พระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ กับทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับว่า พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ยังทรงได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมายอาญา ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์พระองค์เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์
ศาสนาพุทธมั่นคงเข้มแข็งอยู่ได้ก็เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งค้ำจุน พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะ มาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเอาไว้ยาวนานมาก คือทรงเป็นองค์พุทธมามกะมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และทรงเป็นมาอย่างนั้นตลอดทุกพระองค์ ตลอดทุกยุคทุกสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ก็เป็นพระมหากษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงเป็นพุทธมามกะ และ องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ที่แสดงพระองค์ผ่านทางการศึกษาและปฏิบัติธรรมไม่น้อยไปกว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์อื่นๆ ในอดีตเลย ดังพระปฐมบรมราชโองการ ในพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม "
ราชวงศ์จักรี (อังกฤษ: Chakri dynasty) เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรไทยต่อจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบรมนามาภิไธย ในรัชกาลที่ ๑ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๕) ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์แรก (พระนามเดิมทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี (กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน) ยุคของราชวงศ์นี้ นิยมเรียกว่ายุครัตนโกสินทร์
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัยของโลก เป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์ทรงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบการปกครองบ้านเมือง เปลี่ยนชื่อจากรัตนโกสินทร์ เป็นสยาม ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และเปลี่ยนเป็นไทย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘
พระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงรับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แต่ในทางนิตินัยถือว่าได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
พระปรมาภิไธย มาจากศัพท์ ๓ คำ คือ พระ + ปรม + อภิไธย แปลว่าชื่ออันประเสริฐยิ่ง หมายถึงพระนามของพระมหากษัตริย์ราชเจ้า ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑ แล้วใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
พระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี แต่ละพระองค์ล้วนยาว ๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง เช่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ดังนั้น การเอ่ยอ้างพระปรมาภิไธย จึงมักกล่าวแต่เพียงคำนำหน้าที่เรียกกันว่าพระราชฐานันดรนาม ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทร หรือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร แล้วต่อด้วยพระปรมาภิไธย ประโยคต้นประโยคเดียว จากนั้นทำเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) ไว้ แล้วต่อด้วยสร้อยพระปรมาภิไธย ประโยคท้าย เช่น รัชกาลที่ ๙ อาจออกขานพระปรมาภิไธย เพียงว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
จะเห็นได้ว่า พระปรมาภิไธยเต็ม ของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ก็ดี พระปรมาภิไธยย่อจากพระสุพรรณบัฏ ก็ดี หรืออักษรพระปรมาภิไธยย่อ ๓ ตัว (ทั้งนี้ อักษรพระปรมาภิไธยย่อของบางพระองค์จะซ้ำกัน เพื่อให้ทราบว่าเป็นรัชกาลใด เมื่อประดิษฐ์เป็นตรา ผู้ประดิษฐ์ตรา จะเขียนหมายเลขประจำรัชกาลไว้ ระหว่างพระจอนของพระมหาพิชัยมงกุฎ ) ก็ดี ล้วนเป็นพระนามที่พรรณนาถึงพระคุณของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นั้น ๆ ซึ่งประพันธ์ถวายด้วยบทร้อยแก้วอันไพเราะเพราะพริ้ง อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติไทย
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (อังกฤษ: Royal regalia) ถ้าแปลตามรูปศัพท์จะได้ความหมายว่าเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ คำว่ากกุธภัณฑ์ เป็นคำภาษาบาลี มาจากกกุธ คือเครื่องหมายความเป็นพระราชา + ภณฺฑ แปลว่าของใช้ ดังนั้นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ จึงหมายถึง อุปกรณ์ เครื่องทรง หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นของพระมหากษัตริย์ที่มอบให้แก่พระมหากษัตริย์องค์ต่อไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมอบสิทธิในการครองราชสมบัติ
ในประเพณีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของไทยมีปรากฏมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย ดังความจารึกในศิลาจารึกวัดศรีชุม (จารึกหลักที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๔ - ๑๙๑๐) ตอนหนึ่งว่าเมื่อพ่อขุนผาเมือง อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว ให้ครองเมืองสุโขทัยนั้น ได้มอบพระขรรค์ชัยศรี ที่พ่อขุนผาเมืองได้รับพระราชทานจากกษัตริย์ขอมให้พ่อขุนบางกลางหาวด้วย และในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาขอม (จารึกหลักที่ ๔ พ.ศ. ๑๙๐๔) กล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ว่ามีมกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร จะเห็นได้ว่า เมื่อถึงสมัยอยุธยา ไทยก็ได้ยึดถือพระราชประเพณีนี้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ แห่งประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ (มีพระมหาวิเชียรมณี คือเพชรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นประดับบนยอดสูงสุด) พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร (คือไม้เท้า เนื่องด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีความใหญ่โตมาก ไม่เหมาะที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยกำหนดให้เป็นการทูลเกล้าฯ ถวายธารพระกร แทน) พัดวาลวิชนี กับพระแส้หางจามรี และฉลองพระบาทเชิงงอน รวมกันเรียกว่าเบญจราชกกุธภัณฑ์ แปลความหมายตามรูปศัพท์ว่าเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ๕ อย่าง
พระมหาวิเชียรมณี เป็นเพชรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นประดับบนยอดสูงสุดของพระมหาพิชัยมงกุฎ ที่สร้างมาตั้งแต่เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทำด้วยทองคำลงยาบริสุทธิ์ ประดับเพชร แต่ละชั้นประดับด้วยดอกไม้เพชร เฉพาะองค์พระมหามงกุฎ ไม่รวมพระกรรเจียกจอน สูง ๕๑ ซ.ม.
ในปัจจุบันพระมหาพิชัยมงกุฎ นับเป็นกกุธภัณฑ์ (อังกฤษ: Crown jewels) หนึ่งในห้าอย่างของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งประเทศไทย (อังกฤษ: The royal regalia of Thailand) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (อังกฤษ: The five traditional Royal regalia of Thailand) เมื่อแปลความหมายตามรูปศัพท์แล้วหมายความว่าเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ๕ อย่าง มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี เป็นของที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กล่าวกันว่า แต่เดิมนั้น องค์พระมหาพิชัยมงกุฎเมื่อสร้างครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ยอดของพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นยอดแหลม ยังไม่มียอดเพชรและยังไม่มีพระกรรเจียกจอนประกอบ และเป็นเช่นนั้นมาโดยตลอดทั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมแต่งพระมหาพิชัยมงกุฎ ให้งดงามและทรงคุณค่ายิ่งขึ้น
ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)
นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์
สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ
สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น
สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี
๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด
๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม
ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐
ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี
ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน