บุญคูณลาน บางท้องที่เรียกบุญกุ้มข้าวใหญ่ คือบุญประเพณีที่ทำขึ้นในเดือนยี่ หรือเดือนสองของปี ชาวอีสานนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์และประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว

ตามธรรมเนียมประเพณีของชาวนาในภาคอีสาน หลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว นิยมนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง จากนั้นจึงทำบุญประเพณีเพื่อเป็นสิริมงคล เรียกว่าบุญคูณลาน คำว่าลาน คือสถานที่สำหรับนวดข้าว ส่วนคำว่าคูณลาน คือเพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้น นั่นเอง

การทำบุญประเพณีบุญคูณลาน นิยมกำหนดเอาเดือนยี่ เป็นเวลาทำ เหตุเพราะกำหนดเอาเดือนยี่ นี่เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนยี่ ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนผญาอีสานสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า

ฮอดเดือนสองอย่าวฟ้าวซ้าข้าวใหม่ปลามัน
ให้เฮามาโฮมกันแต่งบุญประทายข้าว
เชิญเจ้ามาโฮมเต้าอย่าพากันขี้ถี่
บุญคูณลานตั้งแต่กี้พากันให้ฮักษา

มูลเหตุของการทำบุญประเพณีบุญคูณลาน

พระกัสสปพุทธเจ้า จิตรกรรมฝาผนังของวัดหอเชียง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว

มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า พระกัสสปะพุทธเจ้า (อังกฤษเขียนแบบบาลี: Kassapa Buddha) มีชายสองคนเป็นพี่น้องกัน ทำนาในที่เดียวกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำมัน น้องชายได้ชวนพี่ชายทำข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ แต่พี่ชายไม่เห็นชอบด้วย ทั้งสองพี่น้องจึงแบ่งนากันคนละส่วน เมื่อน้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาที่แบ่งกันแล้ว จึงได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ตามความพอใจ โดยทำบุญเป็นระยะถึงเก้าครั้ง นับแต่เวลาข้าวเป็นน้ำนมก็ทำข้าวมธุปายาสถวายครั้งหนึ่ง เวลาข้าวพอเม่าก็ทำข้าวเม่าถวายครั้งหนึ่ง เวลาจะลงมือเก็บเกี่ยวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลามัดข้าวทำเป็นฟ่อนก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาขนข้าวเข้าลานก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาเก็บข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จก็ทำบุญอีกครั้งหนึ่งและตั้งปณิธานปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคต

พอถึงพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า พระพุทธโคดม (อังกฤษ: Gautama Buddha) ชาวนาผู้เป็นน้องชาย ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านโทณวัตถุ กรุงกบิลพัสดุ์ ชื่อโกณฑัญญะ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพท และเรียนมนต์ คือ วิชาการทำนายลักษณะอย่างเชี่ยวชาญ เวลาต่อมา ท่านโกณฑัญญะ อยู่ในจำนวนพราหมณ์ทั้ง ๘ คน ได้ทำนายพระลักษณะพระโพธิสัตว์สิทธัตถะกุมาร (ต่อมาคือ พระพุทธโคดม) ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง ๒๙ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา ท่านโกณฑัญญะจึงพามาณพทั้ง ๔ คน (บุตรของพราหมณ์ในจำนวนทั้ง ๗ คน ที่ร่วมทำนายพระลักษณะพระโพธิสัตว์) พร้อมทั้งตนด้วยรวมเป็น ๕ ได้นามบัญญัติว่าปัญจวัคคีย์ ได้ออกบวชติดตามพระมหาบุรุษ (นามบัญญัติของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากบรรพชา ก่อนตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ) หลังจากนั้น ท่านโกณฑัญญะสำเร็จพระอริยบุคคลเป็นปฐมสาวก ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ

ส่วนชาวนาผู้เป็นพี่ชาย ได้ทำบุญเพียงครั้งเดียวเฉพาะตอนทำนาเสร็จแล้ว เมื่อถึงพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า พระพุทธโคดม ได้เกิดเป็นสุภัททปริพาชก ได้สำเร็จอนาคามิผลเป็นพระอริยบุคคลองค์สุดท้ายในพระพุทธศาสนาเนื่องจากอานิสงส์จากให้ข้าวเป็นทานน้อยกว่าน้องชาย ชาวอีสานเมื่อทราบอานิสงส์จากการทำบุญดังกล่าวจึงได้นิยมทำบุญคูณลาน เป็นบุญประเพณีในเดือนยี่หรือเดือนสองของปี สืบต่อกันมา

พิธีกรรม

การทำบุญคูณลาน หลายๆ หมู่บ้านอาจจะทำไม่ตรงกัน เพราะว่าระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวข้าวอาจจะต่างกัน แต่จะทำในช่วงเดือนสอง หรือตรงกับช่วงเดือนมกราคม มูลเหตุที่จะมีการทำบุญชนิดนี้นั้นเนื่องจาก ผู้ใดทำนาได้ข้าวมากๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉางก็อยากจะทำบุญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลให้เพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัวสืบไป

ก่อนทำบุญคูณลาน มีประเพณีของชาวอีสานบางแห่งบางอย่าง เรียกว่าไปเอาหลัวเอาฟืน คำว่าหลัว หมายถึงไม้ไผ่ที่ตายแล้ว เอามาใช้เป็นฟืน หรือหมายรวมถึงไม้แห้งที่มีแก่นแข็งทุกชนิด เพื่อใช้ทำฟืนก่อไฟโดยทั่วไป โดยชาวบ้านกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งในเดือนยี่ ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จแล้วพากันไปเอาหลัวเอาฟืนมาเตรียมไว้ สำหรับก่อไฟหุงต้มอาหารบ้าง ใช้สำหรับก่อไฟผิงหนาวบ้าง สำหรับให้แม่บ้านแม่เรือน ก่อไฟปั่นฝ้ายตามลานบ้านบ้าง เป็นต้น

สิ่งของต่างๆ ที่พร้อมสำหรับพิธี บุญคูณลาน

ในการทำบุญคูณลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่าคูณลาน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรม ขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พอพระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาในงาน เสร็จแล้วพระสงฆ์ก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล

ในปัจจุบันนี้ บุญคูณลาน ค่อยๆ เลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติปฏิบัติกัน ประกอบกับในทุกวันนี้ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ และมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบ และในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าว รถเกี่ยวข้าวเป็นส่วนมาก จึงทำให้ประเพณีบุญคูณลานนี้เริ่มเลือนหายไป แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมากองรวมกันเป็นกุ้มข้าวใหญ่ ก่อเกิดเป็นบุญประเพณีต่อมาภายหลัง เรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ให้เหมาะกับกาลสมัย

บุญบายศรีสู่ขวัญข้าว บุญคูณลาน

เมื่อถึงบุญประเพณีบุญคูณลาน มีวัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องเตรียม ดังนี้

๑. ใบคูณ ใบยอ อย่างละ ๗ ใบ
๒. เขาควายหรือเขาวัว ๑ คู่
๓. ไข่ ๑ ฟอง
๔. มัน ๑ หัว
๕. เผือก ๑ หัว
๖. ยาสูบ ๔ มวน
๗. หมาก ๔ คำ
๘. ข้าวต้ม ๑ มัด
๙. น้ำ ๑ ขัน
๑๐. ขัน ๕ ดอกไม้ ธูปเทียน

เมื่อพร้อมแล้วก็บรรจุลงในก่องข้าว หรือกระติ๊บข้าว ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่าขวัญข้าว เพื่อเตรียมเชิญแม่ธรณี ออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว ๑ คู่ ไม้สน ๑ อัน คันหลาว ๑ อัน มัดข้าว ๑ มัด ขัดตาแหลว ๑ อัน (ตาแหลว เป็นอุปกรณ์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คาถากุ้มข้าวใหญ่ของลานอื่นดูดไป) นำไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว (กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐานว่า

ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และแม่โพสพอย่าตกอกตกใจไป ลูกหลานจะนวดข้าว จะเหยียบย่ำ อย่าได้โกรธเคืองหรืออย่าให้บาป

ประเพณีบุญสู่ขวัญข้าว บุญคูณลาน

อธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอมข้าว (กองข้าว) ออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าว มัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าว เป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย

เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง ๔ มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าว พันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้วโยงมายังพระพุทธรูป

ถึงวันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว เป็นลำดับ

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา