การเทศน์มหาชาติ พุทธศาสนิกชนชาวไทยสืบทอดเป็นประเพณีกันมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบไทยๆ เพราะเป็นประเพณีที่ให้ทั้งความสนุกสนาน สร้างความสมานสามัคคีในชุมชน และสอดแทรกการอบรมสั่งสอนศีลธรรมคุณธรรมแก่ประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมไปพร้อมกัน
เรื่องที่นำมาใช้ในการเทศน์มหาชาติ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังออกบวชจนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในกาลปัจจุบันนั้นเอง
ปฐมเหตุเวสสันดรชาดก
พระพุทธองค์สมัยเมื่อเสด็จละจากมหาวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ อันเป็นราชธานีแห่งแคว้นมคธสู่นครกบิลพัสดุ์ แขวงสักกชนบท เพื่อบำเพ็ญญาตัตถจริยาโปรดพระญาติมีพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาเป็นประธาน อันพระกาฬุทายี เป็นผู้สื่อสารและนำเสด็จไปประทับยังนิโครธาคาม ไม่ห่างจากมหานคร ตามที่ศากยราชจัดถวายต้อนรับพร้อมด้วยหมู่ภิกษุบริวารเป็นอันมาก (๑ แสน) ยังความยินดีให้แผ่ไปทั่วทั้งกบิลพัสดุ์ในกาลนั้นความมหัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้นเป็นเหตุให้ทรงประกาศเรื่องเวสสันดรชาดก
โดยปกติ เมื่อพระตถาคตเจ้าเสด็จสู่ ณ ที่ใด ก็บังเกิดสู่ความสงบสุข ณ ที่นั้น เพราะอานุภาพคำสั่งสอนที่ตรัสประทานด้วยพระมหากรุณา อุปมาเหมือนมหาเมหหลั่งโปรยสายฝนอันเย็นฉ่ำลงมายังโลกยังความอ้าวระอุของไอแดดไอดินให้ระงับ ชุบชีพพฤกษชาติที่เหี่ยวเฉาให้ฟื้นฟู สู่ความชื่นบานตระการด้วยดอกช่อและก้านใบ ฉะนั้น แต่สำหรับกบิลพัสดุ์ดินแดนที่ทรงถือพระกำเนิดและเจริญวัยมา มวลพระญาติและญาติประชา หาได้ยินดีต่อพุทธวิสัยธรรมานุภาพไม่
พระองค์ทรงอุบัติมาเป็นความหวังของคนทั้งแว่นแคว้น ทุกคนพากันรอคอยอย่างกระหายใคร่จะชมพระบารมีพระจักรพรรดิราช แต่แล้วท่ามกลางความไม่นึกฝัน ทรงอยู่ในพระเยาวกาลเกศายังดำสนิท ไม่ปรากฏความร่วงโรยแห่งสังขารแท้สักน้อย ทั้งสมบูรณ์พูนพร้อมทุกอย่างเท่าที่สมบัติประจำวิสัยบุรุษจะพึงมีพระชายาทรงสิริโฉมเป็นเลิศ ซ้ำเป็นโชคอันประเสริฐให้กำเนิดโอรสอันเป็นสิริแห่งวงศ์ตระกูลอีกเล่า พระองค์ก็ยังตัดเยื่อใยแห่งโลกีย์เสด็จแหวกวงล้อมเหล่านี้ออกสู่ไพรพฤกษ์ ประพฤติองค์ปานประหนึ่งพเนจรอนาถา สร้างความผิดหวังและวิปโยคแก่คนทั้งแคว้นเป็นเวลานานถึง ๖ ปี
พระพุทธองค์ทรงกระทำงานชีวิต และสำเร็จกิจโดยได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จากนั้นก็ทรงใช้ไปเพื่องานสงเคราะห์สัตว์โลก เสด็จเที่ยวแจกจ่ายอุบายพ้นทุกข์ ด้วยเทศนาสั่งสอนจนชาวโลกยอมรับและเทิดทูนไว้ในฐานะองค์ศาสดาเอก บัดนี้ พระพุทธองค์เสด็จคืนกลับกบิลพัสดุ์แล้ว แต่ชาวกบิลพัสดุ์มิได้ต้อนรับในฐานะศาสดา เขาพากันปีติต่อพระองค์ในฐานะที่เคยเป็นขวัญจิตขวัญใจของเขาเลยต่างหาก
ในวันแรกที่เสด็จถึงดินแดนแห่งมารดร ทรงเห็นว่ายังไม่ใช่โอกาสที่จะประทานธรรมเทศนาแก่หมู่พระญาติ เพราะวันนี้เป็นวันที่วิถีประสาทและจิตใจตลอดทั้งร่างกายของเหล่าศากยะ เต็มไปด้วยอาการปีติตื่นเต้น และอิดโรยด้วยความยินดี และภารกิจไม่อยู่ในสภาพที่ควรแก่การรองรับกระแสธรรม
ทรงรอวันรุ่ง แต่แล้วในตอนบ่ายของวันต่อมา เมื่อบรรดาศากยราชญาติประยูร พากันเสด็จไปเฝ้าที่นิโครธาราม ก็ทรงประจักษ์ว่า พระทัยของประยูรญาติบางส่วน ยังไม่อยู่ในฐานะควรแก่การรับคำสั่งสอน เพราะมีพระญาติวงศ์รุ่นสูงชันษาบางพระองค์ แสดงอาการทระนงเป็นเชิงว่า "ข้าเกิดก่อน เจ้าชายสิทธัตถะ" แม้จะแสดงความคารวะนบไหว้หรือสนพระทัยต่อพระพุทธโอวาทก็เกรงจะเสียเชิงของผู้เห็นโลกมาก่อน จึงพากันประทับอยู่ห่างๆ ด้วยพระอาการเคอะเขิน หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตามซุ้มไม้และฉากกั้น ปล่อยแต่บรรดากุมารกุมารีรุ่นเยาว์ชันษาให้ได้เฝ้าอย่างใกล้ชิด
พระอาการอันกระด้างเคอะเขินของพระญาติรุ่นสูงอายุนั้น พระพุทธองค์ทรงสังเกตว่า เกิดจากมูลเหตุอันจะเป็นอุปสรรคสกัดกั้นผลดีที่จึงเกิดที่เกิดแก่เขาเสีย มูลเหตุอันปิดกั้นความงอกงามจำเริญแก่ดวงจิตนั้นก็คือทิฐิมานะ ความเห็นอันเป็นให้ถือตน ถ้าลงจับจิตสิงใจผู้ใดเข้าแล้ว ก็รังแต่จะทำให้สภาพจิตวิปริตไป เสมือนรากต้นไม้ที่เป็นโรค แม้ฝนจะฉ่ำน้ำจะโชก แผ่นดินจะฟูอยู่ด้วยรสปุ๋ย แต่ทว่า รากที่ปิดตันเสียแล้วด้วยอำนาจเชื้อโรคก็ย่อมไม่ดูดซับเอาโอชะเข้าบำรุงลำต้น เกรียนโกร๋นยืนตายไปในที่สุดฉันใด อนาคตของคนที่มีจิตมากอยู่ด้วยมานะทิฐิก็ฉันนั้น
ทรงพิจารณาดังนี้ จึงเห็นว่ากิจอันควรก่อนอื่น คือ ทำลายความแข็งกระด้าง ล้างความถือดีเสียด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงกำหนดจิตเจริญฌาน มีอภิญญาเป็นภาคพื้น ลอยขึ้นสู่ห้วงนภากาศเสด็จลีลาศจงกรมไปมาน่าอัศจรรย์
เพียงเท่านี้เอง ความคิดข้องใจที่ว่าใครอาบน้ำร้อนก่อนหลังก็เสื่อมสูญอันตรธาน พากันเอาเศียรคารวะแสดงถึงการยอมรับนับถืออย่างเต็มใจ เมื่อเสด็จลงที่ประทับ ณ พุทธอาสน์ เบื้องนั้น ฝนอันมหัศรรย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนก็ตกลง ความมหัศจรรย์มีลักษณะดังนี้
สีเม็ดน้ำฝน แดงเรื่อ เหมือนแก้วทับทิม ผู้ใดปรารถนาให้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนา แม้ละอองก็ไม่สัมผัสผิวกาย ไม่เลอะเทอะขังนอง ก่อให้เกิดโคลนตมอันปฏิกูล พอฝนหาย แผ่นดินก็สะอาด ตกลงเฉพาะในสมาคมพระญาติ ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วย
อนึ่ง คติในความมหัศจรรย์โดยอุปมา มีดังนี้
- สีของน้ำฝน ได้แก่ สีโลหิตแห่งความชื่นชมยินดี วันนี้เป็นวันที่ศากยราชทั้งปวงรอคอย ก็สมหวังแล้ว เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับคืนมา ให้เขาได้เห็นพระรูปพระโฉม จึงพากันชื่นบาน ผิวพรรณก็ซ่านด้วยสายเลือด อย่างที่เรียกว่าราศีของผู้มีบุญ ผิวพรรณอมเลือดฝาด
- ความชุ่มชื่นของสายฝน ก็ได้แก่ พระธรรมเทศนาที่พุทธองค์ทรงประกาศออกไป มีเหตุมีผลสมบูรณ์ด้วยหลักการ ถ้าผู้ใดตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ธรรมก็เข้าสัมผัสจิตสำนึก และสามารถจะปรับปรุงจิตของตนตามหลักแห่งเหตุผลนั้น จนกระทั่งจิตตั้งอยู่ในภาวะเยือกเย็นเหมือนผิวกายต้องละอองฝน แต่สำหรับบุคคลที่ฟังสักแต่ว่าฟัง ธรรมะนั้นก็จะไม่กระทบใจ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา อุปมาด้วยฝนไม่เปียก
- ปกติธรรมเป็นของสะอาด ไม่ก่อทุกข์โทษอันพึงรังเกียจแก่ใครๆ ไม่ว่ากาลไหนๆ
- พระพุทธจริยา ครั้งนี้ ทรงมุ่งบำเพ็ญเฉพาะพระญาติศากยะล้วนๆ
เมื่อเหล่าศากยะ ผู้ได้รับความเย็นกายด้วยสายฝน เย็นใจด้วยกระแสธรรม และกราบถวายบังคมลาพากันคืนสู่พระราชนิเวศน์แล้ว แต่นั้นก็ย่างเข้าสู่เจตสนธยากาล แสงแดดอ่อนสาดฝาละอองฝนที่เหลือตกค้างมาแต่ตอนบ่าย ทำให้เกิดบรรยากาศราวกับจะกลายเป็นยามอรุณ ดอกไม้ในสวนเริ่มเผยอกลีบอย่างอิดเอื้อนเหมือนหลงเผลอ แม้นกก็บินกลบรวงรังอย่างลังเล ภิกษุทั้งหลายกำลังชุมนุมสนทนาถึงฝนอันมหัศจรรย์และสายัณห์อันเฉิดฉาย ลงท้ายก็พากันเทิดทูนพุทธบารมีที่บันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปแล้วอย่างพิศวงยิ่ง
พระพุทธองค์เสด็จสู่ลงสนทนาของภิกษุพุทธสาวก เมื่อทรงทราบถึงมูลเหตุอุเทศแห่งการสนทนานั้น ก็ตรัสแย้มว่า ฝนนี้เรียกว่าฝนโบกขรพรรษ ที่ตกลงมาในปัจจุบันนี้ หาชวนอัศจรรย์ไม่ แม้ในอดีตกาล เมื่อทรงอุบัติเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ นามว่าเวสสันดร ก็ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม จนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษ ได้ตกลงมานั่นสิอัศจรรย์กว่า ภิกษุทั้งหลายต่างพากันกราบทูลพระมหากรุณาให้นำเรื่องครั้งนั้นมาแสดง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเรื่องราวพิสดาร แบ่งเป็น ๑๓ กัณฑ์ ๑,๐๐๐ พระคาถา
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษ ให้ตกในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน.
ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
- พราหมณ์ชูชก ในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.
- นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.
- พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.
- อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.
- ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.
- พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.
- พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.
- พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.
- ชาลีกุมาร คือ ราหุล.
- กัณหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.
- ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.
- ก็พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.
— — ที่มา: อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี
ความเป็นมาของคำว่ามหาชาติ และเทศน์มหาชาติ
มหาเวสสันดรชาดก (อังกฤษ: Vessantara Jātaka, พม่า: Wethandaya Zatdaw, ไทย: Maha Wetsandon Chadok, เขมร: វេស្សន្ដរជាតក, Vesondor Cheadok) เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างว่ามหาชาติชาดก ในการเทศนา เรียกว่าเทศน์มหาชาติ เรียกเต็มว่าเทศน์มหาชาติเรื่องเวสสันดรชาดก
มหาชาติ แปลว่าชาติที่ยิ่งใหญ่, การเกิดครั้งยิ่งใหญ่ หมายถึงการเกิดของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นการเกิดเพื่อบำเพ็ญบารมีครั้งสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา มหาชาติ ได้รับการประพันธ์เป็นบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองแล้วนำไปเทศน์เป็นทำนองมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ที่ได้ชื่อว่ามหาชาติ ก็เพราะการเกิดครั้งสุดท้ายนี้ พระเวสสันดร ได้บำเพ็ญบารมีสำคัญคือทานบารมี ซึ่งเป็นการทำให้บารมีอื่นสมบูรณ์ไปด้วย เปรียบเหมือนการประทับตราในหนังสือสำคัญทำให้เกิดความสมบูรณ์ใช้บังคับตามกฎหมายได้ และในชาติสุดท้ายนี้ พระเวสสันดร ได้บำเพ็ญบารมีอื่นๆ ครบทั้ง ๑๐ ประการ จึงถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งสำคัญยิ่งใหญ่กว่าทุกชาติที่ผ่านมา
ส่วนการที่เรียกมหาเวสสันดรชาดก ว่ามหาชาติ นั้น เนื่องด้วยเวสสันดรชาดกนี้ เป็นเรื่องใหญ่และยืดยาว ท่านจึงจัดรวมไว้ในมหานิบาติชาดก คือรวมเรื่องใหญ่ ๑๐ เรื่อง เรียกว่าทศชาติ แต่เหตุที่อีก ๙ เรื่องไม่เรียกว่ามหาชาติเช่นเดียวกับเวสสันดรชาดกนั้น ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า
พุทธศาสนิกชนชาวไทย ตลอดจนประเทศใกล้เคียง นับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ทั้ง ๑๐ อย่าง คือ
๑. ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้าง ม้า ราชรถ พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
๒. ศีลบารมี ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
๓. เนกขัมมบารมี ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
๔. ปัญญาบารมี ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
๕. วิริยบารมี ทรงปฏิบัติมิได้ย่อหย่อน
๖. สัจจบารมี ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมาณหลบหนีก็ทรงติดตามมาให้
๗. ขันติบารมี ทรง อดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ขณะที่เดนทางมายังเขาวงกตและตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั้น แม้เมื่อทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณ พระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
๘. เมตตาบารมี เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฏ์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ เพราะเมืองกลิงราษฏร์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตาประทานให้ และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร โดยอ้างว่าตนได้รับความลำบากต่างๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
๙. อุเบกขาบารมี เมื่อ ทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญอุเบกขา คือทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
๑๐. อธิษฐานบารมี คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณเบื้องหน้า แม้จะมีอุปสรรคก็มิได้ทรงย่อท้อ จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่างๆ เพราะตระหนักในน้ำพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์
ดังนั้น จึงเรียกพระชาติสำคัญนี้ว่ามหาชาติ ส่วนพันเอกพระสารสาส์นพลขันธ์ (เยรินี ) กล่าวว่า
พระโพธิสัตว์ในกำเนิดพระเวสสันดร ได้สร้างแบบของมนุษย์ผู้ก้าวถึงขั้นสูงสุดแห่งการดำเนินในทางวิวัฒนาการ อันนำไปสู่ความเต็มเปี่ยมทางจริยธรรมและความรู้ เหมาะแก่การข้ามพ้นโอฆะห้วงสุดท้าย ซึ่งจะแยกออกเสียได้จากการเกิดเป็นเทวดา เพราะเหตุนี้กำเนิดสุดท้ายจึงได้นามว่ามหาชาติ คือเป็นพระชาติที่บำเพ็ญบารมีขั้นสูงสุดนั่นเอง
การที่เรียก มหาเวสสันดรชาดกว่ามหาชาติ นี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยของเรานิยมเรียกและเป็นที่หมายรู้กันมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี เพราะปรากฏตามศิลาจารึกสมัยสุโขทัย หลักที่ ๓ ที่เรียกว่านครชุม ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ในสมัยพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑) มีกล่าวไว้ว่า
ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่าพระมหาชาติ หาคนสวดแลมิได้เลย
เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การมีเทศน์มหาชาติ นี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมมีเทศน์กันมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี
การเทศน์มหาชาตินี้ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินแล้ว โดยทั่วไปนิยมจัดงานสองวัน คือวันเทศน์เวสสันดรชาดก ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง ระยะเวลาจัดงานอาจทำในวันขึ้น ๘ ค่ำ กลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำ ก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง ดังพระโอวาทในสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ความว่า
พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้จัดให้มีขึ้นประจำปี สืบทอดเป็นประเพณีกันมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบไทยๆ ประเพณีเทศน์มหาชาติ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตของคนไทย มาแต่อดีตจนปัจจุบัน เพราะเป็นประเพณีที่ให้ทั้งความสนุกสนาน สร้างความสมานสามัคคีในชุมชน และสอดแทรกการอบรมสั่งสอนศีลธรรมคุณธรรมแก่ประชาชน ผู้ร่วมกิจกรรมไปพร้อมกัน
ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษ จะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่างานบุญผะเหวด ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง บางแห่งนิยมทำกันในเดือน ๑๐ ส่วนทางดินแดนล้านนาทางภาคเหนือ จะเรียกการเทศน์มหาชาติว่าการตั้งธรรมหลวง ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนยี่เพง (ยี่เป็ง) คือ วันเพ็ญเดือน ๑๒
เวสสันดรชาดกนี้ คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกาย กล่าวว่า เป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ รูป และมวลหมู่พระประยูรญาติที่นิโครธารามมหาวิหาร ในนครกบิลพัสดุ์ ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะ เพราะปรารภฝนโบกขรพรรษ ให้เป็นเหตุ จึงตรัสเวสสันดรชาดกในที่นี้
เทศน์มหาชาติเรื่องเวสสันดรชาดก
ลักษณะของเทศน์มหาชาติ
มหาชาติ ในสมัยปัจจุบันแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ
- ๑. มหาชาติประยุกต์ ท่านพระครูพิศาลธรรมโกศล (หลวงตาแพรเยื่อไม้) วัดประยูรวงศาวาส เป็นผู้คิดและให้คำๆ นี้เมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ คือ ฟังรู้เรื่อง เข้าใจ ได้สาระ ไม่ง่วงน่าเบื่อหนาย อีกทั้งประหยัดเวลาในการแสดง
- ๒. มหาชาติทรงเครื่อง มี ๓ ลักษณะ คือ มีการปุจฉา-วิสัชชนา ถาม-ตอบ ในเรื่องเทศน์ มีการสมมติหน้าที่ เช่น องค์โน้นเป็นพระเวสสันดร องค์นี้เป็นพระนางมัทรี ในเทศน์มีแหล่ ทั้ง แหล่นอก แหล่ใน มิใช่ว่าแต่ทำนองประจำกัณฑ์เท่านั้น
- แหล่นอก หมายถึง แหล่นอกบทนอกเนื้อความจากหนังสือเป็นการเพิ่มเติมเข้ามา
- แหล่ใน หมายถึง แหล่ในเรื่อง เนื้อความตามหนังสือที่ยอมรับกัน เช่น ฉบับวชิรญาณ ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ
- ๓. มหาชาติหางเครื่อง มีการแสดงประกอบที่เรียกว่า บุคลาธิษฐาน มีเฉพาะฆราวาสล้วนๆ เช่น เอาชูชกมาออกฉาก แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมหาลิเกมาแสดง แล้วนิมนต์พระมาเทศน์ประกอบ
การเทศน์คาถาพัน
การเทศน์คาถาพัน หมายถึง การเทศน์มหาชาติที่เป็นภาษาบาลีล้วนๆ จำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ซึ่งเป็นความรู้ที่สืบต่อกันมาว่า เป็นจำนวนคาถาในเวสสันดรชาดก พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้นับเทียบจำนวนคาถาในบทเทศน์คาถาพันที่ใช้เทศน์กันอยู่ กับจำนวนคาถาในเวสสันดรชาดก ปรากฏว่าไม่เท่ากัน และได้ทรงอธิบายว่า
ที่จริงจะมีจำนวนเท่าไรไม่สำคัญ แต่ได้คิดว่าจะนับก็เลยลองนับดู มีจำนวนนับได้ ๘๕๒ คาถา กับ ๑ บท แต่จำนวนที่เทศน์อยู่บัดนี้ นับได้ ๑,๐๐๐ คาถา อันที่จริงจำนวนมากเท่านี้เป็นอเนกสังขยา ควรแปลว่าประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ แม้จะเกินไปบ้าง ขาดไปบ้างก็ไม่เป็นไร
เครื่องกัณฑ์เทศน์
ของที่ใส่กระจาดเป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์ มีขนมต่างๆ อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร ปลาแห้ง เนื้อเค็ม และส้มสุกลูกไม้ตามแต่จะหาได้ มักมีกล้วยทั้งเครือ มะพร้าวทั้งทลาย และอ้อยทั้งต้น ตามคตินิยมว่าเป็นของป่าดังที่มีในเขาวงกต
เครื่องกัณฑ์ที่ถูกแบบแผนปรากฏในเรื่องประเพณีการเทศน์มหาชาติ ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีความตอนหนึ่งว่า
เครื่องกัณฑ์มักมีเครื่องสรรพาหาร ผลไม้กับวัตถุปัจจัยคือเงินตราเรานี่ดีๆ และผ้าไตร อันนี้เป็นธรรมเนียมไม่ใคร่ขาด ที่มีเครื่องบริขารอื่นต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยก็มีมากบริขาร
สำหรับมหาชาติที่ถือว่าถูกแบบแผนนั้น มักจัดเป็นจตุปัจจัย คือ
ผ้าไตรนั้นอนุโลมเป็นตัว จีวรปัจจัย สรรพาหาร ผลไม้ อนุโลมเป็น บิณฑบาตปัจจัย เสื่อ สาด อาสนะ ไม้กวาด เลื่อย สิ่ว ขวาน อนุโลมใน เสนาสนะปัจจัย ยาและเครื่องยาต่างๆ น้ำผึ้ง น้ำตาล อนุโลมคิลานปัจจัยบริขาร
ส่วนวัตถุปัจจัยได้แก่เงินเหรียญติดเทียนซึ่งปักบนเชิงรองพานตั้งไว้ หากมีผู้บริจาคเงิน ธนบัตรก็ใช้ไม้เล็กๆ คีบธนบัตรปักลงที่เทียนอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ก็ต้องจัดจัดเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ มีเทียนประจำกัณฑ์นี้ เครื่องบูชาอื่นที่เว้นไม่ได้ก็คือฉัตร, ธงรูปชายธง, ธูป, เทียนคาถา, ดอกไม้ อย่างละพัน เท่าจำนวนคาถาที่ทั้งเรื่องมีจำนวนหนึ่งพันคาถา มีผ้าเขียนภาพระบายสีหรือปักด้วยไหมเป็นรูปภาพประจำกัณฑ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ที่เรียกว่าผ้าพระบฏิ หรือภาพพระบฏิ
มีพานหมากใส่พลูถวายพระด้วย พานหมากหรือขันใส่หมากนี้ บางแห่งก็ประดับประดาอย่างสวยงามเรียกว่าหมากพนม คือ เอาพานแว่นฟ้าสองชั้น ใส่หมากพลู จัดเป็นรูปพุ่ม ประดับด้วยฟักทอง มะละกอ เครื่องสดแกะสลัก ประดับด้วยดอกไม้สดก็มีบ้าง สำหรับเทียนคาถาพันหนึ่งนั้น จะแบ่งปักบนขันสาคร ทำน้ำมนต์เท่าจำนวนคาถาของแต่ละกัณฑ์
ในการเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ มีจำนวนคาถาและเพลงปี่พาทย์ตามทำนองที่กำหนดไว้ตามลำดับ ดังนี้
- ๑. กัณฑ์ทศพร ๑๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือสาธุการ
- ๒. กัณฑ์หิมพานต์ ๑๓๔ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือตวงพระธาตุ
- ๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์ ๒๐๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือพญาโศก
- ๔. กัณฑ์วนปเวศน ๕๗ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือพญาเดิน
- ๕. กัณฑ์ชูชก ๗๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือเช่นเหล้า
- ๖. กัณฑ์จุลพน ๓๕ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือคุกพาทย์
- ๗. กัณฑ์มหาพน ๘๐ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือเชิดกล้อง
- ๘. กัณฑ์กุมาร ๑๐๑ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือโอดเชิดฉิ่ง
- ๙. กัณฑ์มัทรี ๙๐ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือทยอยโอด
- ๑๐. กัณฑ์สักบรรพ ๔๓ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือกลม
- ๑๑. กัณฑ์มหาราช ๖๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือกราวนอก
- ๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ ๓๖ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือตระนอน
- ๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ ๔๘ คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือกลองโยน
กล่าวคือ ถ้าพระสงฆ์จะเทศน์กัณฑ์ทศพร ก็จุดเทียน ๑๙ เล่ม กัณฑ์หิมพานต์ ก็จุดเทียนคาถา ๑๓๙ เล่ม ฯลฯ
มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์
กัณฑ์ทศพร
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
ในมหาชาติเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ๑๐๐๐ คาถา กัณฑ์ทศพร นับเป็นกัณฑ์แรก กัณฑ์ทศพร ประดับด้วยคาถา ๑๙ คาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงสาธุการ ประกอบกิริยาน้อมนมัสการรับพรทั้ง ๑๐ ประการของพระนางผุสดี
ข้อคิดจากกัณฑ์
การทำบุญจะได้ดังประสงค์ ต้องอธิษฐานจิต ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาไว้ตั้งมั่นและบริบูรณ์ในศีล ได้แก่ การทำความดี รักษาความดีนั้น และหมั่นเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้น
เนื้อความโดยย่อ
อดีตกาลโพ้น ก่อนสมัยพุทธกาลนานหลายกัปป์ กล่าวถึงพระเจ้ากรุงสญชัย พระโอรสพระเจ้าสีวีราช แห่งกรุงสีพี ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาพระเจ้ากรุงมัททราช พระนามผุสดี ผู้ซึ่งได้รับพร ๑๐ ประการ หรือทศพรจากพระอินทร์ เทพผู้เป็นใหญ่
ด้วยมูลเหตุดังนี้ พระนางผุสดี เมื่อสิ้นพระชาติที่ทรงกำเนิดเป็นพระนางสุธรรมา และด้วยพระบารมีแก่กล้า พระนางเสด็จสู่สวรรค์อุบัติเป็นเทพธิดาผุสดี เป็นพระอัครมเหสีแห่งอินทรเทพ
ครั้นถึงคราต้องทรงจุติจากสวรรค์ พระอินทรเทพได้ประทานพร ๑๐ ประการให้ตามที่พระนางมีพระประสงค์ดังนี้
- ๑. ได้บังเกิดในปราสาทแห่งพระเจ้ากรุงสีพี
- ๒. มีพระเนตรดำขลับประดุจตาลูกเนื้อทราย
- ๓. พระขนงดำสนิท
- ๔. ทรงพระนามว่าผุสดี
- ๕. มีพระโอรสทรงพระเกียรติยศยิ่งกษัตริย์ทั้งปวงและมีพระศรัทธาในพระกุศลทั้งปวง
- ๖. เมื่อทรงพระครรภ์ อย่าให้พระครรภ์โย้นูนดังสตรีมีครรภ์ทั่วไป
- ๗. พระถันงาม เวลาทรงพระครรภ์ก็มิดำและหย่อนคล้อย แม้กาลเวลาล่วงไป
- ๘. พระเกศาดำสนิทประดุจสีปีกแมลงค่อมทอง
- ๙. พระฉวีละเอียดงามเป็นนวลละออง ดังทองธรรมชาติปราศจากราคี
- ๑๐. ขอให้ทรงบารมี ทรงอำนาจไว้ชีวิตนักโทษประหารได้
มิใช่เพียงพร ๑๐ ประการ ที่หนุนเนื่องให้พระนางผุสดีได้เป็นพระพุทธมารดาในชาติกาลต่อมา ครั้งอดีตชาติ พระนางเคยเฝ้าถวายแก่นจันทร์แดงเป็นพุทธบูชา แก่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งทรงอธิษฐาน ตั้งพระปรารถนาให้ได้เป็นพระพุทธมารดาในอนาคตชาติด้วย
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
พระเจ้ากรุงสญชัย และพระนางผุสดี ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ปกครองที่ดี ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน รู้จักผ่อนปรนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์
กัณฑ์หิมพานต์
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
กัณฑ์หิมพานต์ ประดับด้วยคาถา ๑๓๔ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลสังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงตวงพระธาตุ ประกอบกิริยาอวยทานของพระเวสสันดรที่ทรงบริจาคทาน
ข้อคิดจากกัณฑ์
การทำความดี มักมีอุปสรรค
เนื้อความโดยย่อ
เทพธิดาผุสดี พระอัครมเหสีแห่งพระอินทรเทพ ทรงจุติจากสวรรค์ลงมาถือกำเนิดเป็นพระธิดากษัตริย์มัททราช มีพระนามผุสดี ดังทศพรประการที่ ๔ ที่ทรงขอไว้ ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งกรุงสีพี เมื่อมีพระโอรสนามว่าพระเวสสันดร ด้วยทรงประสูติในตรอกพ่อค้า ก็ทรงได้สมพระปรารถนาในทศพรประการที่ ๕
ด้วยพระกุมารเวสสันดรนั้น ทันที่ประสูติจากพระครรภ์ ก็ทรงทูลขอทรัพย์บริจาคทันที และเมื่อทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ทรงสร้างทานศาลาขึ้น ๖ แห่ง สำหรับบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้โดยถ้วนหน้า
ในวันที่พระเวสสันดรประสูตินั้น ทรงได้ช้างเผือกขาวบริสุทธิ์ที่แม่ช้างชาติฉัททันต์นำมาถวายไว้ในโรงช้าง ชาวสีพีขนานนามช้างว่าปัจจัยนาเคนทร์ ด้วยเป็นช้างมงคลที่แม้ขับขี่ไปในที่ใดก็จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
กาลต่อมา เมื่อเมืองกลิงคราษฎร์ เกิดข้าวยากหมากแพง ด้วยฝนฟ้าแล้งมิตกต้องตามฤดูกาล พระเจ้ากลิงคราษฎร์มิอาจทรงแก้ไขได้ แม้จะทรงรักษาอุโบสถศีลครบกำหนด ๗ วันแล้วก็ตาม จนต้องทรงแต่งตั้งพราหมณ์ ๘ คน ไปทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์จากพระเวสสันดร พระเวสสันดรก็ประทานให้ เป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ถึงขั้นกราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัยให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากบ้านเมืองไป
พระเวสสันดรแม้จะประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ จนต้องถูกเนรเทศก็มิทรงย่อท้อที่จะบำเพ็ญทาน ยังทรงทูลขอโอกาสบริจาคทานครั้งใหญ่ที่เรียกว่าสตสดกมหาทาน
ก่อนที่จะทรงจากไป ทรงให้พระนางมัทรี บริจาคทรัพย์ถวายแด่ผู้ทรงศีล และให้พระนางทรงอยู่บำรุงรักษาพระโอรสพระธิดา ทั้งทรงอนุญาตให้อภิเษกสมรสใหม่ได้ แต่พระนางมัทรีขอตามเสด็จไปพร้อมพระโอรสและพระธิดา และได้ทรงพรรณนาถึงความสวยงามและน่าทัศนาของป่าหิมพานต์ถึง ๒๔ พระคาถา เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่า พระนางเต็มพระทัยโดยเสด็จ มิได้ทรงเห็นเป็นเรื่องทุกข์ทรมานแต่ประการใด
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
พระเวสสันดร เป็นแบบอย่างของผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ยึดติดกับอำนาจวาสนา บริบูรณ์ในพรหมวิหาร ๔ ประการ ได้แก่เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
กัณฑ์ทานกัณฑ์
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
กัณฑ์ทานกัณฑ์ ประดับด้วยคาถา ๒๐๙ คาถา เนื้อความเป็นของสำนักวัดถนน จังหวัดอ่างทอง มิได้ระบุชื่อผู้นิพนธ์ กัณฑ์นี้มีจำนวนพระคาถามากที่สุดในจำนวนมหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงพระยาโศก ประกอบกิริยาโศกสลดรันทดใจของพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเวสสันดร ถูกเนรเทศออกจากเมือง
ข้อคิดจากกัณฑ์
พึงยอมเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
เนื้อความโดยย่อ
เมื่อพระเวสสันดร ทรงบริจาคสัตสดกมหาทาน เป็นทาน ๗ สิ่ง สิ่งละ ๗๐๐ ตามที่ทรงทูลขอพระเจ้ากรุงสญชัย พระราชบิดาแล้ว ทรงนำเสด็จพระนางมัทรี และสองพระกุมารกราบทูลลาพระบิดา
พระเจ้ากรุงสญชัยทรงทัดทานนางมัทรีและพระนัดดาทั้งสองไว้ พระนางมัทรีก็ไม่ทรงยอมอีก ด้วยทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะขอตามเสด็จพระสวามี ไปพร้อมพระโอรสพระธิดา ทรงกราบทูลว่า
เมื่อเป็นมเหสีแล้วก็ถือพระองค์เป็นประดุจทาสทาสี ย่อมจงรักภักดีต่อพระสวามี ขอตามเสด็จไปปรนนิบัติประหนึ่งทาสติดตามรับใช้ มิยอมให้พระสวามีไปตกระกำลำบาก ทุกข์ยากพระวรกายแต่เพียงลำพัง ส่วนพระโอรสธิดาเป็นประดุจแก้วตาดวงใจจะทอดทิ้งเสียกระไรได้
พระเจ้ากรุงสญชัยต้องทรงเลิกทัดทานในที่สุด เมื่อพระเวสสันดรทรงกราบบังคมทูลลาพระชนกชนนีแล้ว ทรงเบิกแก้วแหวนเวินทอง บรรทุกราชรถเทียมม้า และทรงโปรยเป็นทานไปตลอดทาง แม้แต่รถทรง ม้าเทียมรถทรง ก็ประทานให้แก่พราหมณ์ที่มาทูลขอไปจนหมดสิ้น แล้วทั้งสองพระองค์ทรงอุ้มพระโอรสและพระธิดา ทรงพระดำเนินไปสู่มรรคาเบื้องหน้า
กัณฑ์วนประเวศน์
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
กัณฑ์วนประเวศน์ประดับด้วยคาถา ๕๗ คาถา เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงพระยาเดิน ประกอบกิริยาเดินป่าของพระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา
ข้อคิดจากกัณฑ์
มิตรแท้ย่อมไม่ทอดทิ้งเมื่อยามเพื่อนทุกข์ ช่วยปลอบปลุกยามเพื่อนอ่อนล้า ช่วยฉุดดึงยามเพื่อนตกต่ำ และช่วยชูค้ำยามเพื่อนขึ้นสู่ที่สูง
เนื้อความโดยย่อ
พระเวสสันดร พระนางมัทรี และสองพระกุมาร เสด็จโดยพระบาทเป็นระยะทางถึง ๓๐ โยชน์ จึงลุมาตุลนคร แคว้นเจตราษฎร์ ด้วยพระบารมีเทวดาจึงทรงย่นระยะทาง ให้เสด็จถึงตัวเมืองภายในเวลาเพียงวันเดียว ทั้งสี่พระองค์ได้ประทับแรมที่แคว้นเจตราษฎร์นี้
เมื่อกษัตริย์เจตราษฎร์ ทรงทราบ ได้กราบทูลขอถวายความอนุเคราะห์ทุกประการ ทั้งเชิญเสด็จเสวยราชสมบัติแทนพระองค์ แต่พระเวสสันดรมิทรงรับ ด้วยผิดพระประสงค์ ทรงขอเพียงให้ชี้ทางไปเขาวงกต สถานที่ที่พระองค์ตั้งพระทัยมั่นจะประทับรักษาพระจริยวัตรของนักพรตโดยเคร่งครัดสืบไป
กษัตริย์เจตราษฎร์ สุดที่จะโน้มน้าวพระทัยพระเวสสันดรได้ จำต้องทำตามพระประสงค์ ทรงทำได้เพียงตามส่งเสด็จจนสุดแดนแคว้นเจตราษฎร์และทรงให้พรานเจตบุตร ถวายงานเป็นผู้พิทักษ์ระวังระไว มิให้ภยันตรายใดใดแผ้วพาน และมิให้สิ่งใดหรือใครเข้าไปรบกวนความสงบได้
ณ เขาวงกต ทั้ง ๔ พระองค์ทรงประทับในพระอาศรม ที่พระอินทรเทพ ทรงบัญชาให้พระวิษณุกรรมเทพบุตร เนรมิตไว้ให้พร้อมด้วยเครื่องบรรพชิต บริขารครบถ้วน พระเวสสันดรประทับในพระอาศรมหนึ่งโดยลำพัง พระนางมัทรีกับสองพระกุมารประทับพักพระอาศรมหนึ่ง ทั้งสี่พระองค์ทรงผนวชเป็นพระฤาษี ต่างพระองค์ต่างทรงรักษาพระจริยวัตรของผู้ถือบวชโดยเคร่งครัด สมดั่งพระหฤทัยตั้งมั่นทุกประการ
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
กษัตริย์เจตราษฎร์ เป็นแบบอย่างของมิตรแท้ที่มีน้ำใจ พร้อมจะช่วยเหลือยามมิตราตกทุกข์ได้ยาก
กัณฑ์ชูชก
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
กัณฑ์ชูชกประดับด้วยคาถา ๗๙ คาถา พระเทพโมลี วัดสังข์กระจาย เป็นผู้นิพนธ์
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงเซ่นเหล้า ประกอบกิริยากินอย่างตะกละตะกรามของชูชก
ข้อคิดจากกัณฑ์
อย่าฝากของมีค่า ของสำคัญหรือของหวงแหนไว้กับผู้อื่น
เนื้อความโดยย่อ
ในละแวกบ้านทุนวิฐ แคว้นกลิงคราษฏร์ มีชูชก พราหมณ์เข็ญใจเที่ยวขอทานเขากิน เมื่อเก็บเงินได้มากถึง ๑๐๐ กษาปณ์ ก็นำไปฝากเพื่อนพราหมณ์ผัวเมียคู่หนึ่งไว้ แล้วเที่ยวตระเวนขอทานต่อไป ชูชกหายไปนาน จนพราหมณ์ผัวเมียคิดว่าพราหมณ์ชูชกไม่กลับมาแล้วประกอบกับเกิดขัดสนยากจนลง ชวนกันใช้เงินของชูชกกันหมด เมื่อชูชกกบลับมาทวงไม่มีจะคืนให้จึงยกนางอมิตตดา ใช้หนี้แทน
ชูชกได้นางอมิตตดา ซึ่งนอกจากจะเป็นลูกที่ดี คือ กตัญญูต่อพ่อแม่ ทดแทนพระคุณโดยยอมตัวเป็นของชูชกแล้ว ยังเป็นเมียที่ประเสริฐ แม้ชูชกจะแก่คราวปู่ นางก็ปรนนิบัติชูชกเป็นอย่างดี มิได้ขาดตกบกพร่อง ทำให้พราหมณ์หนุ่มในละแวกนั้นไม่ได้พอใจพราหมณีภรรยาของตน ต่างไปต่อว่าด่าทอทุบตีภรรยาของตน นางพราหมณีทั้งหลายโกรธแค้นจึงไปรุมขับไล่ และด่าว่านางอมิตตดาอย่างรุนแรง
นางทั้งเสียใจและอับอายจนสุดจะทน จึงร้องบอกชูชกว่า จะไม่ทำงานรับใช้สามีอีก ชูชกขอทำงานแทน นางก็ยอมไม่ได้ ด้วยเทือกเถาเหล่ากอของนางไม่เคยใช้สามีต่างทาส
ด้วยเทพยดาฟ้าดินจะทรงให้การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรเพิ่มพูนขึ้นอีก จึงดลใจให้นางอมิตตดารู้เรื่องของพระเวสสันดรและคิดขอสองพระกุมารมาเป็นข้ารับใช้ โดยให้นางแนะชูชกไปขอสองพระกุมาร ชูชกจำใจจากนางเดินทางไปตามหาพระเวสสันดร จนกระทั่งไปถึงเขาวงกต
ด้วยเทพยดาดลใจให้หลงทางไป ชูชกพบพรานเจตบุตรเพราะใช้อุบายลวงล่อจนพรานเจตบุตรหลงเชื่อว่า เป็นผู้ถือพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงสญชัย มากราบทูลเชิญทั้งสี่พระองค์เสด็จกลับกรุงสีพี จึงต้อนรับชูชกเต็มที่ ทั้งเตรียมเสบียงและเตรียมชี้ทางไปสู่พระอาศรมพระเวสสันดร แต่โดยดี
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
ชูชก เป็นตัวอย่างของคนมัธยัสถ์ รู้จักเก็บหอมรอมริบ รักครอบครัว แต่มีนิสัยเจ้าเล่ห์เพทุบาย เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ ติดอยู่ในกาม เข้าลักษณะวัวแก่กินหญ้าอ่อน
นางอมิตตดา เป็นตัวอย่างของลูกที่อยู่ในโอวาท กตัญญูต่อพ่อแม่ เป็นภรรยาที่ดีของสามี แต่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง
กัณฑ์จุลพน
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
จุลพน หมายถึง ป่าที่มีต้นไม้น้อยๆ หรือป่าโปร่ง กัณฑ์จุลพน ประดับด้วยคาถา ๓๕ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงคุกพาทย์ หรือรัวสามลา ประกอบกิริยาการแสดงอิทธิฤทธิ์หรือการข่มขวัญ ซึ่งพรานเจตบุตร ได้แสดงแก่ชูชก
ข้อคิดจากกัณฑ์
มีอำนาจ แต่หากขาดปัญญา ย่อมถูกหลอกได้ง่าย
เนื้อความโดยย่อ
พรานเจตบุตร ซึ่งได้รับคำสั่งจากกษัตริย์เจตราษฏร์ ให้ทำหน้าที่เป็นนายด่านประตูป่า คอยห้ามมิให้ผู้ใดไปพบกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ เว้นแต่ราชทูตเท่านั้น รู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของชูชก จึงหลงเชื่อ ให้ที่พักอาศัยและเลี้ยงดูจนอิ่มหนำสำราญ
ครั้นรุ่งเช้าก็จัดเตรียมเสบียงให้ชูชก พร้อมทั้งนำชูชกไปยังต้นทางที่จะไปยังเขาวงกตและชี้บอกเส้นทางที่จะต้องผ่านว่าต้องผ่านเขาคันทมาทน์ อันอุดมด้วยไม้หอมนานาชนิด ถัดไปจะเห็นเขาสีเขียวครามคือ เขาอัญชัน ซึ่งอุดมไปด้วยไม้ผลและสมุนไพรชนิดต่างๆ เดินต่อไปอีกสักครู่จะถึงสวนอัมพวันใหญ่ คือป่ามะม่วง ถัดไปเป็นป่าตาล ป่ามะพร้าวกับต้นแป้ง
จากนั้นจะเป็นป่าไม้ดอกนานาพันธุ์ ที่มีกลิ่นหอมตระหลบอบอวลไปทั้งป่า แล้วจะถึงสระอันอุดมไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด มีขัณฑสกรที่เป็นน้ำตาลที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นบนใบบัว และเป็นเครื่องยาอย่างดีที่หาได้ยาก
พรานเจตบุตร ยังได้แนะทางที่จะไปยังอาศรมของพระอัจจุตฤาษี เพื่อให้ชูชกถามถึงหนทางที่จะไปยังพระอาศรมของพระเวสสันดร ชูชกจำเส้นทางที่พรานเจตบุตรบอกไว้ แล้วอำลาโดยทำประทักษิณ ๓ รอบ จากนั้นจึงออกเดินทางต่อไป
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
พรานเจตบุตร เป็นแบบอย่างของคนดี คนซื่อ แต่ขาดความเฉลียวฉลาดจึงถูกหลอกได้ง่าย
กัณฑ์มหาพน
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
มหาพน หมายถึง ป่าใหญ่ หรือไพรกว้าง กัณฑ์มหาพนประดับด้วยคาถา ๘๐ พระคาถา พระเทพโมลี (กลิ่น) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นผู้นิพนธ์
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงเชิดกลอง ประกอบกิริยาเดินอย่างเร่งรีบของชูชก
ข้อคิดจากกัณฑ์
คนฉลาดแต่ขาดเฉลียว คนมีปัญญาแต่ขาดสติย่อมพลาดท่าเสียทีได้
เนื้อความโดยย่อ
ชูชกเดินทางผ่านสถานที่สำคัญๆ ตามที่พรานเจตบุตรบอก จนกระทั่งมาถึงอาศรมของอัจจุตฤาษี จึงสอบถามที่อยู่ของพระเวสสันดร พระอัจจุตฤาษีเห็นท่าทีและพฤติกรรมของชูชกครั้งแรกก็ลังเล กลัวว่าชูชกจะมาขอพระชาลี พระกัณหา ไปเป็นทาสหรือไม่ก็ขอพระนางมัทรี จึงไม่บอกทางชูชก แก้ตัวด้วยมธุรสวาจา ยกเหตุผลว่าจะมาเที่ยวขอให้เสื่อมเสียพงศ์พราหมณ์ทำไม
ชูชกจึงกล่าวตอบว่า การมาครั้งนี้เพื่อเยี่ยมเยียนพระเวสสันดรจริงๆ ขอให้ได้เห็นจะได้เป็นกุศล ทั้งยังอ้างว่าตั้งแต่พระเวสสันดรจากเมืองมา ตนยังไม่ได้พบพระเวสสันดรเลย ทำให้พระอัจจุตฤาษีใจอ่อน หลงเชื่อว่าชูชกมาด้วยเจตนาดี เมื่อเห็นว่าพระอัจจุตฤาษีใจอ่อนหลงเชื่อแล้ว ชูชกจึงขอค้างแรมที่อาศรมหนึ่งคืน
รุ่งขึ้น พระอัจจุตฤาษีจัดหาผลไม้ให้และบอกทางไปพระอาศรมของพระเวสสันดรอย่างละเอียด พรรณนาถึงป่าเขา ฝูงสัตว์ร้ายต่างๆ ด้วยเป็นป่าใหญ่ สมกับที่เรียกว่าป่ามหาพน ชูชกจดจำคำแนะนำเส้นทางไว้ แล้วอำลามุ่งหน้าเดินทางไปสู่พระอาศรมของพระเวสสันดร
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
พระอัจจุตฤาษี เป็นแบบอย่างของนักพรตผู้ฉลาด แต่ขาดเฉลียว หูเบาเชื่อง่าย
กัณฑ์กุมาร
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
คำว่ากุมาร ในกัณฑ์นี้ หมายความถึงพระชาลี และพระกัณหา กัณฑ์กุมารประดับด้วยคาถา ๑๐๑ พระคาถา เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้นิพนธ์
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงโอดเฉิดฉิ่ง ประกอบกิริยาที่ชูชกพาพระชาลีและพระกัณหา เดินทางเข้าไปในป่าและเฆี่ยนตีไปตลอดทาง
ข้อคิดจากกัณฑ์
ความเป็นผู้รู้จักกาละเทศะ รู้จักโอกาส รู้ความควรไม่ควร จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนา (อันควรประกอบด้วยกุศลเจตนา)
เนื้อความโดยย่อ
ชูชกเดินทางไปยังอาศรมพระเวสสันดรในเวลาจวนค่ำ แต่ไม่คิดจะเข้าเฝ้าทูลขอสองพระกุมารในเวลานั้น ด้วยเกรงว่าพระนางมัทรีจะขัดขวางตามวิสัยผู้เป็นแม่ รอให้พระนางมัทรีเสด็จไปหาผลไม้ และพระเวสสันดรประทับอยู่โดยลำพังในเวลารุ่งขึ้น จึงค่อยเข้าไปขอ
ในคืนนั้น พระนางมัทรีทรงพระสุบิน ด้วยเทวดามาบอกเหตุว่า มีบุรุษร่างกายกำยำ ผิวดำ ถือดาบสองมือ พังประตูอาศรมเข้าไปฉุดกระชากพระนาง ควักพระเนตร ตัดพระพาหาสิ้นทั้งซ้ายขวา ท้ายสุดผ่าพระอุระ ควักดวงพระหทัยแล้วหนีไป
พระนางทรงตระหนักดีว่าทรงฝันร้าย จึงกังวลพระทัยยิ่งนักและไม่วางพระทัย แม้พระเวสสันดรจะทรงทำนายเลี่ยงไปว่า เป็นธาตุวิปริตและทรงปลอบพระนางให้ทรงหายหวาดกลัวและคลายกังวล
ครั้นรุ่งเช้า พระนางก็ยังคงเสด็จไปหาผลไม้ ดังเช่นที่ทรงปฏิบัติทุกวัน ฝ่ายชูชกสบโอกาสดังคิด จึงเร่งเข้าเฝ้าพระเวสสันดรแล้วทูลขอสองพระกุมาร แม้พระเวสสันดรจะทรงอาลัยพระโอรสพระธิดาเพียงใด ก็ต้องตัดพระทัยเพื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณ อันจะยังประโยชน์สุขให้แก่มวลมนุษย์ ยิ่งกว่าสุขของพระองค์เอง
ทั้งสองพระกุมารก็เข้าพระทัยในเหตุผลของพระบิดา จึงยอมเสด็จไปกับชูชก ทั้งสามพระองค์ต้องทรงกลั้นอาลัย พระเวสสันดรต้องสะกดพระโทสะ ด้วยชูชกลงมือเฆี่ยนตีสองพระกุมารตั้งแต่ยังไม่ทันพ้นพระอาศรม
ก่อนจะทรงให้สองพระกุมารกับชูชกไป ได้ทรงตั้งค่าตัวไว้ว่า หากมีผู้ใดต้องการไถ่ตัวสองพระกุมารให้พ้นทาส พระชาลี นั้นทรงตั้งไว้พันตำลึงทอง พระกัณหาเป็นหญิง นอกจากทรัพย์พันตำลึงทองแล้ว ยังต้องประกอบด้วยข้าทาสชายหญิง ช้าง ม้า โคคาวี และโคอศุภราชอีกอย่างละร้อย
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
พระชาลี พระกัณหา เป็นแบบอย่างของลูกที่ดี เชื่อฟังพ่อแม่มีเหตุผล ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากการถูกชูชกเฆี่ยนตีก็ตาม
กัณฑ์มัทรี
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
กัณฑ์มัทรี ประกอบด้วยคาถา ๙๐ คาถา เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้นิพนธ์
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงทะยอยโอด ประกอบกิริยาใคร่ครวญหวนไห้ของพระนางมัทรี เมื่อตามหาพระโอรสและพระธิดาไม่พบ
ข้อคิดจากกัณฑ์
ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่กว่าความรักของพ่อและแม่
เนื้อความโดยย่อ
เมื่อชูชก พาสองพระกุมารไปแล้ว พระอินทรเทพทรงเกรงว่าพระนางมัทรี จะทรงเสด็จกลับจากป่าเร็วกว่าปกติ ด้วยความกังวลที่ทรงฝันร้ายและพระนางจะเสด็จตามสองพระกุมารทัน จึงทรงบัญชาให้เทพยดาสามองค์ แปลงกายเป็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัว คือเสือโคร่ง เสือเหลือง และราชสีห์ นอนขวางทางเสด็จกลับพระอาศรม จนค่ำจึงหลีกทางให้พระนาง
ครั้นพระนางมัทรี เสด็จกลับถึงพระอาศรม ไม่ทรงเห็นสองพระกุมาร ทรงตามหาไม่พบ ก็กันแสงอ้อนวอนทูลถามพระเวสสันดร ถึงสองพระกุมาร พระเวสสันดรไม่ทรงตอบและทรงแกล้งกล่าวตำหนิที่พระนางทรงกลับมืดค่ำให้พระนางเจ็บพระทัยจะได้คลายทุกข์โศกถึงสองพระกุมาร
แม้พระนางจะทรงอ้อนวอนสักเท่าใดก็ไม่ทรงตอบ จนพระนางน้อยพระทัย ทรงออกติดตามพระโอรสพระธิดาทั้งราตรี ลุรุ่งอรุณวันใหม่ พระนางมัทรี จึงเสด็จกลับพระอาศรมด้วยความอิดโรยอ่อนพระทัยอ่อนล้าพระกำลังถึงกับทรงสลบไป
เมื่อพระเวสสันดรทรงแก้ไขให้ทรงฟื้นแล้วจึงทรงบอกความจริงว่า ได้ประทานพระโอรสพระธิดาให้ชูชกไปแล้ว ทรงขอให้พระนางอนุโมทนากับปิยบุตรทาน ด้วย อันจะส่งผลให้พระองค์เสด็จสู่พระสัมมาสัมโพธิญาณ พระนางมัทรีเมื่อทรงทราบความจริงก็ทรงบรรเทาโศกและทรงอนุโมทนาด้วย
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
พระนางมัทรี เป็นแบบอย่างของภรรยาที่ดี ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อสามี รวมถึงเป็นแม่ที่รักและเป็นห่วงลูกมาก เปรียบลูกเป็นเสมือนแก้วตาดวงใจ
กัณฑ์สักกบรรพ
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
สักกบรรพ แปลว่า ตอนที่ว่าด้วยพระอินทร์ คือท้าวโกสินทร์สักรินทร์เทวราช ผู้เป็นจอมเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กัณฑ์สักกบรรพ ประดับด้วยคาถา ๑๓ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงกลม หรือเหาะ ประกอบกิริยาเหาะลงมาและการแปลงกายของพระอินทร์
ข้อคิดจากกัณฑ์
การทำความดี แม้ไม่มีคนเห็น แต่เทพยดาอารักษ์ย่อมรู้ย่อมเห็น
เนื้อความโดยย่อ
เมื่อพระเวสสันดรประทานสองพระกุมารให้ชูชกไปแล้ว พระอินทรเทพทรงดำริว่า แม้นมีผู้มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็จะทรงยกให้อีก จะทำให้พระเวสสันดรขาดผู้ปฏิบัติดูแล จึงทรงนิรมิตองค์เป็นพราหมณ์แก่เข้าไปทูลขอพระนางมัทรีและเป็นดังที่ทรงคาด
เมื่อพราหมณ์จำแลงรับพระนางมัทรีมาแล้ว จึงกลับร่างเป็นพระอินทรเทพ ถวายพระนางคืน พร้อมประทานพร ๘ ประการ ตามที่พระเวสสันดรทรงแสดงพระประสงค์ คือ
- ๑. ให้พระบิดาทรงรับพระองค์ กลับไปทรงครองราชย์สมบัติดังเดิม
- ๒. ให้พระองค์มีพระกรุณาและพระปัญญา ที่จะไม่ต้องเข่นฆ่าผู้มีทุจริตร้ายกาจ
- ๓. ให้พระองค์ทรงกอปรด้วยพระเมตตาและพระอำนาจ เป็นที่พึ่งและเป็นที่รักแก่ปวงชน
- ๔. ให้พระองค์ทรงพอพระทัย ตั้งมั่นอยู่แต่พระชายาพระองค์เดียว แม้มีสตรีเป็นที่รักมากเพียงใด ขออย่าให้ทรงลุอำนาจของสตรี จนเป็นทางที่ทุจริตผิดตามมาได้
- ๕. ให้พระโอรสได้ปกครองแผ่นดิน ทรงอำนาจด้วยธรรมปฏิบัติ
- ๖. ให้เกิดภักษาหารมากเพียงพอที่จะบริจาคเป็นทานมิได้ขาด
- ๗. ให้มีทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องอุดหนุนเป็นเครื่องไทยธรรมทานการกุศลของพระองค์มีแต่เพิ่มพูนมิรู้หมดสิ้น เช่นเดียวกับน้ำพระทัยในทางกุศลของพระองค์
- ๘. เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ไป ขอให้บังเกิดในสวรรค์ชั้นสูงมีพระบารมีและมิมีวันเสื่อมถอยลดลงจากพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญ
กัณฑ์มหาราช
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
กัณฑ์มหาราช ประดับด้วยคาถา ๖๓ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และกวีอีก ๒ ท่าน คือพระยาธรรมปรีชา (บุญ) และขุนวรรณวาทวิจิตร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงกราวนอก ประกอบกิริยาการยกพลและเคลื่อนพลที่พระเจ้ากรุงสญชัย ทรงยกไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี กลับเมือง
ข้อคิดจากกัณฑ์
คนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้
เนื้อความโดยย่อ
ชูชกตั้งใจพาสองพระกุมารกลับไปหานางอมิตตดา ที่เมืองกลิงคราษฎร์ แต่เทพยดาดลใจให้ชูชกเดินทางผิด กลายเป็นเดินทางเข้าสู่กรุงสีพีของพระเจ้ากรุงสญชัย ฝ่ายพระเจ้ากรุงสญชัย คืนก่อนที่จะได้พบสองพระกุมารได้ทรงพระสุบินนิมิตว่า มีบุรุษรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวนำดอกบัวสองดอกมาถวาย ซึ่งโหรหลวงทำนายว่า จะมีพระญาติใกล้ชิดที่พลัดพรากไปกลับสู่พระนคร
รุ่งขึ้น ชูชกก็มีโอกาสนำสองพระกุมารเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดี ทั้งสองพระองค์ดีพระทัยยิ่งนัก พระราชทานสิ่งของไถ่องค์พระนัดดาทั้งสองตามที่พระเวสสันดรทรงกำหนดไว้และทรงให้จัดเลี้ยงชูชก ด้วยอาหารคาวหวานมากมาย ชูชกบริโภคเกินขนาดจนไฟธาตุไม่อาจเผาผลาญได้ อาหารไม่ย่อย สุดท้ายก็ถึงแก่จุกตาย ทรัพย์ที่ได้รับก็ถูกริบเข้าคลังหลวง หลังจากที่ประกาศให้วงศาคณาญาติให้มารับ แล้วไม่มีผู้ใดมารับ
หลังจากที่พระเจ้ากรุงสญชัยทรงสดับเรื่องราวจากพระนัดดาทั้งสองที่ต้องระกำลำบากกับพระชนกชนนี พระเจ้ากรุงสญชัยก็ทรงเตรียมยกพยุหยาตราไปรับพระเวสสันดรกับพระนางมัทรีกลับพระนคร ในวันรับเสด็จ พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ๘ คน นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาถวายคืน จึงโปรดให้พระชาลีทรงช้างปัจจัยนาเคนทร์นำขบวนสู่เขาวงกต
กัณฑ์ฉกษัตริย์
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
คำว่าฉ หรือฉะ แปลว่า๖ (หก) ฉกษัตริย์ประดับด้วยคาถา ๓๖ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงตระนอน ประกอบกิริยานอนหลับใหลของกษัตริย์ ๖ พระองค์ เมื่อได้ทรงพบกัน
ข้อคิดจากกัณฑ์
การให้อภัย สามารถลบรอยร้าวฉานและความบาดหมางทั้งปวง ก่อให้เกิดสันติสุข
เนื้อความโดยย่อ
พระชาลีทรงช้างปัจจัยนาเคนทร์เป็นทัพหน้า เสด็จถึงเขาวงกตก่อนเพื่อเตรียมรับเสด็จพระเจ้ากรุงสญชัย เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จถึงเขาวงกต ทรงพระดำริว่าหากเสด็จเข้าไปพร้อมกันทุกพระองค์ จะเป็นเหตุให้ทุกข์โศกสาหัสจนระงับมิได้ จึงเสด็จเข้าสู่พระอาศรมแต่พระองค์เดียวก่อน พอทุเลาโศกลงบ้างแล้ว จึงจะให้พระนางผุสดีและสองพระกุมาร ตามเสด็จเข้าไป
แม้กระนั้น เมื่อทั้งสามพระองค์เสด็จเข้าไปในพระอาศรม พระนางมัทรีซึ่งมิอาจทรงหวังได้เลยว่า จะได้พบสองพระกุมารอีก ครั้นได้ทรงพบกัน จึงต่างกันแสงพิรี้รำพัน ทั้งเศร้าโศรกและยินดี จนข่มพระทัยไว้มิได้ ก็สลบสิ้นสติสมปฤดี ณ ที่นั้นทั้งสามพระองค์ ฝ่ายพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดีและพระเวสสันดร ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ทรงกลั้นโศกมิได้ กันแสงแล้วสลบสิ้นสติสมปฤดีไปเช่นกัน เหล่าพระสนมและข้าราชบริพารก็ล้วนโศกศัลย์ล้มสลบตามกันไป
เหตุครั้งนั้น ทำให้แผ่นพสุธาไหวทั่วทั้งพื้นพิภพ พระอินทรเทพทรงทราบจึงทรงแก้เหตุวิกฤติที่อุบัติขึ้น ทรงดลบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษ ตกลงมา ณ ที่นั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ และผู้คนทั้งหลายต่างฟื้นคืนสติโดยทั่วกัน นั่นเป็นฝนโบกขรพรรษ ที่เคยตกมาสมัยก่อนพุทธกาล ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเล่าโปรดพระอรหันตสาวก อันเป็นพระพุทธปรารภเรื่องพระเวสสันดร
กัณฑ์นครกัณฑ์
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
นครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์สุดท้ายของมหาชาติเวสสันดรชาดก ถือว่าเป็นกัณฑ์สวัสดีมีชัย เพราะเป็นตอนที่พระเวสสันดรเสด็จกลับเมือง
กัณฑ์นี้ประดับด้วยคาถา ๔๘ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงกลองโยน ประกอบกิริยาการยกขบวนพยุหยาตราของพระเวสสันดร พรั่งพร้อมด้วยขบวนพระอิสริยยศอย่างสมพระเกียรติ
ข้อคิดจากกัณฑ์
การทำความดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน การใช้ธรรมะในการปกครอง จะทำให้บ้านเมืองมีแต่ความสงบและร่มเย็น
เนื้อความโดยย่อ
เมื่อเหตุทั้งปวงคลี่คลายลง ต่างพระองค์ต่างสงบพระทัยได้แล้ว พระเจ้ากรุงสญชัยจึงขอให้พระเวสสันดร เสด็จกลับไปปกครองบ้านเมืองดังเดิม เหล่าข้าราชบริพารและเหล่าชาวเมืองที่ตามเสด็จพระเจ้ากรุงสญชัยมาต่างก็กราบทูลวิงวอนร้องขอให้พระเวสสันดร ทรงอภัยให้และกลับไปครองสิริราชสมบัติดังเดิม
พระเวสสันดรทรงใคร่ครวญไตร่ตรองเหตุที่ควรจะเป็นและทรงคำนึงถึงพระพรที่ทรงขอจากพระอินทรเทพว่า ให้พระราชบิดารับกลับไปครองสิริราชสมบัติ จึงตัดสินพระทัยเสด็จกลับพระนคร กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ เสด็จกลับกรุงสิพี พร้อมข้าราชบริพารและผู้ตามเสด็จ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องต้อนรับด้วยความปีติยินดีของชาวเมืองที่รักเคารพเทิดทูนพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
ชาวเมืองสิพี เป็นตัวอย่างของผู้รักษาสิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อไม่พอใจก็แสดงความคิดเห็น คัดค้านและเรียกร้องให้มีการลงโทษ เมื่อพอใจก็ยอมรับและยุติ พร้อมกับรู้จักขอโทษในสิ่งที่ได้กระทำผิดไป
อานิสงส์ในการฟังเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ โดย พระมหา ดร.ไสว เทวปุญฺโญ
๑. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์ทศพร
- ผู้ใดบูชากัณฑ์ทศพร ผู้นั้นจะได้รับทรัพย์สมปรารถนา
- ถ้าเป็นสตรีจะได้สามีเป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจ
- ถ้าเป็นชายจะได้ภรรยาตามที่ประสงค์ต้องการ
- ถ้ามีบุตรหญิงหรือชาย ก็จะเป็นคนว่านอนสอนง่าย มีรูปกายงดงาม
๒. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์หิมพานต์
ผู้ใดบูชากัณฑ์หิมพานต์ ย่อมจะได้สิ่งปรารถนาทุกประการ ครั้นตายไปจะไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ แล้วเมื่อครั้งลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลขัตติยะ หรือตระกูลพราหมณ์มหาศาล เปรียบด้วยบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ และบริวารมากมาย จะอยู่อิริยาบถใดก็จะมีแต่ความสุขกาย สบายใจ
๓. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์ทานกัณฑ์
ผู้ใดบูชากัณฑ์ทานกัณฑ์ จะบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง ทาส ทาสี และสัตว์สองเท้าสี่เท้า ครั้นตายแล้วจะได้ไปเกิดในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมาย เสวยสุขอยู่ในปราสาทสร้างด้วยแก้ว ๗ ประการ
๔. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์วนประเวศน์
ผู้ใดบูชากัณฑ์เทศน์วนประเวศน์ จะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า จะเฉลียวฉลาด สามารถปราบอริราชศัตรูให้ย่อยยับไป
๕. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์ชูชก
ผู้ใดบูชากัณฑ์ชูชก จะได้บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ประกอบด้วยสมบัติอันงดงามกว่าผู้อื่น จะเจรจากับผู้ใดก็มีเสียงไพเราะ ครั้นจะได้สามีหรือภรรยา รวมทั้งมีบุตร ก็จะมีรูปร่างทรงงดงาม สอนง่าย (ผู้ใดจะบูชากัณฑ์นี้ ควรอธิฐานด้วยความตั้งใจ เพราะชูชกได้ตั้งมั่นในคำอธิฐานตอนมีชีวิตอยู่ไว้)
๖. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์จุลพน
ผู้ใดบูชากัณฑ์จุลพน แม้จะบังเกิดในปรภพใดๆ จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติบริวาร จะมีอุทยานอันดารดาษด้วยดอกไม้หอมตลบไป แล้วจะมีสระโบกขรณีอันเต็มไปด้วยปทุมชาติ ครั้นตายไปแล้วก็ได้เสวยทิพยสมบัติในโลกหน้าสืบไป
๗. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์มหาพน
ผู้ใดบูชากัณฑ์มหาพน จะได้เสวยสมบัติในดาวดึงส์เทวโลกนั้น มีทรัพย์ศฤงคารบริวารมาก มีอุทยานและสระโบกขรณีเป็นที่ประพาส เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศักดานุภาพเฟื่องฟุ้งไปทั่วชมพูทวีป อีกทั้งจักได้เสวยอาหารทิพย์เป็นนิจนิรันดร
๘. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์กุมาร
ผู้ใดบูชากัณฑ์กุมาร ย่อมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ครั้นตายไปได้เกิดในฉกามาพจรสวรรค์ในสมัยพระศรีอาริยเมตไตรยมาอุบัติ ก็จะได้พบศาสนาของพระองค์ จะได้ถือปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์ ตลอดจนได้สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วบรรลุพระอรหันตผล พร้อมปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้
๙. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์มัทรี
ผู้ใดบูชากัณฑ์มัทรี เกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นผู้มีอายุยืนยาว ทั้งประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลาย จะไปในที่แห่งใดก็จะมีแต่ความสุขความเจริญทุกหนแห่ง
๑๐. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์สักกบรรพ
ผู้ใดบูชากัณฑ์สักกบรรพ จะได้เป็นผู้เจริญด้วยลาภยศ ตลอดจนจตุรพิธพรทั้ง ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาล
๑๑. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์มหาราช
ผู้ใดบูชากัณฑ์มหาราช จะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์จะได้เป็นพระราชา เมื่อจากโลกมนุษย์ไป ก็จะได้ไปเสวยทิพยสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ครั้นบารมีแก่กล้าก็จะได้นิพพานสมบัติ อันตัดเสียซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ พ้นจากโอฆะทั้งสาม มีกาโมฆะ เป็นต้น
๑๒. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์ฉกษัตริย์
ผู้ใดบูชากัณฑ์ฉกษัตริย์ จะได้เป็นผู้เจริญด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกๆ ชาติแล
๑๓. อานิสงส์ในการฟังเทศน์กัณฑ์นครกัณฑ์
ผู้ใดบูชากัณฑ์นครกัณฑ์ จะได้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติ ข้าทาสชายหญิง ธิดาสามี หรือบิดา มารดา เป็นต้น อยู่พร้อมหน้ากันโดยความผาสุก ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง จะทำการใดๆ ก็พร้อมเพรียงกัน ยังการงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
สำหรับผู้ที่ได้ฟังเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ครบภายในวันเดียว จะทำให้เกิดความสำเร็จทุกประการ และมีอานิสงส์ ดังนี้
๑. เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วจะได้พบพระศรีอาริย์พุทธเจ้าในอนาคต
๒. เมื่อดับขันธ์จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอันมโหฬาร
๓. จักไม่ตกนรกเมื่อตายไปแล้ว
๔. เมื่อถึงพุทธกาลพระศรีอาริย์พุทธเจ้า เทพบุตร เทพธิดา จะได้จุติลงไปเกิดเป็นมนุษย์
๕. ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาก็จักได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
- ที่มา :
- ลานธรรมจักร ธรรมะออนไลน์
- ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ (www.84000.org)