พุทธศาสนา หรือศาสนาพุทธ (บาลี: buddhasāsana พุทฺธสาสนา, สันสกฤต: buddhaśāsana พุทธศาสนา) เป็นศาสนาที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้า เป็นศาสดา (คือ ผู้ก่อตั้งศาสนา หรือ ผู้คิดค้น ริเริ่มในการนำคำสอนไปเผยแผ่) มีพระธรรม คือ ธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำออกเผยแผ่ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ (ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมพระพุทธองค์ แต่ทรงเป็นผู้ค้นพบแล้วนำมาประกาศ) มีพระสงฆ์ คือ หมู่สาวกผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช ถือวัตร ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนและกำหนดไว้ รวมเรียกว่าพระรัตนตรัย
ทั้งนี้ พระสงฆ์ในพระรัตนตรัย หมายถึงเฉพาะพระอริยสงฆ์ คือ บุคคลไม่ว่าคฤหัสถ์หรือนักบวช และไม่ว่ามนุษย์หรือเทวดา ที่ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุมรรคผล แต่โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าพระสงฆ์คือภิกษุ หรือภิกษุณี คือ มนุษย์ที่ได้ฟังคำสั่งสอนแล้วเกิดความเลื่อมใสจนสละเรือนออกบวชตามพระพุทธเจ้า เพราะต้องการจะได้บรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้
ศาสนาพุทธยังประกอบด้วยคำสอนสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีงามสำหรับผู้ที่ยังไม่ออกบวช (คฤหัสถ์ คืออุบาสก อุบาสิกา) ซึ่งหากรวมประเภทบุคคลที่นับถือและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาแล้ว จำแนกได้เป็น ๔ ประเภท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือที่เรียกว่าพุทธบริษัท ๔
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาอเทวนิยม ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าหรือพระผู้สร้าง และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่า ทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจ ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ด้วยความเพียรของตน กล่าวคือ ศาสนาพุทธ สอนให้มนุษย์บันดาลชีวิตของตนเอง ด้วยผลแห่งการกระทำของตน ตามกฎแห่งกรรม มิได้มาจากการอ้อนวอนขอจากพระเป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกกาย คือ ให้พึ่งตนเอง เพื่อพาตัวเองออกจากกองทุกข์ มีจุดมุ่งหมายคือ การสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในโลกด้วยวิธีการสร้างปัญญา ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง วัตถุประสงค์สูงสุดของพุทธศาสนาคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง และวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับที่พระศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้าหรือทูตของพระเจ้าองค์ใด
หลังพุทธปรินิพพาน พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก จนมีการรวบรวมขึ้นเป็นพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดของฝ่ายเถรวาท ที่ยึดหลักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เกิดแนวความคิดเห็นที่ต่างออกไป ว่าธรรมวินัยสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดแห่งศาสนาพุทธ แนวคิดดังกล่าวจึงได้เริ่มก่อตัวและแตกสายออกเป็นนิกายใหม่ในชื่อของมหายาน ทั้งสองนิกายได้แตกนิกายย่อยไปอีกและแผ่ขยายออกไปทั่วดินแดนเอเชียและใกล้เคียง หลักพื้นฐานสำคัญของปฏิจสมุปบาท เป็นเพียงหลักเดียวที่เป็นคำสอนร่วมกันของคติพุทธ
ปัจจุบัน ศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนาพุทธมีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก ประมาณ ๗๐๐ ล้านคน ด้วยมีผู้นับถือในหลายประเทศศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาสากล
องค์ประกอบ
สิ่งเคารพสูงสุด
พระรัตนตรัย คือ สรณะที่พึ่งอันประเสริฐในศาสนาพุทธ โดยคำว่าสรณะ นั้น หมายถึง สิ่งที่ให้ศาสนิกชนถือเอาเป็นแบบอย่าง หรือ ให้เอาเป็นตัวอย่าง แต่มิได้หมายความว่าเมื่อเคารพแล้วจะดลบันดาลสิ่งต่างๆ ตามต้องการได้ พระรัตนตรัยนั้นประกอบด้วยองค์สาม (ไตรสรณะ) ได้แก่
- พระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่บำเพ็ญสั่งสมบารมีมาหลายภพชาติ จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นมนุษย์ แล้วอาศัยความเพียรพยายามและสติปัญญา ปฏิบัติจนได้บรรลุสิ่งที่ต้องการ คือ ธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ แล้วจึงทรงชี้แนะหรือชี้ทางให้ผู้อื่นทำตาม
- พระธรรม หมายถึง ธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำออกเผยแผ่ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมพระพุทธองค์ แต่ทรงเป็นผู้ค้นพบแล้วนำมาประกาศ
- พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช ถือวัตร ปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยที่พระบรมศาสดาสั่งสอนและกำหนดไว้
- พระสงฆ์ในพระรัตนตรัย หมายถึงเฉพาะพระอริยสงฆ์ คือ บุคคลไม่ว่าคฤหัสถ์หรือนักบวช และไม่ว่ามนุษย์หรือเทวดา ที่ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุมรรคผล แต่โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าพระสงฆ์คือภิกษุ หรือภิกษุณี คือ มนุษย์ที่ได้ฟังคำสั่งสอนแล้วเกิดความเลื่อมใสจนสละเรือนออกบวชตามพระพุทธเจ้า เพราะต้องการจะได้บรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้
ศาสดา
ศาสดาของศาสนาพุทธ คือพระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่าเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติในดินแดนชมพูทวีป ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อ ๘๐ ปีก่อนพุทธศักราช ณ สวนลุมพินีวัน เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาท ผู้สืบทอดราชบัลลังก์กรุงกบิลพัสดุ์ แห่งแคว้นสักกะ และเมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา แห่งเมืองเทวทหะ ต่อมาเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษา มีพระโอรส ๑ พระองค์พระนามว่าราหุล
ในปีเดียวกัน พระองค์ทอดพระเนตรเทวทูตทั้ง ๔ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ จึงทรงตัดสินพระทัยออกผนวชเป็นสมณะ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์ คือความแก่ เจ็บ และตาย
ในปีเดียวกันนั้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที และหลังจากออกผนวชมา ๖ พรรษา ทรงประกาศการค้นพบว่า การหลุดพ้นจากทุกข์ทำได้ด้วยการฝึกจิตด้วยการเจริญสติ ประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จนสามารถรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริงว่าเป็นทุกข์ เพราะสรรพสิ่งไม่สมบูรณ์ ไม่แน่นอน และบังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ จนไม่เห็นสิ่งใดควรยึดมั่นถือมั่น หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จวบจนได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือการตรัสรู้ อริยสัจ ๔ ขณะมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
จากนั้นพระองค์ได้ออกประกาศสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเวลากว่า ๔๕ พรรษา ทำให้ศาสนาพุทธดำรงมั่นคงในฐานะศาสนาอันดับหนึ่งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ จวบจนพระองค์ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ณ สาลวโนทยาน (ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖)
คัมภีร์
หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ในยุคก่อนจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้วิธีท่องจำ (มุขปาฐะ) โดยใช้วิธีการแบ่งให้สงฆ์หลาย ๆ กลุ่ม รับผิดชอบท่องจำในแต่ละเล่ม เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษาความถูกต้องของหลักคำสอน จวบจนได้ถือกำเนิดอักษรเขียนที่เลียนแบบเสียงเกิดขึ้นมาซึ่งสามารถรักษาความถูกต้องของคำสอนเอาไว้ได้แทนอักษรภาพแบบเก่าที่รักษาความถูกต้องไม่ได้ จึงได้มีการบันทึกพระธรรมและพระวินัยเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาบาลี รักษาไว้ในคัมภีร์เรียกว่า "พระไตรปิฎก " ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น ๓ หมวดหลัก ได้แก่
- พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
- พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมทั่วไป และเรื่องราวต่าง ๆ
- พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ธรรม หรือธรรมะที่แสดงถึงสภาวะล้วน ๆ ไม่มีการสมมุติ
ผู้สืบทอด
ผู้สืบทอดในทางศาสนาพุทธ ได้แก่พุทธบริษัท ๔ อันหมายถึง พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก อันเป็นกลุ่มผู้ร่วมกันนับถือ ร่วมกันศึกษาและร่วมกันรักษาพุทธศาสนาไว้ มีดังนี้
- ผู้นับถือศาสนาพุทธที่ได้บวชเพื่อศึกษา ปฏิบัติตามคำสอน (ธรรม) และคำสั่ง (วินัย) และมีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้า เรียกว่าภิกษุ ในกรณีที่เป็นเพศชาย และภิกษุณี ในกรณีที่เป็นเพศหญิง ลักษณะการบวชสำหรับภิกษุหรือภิกษุณี เรียกว่าการอุปสมบท
- สำหรับผู้ที่บวชตั้งแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ ๒๐ ปี จะเรียกว่าเป็นสามเณร สำหรับเด็กชาย และสามเณรี สำหรับเด็กหญิง ลักษณะการบวชสำหรับสามเณรหรือสามเณรี จะเรียกว่าการบรรพชา
- คฤหัสถ์ ทั้งชายและหญิง ที่นับถือพุทธศาสนา เรียกว่าอุบาสก และอุบาสิกา ตามลำดับ
ประวัติโดยย่อ
ดูบทความหลักที่: ประวัติศาสนาพุทธ
ดูบทความหลักที่: ศาสนาพุทธในประเทศไทย
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ได้ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ เป็นผลให้พระโกณฑัญญะ บรรลุเป็นพระโสดาบัน และกราบทูลขอบวช นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลกในสมัยพุทธกาล พระองค์ได้เสด็จไปเผยแผ่พุทธศาสนาตามที่ต่างๆ ในชมพูทวีปเป็นเวลานานกว่า ๔๕ พรรษา จนกระทั่งปรินิพพาน
ภายหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ได้เกิดความขัดแย้งอันเกิดจากการตีความพระธรรมคำสอนและพระวินัยไม่ตรงกัน จึงมีการแก้ไขโดยมีการจัดทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไว้เป็นหลักฐานสำหรับยึดถือเป็นแบบแผนต่อไป จึงนำไปสู่การสังคายนาพระไตรปิฎก และในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒ นี้เองที่พุทธศาสนาแตกออกเป็นหลายนิกายกว่า ๒๐ นิกาย และในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ทรงแต่งสมณทูต ๙ สายออกไปเผยแผ่พุทธศาสนา จนกระทั่งพุทธศาสนาแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง
ศาสนาพุทธมีความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยสลับกัน เนื่องจากการส่งเสริมของผู้มีอำนาจปกครองในแต่ละท้องถิ่น แต่ในภาพรวมแล้ว พุทธศาสนาในอินเดียเริ่มอ่อนแอลงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา โดยศาสนาฮินดู ได้เข้ามาแทนที่ เช่นเดียวกับการเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในเอเชียกลาง จีน เกาหลี ในขณะที่ศาสนาพุทธได้เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต่อมา ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ศาสนาพุทธเริ่มเป็นที่ดึงดูดใจของชาวตะวันตกมากขึ้น และได้มีการตั้งองค์กรทางพุทธศาสนาระดับโลกโดยชาวพุทธจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือรวม ๒๗ ประเทศ ที่ศรีลังกา เมื่อปีพุทธศักราช ๔๙๓ ในชื่อ "องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก "
หลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา
อริยสัจ ๔
อริยสัจ เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่าความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่ ๔ ประการ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๑. ทุกข์ ในทางศาสนาพุทธ คือไตรลักษณ์ (หลักสัจจธรรมของพุทธศาสนา) เป็นลักษณะสภาพพื้นฐานธรรมชาติอย่างหนึ่ง จากทั้งหมด ๓ ลักษณะ ที่พุทธศาสนาได้สอนให้เข้าใจถึงเหตุลักษณะแห่งสรรพสิ่งที่เป็นไปภายใต้กฎไตรลักษณ์ อันได้แก่ (๑) อนิจจัง คือความไม่เที่ยง (๒) ทุกขัง คือความทนอยู่อย่างเดิมได้ยาก (๓) อนัตตา คือความไม่มีตัวตน
๒. เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้แก่ปฏิจจสมุปบาท (หลักศรัทธาของพุทธศาสนา) พุทธศาสนาสอนว่า ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาล หากเกิดแต่เหตุและปัจจัยต่างๆ มาประชุมพร้อมกัน โดยมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้หรืออวิชชา
๓. ความดับทุกข์ (นิโรธ) คือนิพพาน (เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา) อันเป็นแก่นของศาสนาพุทธ เป็นความสุขสูงสุด
๔. วิถีทางดับทุกข์ (มรรค) คือมัชฌิมาปฏิปทา (หลักการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนา) ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว โดยยึดหลักทางสายกลาง อันเป็นอริยมรรค คือการฝึกสติ (การทำหน้าที่ของจิตคือตัวรู้ให้สมบูรณ์) เป็นวิธีฝึกฝนจิตเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์หรือมหาสติปัฏฐาน โดยการปฏิบัติหน้าที่ทุกชนิดอย่างมีสติด้วยจิตว่างตามครรลองแห่งธรรมชาติ มีสติอยู่กับตัวเองในเวลาปัจจุบัน สิ่งที่กำลังกระทำอยู่เป็นสิ่งสำคัญกว่าทุกสรรพสิ่ง ทำสติอย่างมีศิลปะคือรู้ว่าเวลาและสถานการณ์เช่นนี้ ควรทำสติกำหนดรู้กิจใดเช่นไรจึงเหมาะสม จนบรรลุญานตลอดจนบรรลุมรรคผล
หลักปฏิบัติ
ศาสนาพุทธมุ่งเน้นเรื่องการพ้นทุกข์ และสอนให้รู้จักทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ให้พ้นจากความไม่รู้ความจริงในธรรมชาติ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จากกิเลสทั้งปวงคือความโลภ ความโกรธ ความหลง รวมทั้งเน้นการศึกษาทำความเข้าใจ การโยนิโสมนสิการ ด้วยปัญญา และพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง เห็นเหตุผลว่าสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี จนเห็นตามความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งในธรรมชาติเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ และสัตว์โลกที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม แล้วเลือกใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาที่เหมาะกับผลที่จะได้สิ่งที่ปรารถนาอย่างถูกต้อง ด้วยความไม่ประมาทในชีวิตให้มีความสุขในทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ตลอดจนปรารถนาในพระนิพพาน ของผู้มีปัญญา
ศาสนสถาน
วัด อันเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ ซึ่งเป็นสถานที่อยู่อาศัย หรือ ที่จำพรรษา ของ พระภิกษุ สามเณร ตลอดจน แม่ชี เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมประจำวันของพระภิกษุสงฆ์ เช่น การทำวัตรเช้าและเย็น และสังฆกรรมในพระอุโบสถ อีกทั้งยังใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น การเวียนเทียน เป็นต้น ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และยังเป็นศูนย์รวมในการมาร่วมกันทำกิจกรรมในทางช่วยกันส่งเสริมพุทธศาสนา เช่น การมาทำบุญในวันพระของแต่ละท้องถิ่นของพุทธศาสนิกชน อีกด้วย
นิกาย
ดูบทความหลักที่: นิกายในศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ได้ ๒ นิกาย ดังนี้
๑. เถรวาท หรือหินยาน (แปลว่า ยานเล็ก) หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสั่งสอนและหลักปฏิบัติจะเป็นไปตามพระไตรปิฎก พบเป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทย ศรีลังกา พม่า ลาว และกัมพูชา ส่วนที่นับถือเป็นส่วนน้อยพบทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อสายเขมร) บังกลาเทศ (ในกลุ่มชนเผ่าจักมาและคนในสกุลพารัว) และทางตอนบนของมาเลเซีย (ในหมู่ผู้มีเชื้อสายไทย)
๒. มหายาน หรืออาจาริยวาท (แปลว่า ยานใหญ่) แพร่หลายในสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เวียดนามและสิงคโปร์ พบเป็นประชาชนส่วนน้อยในประเทศเนปาล (ซึ่งอาจพบว่านับถือร่วมกับศาสนาอื่นด้วย) ทั้งยังพบในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน