บุญบั้งไฟ บ้างก็เรียกบุญขอฝน เพราะเป็นการบูชาพระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งเชื่อกันว่า มีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล

ตามธรรมเนียมประเพณีของอีสาน เมื่อถึงเดือนหก จะมีพิธีหรือมีบุญประเพณีเพื่อเป็นสิริมงคลคือบุญบั้งไฟ บางแห่งเรียกบุญวิสาขบูชา บ้างก็เรียกบุญขอฝน โดยจัดกันก่อนฤดูทำนา ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาข้าวอุดมสมบูรณ์ ดังที่ปรากฏในบทผญาเกี่ยวกับบุญเดือนหกว่า

ฮีตหนึ่งนั้นพอเถิงเดือนหกแล้ว ให้นำน้ำวารีสรงโสดฮดพระพุทธรูปเหนือใต้สู่ภาย

อย่าได้ละเบียงบ้ายปัดเป่าหายหยุด มันสิเสียศรีต่ำไปเมื่อหน้า

จงพากันทำแท้แนงคองฮีตเก่า เอาบุญไปเรื่อง ๆ ไปหน้าอย่าถอย

การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือ เทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ชาวอีสานจัดงานบุญบั้งไฟ จัดวันใดแล้วแต่คณะกรรมการหมู่บ้านกำหนด ในประเพณีบุญบั้งไฟ มีการประลองบั้งไฟกันว่าบั้งไฟใครจะขึ้นสูงกว่ากัน ส่วนบั้งไฟใครที่จุดแล้วไม่ขึ้นจะมีการทำโทษด้วยการจับเจ้าของบั้งไฟไปโยน บ่อโคลน

งานบุญบั้งไฟนี้จะตรงกับประเพณีในเทศกาลเดือนหกอีกอย่างหนึ่งคือบุญวันวิสาข บูชา ชาวบ้านจะทำบุญและฟังเทศน์กันในตอนกลางวันกลางคืนจะมีการเวียนเทียน

โดยเรื่องราวนั้นมาจากนิทานพื้นบ้านทางภาคอีสานสองเรื่อง คือ “ผาแดงนางไอ่” และ “พญาคันคาก” มีเรื่องราวพอสังเขป ดังนี้

นิทานพื้นบ้านเรื่อง “ผาแดงนางไอ่” กับประวัติประเพณีบุญบั้งไฟ

ภาพประกอบนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ผาแดงนางไอ่

ในเนื้อเรื่องนิทานนั้นเป็นสาเหตุมาจากรักสามเส้า มีตัวละครคือ ท้าวผาแดง ท้าวพังคี และนางไอ่ ทั้งสามเคยมีความผูกพันธุ์กันมาก่อนตั้งแต่อดีตชาติ นางไอ่เป็นธิดาของธิดาขอมพระราชาเมืองชะธีตา บ้างก็เรียก “ธีตานคร” นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่วในนครต่างๆ ทั้งโลกมนุษย์และเมืองบาดาล ชายหนุ่มต่างหมายปองที่จะได้อภิเษกกับนางไอ่ ในจำนวนนั้นมีท้าวผาแดงเจ้าชายแห่งเมือง “ผาโพง” และท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค เจ้าผู้ครองนครบาดาล เจ้าเมืองธีตามีการจัดแข่งขันบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีแต่โบราณของเมืองเอกชะทีตา ใครชนะจะเป็นผู้ครอบครองเมืองธีตานคร และได้นางไอ่เป็นคู่สมรส สุดท้ายทั้งคู่ก็แพ้บั้งไฟ จึงไม่ได้อภิเษกสมรสกับนางไอ่ แต่ท้าวพังคีไม่ยอมลดละ แปลงกายเป็นกระรอกเผือกเฝ้าติดตามนางไอ่ สุดท้ายถูกฆ่าตาย พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองจนล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหาร หนองหานในตำนานท้าวผาแดงนางไอ่ ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าที่ไหนกันแน่ มีอยู่ถึง ๓ ที่ ได้แก่ หนองหาน ที่ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก และอีกที่หนึ่งก็คือหนองหาร จังหวัดสกลนคร

นิทานพื้นบ้านเรื่อง “พญาคันคากกับพญาแถน” กับประวัติประเพณีบุญบั้งไฟ

ภาพประกอบนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พญาคันคากกับพญาแถน

พญาแถน เป็นเทพผู้คอยดลบัลดาลควบคุมฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล วันหนึ่งเกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือนเจ็ดวัน ชาวโลกมนุษย์อดอยากหมากแพงทนไม่ไหวคิดต่อสู้กับพญาแถนแต่สู้ทัพเทวดาไม่ได้ ถูกไล่ทัพมาจนถึงต้นไม้ใหญ่ที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็น พญาคันคาก (คางคก) อาศัยอยู่ และพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้ พญาแถนจึงให้คำมั่นว่า หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันทีและถ้ากบ เขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญาณแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน หลังจากนั้นมาชาวเมืองก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา พอถึงเดือนหกจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบอกพญาแถน จนกลายเป็นประเพณีบุญบั้งไฟจนทุกวันนี้

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา