บุญเดือนอ้าย พุทธศาสนิกชนนิยมบริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม ร่วมกันดูแลอุปัฎฐากพระสงฆ์ที่เข้าอยู่กรรม เรียกอีกอย่างว่าปริวาสกรรม เป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติวุฏฐานวิธี (กฎระเบียบอันเป็นเครื่องออกจากอาบัติ)

เดือนอ้าย หรือเดือนเจียง คือเดือนที่หนึ่ง ตามประเพณีอีสาน จะมีการทำบุญประจำเดือน คือบุญเข้ากรรม (บุญเดือนเจียง) เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้าอยู่กรรม เพื่อให้พระสงฆ์ผู้ได้ล่วงละเมิดพระวินัยต้องอาบัติสังฆาทิเสส ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป

ความสำคัญและความหมาย

บุญเข้ากรรม นิยมกำหนดเอาเดือนอ้าย หรือเดือนเจียง คือเดือนแรกของปี เป็นเวลาทำ จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ ซึ่งเป็นฤดูหนาว เพราะกำหนดเอาเดือนอ้าย นี้เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนอ้าย บ้างก็เรียกบุญเดือนเจียง ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนผญาอีสานสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า

ตกฤดูเดือนอ้ายปลายลมมาสิหนาวหน่วง
ตกหว่างช่วงสังโฆเจ้าเพิ่นเข้ากรรม
เฮามาพากันค้ำทำบุญตักบาตร
ปริวาสซ่อยหยู้ซูค้ำศาสนา

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่ายฝูงหมู่สังฆเจ้า ก็เตรียมเข้าอยู่กรรมมันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญ (บาปเข็ญ คือ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล) สิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว

เมื่อถึงบุญเดือนอ้าย พุทธศาสนิกชนนิยมบริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม ร่วมกันดูแลอุปัฎฐากพระสงฆ์ที่เข้าอยู่กรรม ซึ่งประเพณีบุญเข้ากรรม นี้ความจริงน่าจะเป็นเรื่องทางสงฆ์โดยเฉพาะ เพราะเป็นบุญพิธีสำหรับพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักรองจากปาราชิก )

ในปัจจุบันนี้บุญเข้ากรรม หรือเข้าปริวาสกรรม นี้ มีวัตถุประสงค์ที่ผิดแผกไปจากในอดีต เป็นการเชิญชวนผู้คนให้เข้าไปทำบุญมากมาย เพื่อแสวงหาทรัพย์ให้วัดหรือสำนักสงฆ์ โดยอ้างว่าจะได้บุญมากกว่าปกติ เพราะพระที่มาร่วมพิธีมีความขลัง จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ก็ในเมื่อพระที่มาเข้ากรรมนั้น จริงๆ แล้วคือพระภิกษุผู้ที่ได้ล่วงละเมิดพระวินัย มาปลงอาบัติเพื่อให้หมู่คณะให้อภัยรับเข้ากลุ่มใหม่ (ฟอกขาว)

มูลเหตุและความเป็นมา

สาเหตุของการเข้าอยู่กรรมนี้มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ล่องเรือไปตามแม่น้ำคงคา ได้เอามือไปจับใบตะไคร่น้ำขาด เข้าใจว่าเป็นอาบัติเพียงเล็กน้อย จึงมิได้แสดงอาบัติ ต่อมา แม้ว่าพระภิกษุรูปนั้นจะปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเป็นเวลานาน แต่เหตุในครั้งนั้นก็ยังคงค้างคาอยู่ในใจของภิกษุรูปนั้นอยู่เสมอว่า ตนต้องอาบัติ อยากจะใคร่แสดงอาบัติแต่ไม่มีพระภิกษุรับแสดง ครั้นเมื่อพระภิกษุรูปที่กล่าว ได้มรณภาพแล้ว จึงไปเกิดเป็นนาคชื่อเอรถปัต จากเหตุเพียงอาบัติเล็กน้อยเพียงเป็นอาบัติเบายังมีกรรมติดตัวขนาดนี้ ถ้าเป็นอาบัติหนักก็คงจะบาปมากกว่านี้

ชาวอีสานโบราณเชื่อกันว่าพระภิกษุหากได้อยู่กรรมแล้ว ย่อมจะออกจากอาบัติได้และทำให้บรรลุมรรคผลดังปรารถนา จึงกำหนดเอาเดือนอ้ายให้เป็นเดือนเข้ากรรม เพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามแนวทางออกจากอาบัติดังกล่าว โดยให้พระภิกษุผู้ต้องอาบัติ ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตนเอง และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย

พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องเข้าปริวาสกรรม ต้องไปพักและปฏิบัติตนอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เป็นการสำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้กระทำผิดอีกต่อไป มีการนั่งสมาธิเดินจงกรม สวดมนต์ภาวนา ใช้เวลามากกว่าปกติ บางทีมีการอดข้าว อดน้ำถึง ๒-๓ วันก็มี หรือบางทีก็ถูกอาจารย์กรรม ฝึกหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้และเข้าใจความยากลำบากของคำว่ากรรม หรืออยู่กรรม ที่แม่ได้อยู่ไฟ หรือว่าอยู่กรรม นั้นมีความยากลำบากเพียงไร เพราะฉะนั้น คนในสมัยก่อน จึงมีความตระหนักและเข้าใจในบุญคุณของพ่อแม่ ไม่มีข่าวปรากฏให้ได้ยินว่าลูกฆ่าพ่อ ตีแม่ ลูกอกตัญญ มีแต่เทิดทูนพ่อแม่ในฐานะปูชนียบุคคลในระดับครอบครัวอย่างแท้จริง

ปริวาสสำหรับพระภิกษุสงฆ์

ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์นี้ เป็นปริวาสตามปกติสำหรับภิกษุผู้บวชอยู่แล้วในพระพุทธศาสนา แต่ไปต้องครุกาบัติ จึงจำเป็นต้องประพฤติปริวาสเพื่อนำตนให้พ้นจากอาบัติ ตามเงื่อนไขทางพระวินัยและเงื่อนไขของสงฆ์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการประพฤติวุฏฐานวิธี

ดูบทความหลักที่: ปริวาสกรรม

การประพฤติวุฏฐานวิธี

วุฏฐานวิธี คือกฎระเบียบอันเป็นเครื่องออกจากอาบัติ หมายถึง ระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้จะเปลื้องตนออกจากครุกาบัติสังฆาทิเสส มีทั้งหมด ๔ ขั้นตอน คือ

  • ๑. ปริวาส หรืออยู่ประพฤติปริวาส หรืออยู่กรรม (โดยสงฆ์เห็นชอบที่ ๓ ราตรี)
  • ๒. มานัต ประพฤติมานัต ๖ ราตรี หรือ นับราตรี ๖ ราตรีแล้วสงฆ์สวดระงับอาบัติ
  • ๓. อัพภาน หรือการเรียกเข้าหมู่ โดยพระสงฆ์ ๒๐ รูป สวดให้อัพภาน
  • ๔. ปฏิกัสสนา ประพฤติมูลายปฏิกัสสนา (ถ้าต้องอันตราบัติ ในระหว่างหรือการชักเข้าหาอาบัติเดิม)

ทั้ง ๔ ขั้นตอนนี้รวมกันเข้าเรียกว่าการประพฤติวุฎฐานวิธี แปลว่า ระเบียบหรือขั้นตอนปฏิบัติตน เพื่อออกจากอาบัติ อันได้แก่สังฆาทิเสส

สังฆาทิเสส

สังฆาทิเสส คือ ประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภทครุกาบัติ ที่เรียกว่าอาบัติสังฆาทิเสส จัดเป็นอาบัติโทษรุนแรงรองจากปาราชิก มีทั้งหมด ๑๓ ประการดังนี้

  • ๑. ทำน้ำอสุจิเคลื่อน
  • ๒. แตะต้องสัมผัสกายสตรี
  • ๓. พูดเกี้ยวพาราสีสตรี
  • ๔. พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้
  • ๕. ทำตัวเป็นพ่อสื่อ
  • ๖. สร้างกุฏิด้วยการขอ
  • ๗. มีเจ้าภาพสร้างกุฏิให้แต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ก่อน
  • ๘. ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  • ๙. แกล้งสมมติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  • ๑๐. ทำสงฆ์แตกแยก(สังฆเภท)
  • ๑๑. เข้าข้างภิกษุที่ทำสงฆ์แตกแยก
  • ๑๒. ภิกษุทำตนเป็นคนหัวดื้อ
  • ๑๓. ประจบสอพลอคฤหัสถ์

คำว่าสังฆาทิเสส แปลว่าอาบัติที่ต้องอาศัยสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ กล่าวคือ เมื่อภิกษุต้องอาบัติดังกล่าวแล้ว ต้องแจ้งแก่สงฆ์ ๔ รูปเพื่อขอประพฤติวัตรที่ชื่อมานัต เมื่อสงฆ์อนุญาตแล้วจึงประพฤติวัตรดังกล่าวเป็นเวลา ๖ คืน เมื่อพ้นแล้วจึงขอให้สงฆ์ ๒๐ รูปทำสังฆกรรมสวดอัพภาน ให้ เมื่อพระสงฆ์สวดอัพภานเสร็จสิ้น ถือว่าภิกษุรูปนั้นพ้นจากอาบัติข้อนี้

ในกรณีที่ภิกษุต้องอาบัติข้อนี้แล้วปกปิดไว้ เมื่อมาแจ้งแก่หมู่สงฆ์แล้ว ต้องอยู่ปริวาสกรรม เท่ากับจำนวนวันที่ปกปิดไว้ก่อน เช่น ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้หนึ่งเดือน เมื่อแจ้งแก่สงฆ์แล้วต้องอยู่ปริวาสหนึ่งเดือน แล้วจึงขอประพฤติวัตรมานัตต่อไป

ส่วนประกอบของการประพฤติวุฏฐานวิธี

ขั้นตอนการประพฤติวุฎฐานวิธี นั้น จะต้องประกอบด้วยคณะสงฆ์ที่ทำสังฆกรรม ๒ ฝ่าย ดังนี้

  • พระภิกษุผู้ประพฤติปริวาส หรือภิกษุผู้อยู่กรรม หรือพระลูกกรรม คือ สงฆ์ที่ต้องอาบัติ แล้วประสงค์ที่จะออกจากอาบัตินั้น จึงไปขอปริวาสเพื่อประพฤติวุฏฐานวิธี ตามขั้นตอนที่พระวินัยกำหนด
  • พระปกตัตตะภิกษุ หรือคณะสงฆ์พระอาจารย์กรรม (หรือพระพี่เลี้ยง) ซึ่งเป็นสงฆ์ฝ่ายที่พระวินัยกำหนดให้เป็นผู้ควบคุมดูแลความประพฤติของสงฆ์ฝ่ายแรกผู้ขอปริวาส ซึ่งสงฆ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลอนุเคราะห์เกื้อกูลนี้ ทำหน้าที่เป็นพระปกตัตตะภิกษุ หรือภิกษุโดยปกติ พระภิกษุผู้มีศีลไม่ด่างพร้อย

ขั้นตอนในการปฏิบัติ

  • สถานที่ สถานที่สำหรับเข้ากรรมนั้น จะต้องเป็นสถานที่เงียบไม่พลุกพล่าน อาจเป็นบริเวณวัดตอนใดตอนหนึ่งก็ได้ มีกุฏิหรือกระต๊อบชั่วคราวเป็นหลังๆ สำหรับพระภิกษุอยู่อาศัยระหว่างเข้ากรรมตามลำพังผู้เดียว ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ดอนปู่ตาของหมู่บ้าน จำนวนพระพระสงฆ์เข้ากรรมคราวหนึ่งๆ มีจำนวนเท่าใดก็ได้ ก่อนจะเข้ากรรม พระภิกษุรูปใดต้องอาบัติแล้วต้องบอกพระภิกษุสงฆ์จำนวน ๔ รูปให้รับทราบไว้ก่อน ได้เวลาแล้วจึงเข้ากรรม
  • พิธีกรรม ในหนังสือวินัยมุข กล่าวว่า พระสงฆ์ผู้เข้ากรรมต้องประพฤติมานัต แปลว่านับราตรี ครบหกราตรี แล้วสงฆ์จึงจะสวดระงับอาบัติเรียกว่าอัพภาน แปลว่าเรียกเข้าหมู่ แต่พระต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ล่วงเลยนานวันเท่าใดต้องอยู่ปริวาส ซึ่งแปลว่าอยู่ใช้ให้ครบวันเท่านั้น ก่อนจึงควรประพฤติมานัต ได้ต่อไป ถ้าในระหว่างอยู่ปริวาสต้องครุกาบัติ อีก จะต้องกลับอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตใหม่ เรียกว่าปฏิกัสสนา แปลว่ากิริยาชักเข้าหาอาบัติเดิม สำหรับประเพณีนิยมกันในภาคอีสานเกี่ยวกับการเข้ากรรม นี้ปกติอยู่เก้าราตรี คือ ตอนสามราตรีแรกเรียกว่าอยู่ปริวาส
  • เมื่อจะเข้าปริวาสให้กล่าวคำสมาทานต่อสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุผู้แก่พรรษากว่า ซึ่งสามารถสวดให้ปริวาสได้รูปหนึ่งว่า “ปริวาสัง สมาทิยามิ หรือ วัตตัง สมาธิยามิ” ๓ หนก็ได ้และถ้าไม่อาจอยู่ปริวาสต่อไปได้จะเก็บปริวาสก็กล่าวว่า ”ปริวาสัง นิกขิปามิ หรือวัตตังนิกขิปามิ” ๓ หน ต่อหน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง และตอนหกราตรีต่อมาเรียกว่า “อยู่มานัต” ซึ่งมีคาถาสวดเพื่อเข้ามานัตต่อหน้าสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้แก่พรรษา ซึ่งสามารถสวดให้มานัตได้ โดยกล่าวขอสมาทานมานัตก่อน แล้วจึงสมาทานวัตรดังนี้ “มานัตตัง สมาทิยามิ วัตตังสมาทิยามิ” ๓ หน แล้วประพฤติให้ครบหกราตรี แต่ถ้ามีเหตุอันจำเป็นต้องพักเก็บมานัต จะกล่าวคำเก็บมานัตต่อหน้าพระภิกษุผู้แก่พรรษาโดยว่าวัตรก่อนแล้วจึงว่าเก็บมานัต ดังนี้ “วัตตัง นิกขิปามิ มานัตตัง นิกขิปามิ” ๓ หน ถ้าต้องการเข้ามานัตต่ออีก ก็ขอสมาทานมานัตดังกล่าวแล้ว เมื่อเข้ากรรมครบกำหนดคืออยู่มานัตครบหกราตรีแล้ว จึงอัพภาน คือออกจากรรมได้แก่การออกจากอาบัติสังฆาทิเสสหรืออาบัติหนักขนาดกลาง (ครุกาบัติ)
  • ระหว่างเข้ากรรม การสารภาพความผิดต้องมีพระสงฆ์ ๔ รูป เป็นผู้รับรู้ ส่วนการออกจากกรรม ต้องมีพระสงฆ์ ๒๐ รูป ให้อัพภาน ในจำนวนนี้จะนับพระภิกษุผู้กำลังประพฤติวุฏฐานวิธีเข้าด้วยไม่ได้ การรับพระภิกษุผู้ต้องอาบัติหนักและได้ถูกทำโทษ คือ อยู่ปริวาสหรือมานัต แล้วให้กลับเป็นผู้บริสุทธิ์โดยพระสงฆ์สวดระงับอาบัตินี้เรียกว่าสวดอัพภาน ภิกษุที่ออกจากกรรมแล้วถือว่าเป็นผู้หมดมลทิน เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง

สำหรับชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับพิธีบุญเข้ากรรม จะต้องเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ด้วยจตุปัจจัยแด่พระภิกษุสงฆ์ตลอดเวลาที่เข้ากรรม และในวันที่พระภิกษุออกจากกรรมจะต้องมีการทำบุญให้ทาน เช่น มีการตักบาตร ถวายภัตตาหาร และฟังเทศน์ เป็นต้น คฤหัสถ์ผู้ใดได้ทำบุญแด่พระภิกษุสงฆ์ในบุญเข้ากรรม ถือว่าได้กุศลหรืออานิสงส์แรงมาก บุญเข้ากรรมในปัจจุบันมักจะมีจัดทำเฉพาะบางตำบลหมู่บ้านที่ชาวบ้านยึดมั่นในประเพณีดั้งเดิมจริงๆ เท่านั้น

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา