กุศลพิธี หมายถึง พิธีกรรมต่างๆ อันเกี่ยวด้วยการอบรม ความดีงามทางพระพุทธศาสนาเฉพาะตัวบุคคล คือ เรื่องสร้างความดีแก่ตนทางพระพุทธศาสนาตามพิธีนั่นเอง เฉพาะที่พึงปฏิบัติในเบื้องต้น มี ๓ เรื่อง คือพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พิธีรักษาศีลอุโบสถ และพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
ก. พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
นิยามความหมาย
คำว่าพุทธมามกะ แปลว่า ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน และการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ หมายถึง การประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน
การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะคราวเดี่ยว ทำซ้ำๆ ตามกำลังแห่งศรัทธาและความเลื่อมใสก็ได้ เช่น พระสาวกบางรูป ภายหลังแต่ได้รับการอุปสมบทแล้วก็ลั่นวาจาว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก
ดังนี้ เป็นต้น
ความเป็นมา
เมื่อความนิยมในการบวชสามเณรลดลง พร้อมกับการส่งเด็กไปเรียนในต่างประเทศมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระราชปริวิตกว่า เด็กๆ จักไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้พระโอรสของพระองค์ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้เป็นพระสงฆ์องค์แรกที่ปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น และใช้เป็นราชประเพณีต่อมาอีกหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมพฎพงศ์บริพัตร พระโอรสสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตกับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆ ก่อนจะไปศึกษาในยุโรป ก็ได้แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้นสืบต่อกันมา ในปัจจุบัน ความนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะของชาวพุทธไทย สามารถสรุปได้ ดังนี้
- เมื่อบุตรหลานของตนรู้เดียงสาเจริญวัยอยู่ในระหว่าง ๑๒ - ๑๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลต่อไป
- เมื่อจะส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา
- เมื่อจะปลูกฝังนิสัยของเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนาส่วนมากทางโรงเรียนจะเป็นผู้จัดทำพิธีกรรม อาจจะเป็นปีละครั้ง
- เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธ
ระเบียบพิธี
นิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป เข้าพระอุโบสถ หรือศาลาหรือสถานที่ที่เหมาะสมแล้วคณะผู้ปฏิญาณตนนั่งพร้อมกันหน้าพระสงฆ์ ผู้แทนจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (ถ้านั่งกับพื้น พึงนั่งคุกเข่า ถ้านั่งบนเก้าอี้ ให้ยืนประนมมือ) แล้วกล่าวคำบูชาตามผู้นำ ดังนี้
อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมะ
ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมะ
ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมะ
ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้
จากนั้น ผู้ปฏิญาณตนหันหน้าไปทางพระสงฆ์ แล้วว่านะโม ตามผู้กล่าวนำ ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ต่อด้วย ว่าคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ดังนี้
เอเต มะยัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามะ, ธัมมัญจะ สังฆัญจะ, พุทธะมามะกาติ โน, สังโฆ ธาเรตุ.
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถึงผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว ทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ เป็นผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า
(หมายเหตุ : ถ้าปฏิญาณคนเดียว ให้เปลี่ยนคำปฏิญาณ ดังนี้ เอเต มะยัง เป็น เอสาหัง, คัจฉามะ เป็น คัจฉามิ, พุทธะมามะกาติ ชายเปลี่ยนเป็น พุทธะมามะโกติ หญิงเปลี่ยนเป็น พุทธะมามิกาติ, โน เป็น มัง, แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพุทธมามกะ)
พระสงฆ์ทั้งนั้นประนมมือรับ “สาธุ” พร้อมกัน
จากนั้นผู้ปฏิญาณตนนั่งประนมมือฟังโอวาทจากพระสงฆ์ หลังจากจบโอวาทแล้วผู้แทนนำกล่าวคำอาราธนาศีล ดังนั้น
มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะสะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะสะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.
จากนั้นประธานสงฆ์จะเป็นผู้ให้ศีล ผู้ปฏิญาณว่าตาม ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
ประธานสงฆ์ว่า “ยะมะหัง วะทามิ, ตัง วะเทหิ”
ผู้ปฏิญาณรับว่า “อามะ ภันเต”
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ประธานสงฆ์ว่า “ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐตัง”
ผู้ปฏิญาณรับว่า “อามะ ภันเต”
ปาณาติปาตา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
อะทินนาทานา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
มุสาวาทา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณีสิกขาปะทังสะมาทิยามิ.
อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ (ว่า ๓ หน)
และประธานสงฆ์จะบอกอานิสงส์ของศีลต่อไปว่า
สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเยฯ
(บทนี้ ผู้ปฏิญาณไม่ต้องว่าตาม, พอท่านว่าจบแล้วให้กราบ ๓ ครั้ง)
ลำดับจากนี้ ถ้ามีเครื่องไทยธรรม พึงนำเครื่องไทยธรรมมาถวายพระสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ปฏิญาณกรวดน้ำรับพรเสร็จแล้วกราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีฯ
ข. พิธีรักษาศีลอุโบสถ
นิยามความหมาย
อุโบสถ เป็นเรื่องกุศลกรรมสำคัญประเภทหนึ่งของคฤหัสถ์ แปลว่าการเข้าจำเป็นอุบายขัดเกลากิเลสได้อย่างเบาบางและเป็นทางแห่งความสงบระงับ อันเป็นความสุขอย่างสูงสุดในพระพุทธศาสนา อุโบสถมี ๒ อย่าง คือปกติอุโบสถ อย่าง ๑ และปฏิชาครอุโบสถ อย่าง ๑
อุโบสถที่รักษากันตามปกติเฉพาะวันหนึ่งคืนหนึ่ง อย่างที่อุบาสกอุบาสิการักษากันอยู่ทุกวันนี้เรียกว่าปกติอุโบสถ
อุโบสถที่รักษาเป็นพิเศษกว่าปกติ คือ รักษาคราวละ ๓ วัน คือ วันรับหนึ่งวัน วันรักษาหนึ่งวัน และวันส่งหนึ่งวัน เช่น จะรักษาอุโบสถวัน ๘ ค่ำ ต้องรับและรักษามาตั้งแต่วัน ๗ ค่ำ ตลอดไปจนถึงวันสุด ๙ ค่ำ คือได้อรุณใหม่ของวัน ๑๐ ค่ำ นั่นเองจึงหยุดรักษา อย่างนี้เรียกว่าปฎิชาครอุโบสถ
การรักษาอุโบสถทั้ง ๒ อย่างนี้ โดยแท้คือการรักษาศีล ๘ นั่นเอง
ระเบียบพิธี
๑. ชำระร่างกายแต่เช้าตรู่ แล้วอธิษฐานอุโบสถ ด้วยตนเองก่อนว่า
อิมัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง พุทธัปปัญญัตตัง อุโปสะถัง อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวสัง สัมมะเทวะ อะภิรักขิตุง สะมาทิยามิฯ
คำแปล
ข้าพเจ้าขอสมาทานอุโบสถที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ อันประกอบด้วยองค์แป็ดประการนี้ เพื่อรักษาให้ดี มิให้ขาดมิให้ทำลาย ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งในเวลานี้
จากนั้นให้รอเวลาอยู่ด้วยอาการสงบเงียบตามสมควร แล้วไปสู่สมาคม ณ วัดใดวัดหนึ่งเพื่อรับสมาทานอุโบสถศีลต่อพระสงฆ์ตามประเพณี
๒. ทั้งนี้ปกติอุโบสถ นั้นเป็นวันธรรมสวนะ ทุกคนจะลงประชุมกันในพระอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ เป็นต้น เพื่อทำวัตรสวดมนต์
๓. เมื่อทำวัดสวดมนต์เสร็จ หัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม พึงคุกเข่าประนมมือ ประกาศองค์อุโบสถ ทั้งคำบาลีและไทย
คำประกาศองค์อุโบสถ
อัชชะ โภนโต ปักขัสสะ อัฏฐะมีทิวะโส เอวะรูโป โข โภนโต ทิวะโส พุทเธนะ
ภะคะวะตา ปัญญัตัสสะ ธัมมัสสะวะนัสสะเจวะ ตะทัตถายะ อุปาสะกะอุปาสิกานัง อุโปสะถัสสะ จะ
กาโล โหติ หันทะ มะยัง โภนโต สัพเพ อิธะ สะมาคะตา ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมานุธัมมะปะฏิปัตติยา
ปูชนัตถายะ อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวะสัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสถัง อุปะวะสิสสามาติ
กาละปะริจเฉทัง กัตวา ตัง ตัง เวระมะณิง อารัมมณัง กัตวา อวิกขิตตะจิตตา หุตวา สักกัจจัง
อุโปสะถัง สมาทิเยยยามิ อีทิสัง หิ อุโปสะถัง สัมปัตตานัง อัมหากัง ชีวิตัง มานิรัตถะกัง โหตุฯ
หมายเหตุ คำประกาศนี้สำหรับวันพระ ๘ ค่ำ ถ้า ๑๕ ค่ำทั้งข้างขึ้น และข้างแรม ใช้คำว่า "ปัณณะระสีทิวะโส" ถ้าเป็นวันพระ ๑๔ ค่ำใช้คำว่า "จาตุททะสีวะโส"
๔. เมื่อหัวหน้าประกาศจบแล้ว พระสงฆ์ผู้แสดงธรรมขึ้นธรรมาสน์ อุบาสกอุบาสิกาทุกคน พึงคุกเข่ากราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำอาราธนาอุโบสถพร้อมกัน ดังนี้
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถีง ยาจามะ (ว่า ๓ จบ)
๕. พึงว่าตามคำสั่งที่พระสงฆ์บอกเป็นตอนๆ ไป คือ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ (ว่า ๓ จบ)
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
พอจบแล้วทางพระสงฆ์บอกว่า ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง ก็ให้รับว่า อามะ ภันเต
ต่อจากนั้นท่านก็จะให็ศีลต่อไป คอยรับกันตามระยะที่ท่านหยุด ดังนี้
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
๒. อทินนาทานา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
๓. อะพรหมจริยา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
๕. สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
๖. วิกาละโภชนา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
๗. นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสนา มาลาคันธะวิเลปะนะธารณะมัณฑนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
๘. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
๖. เมื่อพระแสดงธรรมจบแล้วทุกคนพึงให้สาธุการและสวดประกาศตนพร้อมกันดังนี้
สาธุ สาธุ สาธุ
อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คโต
อุปาสกัตตัง เทเสสึ ภิกขุสังฆัสสะ สัมมุขา
เอตัง เม สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง
เอตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะเย
ยะถาพะลัง จะเรยยาหัง สัมมาสัมพุทธสาสนัง
ทุกขนิสสะระณัสเสวะ ภาคี อัสสัง อนาคเตฯ
หมายเหตุ ถ้าผู้หญิงกล่าว พึงเปลี่ยนคำที่ขีดเส้นใต้นี้คือ คโต เปลี่ยนเป็น คตา อุปาสกัตตัง เปลี่ยนเป็น อุปาสิกัตตัง ภาคี อัสสัง เปลี่ยนเป็น ภาคินิสสัง
เมื่อสวดประกาศจบให้กราบ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีตอนเช้า
๗. ต่อจากนี้ก็พัก สนทนาธรรมกันตามอัธยาศัย รอจนกว่าถึงเวลารับประทานอาหารเพล (เที่ยง) ตอนบ่ายหรือเย็น พึงประชุมกันทำวัตรเย็นตามแบบนิยมของวัดนั้นๆ บางแห่งมีการมีการเทศนาโปรด
๘. ถ้าไม่มีการเทศน์เย็นนี้ พอทำวัตรจบผู้ประสงค์จะกลับไปพักที่บ้าน พึงขึ้นไปลาหัวหน้าสงฆ์ แล้วแต่ธรรมเนียมนิยมของแต่ละวัด ส่วนผู้ที่ประสงค์จะค้างที่วัดไม่กลับบ้านก็ไม่ต้องลา
คำลาพระสงฆ์
หันทะทานิ มะยัง ภันเต อาปุจฉามิ
พะหุกิจจา มะยัง พะหุกะระรียาฯ
พระสงฆ์ผู้รับลา พึงกล่าวคำว่า "ยัสสะทานิ ตุมเห กาลัง มัญญะถะ" ผู้ลาพึงรับว่า "สาธุ ภันเต" แล้วกราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีฯ
— — ที่มา: แบบประกอบนักธรรมตรีศาสนพิธี เล่ม ๑ หน้าที่ ๑๖ - ๒๒
ค. พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
นิยามความหมาย
วันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนนิยมประกอบพิธีกรรม มีการบูชา เป็นต้น เพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นพิเศษ แต่เดิมกำหนดไว้ ๓ วัน คือวันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันมาฆบูชา ภายหลังเพิ่มวันอาสาฬหบูชา เข้าอีกวันหนึ่ง รวมเป็น ๔ วัน
๑. วันวิสาขบูชา คือวันเพ็ญเดือน ๖ แต่ในปีที่มีอธิกมาสเลื่อนไปเป็น วันเพ็ญเดือน ๗ วันนี้นิยมว่า เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธประสูติ คล้ายวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ซึ่งสามกาลสามสมัยของพระพุทธองค์ตกในวันเพ็ญเดือนวิสาขะทั้งนั้น เหตุนั้นพุทธศาสนิกชนจึง นิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ ในเมื่อวันเช่นนี้เวียนมาถึงทุกๆ ปีและเรียกวันนี้ว่าวันวิสาขบูชา
๒. วันอัฏฐมีบูชา คือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หรือเดือน ๗ นับถัดจากวันวิสาขบูชาไป ๗ วัน เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมืองกุสินารา เป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระพุทธองค์อีกวันหนึ่ง เหตุนั้น เมื่อถึงวันเช่นนี้ทุกๆ ปี พุทธบริษัทจึงนิยมทำการบูชาพิเศษอีกวันหนึ่ง และเรียกวันนี้ว่าวันอัฏฐมีบูชา
๓. วันมาฆบูชา คือวันเพ็ญเดือน ๓ ถ้าปีในมีอธิกมาส ปีนั้นเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญเดือน ๔ วันนี้นิยมว่าคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปติโมกข์ อันเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น ในท่ามกลางพระอริยสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ มาประชุมพร้อมกันโดยบังเอิญมิได้นัดหมายกันมา ในปีแรกที่พระองค์ตรัสรู้ และเริ่มประกาศพระศาสนาแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ครั้งเดียว และครั้งนั้นพระองค์ก็ทรงวางหลักการของพระศาสนาในท่ามกลางสงฆ์นั้น ซึ่งเรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ การประชุมในวันนั้นเรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต เพราะเป็นการประชุมประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑) ภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ เป็นจำนวนที่พระองค์ได้ในการมาประกาศพระศาสนาในกรุงราชคฤห์ เป็นครั้งแรกที่ตรัสรู้ ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ
๒) ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ ผู้อุปสมบทมาแต่สำนักพระพุทธองค์
๓) ท่านเหล่านั้นไม่มีใครเชื้อเชิญ บังเอิญใจตรงกันมาประชุมในเวลาเดียวกันโดยลำพังตนเอง
๔) วันที่ประชุมนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะด้วย เพราะวันนี้มีความสำคัญดังกล่าวนี้ภายหลังจึงเกิดนิยมทำการบูชาพระรัตนตรัยเป็นพิเศษในวันนี้ แล้วเรียกวันนี้ว่าวันมาฆบูชา
๔. วันอาสาฬบูชา คือวันเพ็ญเดือน ๘ ก่อนวันเข้าปุริมพรรษา ๑ วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธรรมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี ในปีที่ตรัสรู้ใหม่ และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เป็นเหตุให้ท่านโกณฑัญญะ ในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ ได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม เปลี่ยนลัทธิมารับนับถือศาสนา ทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกทีเดียว วันนี้จึงเป็นวันเกิดขึ้นแห่งสังฆรตนะอีกประการหนึ่งด้วย เหตุนั้น วันนี้จึงนับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งและเกิดนิยมกำการบูชาพิเศษ ในเมื่อถึงวันเช่นนี้ทุกๆ ปี เพิ่มขึ้นอีก เรียกวันนี้ว่าวันอาสาฬหบูชา
การบูชาพิเศษในวันสำคัญทั้ง ๔ นี้ ก็คือการเวียนเทียน นอกเหนือไปจากประชุมทำวัตรสวดมนต์ และฟังเทศน์ตามปรกติในวันนั้น การเวียนเทียนนี้ คือการที่พุทธบริษัทถือดอกไม้ธูปเทียนจุดประนมมือ เดินเวียนขวา ที่เรียกว่า ประทักษิณรอบปูชานียวัตถุในวัด หรือในสถานแห่งใดแห่งหนึ่ง ๓ รอบ ส่งใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยในขณะเดินเวียน เสร็จแล้วนำดอกไม้ธูปเทียนนั้นปักบูชาปูชนีวัตถุที่เวียนนั้นเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงด้วยเครื่องสักการะบูชา ในการนี้มีระเบียบปฏิบัติที่นิยม ดังนี้
ระเบียบพิธี
พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทั้ง ๔ วัน มีระเบียบปฏิบัติเหมือนกันตลอด ต่างกันแต่คำบูชาก่อนเวียนเทียน ซึ่งกำหนดใช้เฉพาะวันนั้นๆ แต่ละวันเท่านั้น ระเบียบของพิธีมีอยู่ว่า เมื่อถึงกำหนดวันสำคัญนั้นๆ ให้ทางวัดประกาศให้ พุทธบริษัททราบทั่วกันทั้งชาววัดและชาวบ้านและบอกกำหนดเวลาประกอบพิธีด้วยว่าจะประกอบเวลาไหน จะเป็นตอนบ่ายหรือตนค่ำก็ได้แล้วแต่สะดวก
ถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัท ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือพระเจดีย์ อันเป็นหลักของวัดนั้นๆ ภิกษุอยู่แถวหน้าถัดไปสามเณร ท้ายสุดอุบาสก อุบาสิกา จะจัดให้ชายอยู่กลุ่มชาย หญิงอยู่กลุ่มหญิง (ควรกระทำหากอุบาสก อุบาสิกา สมาทานศีล ๘) หรือ (อุบาสก อุบาสิกาสมาทานศีล ๕) ปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่ จะกำหนดทุกคนถือดอกไม้ธูปเทียนตามแต่จะหาได้และศรัทธาของตน แต่เทียนควรหาชนิดที่ไส้ใหญ่มีด้ายมากเส้นและเป็นเทียนขี้ผึ้งด้วยจึงจะดี เพราะเมื่อจุดเดินไปจะได้ไม่ดับง่ายและน้ำตาเทียนไม่หยดเลอะเทอะทำสกปรก ควรกะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้จนครบ ๓ รอบ สถานที่ที่เดิน ไม่หมดเสียในระหว่างเดิน
เมื่อพร้อมกันแล้ว หัวหน้าสงฆ์จุดเทียนและธูป ทุกคนจุดของตนตามเสร็จแล้วทุกคนถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุดแล้วประนมมือหันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้น หัวหน้าสงฆ์นำว่า นโม...พร้อมกัน ๓ จบ ต่อนั้นนำว่าคำถวายดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ตามแบบที่กำหนดไว้สำหรับวันนั้นๆ เป็นคำๆ เฉพาะบาลีเท่านั้น (ถ้ามีโอกาสและเห็นสมควรจะว่าคำแปลด้วยก็ได้) ทุกคนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ว่าตามจนจบ
ต่อนั้น หัวหน้าสงฆ์เดินนำแถวด้วยอาการประนมมือถือดอกไม้รูปเทียนนั้นไปทางขวามือของสถานที่ที่เวียน คือ เดินเวียนไปทางที่มือขวาของตนหันเข้าหาสถานที่ที่เวียนนั้นทุกคนเดินเรียงแถวเรียง ๑-๒-๓-๔ ฯลฯ แล้วแต่เหมาะเว้นระยะห่างกันพอสมควร ตามหัวหน้าไป โดยอาการเช่นเดียวกัน
ระหว่างเดินเวียนรอบที่หนึ่งพึงตั้งใจระลึกถึงคุณพระพุทธคุณโดยนัยบทอิติปิ โส ภควา ฯลฯ
รอบที่สองระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยนัยบทสฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ฯลฯ
รอบที่สามระลึกถึงพระสังฆคุณโดยนัยบทสุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ฯลฯ
ครบ ๓ รอบแล้วนำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ที่เตรียมไว้ ต่อนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถหรือวิหาร หรือศาลการเปรียญ แล้วแต่ที่ทางวัดกำหนดเริ่มทำวัตรค่ำและสวดมนต์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะธรรมดา เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติและเรื่องที่เกี่ยวกันวันสำคัญนั้น ๑ กัณฑ์เป็นอันเสร็จพิธี แต่ถ้าพุทธบริษัทพร้อมใจกันมีอุตสาหะและศรัทธาเต็มที่ จะจัดให้มีเทศน์เป็นกัณฑ์ๆ ไป และสวดสลับกันไปจนถึงกาลอันควรหรือจนตลอดรุ่งก็ได้
— — ที่มา: แบบประกอบนักธรรมตรีศาสนพิธี เล่ม ๑ หน้าที่ ๒๓ - ๒๖
บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยดยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใด ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปล้ไปด้วยบาป ฉันนั้น