเกิดของ............................................................

ที่บ้านเลขที่................ หมู่ที่.............. ตำบล......................................... อำเภอ.......................................

ณ วันที่............. เดือน................................ พ.ศ................ เวลา...............................

มีผู้รับ - ส่ง.

(ถ้าไม่มี ก็บอกว่า ไม่มีผู้รับ - ส่ง) ถ้ามีการเลี้ยงเช้า หรือเพลด้วย หรือต้องการบาตร - ปิ่นโตด้วย ก็บอกไว้ในหนังสืออาราธนา.

(ใบปวารณาถวายจตุปัจจัย)

ขอถวายจตุปัจจัยอันควรแก่สมณบริโภค แด่พระคุณเจ้า เป็นมูลค่า.....................................บาท .........................................สตางค์

หากพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดอันควรแก่สมณบริโภคแล้ว ขอได้โปรดเรียกร้องจากกัปปิยการกผู้ปฏิบัติของพระคุณเจ้า เทอญ.

หมายเหตุ ใบปวารณานี้ถวายรวมกับไทยธรรมในงานมงคล ถ้างานอวมงคล มีผ้าทอดบังสุกุล ก็กลัดติดกับผ้าที่ทอด ส่วนเงินค่าจตุปัจจัยมอบให้ไปกับศิษย์พระ อย่ารวมในซองปวารณา

วิธีอาราธนาศีล - อาราธนาพระปริตร

นิยามความหมาย

อาราธนา แปลว่า การทำให้ยินดี, ทำให้ดีใจ, ทำให้หายโกรธ, ทำให้ชอบ, ทำให้สำเร็จ

อาราธนาในคำวัด ใช้ในความหมายว่า เชิญ, เชื้อเชิญ, อ้อนวอน, ร้องขอภิกษุสามเณรให้ยินดีพอใจทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือร้องขอให้ทำสิ่งใดให้สำเร็จ ดังนี้

  • อาราธนาศีล คือ ร้องขอให้พระให้ศีล
  • อาราธนาพระปริตร คือ ร้องขอให้พระสวดมนต์
  • อาราธนาธรรม คือ ร้องขอให้พระแสดงธรรม
  • อาราธนาไปทำบุญบ้าน คือ นิมนต์พระไปทำพิธีที่บ้าน

วิธีอาราธนา

นิยมกันว่า ถ้าพระสงฆ์นั่งบนอาสนะยกสูงเจ้าภาพและแขกนั่งเก้าอี้ ผู้อาราธนาเข้าไปยืนระหว่างเจ้าภาพกับแถวพระสงฆ์ตรงกับรูปที่ ๓ หรือที่ ๔ ห่างแถวพระสงฆ์ พอสมควรหันหน้าไปทางโต๊ะที่บูชา ประนมมือไหว้พระพุทธรูปก่อนแล้วยืนประนมมือตั้งตัวตรง กล่าวคำอาราธนาตามแบบที่ต้องการ ถ้าพระสงฆ์นั่งอาสนะต่ำธรรมดา เจ้าภาพและแขกอื่น ก็นั่งกับพื้น ผู้อาราธนาต้องเข้าไปนั่งคุกเข่าต่อหน้าแถวพระสงฆ์ตรงหัวหน้า กราบพระที่โต๊ะบูชา ๓ ครั้งก่อน แล้วประนมมือตั้งตัวตรง กล่าวคำอาราธนาที่ต้องการตามแบบ คือ

  • พิธีสวดมนต์เย็น อาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร
  • พิธีเลี้ยงพระ อาราธนาศีล
  • พิธีถวายทานทุกอย่าง อาราธนาศีล
  • พิธีเทศน์ ถ้าเทศน์ต่อจากสวดมนต์ ตอนสวดมนต์ไม่ต้องอาราธนาศีล เริ่มต้นด้วย อาราธนาพระปริตร แล้วอาราธนาศีล ตอนพระขึ้นเทศน์ รับศีลแล้วอาราธนาธรรมต่อ แต่ถ้า สวดมนต์กับเทศน์ไม่ได้ต่อเนื่องกัน ถือว่าเป็นคนละพิธี ตอนสวดมนต์ก็อาราธนา ตามแบบ พิธีสวดมนต์เย็นที่กล่าวแล้ว ตอนเทศน์ก็เริ่มต้น ด้วยอาราธนาศีลก่อน จบรับศีลแล้วจึงอาราธนา ธรรม
  • พิธีสวดศพต่าง ๆ เช่น สวดแจง สวดพระอภิธรรม เป็นต้น ถ้าไม่มีพิธีอื่นนำ หน้าให้ อาราธนาศีลก่อน ถ้ามีพิธีอื่นนำหน้าแล้วไม่ต้องอาราธนาศีล

คำอาราธนาศีล ๕ ในพิธีการ

(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า “มะยัง” เป็น “อะหัง” และ “ยาจามะ” เป็น “ยาจามิ”)

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติถายะ

ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติยาถะ

ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติยาถะ

ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

คำแปล

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล 5 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ (แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม)

คำอาราธนาพระปริตร

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะทุกขะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะภะยะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะโรคะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง

คำแปล

ขอพระสงฆ์ทั้งหลาย จงสวดพระปริตอันเป็นมงคลเพื่อป้องกันความวิบัติ เพื่อความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง และเพื่อให้ทุกข์ทั้งปวงพินาศไป เพื่อให้ภัยทั้งปวงพินาศไป เพื่อให้โรคทั้งปวงพินาศไป

คำอาราธนาธรรม

พรัหมา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ,

กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ,

สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา,

เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชังฯ

คำแปล

ท้าวสหัมบดี แห่งโลก ได้ประคองอัญชลีทูลวิงวอนพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐว่า สัตว์ผู้มีธุลี ในดวงตาน้อย มีอยู่ในโลกนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดแสดงธรรม อนุเคราะห์ด้วยเถิด

๕. วิธีกรวดน้ำ

เมื่อจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนบุญ ต้องคำนึงถึงประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลด้วยวิธีที่นิยมทำกันดังนี้ คือ เริ่มต้นเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะไว้พอสมควร จะเป็นคณฑี ขวดเล็ก แก้วน้ำ หรือขัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ พอพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วยบท ยถา... ก็เริ่มกรวดน้ำโดยตั้งใจ นึกอุทิศส่วนบุญ มือขวาจับภาชนะน้ำริน ใช้มือซ้ายประคอง แล้วว่าบทกรวดน้ำในใจไปจนจบ การหลั่งน้ำกรวด ถ้าเป็นพื้นดินควรหลั่งลงในที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือนหรือสถานที่ ที่ไม่ใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะอื่นที่สมควร เช่น ถาดหรือขัน เป็นต้น รองน้ำกรวดไว้เสร็จแล้วจึงนำไปเทลงดินตรงที่สะอาด อย่าใช้กระโถนหรือภาชนะสกปรกรองเป็นอันขาด เพราะน้ำที่กรวดเป็นสักขีพยานในการทำบุญของตนว่าทำด้วยใจสะอาดจริง ๆ

คำกรวดน้ำที่นิยมว่ากันในเวลากรวดทั่ว ๆ ไป มีอยู่ ๓ แบบ คือแบบสั้น แบบย่อ และแบบยาว ว่าเฉพาะคำบาลีเท่านั้น ดังนี้

คำกรวดน้ำแบบสั้น (คำอุทิศของพระเจ้าพิมพิสาร)

อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ (ว่า ๓ จบ)

หากจะเดิมพุทธภาษิตต่อว่าสุขิตา โหนฺตุ ญาตโย ก็ได้

คำแปล ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด (พุทธสุภาษิต) ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุข ๆ เถิด

คำกรวดน้ำแบบย่อ (คาถาติโลกวิชัย)

ยงฺกิญฺจิ กุสลํ กมฺมํ กตฺตพฺพํ กิริยํ มม

กาเยน วาจามนสา ติทเส สุคตํ กตํ

เย สตฺตา สญฺญิโน อตฺถิ เย จ สตฺตา อสญฺิโน

กตํ ปุญฺผลํ มยฺหํ สพฺเพ ภาคี ภวนฺตุ เต

เย ตํ กตํ สุวิทิตํ ทินฺนํ ปุญฺผลํ มยา

เย จ ตตฺถ น ชานนฺติ เทวา คนฺตฺวา นิเวทยุํ

สพฺเพ โลกมฺหิ เย สตฺตา ชีวนฺตาหารเหตุกา

มนุญฺญํ โภชนํ สพฺเพ ลภนฺตุ มม เจตสา.

คำแปล

กุศลกรรมซึ่งเป็นกิริยาควรทำอันหนึ่งด้วยกายวาจาใจ อันจะเป็นเหตุนำไปให้เกิดในสวรรค์ชั้นไตรทศเทพ ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ขอสัตว์ซึ่งมีสัญญา และไม่มีสัญญาทุกหมู่เหล่า จงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วนั้น เหล่าสัตว์ที่รู้ผลบุญอันที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว ขอจงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้าอุทิศให้ ในบรรดาสรรพสัตว์จำพวกใด ไม่รู้ข่าวถึงบุญข้าพเจ้ากระทำแล้ว ขอเทพยดาทั้งหลายจงนำไปบอกแก่สัตว์จำพวกนั้น ขอสัตว์ทุกหมู่ ในชีวโลก ซึ่งเสพอาหารเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จงได้เสวยซึ่งโภชนะอันพึงใจ ด้วยอำนาจเจตนา อุทิศของข้าพเจ้านี้เถิด ฯ

คำกรวดน้ำแบบยาว (คาถาของเก่า)

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน อุปชฺฌายา คุณุตฺตรา

อาจริยูปการา จ มาตา ปิตา จ ญาตกา (ปิยา มมํ)

สุริโย จนฺทิมา ราชา คุณวนฺตา นราปิ จ

พฺรหฺมมารา จ อินฺทา จ โลกปาลา จ เทวตา

ยโม มิตฺตา มนุสฺสา จ มชฺฌตฺตา เวริกาปิ จ

สพฺเพ สตฺตา สุขี โหนฺตุ ปุญฺญานิ ปกตานิ เม

สุขญฺจ ติวิธํ เทนฺตุ ขิปฺปํ ปาเปถ โว มตํ

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน อิมินา อุทฺทิเสน จ

ขิปฺปาหํ สุลเภ เจว ตณฺหุปาทานเฉทนํ

เย สนฺตาเน หินา ธมฺมา ยาว นิพฺพานโต มมํ

นสฺสนฺตุ สพฺพทาเยว ยตฺถ ชาโต ภเว ภเว

อุชุจิตฺตํ สติปญฺญา สลฺเลโข วิริยมฺหินา

มารา ลภนฺตุ โนกาสํ กาตุญฺจ วิริเยสุ เม

พุทฺธาธิปวโร นาโถ ธมฺโม นาโถ วรุตฺตโม

นาโถ ปจฺเจกพุทฺโธ จ สงฺโฆ นาโถตฺตโร มมํ

เตโสตฺตมานุภาเวน มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา.

(เพิ่มเติม) ทะสะปุญญานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุ มา

คำแปล

ด้วยผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำนี้ ขอพระอุปัชฌาย์ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาล อีกทั้ง อาจารย์ผู้ได้สั่งสอนข้าพเจ้ามา ทั้งมารดาบิดาและคณาญาติทั้งสิ้น ตลอดจน พระอาทิตย์พระจันทร์ และพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ในเอกเทศแห่งเมทนีดล และนรชนผู้มีคุณงามความดี ทั้งหลาย ทุกถิ่นฐาน อีกท้าวมหาพรหมกับหมู่มาร และท้าวมัฆวานเทวราช ทั้งเทพเจ้าผู้ฉกาจรักษา โลกทั้ง สี่ทิศ และพญายามราชอีกมวล มิตรสหาย ทั้งผู้ขวนขวายวางตนเป็นกลาง และผู้เป็นศัตรู ของข้าพเจ้าทุก ๆ เหล่า จงมีความเกษมสุขนิราศภัย ขอบุญที่ข้าพเจ้ากระทำไว้ด้วยไตรทวาร จงบันดาลให้สำเร็จไตรพิธสุข ถึงความเกษมปราศจากทุกข์ คือ พระอมตมหานฤพานโดยพลัน อีกโสดหนึ่งนั้น ด้วยบุญกรรมนี้และอุทิศเจตนานี้ ขอให้ข้าพเจ้าบรรลุทันทีซึ่งการตัดขาด ตัณหาอุปาทาน ธรรมอันชั่วในสันดานจงพินาศไปหมด จนตราบเท่าถึงนิพพาน สิ้นกาลทุกเมื่อ เทียว แม้ว่าข้าพเจ้ายังจะท่องเที่ยวไปเกิดในภพใด ๆ ก็ขอให้มีจิตซื่อตรง ดำรงสติปัญญาไว ชาญฉลาด ให้มีความเพียรกล้าสามารถขัดเกลากิเลสให้สูญหาย ขอหมู่มารเหล่าร้ายอย่าได้ กล้ำกรายสบโอกาส เพื่อทำให้ข้าพเจ้าพินาศคลายความ เพียรได้ อนึ่งไซร้ พระพุทธเจ้าผู้เป็น ที่พึ่งอันยิ่งอย่างประเสริฐ พระธรรมเป็นที่พึ่งอัน ล้ำเลิศยิ่งประมาณ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง อันไพศาล และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอัน อุดมยิ่งประมาณของข้าพเจ้านี้ ด้วยอานุภาพอันอุดมดีพิเศษ สูงสุดของพระรัตนตรัย ขออย่าให้หมู่มารได้โอกาสทุกเมื่อไป เทอญ ฯ

บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยดยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใด ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปล้ไปด้วยบาป ฉันนั้น

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา