ประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธ เริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผู้ประกาศศาสนาและเป็นศาสดาของศาสนาพุทธคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (อังกฤษ: Buddha) ทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะหรือเดือน ๖ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันเรียกว่าพุทธคยา จากนั้นพุทธศาสนาได้แผ่ขยายไปทั่วอินเดีย หลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี จึงแตกเป็นนิกายย่อย โดยมีนิกายที่สำคัญคือเถรวาท และมหายาน
นิกายมหายานได้แพร่หลายไปทั่วเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก เมื่อศาสนาพุทธในอินเดียเสื่อมลง พุทธศาสนามหายานในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสื่อมตามไปด้วย ยังคงเหลือในจีน ทิเบต ญี่ปุ่น เวียดนาม ส่วนนิกายเถรวาทได้เฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งในศรีลังกา และแพร่หลายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุทธศาสนาได้แพร่หลายไปยังโลกตะวันตกตั้งแต่ครั้งโบราณ แต่ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้นในยุคจักรวรรดินิยม และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
พระพุทธศาสนา หรือศาสนาพุทธ (อังกฤษ: Buddhism, บาลี: buddhasāsana พุทฺธสาสนา, สันสกฤต: buddhaśāsana พุทธศาสนา) เป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม และเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากศาสนาหนึ่งของโลก รองจากศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู
กำเนิดศาสนาพุทธ
พระโคตมพุทธเจ้า (อังกฤษ: Gautama Buddha) หรือ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน มีพระนามเดิมว่าเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา ประสูติในราชตระกูลศากยวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์ทรงออกผนวชเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษา บำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ ปี จึงตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา และทรงประกาศพระศาสนาอยู่ ๔๕ ปี จึงเสด็จปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการนับปีพุทธศักราช
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนา แก่พระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน จึงเกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะ จนทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระโกณฑัญญะจึงกราบทูลขออุปสมบทในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งนับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และพระรัตนตรัยจึงเกิดขึ้นในโลกเช่นกันในวันนั้น ต่อมา พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอื่นๆ เพื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่เหลืออีก ๔ องค์ จนบรรลุเป็นพระโสดาบันทั้งหมด หลังจากพระปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระโสดาบันหมดแล้ว พระองค์ทรงแสดงธรรมอนัตตลักขณสูตร ซึ่งทำให้พระปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทั้งสิ้น
ต่อจากนั้น พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดยสะกุลบุตร จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๗ รูป ต่อมา สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะ ๔ ท่าน คือวิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ และที่ตามมาทีหลังอีก ๕๐ ท่าน เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสี ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว สหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหาท่านพระยสะถึงที่อยู่ ท่านพระยสะจึงพาสหายคฤหัสถ์ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดสหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ในครั้งนั้นจึงมีพระอรหันต์รวมทั้งพระองค์ด้วยทั้งสิ้น ๖๑ รูป พระพุทธเจ้าจึงมีพระดำริให้พระสาวกออกประกาศศาสนา โดยมีพระปฐมวาจาในการส่งพระสาวกออกประกาศศาสนาว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราหลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์ แม้พวกเธอได้หลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งของทิพย์และของมนุษย์เช่นกัน พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะให้ครบถ้วนบริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี คือกิเลส ในจักษุเพียงเล็กน้อยมีอยู่ แต่เพราะโทษที่ยังไม่ได้สดับธรรม จึงต้องเสื่อมจากคุณที่พึงจะได้รับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึงธรรมมีอยู่ แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม
จึงทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง และแผ่ขยายไปในชมพูทวีปอย่างรวดเร็ว ชาวชมพูทวีปพากันละทิ้งลัทธิเดิม แล้วหันมานับถือเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นโดยลำดับ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ศาสนาพุทธยังเจริญในอินเดียสืบมา ความเจริญของศาสนาพุทธขึ้นกับว่าได้รับการส่งเสริมจากผู้มีอำนาจในสมัยนั้นหรือไม่ ถ้ามีก็มีความรุ่งเรืองมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาล่วงไป ความขัดแย้งอันเกิดจากการตีความพระธรรมคำสอนและพระวินัยไม่ตรงกันได้เกิดขึ้นในหมู่พระสงฆ์ จึงมีการแก้ไขโดยมีการจัดทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไว้เป็นหลักฐานสำหรับยึดถือเป็นแบบแผนต่อไป
การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
การสังคายนา หมายถึง การร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน มีระบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีการประชุมสงฆ์ดำเนินการรวบรวมจัดหมวดหมู่ จัดระบบให้เป็นที่เรียบร้อย แล้วมีการสวดซักซ้อมหรือสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน เป็นการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์แห่งพระธรรมวินัย และลงมติรับรองกันไว้เป็นหลักฐานสำคัญ แล้วมีการท่องจำ จดจำ หรือจารึกไว้สืบต่อมา
ทั้งนี้ ในการสังคายนา ครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๔ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกในรูปแบบพระไตรปิฎกมุขปาฐะ (สวดหรือจดจำสืบต่อกันมาด้วยท่องจำ) ส่วนการสังคายนาต่อจากนั้นมา คือการสังคายนา ครั้งที่ ๕ ถึงครั้งที่ ๑๑ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกในรูปแบบพระไตรปิฎกลายลักษณ์อักษ โดยการสังคายนาในแต่ละครั้ง พอจะยกมากล่าวพอสังเขปได้ ดังนี้
- การสังคายนา ครั้งที่ ๑ (เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพาน ได้ ๓ เดือน) ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ชมพูทวีป มีพระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน และมีพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๗ เดือน จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๒ (การแตกนิกาย เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพาน ได้ ๑๐๐ ปี) ณ วัดวาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ชมพูทวีป มีพระยสะกากัณฑกบุตร เป็นประธาน และมีพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๘ เดือน จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๓ (เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพาน ได้ ๒๓๕ ปี) ณ วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ชมพูทวีป (ปัจจุบันคือ เมืองปัฏนะ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน และมีพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๙ เดือน จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๔ (เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพาน ได้ ๒๓๘ ปี และเป็นเวลาประมาณ ๓ ปี หลังจากพระมหินทเถระ และคณะ ได้ออกไปเผยแผ่ศาสนาพุทธในลังกาทวีป) ณ เจดีย์ถูปาราม (Thuparamaya Pagoda) เมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) ในลังกาทวีป มีพระมหินทเถระ เป็นประธาน และมีพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๕ (ในปี พ.ศ. ๔๓๓) ณ อาโลกเลนสถาน ณ มตเลชนบท ในลังกาทวีป ซึ่งปัจจุบันคือ วัดอาโลกวิหาร (Aluvihare Rock Temple) เมืองมะตะเล (Matale) ประเทศศรีลังกา มีพระรักขิตมหาเถระ เป็นประธาน และมีพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๖ (ในปี พ.ศ. ๙๕๖ ปี) ณ โลหะปราสาท เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป มีพระพุทธโฆสเถระ (หรือพระพุทธโฆษาจารย์ ) เป็นประธาน และมีพระเจ้ามหานาม เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๗ (ในปี พ.ศ. ๑๕๘๗) ณ ลังกาทวีป (สันนิษฐานว่าที่โลหะปราสาท เมืองอนุราธปุระ) มีพระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน และมีพระเจ้าปรักกมพาหุ เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๘ (ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐) ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย มีพระธรรมทินมหาเถระ เป็นประธาน และมีพระเจ้าติโลกราช (พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราช) เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๙ (ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑) ณ วัดพระศรีสรรเพชญ ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นประธาน และมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๕ เดือน จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๑๐ (ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑) ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นประธาน และมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๖ ปี จึงสำเร็จ
- การสังคายนา ครั้งที่ ๑๑ (ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐) ณ พระตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นประธาน และมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ ๙) เป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลา ๒ ปี จึงสำเร็จ
ดูบทความหลักที่: การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
ศาสนาพุทธในประเทศศรีลังกา
ศาสนาพุทธได้แผ่ขยายจากอินเดียสู่ลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ ในคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓ ในอินเดีย และได้ส่งพระเถระผู้รอบรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ รวม ๙ สายด้วยกัน ใน ๙ สายนั้น สายหนึ่งได้มายังเกาะของชาวสิงหล ได้แก่ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน โดยการนำของพระมหินทเถระ ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของลังกาและเป็นพระสหายของพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ทั้งสองพระองค์ยังไม่เคยพบกัน พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้อุทิศมหาเมฆวันอุทยานเป็นวัด เรียกว่าวัดมหาวิหาร ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์
พระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกาในยุคนี้ เป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท พระมหินทเถระได้นำเอาพระไตรปิฎกและอรรถกถาไปสู่ลังกาด้วย การเดินทางไปสู่ลังกาของพระมหินทเถระในครั้งนั้น นอกจากเป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาแล้ว ยังถือว่าเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมของชาวลังกา เพราะท่านมิเพียงแต่นำเอาพระพุทธศาสนาไปเท่านั้น ท่านยังได้นำเอาอารยะธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เข้าไปด้วย ลำดับต่อมา พระนางอนุฬาเทวี มเหสีและสตรีบริวารจำนวนมาก ปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระนางสังฆมิตตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป และพระนางสังฆมิตตาเถรีเป็นอุปัชญาย์บรรพชาอุสมบทแก่สตรีชาวลังกา ได้ตั้งคณะภิกษุณีขึ้นในลังกา
เมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆษาจารย์ เดินทางจากอินเดียมายังศรีลังกา เพื่อปริวรรตคัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฏกภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ (บาลี) เพื่อนำกลับไปยังชมพูทวีป
ครั้นต่อมาภายหลังจากการปกครองของอังกฤษประมาณ ๕๐ ปี พระพุทธศาสนาก็ถูกกีดกันและต่อต้านจากศาสนาคริสต์ รัฐถูกบีบจากศาสนาคริสต์ให้ยกเลิกสัญญาที่คุ้มครองศาสนาพุทธ บาทหลวงของคริสต์ได้เผยแผ่คริสต์ศาสนาของตน และโจมตีศาสนาพุทธอย่างรุนแรง โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ นับตั้งแต่อังกฤษเข้าปกครองลังกามาเป็นเวลากว่า ๓๐๐ ปี จนได้รับอิสรภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ จากการที่ศาสนาพุทธถูกรุกรานเป็นเวลาช้านานจากศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวลังกามีความมุ่งมานะที่จะฟื้นฟูศาสนาพุทธในลังกาอย่างจริงจัง จนปัจจุบันประเทศศรีลังกา ได้เป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
ดูบทความหลักที่: ศาสนาพุทธในประเทศศรีลังกา
กำเนิดมหายาน
พุทธศาสนามหายานเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗ โดยเป็นคณะสงฆ์ที่มีความเห็นต่างจากนิกายเดิมที่มีอยู่ ๑๘ - ๒๐ นิกายในขณะนั้น แนวคิดของมหายานพัฒนามาจากแนวคิดของนิกายมหาสังฆิกะ และนิกายที่แยกไปจากนิกายนี้ จุดต่างจากนิกายดั้งเดิมคือคณะสงฆ์กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการเป็นพระโพธิสัตว์ และเน้นบทบาทของคฤหัสถ์มากกว่าเดิม จึงแยกออกมาตั้งนิกายใหม่ เหตุที่มีการพัฒนาลัทธิมหายานขึ้นนั้นเนื่องจาก
- แรงผลักดันจากการปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ มีการแต่งมหากาพย์รามายณะ และมหาภารตะ เพื่อดึงดูดใจผู้อ่านให้ภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า กำหนดให้มีพระเจ้าสูงสุด ๓ องค์ คือพระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ ศาสนาพราหมณ์จึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ฝ่ายพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องปรับตัว
- แรงบันดาลใจจากบุคลิกภาพของพระพุทธองค์ ฝ่ายมหายานเห็นว่าพระพุทธองค์เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ไม่ควรสิ้นสุดหลังจากปรินิพพาน ทำให้เหมือนกับว่าชาวพุทธขาดที่พึ่ง จึงเน้นคุณความดีของพระองค์ ในฐานะที่เป็นพระโพธิสัตว์ เน้นให้ชาวพุทธปรารถนาพุทธภูมิ บำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ช่วยเหลือผู้อื่น ภายหลังจึงเกิดแนวคิดตรีกาย ของพระพุทธเจ้า
- เกิดจากบทบาทของพุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์ เพราะลัทธิมหายานเน้นที่การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระโพธิสัตว์เป็นคฤหัสถ์ได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คฤหัสถ์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
คณาจารย์ที่สำคัญของนิกายมหายานคือพระอัศวโฆษ พระนาคารชุน พระอสังคะ พระวสุพันธุ เป็นต้น หลังจากการก่อตัวพุทธศาสนามหายาน ซึ่งมีจุดเด่นคือสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมที่แตกต่างไปในแต่ละท้องถิ่นได้ง่ายกว่าพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม ได้แผ่ขยายออกจากอินเดียไปในทวีปเอเชียหลายประเทศ
ดูบทความหลักที่: มหายาน
การแผ่ขยายของมหายาน
อินเดียและความเสื่อมของพุทธศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายมหายานในอินเดียได้รับการสนับสนุนโดยราชวงศ์กุษาณะ (อังกฤษ: Kushan dynasty, ระหว่าง ค.ศ. ๓๐ - ค.ศ. ๓๗๕) ต่อมา เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์กุษาณะ ศาสนาพุทธนิกายมหายานได้รับการอุปถัมภ์โดยราชวงศ์คุปตะ (อังกฤษ: Gupta dynasty, ระหว่าง ค.ศ. ๒๔๐ - ค.ศ. ๕๙๐) มีการสร้างศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา คือมหาวิทยาลัยนาลันทา (อังกฤษ: Nalanda Mahavihara) และมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา (อังกฤษ: Vikramashila Mahavihara) ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่นนาคารชุนะ (อังกฤษ: Nagarjuna, ละติน: Nāgārjuna; เตลูกู: నాగార్జునా; จีน: 龍樹, มีชีวิตในช่วงประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ - พ.ศ. ๘๐๐) ศาสนาพุทธในสมัยนี้ได้แพร่หลายไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่ง การสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์คุปตะจากการรุกรานของชาวฮั่นในพุทธศตวรรษที่ ๑๑
จากบันทึกของหลวงจีนอี้จิง (อังกฤษ: Yijing, จีน: 義淨, มีชีวิตในช่วงประมาณราว ๆ ค.ศ. ๖๓๕ - ค.ศ. ๗๑๓ ในยุคราชวงศ์ถัง) ที่มาถึงอินเดียในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ กล่าวว่า ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในอันธระ ธันยกตกะ และฑราวิฑ (ปัจจุบัน คือรัฐอันธรประเทศ และทมิฬนาดู ) ยังมีชาวพุทธในเนปาล และสสันภะ ในอาณาจักรคังทา (รัฐเบงกอลตะวันตกในปัจจุบัน) และหรรษวรรธนะ
ต่อมา เมื่อสิ้นสุดยุคอาณาจักรหรรษวรรธนะ เกิดอาณาจักรเล็ก ๆ ขึ้นมากมาย โดยมีแคว้นราชปุต ให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนา จนกระทั่งยุคจักรวรรดิปาละ ในเบงกอล พุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองอีกครั้ง และได้แพร่หลายไปยังสิกขิม และภูฏาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗ เมื่อจักรวรรดิปาละปกครองด้วยกษัตริย์ราชวงศ์เสนะ ที่นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง
ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา ความเสื่อมในอินเดียตะวันออกเริ่มตั้งแต่จักรวรรดิปาละ หันไปส่งเสริมศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย ส่วนในอินเดียเหนือเริ่มเสื่อมตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๓๖ เมื่อชาวเติร์ก ที่นับถือศาสนาอิสลาม นำโดยมูฮัมหมัด คิลญี บุกอินเดียและเผามหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๔๒ เป็นต้นไป ศาสนาอิสลามแพร่เข้าสู่รัฐพิหาร ทำให้ชาวพุทธโยกย้ายไปทางเหนือเข้าสู่เทือกเขาหิมาลัยหรือลงใต้ไปที่ศรีลังกา นอกจากนั้น ความเสื่อมของศาสนาพุทธยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของศาสนาฮินดู ภายใต้การนำของขบวนการต่าง ๆ เช่น อัธไวตะ ภักติ และการเผยแผ่ศาสนาของนักบวชลัทธิซูฟี
ศาสนาพุทธในเอเชียกลาง
ดินแดนเอเชียกลางได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีกล่าวในเอกสารของฝ่ายเถรวาทว่า พ่อค้าสองคนจากแบกเทรีย คือตปุสสะ และภัลลิกะ ได้พบพระพุทธเจ้าและปฏิญาณตนเป็นอุบาสก เมื่อกลับไปบ้านเมืองของตนได้สร้างวัดในพุทธศาสนาขึ้น
เอเชียกลางเป็นดินแดนสำคัญในการติดต่อระหว่างจีน อินเดีย และเปอร์เซีย การุกรานของชาวฮั่น โบราณ ใน พ.ศ. ๓๔๓ ไปทางตะวันตกเข้าสู่ดินแดนที่ได้รับอารยธรรมจากกรีกโดยเฉพาะอาณาจักรแบกเทรีย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมขึ้น การขยายตัวของพุทธศาสนาขึ้นสู่ทางเหนือทำให้เกิดอาณาจักรพุทธในเอเชียกลาง เมืองบนเส้นทางสายไหม (อังกฤษ: Silk Road) หลายเมืองเป็นเมืองพุทธที่ต้อนรับนักเดินทางทั้งจากตะวันตกและตะวันออก
พุทธศาสนาเถรวาทแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนของชาวเติร์ก ก่อนที่จะผสมผสานกับนิกายมหายานที่แพร่หลายเข้ามาภายหลัง ดินแดนดังกล่าว คือ บริเวณที่เป็นประเทศปากีสถาน รัฐแคชเมียร์ อัฟกานิสถาน อิหร่านตะวันออกและแนวชายฝั่ง อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และทาจิกิสถาน อาณาจักรโบราณในสมัยนั้น คือแคว้นคันธาระ แบกเทรีย พาร์เทีย และซอกเดีย ศาสนาพุทธในบริเวณนี้ได้แพร่ต่อไปยังจีน อิทธิพลของความเชื่อท้องถิ่นทำให้ศาสนาพุทธในบริเวณนี้แตกเป็นหลายนิกาย นิกายที่โดดเด่น คือนิกายธรรมคุปตวาท และนิกายสรวาสติวาทิน
ศาสนาพุทธในเอเชียกลางเสื่อมลงเมื่อศาสนาอิสลามแพร่หลายเข้ามาในบริเวณนี้ มีการทำลายสถูปจำนวนมากในสงครามในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ศาสนาพุทธมีท่าทีว่าจะฟื้นตัวขึ้นอีกเมื่อเจงกีสข่าน รุกรานเข้ามาในบริเวณนี้ มีการจัดตั้งดินแดนของอิลข่านและชะกะไตข่าน เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่อีก ๑๐๐ ปีต่อมา ชาวมองโกลส่วนใหญ่หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ศาสนาอิสลามแพร่หลายไปทั่วเอเชียกลาง
ศาสนาพุทธในพาร์เทีย
ศาสนาพุทธแพร่ไปทางตะวันตกถึงพาร์เทียอย่างน้อยถึงบริเวณเมิร์บในมาร์เกียนาโบราณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเติร์กเมนิสถาน ชาวพาร์เทียจำนวนมากมีบทบาทในการแพร่กระจายของพุทธศาสนาโดยนักแปลคัมภีร์ชาวพาร์เทียจำนวนมากแปลคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นภาษาจีน
ศาสนาพุทธในแอ่งตาริม
บริเวณตะวันออกของเอเชียกลาง (เตอร์เกสถานของจีน แอ่งตาริม และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) พบศิลปะทางพุทธศาสนาจำนวนมาก ซึ่งแสดงอิทธิพลของอินเดียและกรีก ศิลปะเป็นแบบคันธาระ และจารึกเขียนด้วยอักษรขโรษฐี
ดินแดนเอเชียกลาง เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาพุทธไปทางตะวันออก ผู้แปลคัมภีร์เป็นภาษาจีนรุ่นแรกๆ เป็นชาวพาร์เทีย ชาวกุษาณ หรือชาวซอกเดีย การติดต่อแลกเปลี่ยนพุทธศาสนาระหว่างเอเชียกลางกับเอเชียตะวันออกพบมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ทำให้ศาสนาพุทธเข้าไปตั้งมั่นในจีนจนปัจจุบัน
ศาสนาพุทธในจีน
คาดว่าพุทธศาสนาเข้าสู่จีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยผ่านเอเชียกลาง (แม้จะมีเรื่องเล่าว่ามีพระภิกษุเข้าไปถึงประเทศจีนตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ) จนในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จีนจึงกลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของพุทธศาสนา
ใน พ.ศ. ๖๑๐ มีการก่อตั้งศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาในจีนโดยพระภิกษุสององค์ คือพระกาศยปะมาตังคะ และพระธรรมรักษ์ ใน พ.ศ. ๖๑๑ พระเจ้าหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ตงฮั่น ได้สร้างวัดม้าขาว ซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน อยู่ใกล้กับเมืองหลวง คือเมืองลั่วหยาง คัมภีร์ทางพุทธศาสนามหายานแปลเป็นภาษาจีนครั้งแรกโดยพระภิกษุจากกุษาณ โลก๊กเสมา ในเมืองลั่วหยาง ระหว่าง พ.ศ. ๗๒๑-๗๓๒ ศิลปะทางพุทธศาสนายุคแรกๆ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบคันธาระ
พุทธศาสนาในจีนรุ่งเรืองมากในยุคราชวงศ์ถัง ราชวงศ์นี้ได้เปิดกว้างต่อการรับอิทธิพลจากต่างชาติ และมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับอินเดีย มีพระภิกษุจีนเดินทางไปอินเดียมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖ เมืองหลวงในสมัยราชวงศ์ถัง คือฉางอาน กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธศาสนาและเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาพุทธต่อไปยังเกาหลี และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลจากต่างชาติกลายเป็นผลลบในตอนปลายของราชวงศ์ถัง ใน พ.ศ. ๑๓๘๘ จักรพรรดิหวู่ซุง ประกาศให้ศาสนาจากต่างชาติ ได้แก่ศาสนาคริสต์ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ และศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ผิดกฎหมาย หันไปสับสนุนลัทธิเต๋า แทน ในสมัยของพระองค์มีการทำลายวัด คัมภีร์และบังคับให้พระภิกษุสึก ความรุ่งโรจน์ของพุทธศาสนาจึงสิ้นสุดลง พุทธศาสนานิกายสุขาวดี และนิกายฌาน ยังคงรุ่งเรืองต่อมา และกลายเป็นนิกายเซน ในญี่ปุ่น และนิกายฌาน ในจีนมีอิทธิพลในสมัยราชวงศ์ซ้อง
ศาสนาพุทธในเกาหลี
พุทธศาสนาเข้าสู่เกาหลีเมื่อราว พ.ศ. ๙๑๕ เมื่อราชทูตจากจีนนำคัมภีร์และภาพวาดไปยังอาณาจักรโคกูรยอ ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในเกาหลีโดยเฉพาะนิกายเซน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จนกระทั่ง ถึงยุคของการฟื้นฟูลัทธิขงจื๊อ ในสมัยราชวงศ์โชซ็อน ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๓๕ ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง
ศาสนาพุทธในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นได้รับพุทธศาสนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ โดยพระภิกษุชาวเกาหลีนำคัมภีร์และศิลปะทางพุทธศาสนาเข้าสู่ญี่ปุ่น เมื่อสิ้นสุดยุคของเส้นทางสายไหม พร้อมๆ กับการเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย เอเชียกลางและจีน ญี่ปุ่นยังคงรักษาความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาไว้ได้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๒๕๓ เป็นต้นมา มีการสร้างวัดและรูปเคารพจำนวนมากในเมืองหลวงคือเมืองนารา โดยการนำแบบแผนทางวัฒนธรรมจีนเข้ามาผสมผสานในศิลปะแบบญี่ปุ่นจากการเดินทางมาของหลวงจีนเจี้ยนเจิน พุทธศิลป์แบบญี่ปุ่นรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ พุทธศาสนานิกายเซน รุ่งเรือง รวมทั้งศิลปะที่สืบเนื่องจากนิกายเซนด้วย พุทธศาสนายังคงรุ่งเรืองในญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
ศาสนาพุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๖ การค้าทางบกผ่านเส้นทางสายไหม ถูกจำกัดเนื่องจากการขยายตัวในตะวันออกกลางของจักรวรรดิเปอร์เซีย และการเป็นศัตรูกับโรม ชาวโรมันที่ต้องการสินค้าจากตะวันออกไกลจึงทำการค้าทางทะเล ติดต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับจีน ผ่านอินเดีย ในช่วงเวลานี้เองอินเดียมีอิทธิพลเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก ตั้งแต่ภาคใต้ของพม่า ภาคกลางและภาคใต้ของไทย กัมพูชาตอนล่างและภาคใต้ของเวียดนาม การค้าชายฝั่งเจริญขึ้นมาก
ผลจากการเผยแผ่อารยธรรมอินเดียเข้าสู่บริเวณนี้ ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต แพร่เข้ามาพร้อมกับศาสนาพุทธทั้งฝ่ายเถรวาท และมหายาน ศาสนาพราหมณ์ได้เผยแผ่เข้ามาในบริเวณนี้เช่นกัน พร้อมกับวรรณคดีสำคัญ คือรามายณะ และมหาภารตะ
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๘ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจักรวรรดิที่รุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนาและศิลปะอยู่สองแห่ง ความเชื่อสำคัญในยุคนี้เป็นแบบมหายาน จักรวรรดิที่มีอิทธิพลทางใต้บริเวณหมู่เกาะ คืออาณาจักรศรีวิชัย (สันนิษฐานกันว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย) ส่วนทางเหนือ คืออาณาจักรขอม หรืออาณาจักรขะแมร์ อาณาจักรเขมรโบราณ ที่มีการสร้างรูปพระโพธิสัตว์ไว้เป็นจำนวนมาก
อาณาจักรศรีวิชัย
นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางอยู่ที่ปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย นับถือพุทธศาสนามหายาน หรือวัชรยาน ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ หลวงจีนอี้จิง บันทึกไว้ว่าที่ปาเล็มบังมีภิกษุมากกว่า ๑๐,๐๐๐ รูป ท่านอตีศะ เคยมาศึกษาที่นี่ ก่อนเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในทิเบต
ศิลปะทางพุทธศาสนาของศรีวิชัยแพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่าศิลปะศรีวิชัย สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ คือบุโรพุทโธ (สร้างเมื่อราว พ.ศ. ๑๓๒๓) ปัจจุบันอยู่ที เมืองมาเกอลัง ในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลงเนื่องจากความขัดแย้งกับราชวงศ์โจฬะ ในอินเดีย ก่อนจะรับอิทธิพลอารยธรรมอิสลามในพุทธศตวรรษที่ ๑๘
อาณาจักรขอม หรือ อาณาจักรขะแมร์
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๘ ศาสนาพุทธนิกายมหายานและศาสนาฮินดูรุ่งเรืองมากในอาณาจักรขอม หรืออาณาจักรขะแมร์ อาณาจักรเขมรโบราณ มีการสร้างศาสนสถานมากมาย โดยมีเมืองและสิ่งก่อสร้างทางศาสนาในยุคนี้ที่สำคัญคือ
นครวัด
นครวัด (อังกฤษ: Angkor Wat, เขมร: អង្គរវត្ត) เป็นศาสนสถานตั้งอยู่ในเมืองพระนคร จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เริ่มสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (เขมร: សូរ្យវរ្ម័នទី២, อักษรโรมัน: Suryavarman II, เสวยราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๑๑๓ ถึงราว ค.ศ. ๑๑๔๕ - ๕๐) โดยเป็นศาสนสถานประจำพระนครของพระองค์ ตัวเทวสถานได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จนเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญเพียงแห่งเดียวที่ยังเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จ
แต่เดิม นครวัดเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู (อังกฤษ: Hinduism) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระวิษณุ (สันสกฤต: विष्णु วิษฺณุ) หรือพระนารายณ์ (สันสกฤต: नारायण) ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตัวเทวสถานถือเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรมเขมรสมัยรุ่งเรือง และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา โดยปรากฏในธงชาติกัมพูชาและเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของประเทศตลอดจนได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อเมืองพระนคร (อังกฤษ: Angkor, เขมร: អង្គរ, Capital City) ปราสาทนครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างในช่วงยุครุ่งเรืองของอาณาจักรขะแมร์ (อังกฤษ: The Khmer Empire) โดยมีหินทรายเป็นวัสดุก่อสร้างหลัก
นครธม
นครธม (อังกฤษ: Angkor Thom, เขมร: អង្គរធំ, Great City) เป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขะแมร์ (อังกฤษ: The Khmer Empire) สถาปนาขึ้นในปลายคริสต์ศวรรษที่ ๑๒ โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (อังกฤษ: Jayavarman VII, เขมร: ជ័យវរ្ម័នទី៧, ครองราชย์ราว ๆ ค.ศ. ๑๑๘๑ - ค.ศ. ๑๒๑๘) มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ ๙ ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของนครวัด (อังกฤษ: Angkor Wat) ภายในเมืองมีสิ่งก่อสร้างมากมายนับแต่สมัยแรก ๆ และที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และรัชทายาท ใจกลางพระนครเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมัน เรียกว่าปราสาทบายน ( (อังกฤษ: Bayon, เขมร: ប្រាសាទបាយ័ន Prasat Bayon) และมีพื้นที่สำคัญอื่น ๆ รายล้อมพื้นที่ชัยภูมิถัดไปทางเหนือ
จุดเด่นที่สุดของนครธม คือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้า ๔ หน้า ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่สองข้างสะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมจะพบสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ บริเวณประตูด้านใต้นี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูไว้ได้ดีกว่าบริเวณอื่น ๆ อีก ๓ ด้าน
อย่างไรก็ตาม ศาสนาพุทธนิกายมหายานในอาณาจักรขอม เสื่อมลงในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ไล่เลี่ยกับความเสื่อมของศาสนาพุทธนิกายมหายานในอินเดีย จากนั้น พุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ เข้ามามีอิทธิพลแทนที่
การฟื้นฟูนิกายเถรวาท
ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๖๐๐ - ๑๗๐๐ เนื่องมาจากการทำสงครามกับชาวมุสลิมที่เข้ามารุกรานอินเดีย ซึ่งทำให้การนับถือพุทธศาสนามหายานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสื่อมลงด้วย ในช่วงเวลานั้น การค้าขายทางทะเลระหว่างตะวันออกกลางไปยังจีนผ่านทางศรีลังกาเริ่มเฟื่องฟูขึ้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการฟื้นฟูนิกายเถรวาทที่ใช้ภาษาบาลีที่ศรีลังกาอีกครั้ง นิกายนี้จึงแพร่หลายไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิพม่า ครั้งแรกเป็นผู้รับพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ นี้เข้าสู่พม่า มีการสร้างเจดีย์ในเมืองหลวงมากมาย แม้ในกาลต่อมา อำนาจของพม่าเสื่อมถอยลงเพราะถูกมองโกล รุกราน และราชอาณาจักรไทยมีอำนาจขึ้นแทน อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนานิกายเถรวาทก็ยังคงเป็นนิกายหลักในพม่า
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท จากลังกาแพร่หลายเข้าสู่ประเทศไทยที่นครศรีธรรมราช และสุโขทัย เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ และยังคงนับถือสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้แพร่หลายจากไทยไปยังลาว และกัมพูชา ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาก่อน ส่วนดินแดนในเขตหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยนับถือนิกายมหายานเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามเกือบทั้งหมด
ดูบทความหลักที่: เถรวาท
ดูบทความหลักที่: ศาสนาพุทธในประเทศไทย
ศาสนาพุทธในโลกตะวันตก
มีหลักฐานว่าพุทธศาสนาแพร่หลายไปถึงตะวันตกมานานชาดก ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎก ของพุทธศาสนา มีผู้แปลเป็นภาษาซีรีแอก (อังกฤษ: Syriac language) และภาษาอาหรับ (อาหรับ: العربية ; อังกฤษ: Arabic Language) เช่นKalilag and Dammag พุทธประวัติแปลเป็นภาษากรีก โดยจอห์นแห่งดามัสกัส (อังกฤษ: Saint John of Damascus) ได้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวคริสต์ในนามของบาร์ลาอัมและโยซาฟัต (อังกฤษ: Barlaam and Josaphat) เรื่องนี้เป็นที่นิยมของชาวคริสต์ จนกระทั่ง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ ชาวคริสต์ยกย่องโยซาฟัต ให้เป็นนักบุญแห่งศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก
ความสนใจในพุทธศาสนาเริ่มขึ้นอีกครั้งในยุคอาณานิคม เมื่อมหาอำนาจตะวันตกได้มีโอกาสศึกษาในรายละเอียดมากขึ้น ปรัชญาในยุโรปสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากศาสนาในตะวันออกมาก การเปิดประเทศของญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ทำให้มีการยอมรับศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมทั้งวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาสนาพุทธด้วย งานแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเป็นภาษาตะวันตกเริ่มขึ้นโดย Max Muller ผู้จัดพิมพ์ Sacred Books of the East หรือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งตะวันออก มีการจัดตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพุทธศาสนาอื่น ๆ แต่ความสนใจยังจำกัดในหมู่ปัญญาชน
ศาสนาพุทธเริ่มเป็นที่สนใจของชาวยุโรปอย่างกว้างขวาง ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ความเชื่อทางศาสนาของชาวตะวันตกเปลี่ยนไปเน้นที่ความเชื่อของปัจเจกบุคคลมากขึ้น ทำให้ศาสนาพุทธเป็นที่ดึงดูดใจ จากการที่มีข้อพิสูจน์ให้พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง มีการตั้งองค์กรทางพุทธศาสนาระดับโลกโดยชาวพุทธจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือรวม ๒๗ ประเทศที่ศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ในชื่อองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ประเทศอังกฤษ
พุทธศาสนาเข้าสู่อังกฤษครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ โดย J.R. Jackson เป็นผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมในอังกฤษ และ Charls Henry Allen Bernett ผู้ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพม่า มีฉายาว่าอานันทเมตเตยยะ เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษคนแรก คณะสงฆ์ไทยส่งคณะทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ และได้สร้างวัดไทยชื่อวัดพุทธปทีป ในกรุงลอนดอน
ประเทศเยอรมนี
มีการตั้งสมาคมเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ต่อมามีชาวเยอรมันไปบวชเป็นพระภิกษุที่ศรีลังกา การเผยแผ่พุทธศาสนาในเยอรมันชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ และถูกห้ามในสมัยของฮิตเลอร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงมีการฟื้นฟูพุทธศาสนาโดยพระภิกษุจากพม่า และมีการติดต่อกับพุทธสมาคมในศรีลังกา มีวัดไทยในกรุงเบอร์ลิน เช่นกัน
สหรัฐอเมริกา
พุทธศาสนาเข้าสู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยเป็นพุทธศาสนาจากจีนและญี่ปุ่น ในยุคต่อมาจึงเป็นพุทธศาสนาแบบทิเบต ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เปิดสอนปริญญาเอกสาขาพุทธศาสตร์เป็นแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา คณะสงฆ์ไทยสร้างวัดไทยแห่งแรกในสหรัฐเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕