บุญพิธี คือ พิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัวของพุทธศาสนิกชน เป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของคนไทยทั่วไป ส่วนมากทำกันเกี่ยวกับเรื่องฉลองบ้าง เรื่องต้องการสิริมงคลบ้าง เรื่องตายบ้าง ในเรื่องเหล่านี้ นิยมทำบุญทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญเลี้ยงพระ และทำบุญตักบาตร เป็นต้น
พิธีทำบุญเลี้ยงพระ
การทำบุญเลี้ยงพระ ตามปรกติที่ทำกัน มักนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในสถานที่ ที่ประกอบพิธีในตอนเย็น เรียกกันอย่างสามัญว่าสวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นเวลาเช้า (บางกรณีเวลาเพล) ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์เมื่อเย็นวานนั้นเรียกกันว่าเลี้ยงพระเช้า (เรียกเลี้ยงพระเพล กรณีถวายภัตตาหารเพล) หรือ ฉันเช้า (ฉันเพล) และในคราวเดียวกันก็มีการตักบาตรด้วย บางคนมีเวลาน้อย ย่นเวลามาทำพร้อมกันในวันเดียวกันในตอนเช้าหรือตอนเพลตามความสะดวก ให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ก่อน จบแล้วถวายภัตตาหารให้เสร็จ ในเวลาเดียวกัน อย่างนี้เรียกว่า ทำบุญเลี้ยงพระ ในการทำบุญเลี้ยงพระนี้ นิยมทั้งในงานมงคล และงานอวมงคล ทั่วไป อธิบายลักษณะงานทั้งสองประเภทดังกล่าวได้ ดังนี้
- ๑. ทำบุญงานมงคล นั้น ได้แก่ การทำบุญเลี้ยงพระ ดังกล่าว เพื่อความสุข ความเจริญแก่จิตใจโดยปรารภเหตุที่ดีเป็นมูล เกี่ยวกับฉลองความสำเร็จในชีวิต เช่น ฉลองพระบวชใหม่ เป็นต้น หรือที่เกี่ยวกับการริเริ่มชีวิตใหม่เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามปรารถนาด้วยดีตลอดไป เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญแต่งงานหรือที่เรียกว่ามงคลสมรส เป็นต้น
- ๒. ทำบุญงานอวมงคล ได้แก่ การทำบุญเลี้ยงพระเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขโดยปรารภเหตุไม่สู้ดี เนื่องจากมีการตายขึ้นในวงศ์ญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในครอบครัว จัดการทำบุญขึ้นเพื่อให้สำเร็จเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อเป็นมิ่งขวัญกลายๆ แก่ผู้ที่ยังอยู่ งานทำบุญโดยปรารภเหตุนี้เรียกว่าทำบุญงานอวมงคล
การทำบุญทั้ง ๒ ประเภทนี้ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ มี ๒ ฝ่าย คือ
- ๑. ผู้ทำบุญ คือ ฝ่ายทายกทายิกา ผู้ประกอบด้วยต้องการบุญ เรียกว่าฝ่ายเจ้าภาพ
- ๒. ผู้ประกอบพิธีกรรม คือ ฝ่ายปฏิคาหก ผู้รับทานและประกอบพิธีกรรมตามความประสงค์ของเจ้าภาพ ซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่าฝ่ายภิกษุสงฆ์
ทั้งสองฝ่ายนี้มีระเบียบปฏิบัติพิธีกำหนดไว้เพื่อความเรียบร้อยโดยเหมาะสมแต่ละประเภทของงาน เพราะประเพณีนิยมดังนี้ จึงเกิดมีพิธีกรรมที่จะต้องปฏิบัติขึ้นและถือสืบๆ กันมา แต่โบราณกาล ฉะนั้น ในเรื่องพิธีทำบุญ หรือที่เรียกว่าบุญพิธี จึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาอีกส่วนหนึ่งซึ่งจะนำมากล่าวในหมวดนี้โดยแยกเป็น ๒ ประเภท คือทำบุญงานมงคล ๑ และทำบุญงานอวมงคล อีก ๑
ระเบียบพิธี
๑. ทำบุญงานมงคล
พิธีฝ่ายเจ้าภาพ ผู้ที่จะทำบุญเนื่องในงานมงคลต่างๆ นั้น ในที่นี้เรียกว่าเจ้าภาพ เบื้องต้นจะต้องตระเตรียมกิจการต่างๆ ที่ควรทำก่อนดังนี้
- ก. อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
- ข. เตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา
- ค. ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี
- ฆ. วงด้วยสายสิญจน์
- ง. เชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา
- จ. ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์
- ฉ. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามควรแก่ฐานะ
- ช. ตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์
เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้วตามเวลากำหนด จะต้องปฏิบัติกรณีกิจ คือ
- ก. คอยล้างเท้าพระสงฆ์และเช็ดด้วย
- ข. ประเคนเครื่องรับรองที่จัดไว้
- ค. ได้เวลาแล้ว จุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชา บูชาพระแล้วกราบนมัสการ ๓ ครั้ง
- ฆ. อาราธนาศีล และรับศีล ง. ต่อจากศีล อาราธนาพระปริตร เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี
- จ. นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อจบแล้ว ถวายน้ำร้อน หรือเครื่องดื่มอันควรแก่สมณะ แล้วแต่จะจัด
ในการปฏิบัติพิธีตามหน้าที่ ที่กล่าวนี้ มีข้อที่ควรจะเข้าใจให้กว้างขวางอยู่อีก ซึ่งจะได้ชี้แจงต่อไป คือ
๑. เรื่องการอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ นิยมไม่กำหนดจำนวนข้างมาก แต่นิยมกำหนดข้างน้อยไว้โดยเกณฑ์ คือ ไม่ต่ำกว่า ๕ รูป เกิน ๕ ไปก็เป็น ๗ หรือ ๙ ข้อน่าสังเกตก็คือ ไม่นิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ เพราะถือเหมือนอย่างว่า การทำบุญครั้งนี้มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแบบเดียวกับครั้งพุทธกาล ซึ่งปรากฏตามบาลีว่าพุทฺธปฺปมุโข ภิกฺขุสงฺโฆ พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขโดยตั้งพระพุทธรูปไว้ข้างหน้าแถวพระสงฆ์ นับจำนวนรวมกับพระสงฆ์เป็นคู่ เว้นแต่ในงานมงคลสมรส มักนิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ จุดมุ่งหมาย คือ แบ่งให้ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวนิมนต์พระมาจำนวนเท่า ๆ กัน เมื่อมารวมกันจึงเป็นจำนวนคู่แต่ในพิธีหลวงในปัจจุบันนี้ มักอาราธนาพระสงฆ์ เป็นจำนวนคู่ เช่น ๑๐ รูป เป็นต้น
๒. เรื่องเตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา ที่ตั้งพระพุทธรูป พร้อมทั้งเครื่องบูชาในงานพิธีต่าง ๆ นั้น นิยมเรียกสั้น ๆ ว่าโต๊ะบูชา สิ่งสำคัญของโต๊ะบูชานี้ประกอบด้วยโต๊ะรอง ๑ เครื่องบูชา ๑ โต๊ะรองเป็นที่รองรับพระพุทธรูป และเครื่องบูชาปัจจุบันนี้นิยมใช้กันทั่วไป เป็นโต๊ะหมู่ซึ่งสร้างไว้เป็นโดยเฉพาะ เรียกกันว่าโต๊ะหมู่บูชา มีหมู่เป็นหมู่ ๕ หมู่ ๗ และหมู่ ๙ หมายความว่า หมู่หนึ่ง ๆ ประกอบด้วยโต๊ะ ๕ ตัว ๗ ตัว และ ๙ ตัว ก็เรียกว่าหมู่เท่านั้น ถ้าในที่ที่หาโต๊ะหมู่ไม่ได้จะใช้ตั่งหรือโต๊ะอะไรที่สมควร ซึ่งไม่สูงหรือต่ำเกินไปนัก จัดเป็นโต๊ะบูชาในพิธีก็ได้ การใช้ตั่งหรือโต๊ะอื่นแทนโต๊ะหมู่บูชานี้ มีหลักสำคัญอยู่อย่างหนึ่งว่า โต๊ะหรือตั่งนั้นต้องใช้ผ้าขาวปูพื้นก่อน ถ้าหากผ้าขาวไม่ได้จำเป็นจะใช้ผ้าสี ต้องเป็นผ้าสะอาดและยังมิได้ใช้การอย่างอื่นมาเป็นเหมาะที่สุด ผ้าอะไรก็ตาม ถ้าแสดงลักษณะชัดว่าเป็นผ้านุ่งแล้วไม่สมควรอย่างยิ่ง การใช้โต๊ะอื่นหรือตั่ง แทนนี้ ควรหาตั่งเล็กหรือโต๊ะเล็กๆ อีกตัวหนึ่งตั้งซ้อนบนเป็นที่ตั้งพระพุทธรูป
การตั้งโต๊ะบูชานี้มีหลักอยู่ว่า ต้องตั้งหันหน้าโต๊ะออกทางเดียวกับพระสงฆ์ คือให้พระพุทธรูปหันพระพักตร์ออกทางเดียวกับพระสงฆ์นั่นเอง ด้วยมุ่งหมายให้พระสงฆ์มีพระพุทธรูปเป็นประธาน เว้นแต่จำเป็นเกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งจะต้องให้พระสงฆ์นั่งมีเบื้องซ้ายอยู่ทางพระพุทธรูปแล้ว จึงต้องตั้งโต๊ะบูชาหันหน้ามาทางพระสงฆ์ ให้พระพุทธรูปหันพระพักตร์หาพระสงฆ์เป็นอันไม่ต้องเข้าแถวกับพระสงฆ์ สำหรับเรื่องทิศทางที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น ตามความนิยมที่เคยปฏิบัติกันมา มักจะให้ผินพระพักตร์ไปสู่ทิศเหนือ ด้วยถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นโลกอุดร มิฉะนั้นก็ให้หันไปทางทิศตะวันออก ด้วยถือว่าเป็นทิศพระ (ในวันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก) เป็นต้น แต่เรื่องนี้เห็นว่า ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเช่นนั้นจะให้ผินพระพักตร์ไปทิศใด ๆ ก็ไม่เกิดโทษและไม่มีข้อห้าม เป็นอันแล้วแต่สถานที่จะอำนวยให้ประดิษฐานได้เหมาะสม ก็พึงทำได้ทั้งนั้น
สำหรับการตั้งเครื่องบูชานั้น ต้องแล้วแต่โต๊ะที่ตั้ง ถ้าเป็นโต๊ะเดี่ยวที่ใช้ตั้งหรือโต๊ะตัวเดียวตั้งแทนโต๊ะหมู่ เครื่องบูชาควรมีแจกันประดับดอกไม้ ๑ คู่ ตั้ง ๒ ข้างพระพุทธรูป ไม่ชิดหน้าหรือห่างเกินไป ถัดมาแถวหน้าพระพุทธรูปตั้ง กระถางธูปตรงหน้าพระพุทธรูปกับเชิงเทียน ๑ คู่ ตั้งตรงกับแจกัน เพียงเท่านั้น ก็สำเร็จรูปเป็นโต๊ะบูชาพอสมควร โต๊ะเดี๋ยวนี้ไม่ควรตั้งเครื่องให้มากกว่านี้ เพราะเป็นโต๊ะไม่เข้าหลักเกณฑ์ จะทำให้รุงรังจนไม่เหมาะสม
สำหรับโต๊ะหมู่จะแสดงการตั้งโต๊ะหมู่ ๗ เป็นตัวอย่าง ดังนี้ หลักโต๊ะหมู่ ๗ มีอยู่ว่า ใช้แจกัน ๒ คู่ คู่ ๑ ตั้งบนโต๊ะกลางที่ตั้งพระพุทธรูปชิดด้านหลัง ๒ ข้าง พระพุทธรูปอยู่ตรงมุมทั้ง ๒ ด้านหลัง อีกคู่ ๑ ตั้งบนโต๊ะข้างตัวละ ๑ ชิดมุมนอกด้านหลัง ถือหลักว่า แจกันเป็นพนักหลักสุด จะตั้งล้ำมาข้างหน้าไม่ควร พานดอกไม้ ๕ พาน ตั้งกลางโต๊ะ ทุกโต๊ะเว้นโต๊ะกลางแถวหน้าซึ่งตั้งกระถางธูปเชิงเทียน ๕ คู่ ตั้งที่โต๊ะข้างซีกซ้าย และขวามือโต๊ะลง ๑ ที่มุมหน้าตรงข้ามกับแจกัน รวม ๒ ซีก ๒ คู่ ตรงกลาง ตั้งแต่โต๊ะพระพุทธรูปลงมา ๓ ตัว ตั้งตัวละคู่ที่มุมโต๊ะทั้ง ๒ ด้านหน้ารวมอีก ๓ คู่ สำหรับคู่ที่อยู่บนโต๊ะที่ตั้งพระพุทธรูปนั้น ถ้าจำเป็น เช่น บังพระพุทธรูป หรือชิดพระพุทธรูปเกินไป จะตัดออกเสียคู่หนึ่งก็ได้ แม้โต๊ะหมู่อื่นนอกจาก หมู่ ๗ ที่กล่าวนี้ ก็ถือหลักการตั้งเช่นเดียวกัน
๓. เรื่องตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี นิยมให้สะอาดเรียบร้อยเป็นสำคัญ เพราะเป็นการทำบุญต้องการสิริมงคล และออกแขกด้วยความสะอาดเรียบร้อย ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำอย่างยิ่ง ถ้าได้เพิ่มการตกแต่งเพื่อความสวยงามขึ้นอีก ก็เป็นการดียิ่ง ทั้งนี้สุดแต่ฐานะและกำลังของตนเป็นสำคัญ
๔. เรื่องวงด้ายสายสิญจน์ คำว่าสิญจน์ แปลว่าการรดน้ำ คือ การรดน้ำ เนื่องด้วยมีพิธีสืบเนื่องมาแต่พิธีพราหมณ์ เติมสาย เข้าข้างหน้า เป็นสายสิญจน์ กลายเป็นวัตถุชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ สายสิญจน์ ได้แก่ สายที่ทำด้วยด้ายดิบ โดยวิธีจับเส้นด้ายในเข็มสาวออกชักเป็นห่วง ๆ ให้สัมพันธ์เป็นสายเดียวกันจากด้ายในเข็ดเส้นเดียว จับออกครั้งแรกเป็น ๓ เส้น ม้วนเข้ากลุ่มไว้ ถ้าต้องการให้สายใหญ่ก็จับอีกครั้งหนึ่ง จะกลายเป็น ๙ เส้น ในงานมงคลทุกประเภท นิยมใช้สายสิญจน์ ๙ เส้น เพราะกล่าวกันว่าสายสิญจน์ ๓ เส้น สำหรับใช้ในพิธีเบิกโลงผีจะทำมาใช้พิธีงานมงคลไม่เหมาะสม ถ้าเพิ่มการคงทนแล้ว สายสิญจน์ ๙ เส้น คงทนกว่าสายสิญจน์ ๓ เส้น เป็นแน่
ด้ายสายสิญจน์ที่จับเสร็จโดยวิธีนี้ ใช้ในงานมงคลทุกประเภทที่ต้องใช้ด้ายสายสิญจน์ (ยืมมาใช้ในงานอวมงคลบ้าง ในกรณีที่ใช้เป็นสายโยง)
การวงสายสิญจน์ มีเกณฑ์ถืออยู่ว่า ถ้าเป็นบ้านมีรั้วรอบให้วงรอบรั้ว ถ้าไม่มีรั้วรอบหรือมีแต่กว้างเกินไป หรือมีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับพิธี อยู่ร่วมในรั้วด้วยก็ให้วงเฉพาะอาคารพิธีโดยรอบ ถ้าเจ้าภาพไม่ต้องการวงสายสิญจน์ รอบรั้วบ้านหรือรอบอาคารที่ตนประกอบพิธีทำบุญ จะวงสายสิญจน์ที่ฐานพระพุทธรูปบนโต๊ะบูชาเท่านั้นแล้วโยงมาที่ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ก็ได้ การโยงสายสิญจน์จากฐานพระพุทธรูปมายังภาชนะน้ำมนต์ ควรโยงหลบเพื่อไม่ให้ต้องข้ามสายสิญจน์ในเวลาจุดธูปเทียน เมื่อวงที่ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์แล้ว พึงวางกลุ่มด้วยสายสิญจน์ไว้บนพานสำหรับรองสายสิญจน์ ซึ่งอยู่ทางหัวอาสน์สงฆ์ ใกล้ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ การวงสายสิญจน์ถือหลักวงจากซ้ายไปขวาของสถานที่หรือวัตถุ มีข้อที่ถือเป็นเรื่องควรระวังอยู่อย่างหนึ่ง คือ ในขณะที่วงสายสิญจน์ อย่าให้สายสิญจน์ขาด
อนึ่ง สายสิญจน์ที่วงพระพุทธรูปแล้วนี้จะข้ามกรายมิได้ เพราะถ้าข้ามกรายแล้วเท่ากับข้ามพระพุทธรูป เป็นการแสดงอคาราวะต่อพระพุทธรูปทีเดียว หากมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านสายสิญจน์ ก็ต้องลอดมือหรือก้มศีรษะลอดภายใต้สายสิญจน์ผ่านไป จุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง
๕. เรื่องเชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา เป็นกิจที่พึงทำเมื่อใกล้จะถึง กำหนดเวลาประกอบพิธี พระพุทธรูปนั้นจะเป็นพระอะไรก็แล้วแต่จะหาได้ ขอให้เป็นพระพุทธรูปเท่านั้น ไม่ใช่พระเครื่องซึ่งเล็กมากไม่เหมาะแก่พิธี พระพุทธรูปถ้ามีครอบควรเอาครอบออกตั้งเฉพาะองค์พระเท่านั้น และที่องค์พระไม่สมควร จะนำอะไรที่ไม่เหมาะสมประดับ เช่น พวกมาลัยหรือดอกไม้ เป็นต้น ควรให้องค์พระเด่นเป็นสำคัญ เว้นแต่ที่ฐานพระจะใช้วงมาลัยวงรอบฐาน กลับดูงามดี ไม่มีข้อห้าม ดอกไม้บูชามีระเบียบจัดดังกล่าวแล้วในเรื่องตั้งบูชา สำหรับองค์พระพุทธรูปที่อาราธนามาตั้งเป็นที่สักการบูชาในพิธี หากมัวหมองด้วยธุลี พึงเช็ดให้สะอาดหรือสรงน้ำเสียก่อน ถ้าเป็นพระพุทธรูปชนิดขัด หากมัวหมองตามสภาพ พึงขัดให้ผุดผ่อง เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มศรัทธาปสาทะให้ยิ่งขึ้น ก่อนที่จะยกพระพุทธรูปจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งก็ดี ในขณะที่วางพระพุทธรูปลง ณ ที่บูชาก็ดี ควรจะน้อมไหว้ก่อนยก หรือน้อมไหว้ในเมื่อวางลงแล้วเป็นอย่างน้อย ถ้าถึงกราบได้เป็นงดงาม
๖. เรื่องปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์ นิยมใช้กับอยู่ ๒ วิธี คือ ยกขึ้นอาสน์สงฆ์ให้สูงขึ้นโดยใช้เตียงหรือม้าวางต่อกันเข้าให้ยาวพอแก่จำนวนสงฆ์ อีกวิธีหนึ่งปูลาดอาสนะบนพื้นธรรมดา อาสน์สงฆ์ชนิดยกพื้นนิยมใช้ผ้าขาวปูลาด จะมีผ้านิสีทนะปูอีกหนึ่งหรือไม่ก็ได้ โดยเฉพาะอาสน์สงฆ์ยกพื้นที่ มักจัดให้สถานที่ที่ฝ่ายเจ้าภาพนั่งเก้าอี้กัน ส่วนอาสนะชนิดที่ปูลาดบนพื้นธรรมดา จะใช้เสื่อหรือพรมหรือผ้าที่สมควรปูก็สุดแต่จะมีหรือหาได้ ข้อที่ควรระวัง คือ อย่าให้อาสนะพระสงฆ์กับอาสนะของคฤหัสถ์ฝ่ายเจ้าภาพเป็นอันเดียวกัน ควรปูลาดให้แยกจากกัน ถ้าจำเป็นแยกไม่ได้โดยปูเสื่อหรือพรมไว้เต็มห้อง สำหรับอาสนะพระสงฆ์ ควรจัดปูทับเสื่อหรือพรมนั้นอีกชั้นหนึ่งจึงจะเหมาะ โดยจะใช้ผ้าขาวหรือผ้านิสีทนะก็ได้
๗. เรื่องเตรียมรับรองพระสงฆ์ ตามแบบและประเพณี ก็มีหมากพลู บุหรี่ น้ำเย็น และกระโถน การวางเครื่องรับรองเหล่านี้มีหลักว่า ต้องวางทางด้านขวามือของพระ ระหว่างรูปหนึ่งกับอีกรูปหนึ่งที่นั่งเรียงกัน ด้านขวามือของรูปใด ก็เป็นเครื่องรับรองของรูปนั้น การวางให้วางกระโถนข้างในสุด เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องประเคน ถัดออกมา ภาชนะน้ำเย็น ออกมาอีกเป็นภาชนะใส่หมากพลู บุหรี่ ซึ่งรวมอยู่ในที่เดียวกัน เมื่อพระสงฆ์นั่งก็ประเคนของที่ตั้งแต่ข้างในออกมาหาข้างนอก คือ น้ำเย็น แล้วหมากพลู บุหรี่ ส่วนน้ำร้อนจัดประเคนภายหลัง ไม่ต้องตั้งประจำที่เหมือนอย่างเครื่องดังกล่าวแล้ว เครื่องรับรองดังกล่าวนี้ ถ้าจำกัด จะจัดรับรอง ๒ รูปต่อ ๑ ที่ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ให้จัดวางตามลำดับในระหว่างรูปที่ต้องการให้ใช้ร่วมกัน
๘. เรื่องตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ ควรเตรียมภาชนะเป็นประการแรก ถ้าไม่มีครอบน้ำมนต์ซึ่งเป็นของสำหรับใส่น้ำมนต์โดยเฉพาะ จะใช้บาตรของพระหรือขันน้ำพานรองแทนก็ได้ แต่ขันต้องไม่ใช่ขันเงินหรือทองคำ เพราะเงินและทองเป็นวัตถุอนามาส ไม่ควรแก่การจับต้องของพระ เมื่อเตรียมภาชนะที่สมควรแล้ว ต่อไปก็หาน้ำสะอาดใส่ในภาชนะ ห้ามไม่ให้ใช้น้ำฝน ทั้งนี้เห็นจะเป็นด้วยถือว่า น้ำที่จะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้ต้องมาจากธรณี ส่วนน้ำฝนมาจากอากาศจึงไม่นิยม น้ำที่ใส่ควรใส่แต่เพียงค่อนภาชนะเท่านั้น ควรหาใบเงินใบทองใส่ลงไปด้วยแต่เพียงสังเขปเล็กน้อย (ถ้าหาไม่ได้จะใช้ดอกบัวใส่แทนก็ได้ แต่ดอกไม้อื่นไม่ควร) ต้องมีเทียนน้ำมนต์อีกหนึ่งเล่มควรเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ขนาดหนัก ๑ บาทเป็นอย่างต่ำ ติดที่ปากบาตรหรือขอบขันหรือบนยอดจุกฝาครอบน้ำมนต์ม่ต้องจุด เมื่อเตรียมเสร็จแล้วนำไปวางไว้ทางหน้าโต๊ะบูชาให้ค่อนมาทางอาสนะพระสงฆ์ ใกล้กับรูปที่เป็นหัวหน้า เพื่อหัวหน้าจะได้หยดเทียนทำน้ำมนต์ในขณะสวดมนต์ได้สะดวก
๙. เรื่องจุดเทียน ธูป ที่โต๊ะบูชา เจ้าภาพควรจุดเอง ไม่ควรให้คนอื่นจุดแทน เพราะเป็นการนมัสการพระอันเป็นกิจเบื้องต้นของบุญ การจุดควรจุดเทียนก่อนจุดด้วยไม้ขีดหรือเทียนชนวน (ในพิธีการที่ใหญ่หรือสำคัญใช้เทียนชนวน) อย่าต่อจากตะเกียงหรือไฟอื่น เทียนติดดีแล้ว ใช้ธูป ๓ ดอกจุดต่อที่เทียนจนติดดี จึงปักลงให้ตรง ๆ ในกระถางธูป แล้วตั้งใจบูชาพระ
ต่อจากนี้ดำเนินพิธีไปตามลำดับ คือ อาราธนาศีล รับศีลแล้วอาราธนาพระปริตร วิธีอาราธนา จักกล่าวต่อไปนี้ข้างหน้า
พออาราธนาพระปริตรจบแล้ว พระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ ทุกคนที่อยู่ในบริเวณพิธี พึงนั่งประนมมือฟังพระสวดด้วยความเคารพ พอพระเริ่มสวดมงคลสูตร ขึ้นต้นบทอเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น เจ้าภาพพึงเข้าไปจุดเทียนน้ำมนต์ที่บาตร หรือครอบน้ำมนต์หน้าพระ แล้วประเคนบาตรหรือครอบน้ำมนต์นั้นต่อหัวหน้าสงฆ์ เพื่อท่านจะได้ทำน้ำมนต์ต่อไป
๑๐. ข้อปฏิบัติวันเลี้ยงพระ ถ้าเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้น การเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์พึงจัดอย่างวันสวดมนตร์เย็น เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพร้อมตามเวลา แล้วเจ้าภาพพึงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระแล้วอาราธนาศีลและรับศีล อย่างเดียวกับวันก่อน เสร็จแล้วไม่ต้องอาราธนาพระปริตร ถ้ามีการตักบาตรด้วย ตอนเช้าให้รีบนำบาตรพระมาตั้งไว้ในที่สมควร (จะดีมากถ้าวางบาตรพระ ตามพรรษาของพระ โดยเรียงจากพรรษาแก่กว่า ขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก) จากนั้นถ้าญาติโยมมาถึงก็ให้ทะยอยใส่บาตรไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาทำพิธี (ขณะพระสวด ควรนั่งในอาการสงบสำรวม ไม่ควรลุกมาใส่บาตร) พอสวดจบ ก็ประเคนให้พระฉัน (บางครั้ง หัวหน้าสงฆ์อาจจะเทศนาก่อน) ถ้าไม่มีตักบาตรเจ้าภาพ ก็นั่งประนมมือฟังพระสวดไปพอสมควรแล้ว เตรียมตั้งภัตตาหารเมื่อพระสวด จวนจบ
แต่ถ้าเป็นงานวันเดียว คือ สวดมนต์ก่อนฉัน การตระเตรียมต่างๆ ก็คงจัดครั้งเดียว พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อน แล้วสวดถวายพรพระต่อท้ายเจ้าภาพพึงนั่งประนมมือฟัง เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทถวายพระพร จึงเตรียมภัตตาหารไว้ให้พร้อม พอพระสวดจบก็ยกประเคนได้
๑๑. สุดท้ายพิธี เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ถวายเครื่องไทยธรรม ต่อนั้น พระสงฆ์อนุโมทนา ขณะพระว่าบทยถา... ฯลฯ ให้เริ่มกรวดน้ำให้เสร็จก่อนจบบทยถา... ฯลฯ พอพระว่าบทสพฺพีติโย... ฯลฯ พร้อมกัน พึงประนมมือรับพรตลอดไปจนจบ แล้วส่งพระกลับ
ประเพณีถวายข้าวพระพุทธ
การเลี้ยงพระในพิธีทำบุญเลี้ยงพระนี้ มีประเพณีโบราณสืบเนื่องกันมานานอย่างหนึ่ง คือประเพณีถวายข้าวพระพุทธ เห็นจะเนื่องมาจากถือว่า พระสงฆ์ที่นิมนต์มาฉันในพิธีนั้นมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตามหลักพระบาลี ที่กล่าวแล้ว ฉะนั้น การถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ก็ต้องถวายองค์ประชุม คือ พระพุทธเจ้าด้วย แม้พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้ว ก็จำต้องทำการถวายต่อพระพักตร์พระพุทธรูปให้เป็นกิริยาสำเร็จรูปสมตามเจตนานั้น เหตุนั้นในงานทำบุญไม่ว่างานมงคลหรืองานอวมงคลจึงนิยมถวายภัตตาหารแด่พระพุทธรูปด้วย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าถวายข้าวพระพุทธ ถ้ามีตักบาตรก็ต้องตั้งบาตรพระพุทธไว้หัวแถวด้วยเช่นกัน
ข้าวพระพุทธที่ถวายนั้นนิยมจัดอย่างเดียวกันกับที่ถวายสงฆ์ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ข้าวพระพุทธนั้นตกเป็นของมรรคนายกวัดหรืออุบาสิกา ผู้มาในงาน แต่บางงานเนื่องด้วยที่จำกัดหรือจะเป็นเพราะเรียวลงตามกาลเวลา หรือความง่ายของบุคคลหาทราบไม่ เจ้าภาพจึงจัดสำรับพุทธเพียงสำรับเล็กๆ ก็มี การถวายนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ พึงใช้ผ้าขาวปูบนโต๊ะที่จะนำมาตั้งรองข้าวพระพุทธหรือปูบนพื้นราบก็ได้ตรงหน้าโต๊ะบูชาแล้วตั้งสำรับคาวหวานพร้อมทั้งข้าวน้ำให้บริบูรณ์บนโต็ะ หรือบนพื้นผ้านั้น เสร็จแล้วจุดธูป ๓ ดอกปักในกระถางธูปหน้าโต๊ะบูชา นั่งคุกเข่าประนมมือตรงหน้าที่ตั้งข้าวพระพุทธและโต๊ะบูชา ว่า นโม ๓ จบ แล้วว่าคำถวายอิมํ สูปพฺยญฺขนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ.
การว่านี้ จะว่าในใจไม่ต้องออกเสียงก็ได้ จบแล้วกราบ ๓ ครั้ง ต่อนี้จึงจัดถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ตามวิธีที่กล่าวแล้ว เมื่อเสร็จภัตกิจ และพระสงฆ์อนุโมทนาเสร็จจนกลับหมดแล้ว ถ้ามีการเลี้ยงแขกผู้มาในงานต่อก็เป็นหน้าที่ของอุบาสกหรืออุบาสิกา ผู้รู้ธรรมเนียมวัดจะลาข้าวพระพุทธนั้นมารับประทาน การลาข้าวพระพุทธมีนิยมดังนี้
ผู้ลาดพึงเข้าไปนั่งคุกเข่าหน้าสำรับที่หน้าโต้ะบูชานั้น กราบ ๓ ครั้งก่อนแล้วประนมมือกล่าวคำว่าเสสํ มงฺคลา ยาจามิ. แล้วไหว้ ต่อนั้นยกข้าวพระพุทธออกไปได้เลย การกล่าวคำลาก็ว่าในใจเช่นกัน เรื่องนี้เป็นประเพณีปฏิบัติกันมานามแล้วแต่จะเว้นไม่ปฏิบัติเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ
พิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์ พระสงฆ์ควรปฏิบัติดังนี้
เริ่มต้นเมื่อพระสงฆ์รับนิมนต์ไปในงานทำบุญแล้ว ถึงวันกำหนดถ้าเจ้าภาพกำหนดจะมารับ พึงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมก่อนถึงเวลา พอมีคนมารับก็ไปได้ทันที ไม่ใช่เตรียมเมื่อเขามารับแล้ว ซึ่งจะทำให้เสียเวลามาก แต่ถ้าตกลงให้ไปเองการไปตามกำหนดให้ถึงที่งานก่อนเวลาพอสมควร อย่าให้ก่อนมากนักเพราะเกี่ยวด้วยการเตรียมการของเจ้าภาพอาจยังไม่พร้อมก็ได้ จะเป็นเหตุให้เจ้าภาพอึดอัดในการที่ยังไม่พร้อมจะรับรอง และอย่าให้กระชั้นเวลาจนเกินไป เพราะจะทำให้เจ้าภาพกระวนกระวาย ยิ่งไปทีหลังผู้อื่นซึ่งพร้อมกันแล้วเป็นส่วนมากหรือไปถึงหลักกำหนดนัดจนเกินควร ยิ่งไม่สมควรเลย เพราะเป็นเหตุส่อว่า ขาดกาลัญญุตา อันเป็นหลักสัปปุริสธรรม ไม่เหมาะสำหรับพระสงฆ์ ผู้ทรงธรรมเป็นสัตบุรุษแล้ว
การไปในงานต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อยเป็นสมณสารูป ตามแบบนิยมของวัด ควรมีพัดไปด้วยทุกรูป และควรใช้พัดงานมงคล ไม่ใช่พัดงานศพ พัดงานศพที่ถือเป็นข้อห้ามอย่างจริงจังนั้น คือ พัดที่มีอักษรปรากฏว่าอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ... หรืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ... เพราะพัดงานศพใช้สำหรับงานอวมงคลเท่านั้น ถ้าขัดข้องเพราะเหตุจำเป็นจริงๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะนำพัดไปได้ทุกรูป (สำหรับพระสงฆ์วัดเดียวกันทั้งหมด) ก็ควรมีไปเฉพาะหัวหน้ารูปเดียว ซึ่งจำเป็นจะขาดเสียมิได้ เพราะพัดที่ต้องนำไปนี้จำต้องใช้ในคราวต่างๆ ดังนี้
- ก. ให้ศีล เฉพาะหัวหน้า
- ข. ขัด สคฺเค และขัดตำนาน เฉพาะรูปที่นั่งอันดับที่ ๓
- ค. อนุโมทนาท้ายพิธี ต้องใช้ทุกรูป
- ฆ. ถ้ามีการบังสุกุลอัฐิประกอบด้วย ก็ต้องใช้ทุกรูปเช่นกัน
เรื่องการนำพัดไปในงานทำบุญนี้ บางแห่งถือกันว่า ถ้าพระสงฆ์มีพัดไปในงานทุกรูป เป็นการให้เกียรติแก่เจ้าภาพด้วย เพราะฉะนั้น ต้องดูกาลเทศะและบุคคล แล้วปฏิบัติให้สมควร
เมื่อไปถึงที่งานแล้ว ได้เวลาเจ้าภาพจะนิมนต์เข้าที่ ขณะที่นั่งบนอาสนะ ที่เจ้าภาพจัดปูไว้ ควรพิจารณาเสียก่อน ถ้าเป็นอาสนะผ้าขาวไม่ควรเหยียบหรือทำอาการใดๆ ให้ฝ่าเท้าถูกผ้าขาวนั้น เพราะเป็นการไม่สมควรและเป็นเหตุให้ผ้าขาวสกปรกด้วย ควรคุกเข่าบนผ้าขาวเดินเข่าเข้าไปยังที่นั่ง ถ้าไม่ใช่อาสนะ ผ้าขาวควรปฏิบัติโดยอาการที่เหมาะสมเรียบร้อยน่าดูเป็นเหมาะที่สุด ให้เข้าที่นั่งกันตามลำดับไว้ระยะให้พองาม นั่งแบบพับเพียบให้ได้แถวได้แนว ดูเข่าให้เสมอกันและนั่งอย่างผึ่งผายไม่ควรนั่งงอหลังหรือท้าวแขน เข้าที่แล้ววางพัดไว้ทางหลังด้านขวามือ
เมื่อเจ้าภาพเริ่มอาราธนาศีล ผู้เป็นหัวหน้าพึงคลี่กลุ่มสายสิญจน์แล้วส่งต่อกันไปจนถึงรูปสุดท้าย พออาราธนาศีลถึงวาระที่ ๓ ว่าตติยมฺปิ... ผู้เป็นหัวหน้าพึงตั้งพัดเตรียมให้ศีล การจับพัดให้จับด้วยมือขวาที่ด้ามถัดคอพัดลงมา ๔-๕ นิ้ว หรือกะว่าจับตรงส่วนที่สามตอนบนของด้ามพัด ไม่ใช่จับที่กลางด้ามหรือต่ำกว่านั้น ใช้มือกำด้ามด้วยนิ้วทั้ง ๔ เว้นนิ้วแม่มือ เฉพาะนิ้วแม่มือยกขึ้น แตะด้ามให้ทาบตรงขึ้นไปตามพัดนั้น นำสายสิญจน์ขึ้นพาดไว้บนนิ้วชี้ ตั้งพัดให้ตรงหน้า ปลายด้ามอยู่กึ่งกลางอย่าให้ห่างตัวหรือชิดตัวมากนัก และอย่าตั้งนอกสายสิญจน์ ดูหน้าพัดให้หันออกข้างนอก ให้พัดตั้งตรงได้ฉากเป็นงาม ระวังอย่าให้งุ้มหน้าหรือง้ำหลังหรือเอียงซ้ายเอียงขวาเป็นอันขาด พอจบคำอาราธนาศีล ก็ตั้ง นโม ให้ศีลทันที ให้ไปถึงตอนจบไตรสรณคมน์ ไม่ต้องว่าติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ เพราะคำนี้ใช้เฉพาะในพิธีสมาทานศีลจริง ๆ เช่นสมาทานอุโบสถศีล ในการรับศีลเป็นพิธีอย่างในงานทำบุญนี้ไม่ต้องว่า พึงให้ศีลต่อไตรสรณคมน์ไปเลยทีเดียว พอให้ศีลจบก็วางพัด ถ้าไม่ได้นำพัดไปทุกรูป ให้ส่งพัดต่อให้รูปที่ ๓ เตรียมขัด สคฺเค
พอเจ้าภาพอาราธนาพระปริตรถึงครั้งที่สาม รูปที่ต้องขัด สคฺเค เตรียมตั้งพัดแบบเดียวกับที่กล่าวแล้ว พออาราธนาจบก็เริ่มขัดได้ พอขัดจบ พระสงฆ์ทุกรูปยกสายสิญจน์ขึ้นประนมมือพร้อมกัน ใช้ง่ามนิ้วแม่มือทั้งสองรับสายสิญจน์ไว้ในระหว่างประนมมือ แล้วหัวหน้านำว่า นโม และนำสวดมนต์บทต่าง ๆ ไป ตามแบบนิยม (ในการประนมมือนั้น ดูในเรื่องประนมมือหมวดปกิณกะ)
การเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคล มีกำหนดเป็นหลักดังนี้ เจ็ดตำนาน ใช้ในงานมงคลทั่วไป สิบสองตำนาน ธรรมจักร มหาสมัยใช้ในงานมงคลบางอย่าง สุดแต่เจ้าภาพประสงค์ หรือสุดแต่พระสงฆ์เห็นเป็นการสมควร ที่ถือกันมาเป็นธรรมเนียม เช่น ในงานทำบุญอายุใหญ่ สวดธรรมจักรและเจ็ดตำนานย่อ งานมงคลสมรสสวดมหาสมัยและเจ็ดตำนานย่อ
ในการเจริญพระพุทธมนต์งานมงคลทุกแบบ มีตั้งภาชนะน้ำมนต์ไว้ด้วย ก็เพื่อให้พระสงฆ์ทำน้ำมนต์ในขณะสวด การทำน้ำมนต์นิยมว่า เป็นหน้าที่ของหัวหน้าสงฆ์ (นี้หมายถึงเจ้าภาพต้องการน้ำมนต์ที่เดียว ถ้าข้าพเจ้าตั้งภาชนะน้ำมนต์หลายที่ หน้าที่ทำน้ำมนต์เคลื่อนมาตามลำดับพระสงฆ์ผู้เจริญพระพุทธมนต์) เจ้าภาพจะจุดเทียนน้ำมนต์ตั้งแต่เริ่มสวดมงคลสูตร พอสวดรตนสูตรถึงตอนขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ... หัวหน้าสงฆ์พึงใช้มือขวาปลดเทียนน้ำมนต์ ออกากที่ปัก ถ้าที่น้ำมนต์เป็นครอบ พึงเปิดฝาครอบ แล้วจับเทียนความกับสายสิญจน์เอียงให้หยดลงในน้ำทีละหยดๆ พร้อมกับสวด พอสวดถึงคำว่านิพฺ ในคำว่านิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป ก็ให้จุ่มเทียนลงดับในน้ำมนต์ ทันที พอถึงคำว่าปทีโป จึงยกขึ้นแล้ววางหรือติดเทียนไว้ตามเดิม (นี้กล่าวตามธรรมเนียมแต่ก่อน แต่ในปัจจุบันนี้ พอสวดถึง เย สุปฺปยุตฺตา... เตรียมปลดเทียนน้ำมนต์ และเริ่มหยดเรื่อยไปดังตรงคำว่านิพฺ เช่นเดียวกันก็มี) เป็นอันเสร็จพิธีทำน้ำมนต์ ต่อนั้นจึงสวดมนต์ต่อไปจนจบ
อนึ่ง ในงานมงคล เมื่อตั้งน้ำมนต์และทำน้ำมนต์ในขณะเจริญพระพุทธมนต์แล้ว เสร็จพิธีหรือเสร็จการเลี้ยงพระในวันนั้น มักมีประเพณีขอให้พระสงฆ์พรมน้ำพระพุทธมนต์ให้เจ้าภาพ และบริเวณสถานที่บ้านเรือน เป็นต้น ด้วย ถ้าเจ้าภาพประสงค์ให้มีการพรม คือ หญ้าคา หรือก้านมะยม มัดเป็นกำไว้ให้พร้อม
การใช้หญ้าคาเป็นประเพณีติดมาแต่คติพราหมณ์ ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ว่า เมื่อครั้งอสูรกับเทวดาร่วมกันกวนเกษียรสมุทรให้เป็นน้ำอมฤตขึ้นสำเร็จ พวกเทวดาหาอุบายกีดกันไม่ให้พวกอสูรได้ดื่มน้ำอมฤตนั้น จึงเกิดวิวาทถึงรบราฆ่าฟันกันเป็นการใหญ่ ในการรบกันนั้น น้ำอมฤต ได้กระเซ็นตกมาบนหญ้าคา ๒-๓ หยด โดยเหตุนี้เองพวกพราหมณ์จึงถือว่า หญ้าคาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสิ่งที่กำจัดให้ตายได้ยาก เลยนำมาใช้ในพิธีการต่าง ๆ หลายอย่างติดมาจนทุกวันนี้
สำหรับชาวพุทธที่ติดประเพณีพราหมณ์ ก็ถือว่า หญ้าคาเป็นหญ้ามงคล เพราะปรากฏเป็นพุทธบัลลังก์ที่พระพุทธเจ้าประทับ ใต้ร่มโพธิพฤกษ์ในวันตรัสรู้ จึงนิยมใช้หญ้าคากันสืบต่อมา ส่วนที่ใช้ก้านมะยม อีกอย่างหนึ่ง เห็นจะเป็นความนิยมเกิดขึ้นในภายหลัง และอาจจะนิยมเฉพาะในประเทศไทย อย่างเดียวกับที่ชาวจีนนิยมใช้ก้านทับทิมพรมน้ำมนต์
เรื่องใช้ก้านมะยมในหมู่ชาวไทยนี้ ได้ทราบอธิบายของเกจิอาจารย์มาว่า ท่านถือว่าไม้มะยม มีชื่อพ้องกันกับยมทัณฑ์ คือไม้อาญาสิทธิ์ของพญายม ผู้เป็นเจ้าของภูตผีปีศาจ ไม้ยมทัณฑ์นั้นสามารถปราบหรือกำจัดภูตผีได้ทุกทิศทุกทาง ชาวไทยเราถือเคล็ดที่ชื่อพ้องกันนี้นำมาใช้สำหรับพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อขับไล่เสนียดจัญไร และเพื่อให้มีความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ในการใช้ก้านมะยมนี้ จึงนิยมเพิ่มเติมอีกว่า ต้องใช้ ๗ ก้านมัดรวมกัน โดยถือว่า ได้จำนวนเท่ากันกับหัวหน้าข้อธรรมในโพชฌงคสูตร ซึ่งเป็นธรรมโอสถวิเศษ และเท่าจำนวนพระปริตร ๗ ตำนานที่พระสงฆ์สวดในงานมงคลนั้นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องใช้ก้านมะยมพรมแทนหญ้าคาที่นิยมมาเดิม เห็นจะเป็นเพราะในถิ่นที่เจริญแล้ว เช่น ในเมืองเป็นต้น หาหญ้าคาได้ยาก เพราะไม่มีป่าแต่ต้นมะยมมีอยู่ตามบ้าน ในเมืองไทยนี้ทั่วไป จึงดัดแปลงมาเพื่อใช้สิ่งที่หาได้ง่ายเป็นประมาณนั่นเอง
ในการพรมน้ำพระพุทธมนต์ซึ่งฝ่ายพระสงฆ์ได้รับขอร้องก็ควรเป็นหน้าที่ของท่านผู้เป็นหัวหน้าสงฆ์ในพิธีนั้น ควรพรมเจ้าภาพและญาติพวกพ้องผู้ต้องการ ก่อนจะพรมรายตัว ควรพรมให้กระจายทั่วกันทั้งหมู่ก็ได้ การพรมพึงจับกำหญ้าคาหรือกำก้านมะยมที่เขาเตรียมไว้ ใช้มือขวากำรอบด้วยนิ้วทั้ง ๔ เว้นนิ้วชี้ให้ชี้ตรงทอดไปตามกำหญ้าคาหรือกำก้านมะยมนั้น มีอาการอย่างชี้นิ้ว เป็นการแสดงประกาศิตของสงฆ์ จุ่มปลายกำหญ้าคาหรือกำก้านมะยมลงในน้ำพระพุทธมนต์อย่างให้โชกนัก แล้วสะบัดให้น้ำพระพุทธมนต์กระเซ็นออกไปข้างหน้า ไม่ควรสะบัดเข้ามาข้างใน เพราะถือว่าน้ำที่สะบัดไปนั้นเป็นการกำจัดเสนียดจัญไรต่างๆ ออกไปข้างนอก
ขณะเริ่มพรม พระสงฆ์ที่เหลือควรสวดชยนฺโต... พร้อมกัน หรือไม่เพียงไร สุดแต่หัวหน้าสงฆ์จะแจ้งให้ทราบโดยปรารภพิธีการนั้นว่า จะสมควรสถานใด พรมคนจนทั่วแล้วลุกจากอาสนะ ให้ฝ่ายเจ้าภาพคนใดคนหนึ่งช่วยถือภาชนะน้ำมนต์นำหน้าไปพรมสถานที่ที่เขาต้องการให้พรมโดยอาการเช่นเดียวกันนั้นจนทั่ว เป็นอันเสร็จพิธีพรมน้ำพระพุทธมนต์ อนึ่ง ในการที่หัวหน้าสงฆ์ ลุกจากอาสนะไปพรมน้ำพระพุทธมนต์นั้น จะเป็นพรมบุคคลหรือสถานที่ก็ตาม หากเป็นบุคคลหรือสถานที่สำคัญ เช่น ในพระบรมมหาราชวังจะต้องถือพัดไปด้วย ถือว่า เป็นการเต็มยศทีเดียว
๒. ทำบุญงานอวมงคล
การทำบุญงานอวมงคล หมายถึง การทำบุญเกี่ยวกับเรื่องการตาย ดังกล่าวแล้ว นิยมทำกันอยู่ ๒ อย่าง คือทำบุญหน้าศพ ที่เรียกว่า ทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือทำบุญหน้าวันปลงศพอย่างหนึ่ง ทำบุญอัฐิ หรือทำบุญปรารภการตายของบรรพบุรุษหรือผู้ใดผู้หนึ่ง ในวันคล้ายกับวันตายของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว อย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้มีระเบียบที่จะพึงปฏิบัติ ดังนี้
๑. งานทำบุญหน้าศพ
พิธีฝ่ายเจ้าภาพ ในงานทำบุญหน้าศพ มีกิจกรรมที่ควรตระเตรียมไว้เป็นเบื้องต้น ส่วนใหญ่คล้ายกับงานทำบุญมงคล แต่มีข้อแตกต่างอยู่บ้างบางประการ คือ
๑. อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีจำนวนนิยม ๘ รูปหรือ ๑๐ รูป หรือกว่านั้นขึ้นไปแล้วแต่กรณี ในเรื่องอาราธนาพระสงฆ์สำหรับทำบุญงานอวมงคล ไม่ใช้คำอาราธนาว่าขออาราธนาเจริญพระพุทธมนต์ เหมือนอย่างทำบุญงานมงคลแต่ใช้คำอาราธนาว่าขออาราธนาสวดพระพุทธมนต์ มีข้อแตกต่างกันอยู่เป็นเรื่องที่ควรกำหนดไว้
๒. ไม่ตั้งน้ำวงด้าย หมายความว่า ไม่ต้องตั้งภาชนะน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ และไม่มีการวงด้ายสายสิญจน์
๓. เตรียมสายโยงหรือภูษาโยงต่อจากศพไว้ เพื่อใช้บังสุกุล สายโยงนั้นก็ใช้ด้ายสายสิญจน์นั่นเอง แต่ไม่เรียกว่าสายสิญจน์เหมือนงานมงคล เรียกว่าสายโยง ถ้าไม่ใช้สายสิญจน์ก็ใช้ทำเป็นแผ่นผ้าแทน เรียกว่าภูษาโยง ดังที่ของหลวงใช้อยู่ อนึ่ง การเดินสายโยงหรือภูษาโยง มีหลักที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง คือจะโยงในที่สูงกว่าพระพุทธรูปที่ตั้งในพิธีไม่ได้ และจะปล่อยให้ลาดมากับพื้นที่เดินหรือนั่งก็ไม่เหมาะ เพราะว่าสายโยงนี้ เป็นสายที่ล่ามโยงออกมาจากกระหม่อนของศพ เป็นสิ่งเนื่องด้วยศพ จึงต้องล่ามหรือโยงให้สมควร
ส่วนการปฏิบัติกรณียกิจในเมื่อพระสงฆ์มาถึงตามกำหนดแล้วก็คล้ายกับงานมงคล ในตอนนี้มีข้อที่จะพึงปฏิบัติพิเศษอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ การจุดธูปเทียนที่หน้าศพกับการจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชาพระ บางท่านให้จุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชาพระก่อนจุดธูปเทียนที่หน้าศพภายหลัง แต่ผู้เขียนได้รับอบรมมาว่า ต้องจุดธูปเทียนที่หน้าศพก่อนเพื่อเป็นการแสดงคารวะและเป็นการเตือนให้ศพบูชาพระ ตลอดถึงรับศีลฟังพระสวดมนต์ ฟังเทศน์ หรือฟังสวดมาติกาบังสุกุล จุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชาพระภายหลัง
สำหรับข้อปฏิบัติในวันเลี้ยงพระ ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในงานมงคล มีแต่เพียงว่า ในงานอวมงคล หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว นิยมให้มีบังสุกุล แล้วจึงถวายไทยธรรม เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาพึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลต่อไป
พิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์ เริ่มต้นปฏิบัติแบบเดียวกับงานมงคลที่กล่าวแล้ว ต่างแต่เรื่องนำพัดไป ต้องใช้พัดที่เกี่ยวกับงานศพเป็นเหมาะสม เพราะงานอวมงคลเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตายทั้งสิ้น ถ้าไม่มี จะใช้พัดงานอื่นก็ได้ เช่น พัดงานฉลองต่างๆ การสวดมนต์ในงานอวมงคลนี้ (สวดมนต์เย็นและฉันวันรุ่งขึ้น) มีระเบียบนิยมเหมือนกันในตอนต้นและตอนท้ายทุกอย่างต่างกันแต่ตอนกลาง ซึ่งมีนิยมเฉพาะงาน ดังนี้
- ทำบุญศพ ๗ วัน สวดอนัตตลักขณสูตร
- ทำบุญศพ ๕๐ วัน สวดอาทิตตปริยายสูตร
- ทำบุญศพ ๑๐๐ วัน หรือทำบุญหน้าวันปลงศพ สวดธรรมนิยามสูตร
- ทำบุญศพในวาระอื่นจากที่กล่าวนี้จะสวดสูตรอื่นใดนอกจากที่กล่าวนี้ก็ได้แล้วแต่เจ้าภาพประสงค์หรือหัวหน้านำสวด แต่มีธรรมเนียมอยู่ว่าไม่สวดเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ธรรมจักร มหาสมัย
ในการสวดนี้ มีระเบียบปฏิบัติ คือ เมื่อให้ศีลและเจ้าภาพอาราธนาสวดพระปริตจบแล้ว ไม่ต้องขัด สคฺเค ทุกรูปประนมมือพร้อมกันแล้วหัวหน้านำสวด
- ก. นมการปาฐะ (นโม...)
- ข. สรณคมนปาฐะ (พุทฺธํ สรณํ...)
- ค. ปัพพโตปมคาถาและอริยธนคาถา (ยถาปิ เสลา...)
พอจบตอนนี้ ทั้งหมดลดมือลง แล้วรูปที่นั่งอันดับ ๓ ตั้งพัดขัดบท ขัดของสูตรที่กำหนดสวดตามวานดังกล่าวแล้ว สูตรใดสูตรหนึ่งเมื่อขัดจบวาง พัดทุกรูประนมมือพร้อมกันอีก หัวหน้านำสวดสูตรที่ขัดนำนั้น จบสูตรแล้ว นำสวดบทท้ายสวดมนต์ของงานอวมงคลต่อ คือ
- ก. ปฏิจจสมุปบาท (อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา...)
- ข. พุทธอุทานคาถา (ยทา หเว...)
- ค. ภัทเทกรัตตคาถา (อตีตํ นานฺวาคเมยฺย...)
- ฆ. ภวตุ สพฺพมงฺคลํ...
หมายเหตุ ถ้าสวดธรรมนิยามสูตร ใช้สวดติลักขณาทิคาถา (สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ฯ เป ฯ เต โลเก ปรินิพฺพุตาติ.) ก่อนสวดปฏิจจสมุปบาท
เมื่อสวดมนต์แล้ว ถ้ามีการชักผ้าบังสุกุลต่อท้าย เจ้าภาพจะลากสายโยง หรือภูษาโยงแล้วทอดผ้า ให้คอยสังเกตดู พอทอดถึงรูปสุดท้าย ก็ตั้งพัดพร้อมกัน (อย่าข้ามสายโยงหรือภูษาโยง เพราะถือว่า เป็นการข้ามศพ เท่ากับดูหมิ่นศพ) การตั้งพัดในพิธีชักบังสุกุล การจับผ้าให้จับหงายมือใช้นิ้วมือ ๔ นิ้ว เว้นนิ้ว แม่มือสอดเข้าใต้ผ้าที่ชักแล้วใช้นิ้วแม่มือจับบนผ้า อย่าจับคว่ำมือหรือทำอาการ เพียงใช้นิ้วแตะๆ ที่ผ้าเป็นอันขาด ข้อที่ควรระวังในการจับพัดและจับผ้านี้ อย่าให้จับผิดมือที่กล่าวนี้ เมื่อจับพร้อมกันทุกรูปแล้วเริ่มว่าบทชักบังสุกุล (อนิจฺจา...) พร้อมกัน จบแล้วชักผ้าออกจากสายโยงหรือภูษาโยงวางไว้ตรงหน้า ผ้าที่เจ้าภาพทอดนั้น ถ้าเป็นผ้าพอที่จะใส่ในย่ามได้ ก็ให้ใส่ย่ามในเวลากลับ หากเป็นผ้าที่ใส่ย่ามไม่ได้ เช่น ผ้าไตร พึงถือกอดมาด้วยมือข้างซ้าย (อาจารย์ผู้สอนต้องทำตัวอย่างให้ดู)
ข้อความที่กล่าวมานี้เป็นงานที่เจ้าภาพทำสองวัน คือ สวดมนต์วันหนึ่ง เลี้ยงพระอีกวันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นงานเดียว คือ สวดมนต์และเลี้ยงพระ วันเดียวกัน ให้สวดมนต์ก่อนฉัน ในการสวดมนต์นั้นมีข้อแปลกจากงานที่เจ้าภาพทำสองวันอยู่ประการเดียว คือ เมื่อสวดภัทเทกรัตตคาถา (อตีตํ นานฺวาคเมยฺย) จบแล้ว ให้สวดถวายพรพระต่อไปจนจบ จึงจะเสร็จพิธีสวดมนต์
อนึ่ง ในกรณีที่เจ้าภาพบำเพ็ญกุศลเพียงสวดมนต์ ไม่มีการเลี้ยงพระ ไม่ต้องสวดบทถวายพรพระ เมื่อพระสงฆ์รับไทยธรรมแล้ว หากไม่มีการรีบด่วน ในการอนุโมทนาด้วยบทวิเสสนอนุโมทนา พึงใช้บท อทาสิ เม เพราะศพยังปรากฏอยู่
๒. งานทำบุญอัฐิ
พิธีฝ่ายเจ้าภาพ พึงจัดตระเตรียมทำนองเดียวกับงานทำบุญหน้าศพที่กล่าวแล้วทุกประการ ต่างแต่เพียงงานนี้เป็นงานทำบุญหน้าอัฐิหรือรูปที่ระลึกของผู้ที่ล่วงลับ เป็นต้น เจ้าภาพต้องเตรียมที่ตั้งอัฐิหรือที่ตั้งรูประลึกนั้นๆ ต่างหาก จากโต๊ะหมู่หรือโต๊ะอื่นใดที่สมควรก็ได้ ให้มีดอกไม้ตั้งหรือประดับพองามตามแต่จะพึงจัดได้ และตั้งกระถางธูปกับเชิงเทียน ๑ คู่ ที่หน้าโต๊ะอัฐิหรือรูปนั้นด้วย เพื่อบูชา จะใช้พานหรือกระบะเครื่องห้าสำหรับบูชาแทนก็ได้ ข้อสำคัญให้ดูงาม เด่นพอควรเป็นใช้ได้ ส่วนระเบียบที่พึงปฏิบัติอื่นจากนี้เหมือนกับที่กล่าวแล้ว ข้างต้น
พิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์ ส่วนใหญ่ก็พึงปฏิบัติเช่นเดียวกับงานทำบุญหน้าศพ ต่างแต่การสวดมนต์ นิยมใช้สูตรอื่นจากอนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร และธรรมนิยามสูตร ที่ใช้สำหรับงานทำบุญศพ ๗ วัน ๕๐ วันและ ๑๐๐ วัน หรือ หน้าวันปลงศพดังกล่าวแล้ว (ในปัจจุบันสวดธรรมนิยามสูตรก็มี) ทั้งนี้แล้วแต่หัวหน้าสงฆ์จะกะนัดหมาย หรือเจ้าภาพจำนงหมาย เช่น สติปัฏบานปาฐะ เป็นต้น
— — ที่มา: แบบประกอบนักธรรมตรีศาสนพิธี เล่ม ๑ หน้าที่ ๒๗ - ๕๓
บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยดยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใด ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปล้ไปด้วยบาป ฉันนั้น