บุญเดือนสี่ หรือบุญพระเวส บ้างก็เขียนเผวส (คำอ่าน: ผะ - เหวด) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าบุญมหาชาติ เป็นบุญที่มีการเทศน์มหาชาติ หรือมหาเวสสันดรชาดก เป็นนิทานเรื่องยาวจำนวน ๑๓ ผูก หรือ ๑๓ กัณฑ์ ๑,๐๐๐ พระคาถา ซึ่งแสดงถึงจริยวัตรของพระโคตมพุทธเจ้า เมื่อคราวที่พระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ในบุญผะเหวดนี้ ชาวบ้านนิยมทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ไว้ทุกบ้านเรือน สมกับคำกล่าวที่ว่า "กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ "
นิยามและความเป็นมา
บุญผะเหวด เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นบุญประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ก็พอจะอนุมานได้ถึงวิถีทั่วไปของชาวอีสานว่า เมื่อต้นจิกและต้นจาน ออกดอกผลิบานราวต้นเดือน ๓ ในเวลานั้น พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติ และในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิ หากผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติ จบภายในวันเดียว พร้อมทั้งบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพภูมิที่ดีในวันข้างหน้า
การทำบุญผะเหวด เป็นการทำบุญเนื่องด้วยการรำลึกถึงอดีตชาติสุดท้ายของพระโคตมพุทธเจ้า เมื่อคราวเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร และได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างแก่กล้า บรรพบุรุษชาวอีสานได้นำมาประสมประสานกับการละเล่นพื้นบ้านให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริง ตามนิสัยรักสนุกของชาวอีสานแต่กำเนิดนั้นเอง
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ เป็นงานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลมนุษยชาติเป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการพบปะสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า
กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ
บุญผะเหวดนี้ นิยมกระทำกันในภาคอีสานจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ส่งเสริมขึ้นมากเป็นพิเศษ ให้เป็นงานเทศกาลประจำปีของจังหวัดและมีโครงการของหน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชนเข้าร่วมอีกมากมาย เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว มีผู้มาเข้าชมงานเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี เป็นบุญประเพณีที่มีการเทศน์มหาชาติ เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยกำหนดให้เป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัด เป็นการอนุรักษ์และสืบสานจารีตประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สู่ชนรุ่นหลังสืบไป ดังบรรพบุรุษได้ผูกผญาอีสาน ความว่า
ฮีตหนึ่ง พอเถิงเดือนสี่ได้ให้เก็บดอกบุปผา มาลาดวงหอมสู่คนเก็บไว้ อย่าได้ไลหนีเว้น แนวคองตั้งแต่เก่า ไฟทั้งหลายสิแล่นเข้าเผาบ้านสิเสื่อมสูญ ให้ฝูงซาวเฮาแท้อย่าไลคองตั้งแต่ก่อน มันสิหมองเศร้าเมืองบ้านสิทุกข์จนแท้แหล่ว
ชาวอีสานจะจัดทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด จะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่าวันโฮมบุญ เมื่อถึงวันดังกล่าว พุทธศาสนิกชนจะมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร ส่วนบริเวณรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย
ในบางท้องถิ่นจะทำบุญเดือนนี้ในเดือนสามรวมกับบุญข้าวจี่และบุญกุ้มข้าวใหญ่ ให้เป็นบุญเดียวกัน ส่วนเดือนสี่ก็เว้นไว้ บุญผะเหวดส่วนมากจะกระทำกันในเดือนสี่ แต่จะกำหนดเอาวันใดนั้น ก็แล้วแต่ความพร้อม เพราะว่าต้องมีการปรึกษาหารือและลงมติกันระหว่างผู้นำในหมู่บ้าน เช่น ผู้อาวุโส กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพระสงฆ์ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ในชุมชนนั้น
ระเบียบพิธีการ
วันงานในบุญผะเหวด
โดยทั่วไปแล้ว นิยมกำหนดวันงานบุญผะเหวด ที่สำคัญ คือวันโฮม (วันรวม) และวันฟังเทศน์
เมื่อถึงวันโฮม หรือวันรวม ฝ่ายสตรีแม่บ้านทั้งหลาย จะเป็นผู้จัดบ้านเรือนไว้รับแขกบ้านอื่นและฝ่ายสตรีแม่บ้านจะทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ไว้ทุกบ้านเรือน เตรียมของหวาน หมากพลู บุหรี่ และที่นอนไว้คอยรับแขกด้วย เพราะอาจจะมีผู้มาพักค้างคืน ส่วนฝ่ายชายซึ่งเป็นพ่อบ้านจะพากันไปเตรียมการที่วัด จัดสถานที่ ทำที่ฟังเทศน์ ประดับประดาธรรมาสน์ ปักธงทิวไว้รอบวัด และทำที่หออุปคุต รูปนก รูปสัตว์ แขวนไว้ที่ศาลาการเปรียญ สำหรับพระภิกษุ - สามเณร ก็เตรียมสถานที่ต้อนรับพระภิกษุ - สามเณร ที่มาจากบ้านอื่น ที่จะต้องมาพักแรมเพื่อร่วมเทศน์ในวันรุ่งขึ้น
ในตอนเย็นของวันโฮม (วันรวม) จะมีการอัญเชิญพระอุปคุต จากแหล่งน้ำมาสู่ศาลาวัด เนื่องจากการจัดงานบุญผะเหวด หรืองานเทศน์มหาชาติ นิยมอัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชคลาภแก่พุทธศาสนิกชน ในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่าอัญเชิญมาจากสะดือมหาสมุทร
เหตุที่ต้องมีการอัญเชิญพระอุปคุต มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในอดีตพระอุปคุต ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางมหาสมุทร สามารถปราบภูตผีปีศาจได้ เมื่อครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากที่ต่างๆ มาบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาใหม่ เสร็จแล้วจะทำการฉลองจึงทรงปริวิตกถึงมารผู้เป็นศัตรูคู่กรรมของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ไปนิมนต์พระอุปคุตมาในพิธีฉลองนั้น
เมื่อมารรู้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราช จะฉลองสถูปเจดีย์ ก็มาแสดงฤทธิ์โต้ตอบกับพระอุปคุต ครั้งสุดท้ายพระอุปคุตได้เนรมิตหนังสุนัขเน่า ผูกแขวนคอมารไว้ มารไม่สามารถแก้ให้หลุดได้ ในที่สุดมารก็ยอมแพ้ พระอุปคุตจึงแก้หนังสุนัขออกจากคอมารและนำเอาตัวไปกักขังไว้บนยอดเขา การฉลองพระสถูปเจดีย์ครั้งนั้นจึงปลอดภัยและสำเร็จลงด้วยดี
ด้วยเหตุความเป็นมาดังกล่าว บุญผะเหวดจึงนำเรื่องราวของพระอุปคุตมาเกี่ยวข้อง โดยถือความเชื่อจากเรื่องราวดังกล่าวนั้น จัดเป็นหอเล็กๆ ข้างในบรรจุอัฐบริขารไว้ครบชุด เรียกว่าหออุปคุต ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ เพื่อให้งานบุญผะเหวดมีความสงบเรียบร้อยด้วยประการทั้งปวง
กิจกรรมในบุญผะเหวด
ในประเพณีบุญผะเหวด มีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
๑. การใส่หนังสือ เมื่อได้กำหนดวันงานแล้ว จะกำหนดการใส่หนังสือ คือ เอาหนังสือใบลาน หรือลำผะเหวด มาแบ่งย่อยๆ ออกประมาณ ๓๐ - ๔๐ ผูก เป็นชุด แล้วนำเอาหนังสือที่แบ่งไว้นั้น ไปให้ตามวัดต่างๆ เพื่อพระสงฆ์จากวัดนั้นๆ จะนำไปเทศน์ตามวันที่กำหนดไว้ โดยที่พระจะทราบเองว่าใบลานชุดของตัวเองได้มานี้อยู่กัณฑ์ไหน เมื่อถึงผูกของตนก็จะนำขึ้นไปเทศน์และทั้งหมดนั้นจะเป็นอักษรตัวธรรม การกระทำเช่นนี้เรียกว่าการใส่หนังสือ
๒. ธงทิว ส่วนมากจะทำเป็นรูปช้าง ม้า เจดีย์ และอื่นๆ ขึงให้ยาวประมาณ ๑๐ เมตร ปักอยู่รอบบริเวณวัด จำนวน ๑,๐๐๐ ผืน ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ครบ ๑,๐๐๐ คาถาเหมือนกับข้าวพันก้อน จะปักไว้หน้าพระพุทธรูป หรือ ตามธรรมาสน์ หรือ วางไว้ตามต้นเสาธงทิว
๓. การแห่ผะเหวด และการแห่ข้าวพันก้อน ในตอนเย็นของวันโฮมจะมีการไปรวมกันที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสมมติกันว่าเป็นป่า ตามเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดก และพากันแห่ผ้าซึ่งเขียนภาพเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เข้าสู่หมู่บ้าน ตามระยะทางจะมีผู้ตั้งหม้อน้ำหอม ไว้ สำหรับให้ผู้ที่แห่ผะเหวดไว้เอาดอกไม้จุ่มเป็นการบูชาพระเวสสันดร พอถึงบริเวณวัดก็จะนำผ้าไปขึงไว้บริเวณรอบศาลาการเปรียญ หมู่บ้านบางแห่งจะแห่ข้าวพันก้อนไปด้วย แต่ส่วนใหญ่นิยมแห่ข้าวพันก้อนในตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น
๔. แหล่ผะเหวด ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก มีคติสอนใจหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องทานบารมี ทำให้คนฟังมีความซาบซึ้งในเนื้อหาและสนุกสนานในทำนองเทศน์ไปด้วย การเทศน์ทำนองดังกล่าว เรียกว่าแหล่ผะเหวด ชาวบ้านจะไปนิมนต์พระเสียงดีมาเป็นพิเศษเรียกว่าเทศน์เสียง พระนักเทศน์เสียงเก่าๆ เป็นพระนักเทศน์อาชีพ มีผู้ฟังนิยมมากเหมือนกับหมอลำ ที่ลำเก่งๆ
๕. การแห่กัณฑ์หลอน ในขณะที่พระภิกษุกำลังเทศน์มหาชาติอยู่นั้น ชาวบ้านจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ หาดนตรีพื้นบ้าน แห่กันไปในหมู่บ้าน เพื่อเรี่ยไรทรัพย์สินเงินทองของชาวบ้านมาทำเป็นกัณฑ์เทศน์ เมื่อรวบรวมได้พอสมควรแล้ว ก็จะแห่เข้ามาในวัดโดยไม่บอกกล่าวไว้ล่วงหน้า กัณฑ์เทศน์ที่ลักลอบเข้ามาเช่นนี้ เรียกว่ากัณฑ์หลอน ส่วนมากกัณฑ์หลอนจะเข้ามาตอนบ่ายหรือตอนค่ำ ซึ่งมักจะไม่ตรงกับการเทศน์ กัณฑ์มัทรีกุมาร ชูชก มหาราช ถ้ากัณฑ์หลอนเข้ามาในช่วงพระรูปใดกำลังเทศน์อยู่ พระรูปนั้นก็จะได้รับกัณฑ์หลอนนั้นเอง
ขั้นตอนพิธีทำ
เมื่อกำหนดวันจัดงาน ชาวบ้านจะช่วยกันหาดอกไม้มาตากแห้งไว้ ช่วยกันฝานดอกโน (ทำจากลำต้นหม่อน) งานนี้เป็นงานใหญ่ทำติดต่อกัน ๓ วัน
วันแรกของงาน ตอนเย็น (บ่าย ๆ) จะมีการแห่พระอุปคุต รอบบ้านให้ชาวบ้านได้สักการบูชา แล้วนำไปประดิษฐานไว้หออุปคุต ภายในบริเวณงานเพราะเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์เถระผู้มีฤทธิ์ เนรมิตกุฏิอยู่กลางสะดือมหาสมุทร สามารถขจัดเภทภัยทั้งมวลได้
วันที่ ๒ ของงานเป็นการแห่พระเวสสันดร เข้าเมือง แต่ละคุ้มวัดจะจัดขบวนแห่แต่ละกัณฑ์ ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ แห่รอบเมือง ตอนเย็นมีมหรสพสมโภชน์
วันที่ ๒ และ ๓ จะเป็นวันที่ญาติพี่น้องที่รู้ข่าวการทำบุญมหาทาน จะมาร่วมทำบุญโดยนำข้าวสาร อาหารแห้ง มาร่วมสมทบ และร่วมรับประทานอาหารตลอดทั้งวัน พร้อมทั้งนำอาหารต่างๆ ไปฝากญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ด้วย พร้อมทั้งร่วมทำโรงทานเลี้ยงข้าวปุ้นบุญผะเหวด ผู้คนที่มาในงานสามารถรับประทานได้ตลอดเวลา (ฟรี) ผู้ที่ร่วมจัดทำโรงทาน จะเป็นชาวบ้าน ร้านค้า และหน่วยงานราชการ มาตั้งโรงทานมากมาย
วันที่ ๓ ของงานเริ่มตั้งแต่เช้ามืด ประมาณตี ๔ ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเสียบไม้จำนวน ๑,๐๐๐ ก้อน เพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์คาถาพัน เรียกว่าข้าวพันก้อน ชาวบ้านจะพากันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาวัด มีหัวหน้ากล่าวคำบูชา ดังนี้
นะโม นะไม จอมไตรปิฎก ยกออกมาเทศนาธรรม ขันหมากเบ็งงานสะพาส ข้าวพันก้อนอาดบูชา ซาเฮาซา สามดวงยอดแก้ว ข้าไหว้แล้วถวายอาดบูชา สาธุ (กล่าว ๓ จบ)
ว่าครบแล้วนำขึ้นไปศาลาโรงธรรม แล้วญาติโยมพากันทำวัตรเช้า อาราธนาศีล อาราธนาธรรม โดยอาราธนาเทศน์มหาเวสสันดรชาดกโดยเฉพาะ การอาราธนาเทศน์นั้น ถ้าไม่ต้องว่ายาวจะตัดบทสั้นๆ ก็ได้ ให้ขึ้นตรง "อาทิกัลยาณังฯ เปฯ อาราธนัง กโรม " เท่านี้ก็ได้
แล้วพระสงฆ์จะเริ่มเทศน์สังกาด เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนาเริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน เมื่อเทศน์สังกาดจบแล้วจึงเริ่มเทศน์กัณฑ์ทศพร ไปจนจบนครกัณฑ์ อันเป็นกัณฑ์ที่ ๑๓ โดยเทศน์แต่เช้ามืดไปจนค่ำ จบแล้วจัดขันขอขมาโทษ พระสงฆ์ให้พรเป็นเสร็จพิธี ในวันที่ ๓ นี้เอง ชาวบ้านชาวเมืองจะแห่กัณฑ์หลอนมาร่วมถวายกัณฑ์เทศน์ตลอดทั้งวัด
การเทศน์มหาชาติ นั้นในอดีตจะเทศน์ให้จบทั้งพระพันคาถาในวันเดียว ตั้งแต่เวลาเช้ามืดจนถึงค่ำมืดเลยทีเดียว ชาวอีสานถือคติว่า ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติ ครบพันพระคาถาในวันเดียว พร้อมทั้งบำเพ็ญคุณงามความดีไปด้วย ผู้นั้นจะมีบุญบารมีมากไม่ตกนรก และจะได้ไปเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัปป์นี้ คือ พระศรีอริยเมตไตรย หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า พระศรีอาริย์
ลักษณะกัณฑ์เทศน์ในบุญผะเหวด
โดยทั่วไปแล้วกัณฑ์เทศน์ ในประเพณีบุญผะเหวด จะมี ๒ ลักษณะ คือ
๑. กัณฑ์หลอน เป็นการแห่กัณฑ์เทศน์มา ถึงบริเวณที่พระกำลังเทศน์ก็ถวายกัณฑ์เทศน์โดยไม่เจาะจงว่าจะเป็นพระสงฆ์รูปใด
๒. กัณฑ์จอบ เป็นกัณฑ์เทศน์ที่กลุ่มผู้ถวายปรารถนาจะถวายเฉพาะภิกษุที่ตนชอบ เคารพศรัทธา จึงมีการส่งคนไปสอดแนมว่าขึ้นเทศน์หรือยัง ภาษาอีสานเรียกว่าจอบ หมายถึงแอบดู จึงเรียกกัณฑ์เทศน์ประเภทนี้ว่ากัณฑ์จอบ
มหาเวสสันดรชาดก
ปฐมเหตุมหาเวสสันดรชาดก
พระพุทธองค์สมัยเมื่อเสด็จละจากมหาวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ อันเป็นราชธานีแห่งแคว้นมคธสู่นครกบิลพัสดุ์ แขวงสักกชนบท เพื่อบำเพ็ญญาตัตถจริยาโปรดพระญาติมีพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาเป็นประธาน อันพระกาฬุทายี เป็นผู้สื่อสารและนำเสด็จไปประทับยังนิโครธาคาม ไม่ห่างจากมหานคร
เมื่อบรรดาศากยราชญาติประยูร พากันเสด็จไปเฝ้าที่นิโครธาราม ก็ทรงประจักษ์ว่า พระทัยของประยูรญาติบางส่วน ยังไม่อยู่ในฐานะควรแก่การรับคำสั่งสอน เพราะมีพระญาติวงศ์รุ่นสูงชันษาบางพระองค์ แสดงอาการทระนงเป็นเชิงว่า "ข้าเกิดก่อน เจ้าชายสิทธัตถะ" แม้จะแสดงความคารวะนบไหว้หรือสนพระทัยต่อพระพุทธโอวาทก็เกรงจะเสียเชิงของผู้เห็นโลกมาก่อน จึงพากันประทับอยู่ห่างๆ ด้วยพระอาการเคอะเขิน
พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอิทธิปาฎิหารย์ในที่ประชุม เพื่อให้หมู่พระญาติสิ้นทิฏฐิมานะ เบื้องนั้น ฝนอันมหัศรรย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนก็ตกลงมา เมื่อเหล่าศากยะ ผู้ได้รับความเย็นกายด้วยสายฝน เย็นใจด้วยกระแสธรรม และกราบถวายบังคมลาพากันคืนสู่พระราชนิเวศน์แล้ว แต่นั้นก็ย่างเข้าสู่เจตสนธยากาล แสงแดดอ่อนสาดฝาละอองฝนที่เหลือตกค้างมาแต่ตอนบ่าย ทำให้เกิดบรรยากาศราวกับจะกลายเป็นยามอรุณ ดอกไม้ในสวนเริ่มเผยอกลีบอย่างอิดเอื้อนเหมือนหลงเผลอ แม้นกก็บินกลบรวงรังอย่างลังเล ภิกษุทั้งหลายกำลังชุมนุมสนทนาถึงฝนอันมหัศจรรย์และสายัณห์อันเฉิดฉาย ลงท้ายก็พากันเทิดทูนพุทธบารมีที่บันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปแล้วอย่างพิศวงยิ่ง
พระพุทธองค์เสด็จสู่ลงสนทนาของภิกษุพุทธสาวก เมื่อทรงทราบถึงมูลเหตุอุเทศแห่งการสนทนานั้น ก็ตรัสแย้มว่า ฝนนี้เรียกว่าฝนโบกขรพรรษ ที่ตกลงมาในปัจจุบันนี้ หาชวนอัศจรรย์ไม่ แม้ในอดีตกาล เมื่อทรงอุบัติเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ นามว่าเวสสันดร ก็ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม จนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษ ได้ตกลงมานั่นสิอัศจรรย์กว่า ภิกษุทั้งหลายต่างพากันกราบทูลพระมหากรุณาให้นำเรื่องครั้งนั้นมาแสดง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเรื่องราวพิสดาร แบ่งเป็น ๑๓ กัณฑ์ ๑,๐๐๐ พระคาถา
เทศน์มหาชาติ ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ โดยสังเขป
เนื้อหากัณฑ์เทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์โดยย่อ ดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร
กัณฑ์ทศพร เป็นกัณฑ์เทศน์ที่ว่าด้วยอดีตกาลโพ้น ก่อนสมัยพุทธกาลนานหลายกัปป์ กล่าวถึงพระเจ้ากรุงสญชัย พระโอรสพระเจ้าสีวีราช แห่งกรุงสีพี ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาพระเจ้ากรุงมัททราช พระนามผุสดี ผู้ซึ่งได้รับพร ๑๐ ประการ หรือทศพรจากพระอินทร์ เทพผู้เป็นใหญ่
ด้วยมูลเหตุดังนี้ พระนางผุสดี เมื่อสิ้นพระชาติที่ทรงกำเนิดเป็นพระนางสุธรรมา และด้วยพระบารมีแก่กล้า พระนางเสด็จสู่สวรรค์อุบัติเป็นเทพธิดาผุสดี เป็นพระอัครมเหสีแห่งอินทรเทพ
ครั้นถึงคราต้องทรงจุติจากสวรรค์ พระอินทรเทพได้ประทานพร ๑๐ ประการ ดังนี้
- ๑) ได้บังเกิดในปราสาทแห่งพระเจ้ากรุงสีพี
- ๒) มีพระเนตรดำขลับประดุจตาลูกเนื้อทราย
- ๓) พระขนงดำสนิท
- ๔) ทรงพระนามว่าผุสดี
- ๕) มีพระโอรสทรงพระเกียรติยศยิ่งกษัตริย์ทั้งปวงและมีพระศรัทธาในพระกุศลทั้งปวง
- ๖) เมื่อทรงพระครรภ์ อย่าให้พระครรภ์โย้นูนดังสตรีมีครรภ์ทั่วไป
- ๗) พระถันงาม เวลาทรงพระครรภ์ก็มิดำและหย่อนคล้อย แม้กาลเวลาล่วงไป
- ๘) พระเกศาดำสนิทประดุจสีปีกแมลงค่อมทอง
- ๙) พระฉวีละเอียดงามเป็นนวลละออง ดังทองธรรมชาติปราศจากราคี
- ๑๐) ขอให้ทรงบารมี ทรงอำนาจไว้ชีวิตนักโทษประหารได้
มิใช่เพียงพร ๑๐ ประการ ที่หนุนเนื่องให้พระนางผุสดีได้เป็นพระพุทธมารดาในชาติกาลต่อมา ครั้งอดีตชาติ พระนางเคยเฝ้าถวายแก่นจันทร์แดงเป็นพุทธบูชา แก่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งทรงอธิษฐาน ตั้งพระปรารถนาให้ได้เป็นพระพุทธมารดาในอนาคตชาติด้วย
๒. กัณฑ์หิมพานต์
กัณฑ์หิมพานต์ เป็นกัณฑ์เทศน์ที่ว่าด้วยเทพธิดาผุสดี พระอัครมเหสีแห่งพระอินทรเทพ ทรงจุติจากสวรรค์ลงมาถือกำเนิดเป็นพระธิดากษัตริย์มัททราช มีพระนามผุสดี ดังทศพรประการที่ ๔ ที่ทรงขอไว้ ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งกรุงสีพี เมื่อมีพระโอรสนามว่าพระเวสสันดร ด้วยทรงประสูติในตรอกพ่อค้า ก็ทรงได้สมพระปรารถนาในทศพรประการที่ ๕
ด้วยพระกุมารเวสสันดรนั้น ทันที่ประสูติจากพระครรภ์ ก็ทรงทูลขอทรัพย์บริจาคทันที และเมื่อทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ทรงสร้างทานศาลาขึ้น ๖ แห่ง สำหรับบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้โดยถ้วนหน้า
ในวันที่พระเวสสันดรประสูตินั้น ทรงได้ช้างเผือกขาวบริสุทธิ์ที่แม่ช้างชาติฉัททันต์นำมาถวายไว้ในโรงช้าง ชาวสีพีขนานนามช้างว่าปัจจัยนาเคนทร์ ด้วยเป็นช้างมงคลที่แม้ขับขี่ไปในที่ใดก็จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
กาลต่อมา เมื่อเมืองกลิงคราษฎร์ เกิดข้าวยากหมากแพง ด้วยฝนฟ้าแล้งมิตกต้องตามฤดูกาล พระเจ้ากลิงคราษฎร์มิอาจทรงแก้ไขได้ แม้จะทรงรักษาอุโบสถศีลครบกำหนด ๗ วันแล้วก็ตาม จนต้องทรงแต่งตั้งพราหมณ์ ๘ คน ไปทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์จากพระเวสสันดร พระเวสสันดรก็ประทานให้ เป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ถึงขั้นกราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัยให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากบ้านเมืองไป
พระเวสสันดรแม้จะประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ จนต้องถูกเนรเทศก็มิทรงย่อท้อที่จะบำเพ็ญทาน ยังทรงทูลขอโอกาสบริจาคทานครั้งใหญ่ที่เรียกว่าสตสดกมหาทาน
ก่อนที่จะทรงจากไป ทรงให้พระนางมัทรี บริจาคทรัพย์ถวายแด่ผู้ทรงศีล และให้พระนางทรงอยู่บำรุงรักษาพระโอรสพระธิดา ทั้งทรงอนุญาตให้อภิเษกสมรสใหม่ได้ แต่พระนางมัทรีขอตามเสด็จไปพร้อมพระโอรสและพระธิดา และได้ทรงพรรณนาถึงความสวยงามและน่าทัศนาของป่าหิมพานต์ถึง ๒๔ พระคาถา เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่า พระนางเต็มพระทัยโดยเสด็จ มิได้ทรงเห็นเป็นเรื่องทุกข์ทรมานแต่ประการใด
๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์
กัณฑ์ทานกัณฑ์ ประดับด้วยคาถา ๒๐๙ คาถา เนื้อความเป็นของสำนักวัดถนน จังหวัดอ่างทอง มิได้ระบุชื่อผู้นิพนธ์ กัณฑ์นี้มีจำนวนพระคาถามากที่สุดในจำนวนมหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์
กัณฑ์ทานกัณฑ์ เป็นกัณฑ์เทศน์ที่ว่าด้วยพระเวสสันดรทรงแจกมหาสัตสดกทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตสดกทาน คือ การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ อันได้แก่ ช้าง ม้า โคนม นารี ทาสี ทาสา สรรพวัตถาภรณ์ต่างๆ อย่างละ ๗๐๐
เมื่อพระเวสสันดร ทรงบริจาคสัตสดกมหาทาน เป็นทาน ๗ สิ่ง สิ่งละ ๗๐๐ ตามที่ทรงทูลขอพระเจ้ากรุงสญชัย พระราชบิดาแล้ว ทรงนำเสด็จพระนางมัทรี และสองพระกุมารกราบทูลลาพระบิดา
พระเจ้ากรุงสญชัยทรงทัดทานนางมัทรีและพระนัดดาทั้งสองไว้ พระนางมัทรีก็ไม่ทรงยอมอีก ด้วยทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะขอตามเสด็จพระสวามี ไปพร้อมพระโอรสพระธิดา ทรงกราบทูลว่า
เมื่อเป็นมเหสีแล้วก็ถือพระองค์เป็นประดุจทาสทาสี ย่อมจงรักภักดีต่อพระสวามี ขอตามเสด็จไปปรนนิบัติประหนึ่งทาสติดตามรับใช้ มิยอมให้พระสวามีไปตกระกำลำบาก ทุกข์ยากพระวรกายแต่เพียงลำพัง ส่วนพระโอรสธิดาเป็นประดุจแก้วตาดวงใจจะทอดทิ้งเสียกระไรได้
พระเจ้ากรุงสญชัยต้องทรงเลิกทัดทานในที่สุด เมื่อพระเวสสันดรทรงกราบบังคมทูลลาพระชนกชนนีแล้ว ทรงเบิกแก้วแหวนเวินทอง บรรทุกราชรถเทียมม้า และทรงโปรยเป็นทานไปตลอดทาง แม้แต่รถทรง ม้าเทียมรถทรง ก็ประทานให้แก่พราหมณ์ที่มาทูลขอไปจนหมดสิ้น แล้วทั้งสองพระองค์ทรงอุ้มพระโอรสและพระธิดา ทรงพระดำเนินไปสู่มรรคาเบื้องหน้า
๔. กัณฑ์วนประเวศน์
กัณฑ์วนประเวศน์ ประดับด้วยคาถา ๕๗ คาถา เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงพระยาเดิน ประกอบกิริยาเดินป่าของพระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี พระกัณหา
กัณฑ์วนประเวศน์ เป็นกัณฑ์เทศน์ที่ว่าด้วยพระเวสสันดร พระนางมัทรี และสองพระกุมาร เสด็จโดยพระบาทเป็นระยะทางถึง ๓๐ โยชน์ จึงลุมาตุลนคร แคว้นเจตราษฎร์ ด้วยพระบารมีเทวดาจึงทรงย่นระยะทาง ให้เสด็จถึงตัวเมืองภายในเวลาเพียงวันเดียว ทั้งสี่พระองค์ได้ประทับแรมที่แคว้นเจตราษฎร์นี้
เมื่อกษัตริย์เจตราษฎร์ ทรงทราบ ได้กราบทูลขอถวายความอนุเคราะห์ทุกประการ ทั้งเชิญเสด็จเสวยราชสมบัติแทนพระองค์ แต่พระเวสสันดรมิทรงรับ ด้วยผิดพระประสงค์ ทรงขอเพียงให้ชี้ทางไปเขาวงกต สถานที่ที่พระองค์ตั้งพระทัยมั่นจะประทับรักษาพระจริยวัตรของนักพรตโดยเคร่งครัดสืบไป
กษัตริย์เจตราษฎร์ สุดที่จะโน้มน้าวพระทัยพระเวสสันดรได้ จำต้องทำตามพระประสงค์ ทรงทำได้เพียงตามส่งเสด็จจนสุดแดนแคว้นเจตราษฎร์และทรงให้พรานเจตบุตร ถวายงานเป็นผู้พิทักษ์ระวังระไว มิให้ภยันตรายใดใดแผ้วพาน และมิให้สิ่งใดหรือใครเข้าไปรบกวนความสงบได้
ณ เขาวงกต ทั้ง ๔ พระองค์ทรงประทับในพระอาศรม ที่พระอินทรเทพ ทรงบัญชาให้พระวิษณุกรรมเทพบุตร เนรมิตไว้ให้พร้อมด้วยเครื่องบรรพชิต บริขารครบถ้วน พระเวสสันดรประทับในพระอาศรมหนึ่งโดยลำพัง พระนางมัทรีกับสองพระกุมารประทับพักพระอาศรมหนึ่ง ทั้งสี่พระองค์ทรงผนวชเป็นพระฤาษี ต่างพระองค์ต่างทรงรักษาพระจริยวัตรของผู้ถือบวชโดยเคร่งครัด สมดั่งพระหฤทัยตั้งมั่นทุกประการ
๕ . กัณฑ์ชูชก
กัณฑ์ชูชก เป็นกัณฑ์เทศน์ที่ว่าด้วยเรื่องในละแวกบ้านทุนวิฐ แคว้นกลิงคราษฏร์ มีชูชก พราหมณ์เข็ญใจเที่ยวขอทานเขากิน เมื่อเก็บเงินได้มากถึง ๑๐๐ กษาปณ์ ก็นำไปฝากเพื่อนพราหมณ์ผัวเมียคู่หนึ่งไว้ แล้วเที่ยวตระเวนขอทานต่อไป ชูชกหายไปนาน จนพราหมณ์ผัวเมียคิดว่าพราหมณ์ชูชกไม่กลับมาแล้วประกอบกับเกิดขัดสนยากจนลง ชวนกันใช้เงินของชูชกกันหมด เมื่อชูชกกบลับมาทวงไม่มีจะคืนให้จึงยกนางอมิตตดา ใช้หนี้แทน
ชูชกได้นางอมิตตดา ซึ่งนอกจากจะเป็นลูกที่ดี คือ กตัญญูต่อพ่อแม่ ทดแทนพระคุณโดยยอมตัวเป็นของชูชกแล้ว ยังเป็นเมียที่ประเสริฐ แม้ชูชกจะแก่คราวปู่ นางก็ปรนนิบัติชูชกเป็นอย่างดี มิได้ขาดตกบกพร่อง ทำให้พราหมณ์หนุ่มในละแวกนั้นไม่ได้พอใจพราหมณีภรรยาของตน ต่างไปต่อว่าด่าทอทุบตีภรรยาของตน นางพราหมณีทั้งหลายโกรธแค้นจึงไปรุมขับไล่ และด่าว่านางอมิตตดาอย่างรุนแรง
นางทั้งเสียใจและอับอายจนสุดจะทน จึงร้องบอกชูชกว่า จะไม่ทำงานรับใช้สามีอีก ชูชกขอทำงานแทน นางก็ยอมไม่ได้ ด้วยเทือกเถาเหล่ากอของนางไม่เคยใช้สามีต่างทาส
ด้วยเทพยดาฟ้าดินจะทรงให้การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรเพิ่มพูนขึ้นอีก จึงดลใจให้นางอมิตตดารู้เรื่องของพระเวสสันดรและคิดขอสองพระกุมารมาเป็นข้ารับใช้ โดยให้นางแนะชูชกไปขอสองพระกุมาร ชูชกจำใจจากนางเดินทางไปตามหาพระเวสสันดร จนกระทั่งไปถึงเขาวงกต
ด้วยเทพยดาดลใจให้หลงทางไป ชูชกพบพรานเจตบุตรเพราะใช้อุบายลวงล่อจนพรานเจตบุตรหลงเชื่อว่า เป็นผู้ถือพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงสญชัย มากราบทูลเชิญทั้งสี่พระองค์เสด็จกลับกรุงสีพี จึงต้อนรับชูชกเต็มที่ ทั้งเตรียมเสบียงและเตรียมชี้ทางไปสู่พระอาศรมพระเวสสันดร แต่โดยดี
๖. กัณฑ์จุลพน
จุลพน หมายถึง ป่าที่มีต้นไม้น้อยๆ หรือป่าโปร่ง กัณฑ์จุลพน ประดับด้วยคาถา ๓๕ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงคุกพาทย์ หรือรัวสามลา ประกอบกิริยาการแสดงอิทธิฤทธิ์หรือการข่มขวัญ ซึ่งพรานเจตบุตร ได้แสดงแก่ชูชก
กัณฑ์จุลพน เป็นกัณฑ์เทศน์ว่าด้วยพรานเจตบุตร ซึ่งได้รับคำสั่งจากกษัตริย์เจตราษฏร์ ให้ทำหน้าที่เป็นนายด่านประตูป่า คอยห้ามมิให้ผู้ใดไปพบกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ เว้นแต่ราชทูตเท่านั้น รู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของชูชก จึงหลงเชื่อ ให้ที่พักอาศัยและเลี้ยงดูจนอิ่มหนำสำราญ
ครั้นรุ่งเช้าก็จัดเตรียมเสบียงให้ชูชก พร้อมทั้งนำชูชกไปยังต้นทางที่จะไปยังเขาวงกตและชี้บอกเส้นทางที่จะต้องผ่านว่าต้องผ่านเขาคันทมาทน์ อันอุดมด้วยไม้หอมนานาชนิด ถัดไปจะเห็นเขาสีเขียวครามคือ เขาอัญชัน ซึ่งอุดมไปด้วยไม้ผลและสมุนไพรชนิดต่างๆ เดินต่อไปอีกสักครู่จะถึงสวนอัมพวันใหญ่ คือป่ามะม่วง ถัดไปเป็นป่าตาล ป่ามะพร้าวกับต้นแป้ง
จากนั้นจะเป็นป่าไม้ดอกนานาพันธุ์ ที่มีกลิ่นหอมตระหลบอบอวลไปทั้งป่า แล้วจะถึงสระอันอุดมไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด มีขัณฑสกรที่เป็นน้ำตาลที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นบนใบบัว และเป็นเครื่องยาอย่างดีที่หาได้ยาก
พรานเจตบุตร ยังได้แนะทางที่จะไปยังอาศรมของพระอัจจุตฤาษี เพื่อให้ชูชกถามถึงหนทางที่จะไปยังพระอาศรมของพระเวสสันดร ชูชกจำเส้นทางที่พรานเจตบุตรบอกไว้ แล้วอำลาโดยทำประทักษิณ ๓ รอบ จากนั้นจึงออกเดินทางต่อไป
๗. กัณฑ์มหาพน
มหาพน หมายถึง ป่าใหญ่ หรือไพรกว้าง กัณฑ์มหาพน ประดับด้วยคาถา ๘๐ พระคาถา พระเทพโมลี (กลิ่น) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นผู้นิพนธ์
กัณฑ์มหาพน เป็นกัณฑ์ป่าใหญ่ กล่าวถึงชูชกหลอกล่ออจุตฤๅษีให้บอกทางสู่อาศรมพระเวสสันดรแล้วก็รอนแรมเดินไพรไปหา เมื่อถึงอาศรมฤๅษี ชูชกได้พบกับอจุตฤๅษี ชูชกใช้คารมหลอกล่อจนอจุตฤๅษีจึงให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร
กัณฑ์มหาพน เป็นกัณฑ์เทศน์ว่าด้วยชูชกเดินทางผ่านสถานที่สำคัญๆ ตามที่พรานเจตบุตรบอก จนกระทั่งมาถึงอาศรมของอัจจุตฤาษี จึงสอบถามที่อยู่ของพระเวสสันดร พระอัจจุตฤาษีเห็นท่าทีและพฤติกรรมของชูชกครั้งแรกก็ลังเล กลัวว่าชูชกจะมาขอพระชาลี พระกัณหา ไปเป็นทาสหรือไม่ก็ขอพระนางมัทรี จึงไม่บอกทางชูชก แก้ตัวด้วยมธุรสวาจา ยกเหตุผลว่าจะมาเที่ยวขอให้เสื่อมเสียพงศ์พราหมณ์ทำไม
ชูชกจึงกล่าวตอบว่า การมาครั้งนี้เพื่อเยี่ยมเยียนพระเวสสันดรจริงๆ ขอให้ได้เห็นจะได้เป็นกุศล ทั้งยังอ้างว่าตั้งแต่พระเวสสันดรจากเมืองมา ตนยังไม่ได้พบพระเวสสันดรเลย ทำให้พระอัจจุตฤาษีใจอ่อน หลงเชื่อว่าชูชกมาด้วยเจตนาดี เมื่อเห็นว่าพระอัจจุตฤาษีใจอ่อนหลงเชื่อแล้ว ชูชกจึงขอค้างแรมที่อาศรมหนึ่งคืน
รุ่งขึ้น พระอัจจุตฤาษีจัดหาผลไม้ให้และบอกทางไปพระอาศรมของพระเวสสันดรอย่างละเอียด พรรณนาถึงป่าเขา ฝูงสัตว์ร้ายต่างๆ ด้วยเป็นป่าใหญ่ สมกับที่เรียกว่าป่ามหาพน ชูชกจดจำคำแนะนำเส้นทางไว้ แล้วอำลามุ่งหน้าเดินทางไปสู่พระอาศรมของพระเวสสันดร
เห็นได้ว่า คนฉลาดแต่ขาดเฉลียว คนมีปัญญาแต่ขาดสติย่อมพลาดท่าเสียทีได้ พระอัจจุตฤาษี เป็นแบบอย่างของนักพรตผู้ฉลาด แต่ขาดเฉลียว หูเบาเชื่อง่าย
๘. กัณฑ์กุมาร
กัณฑ์กุมาร เป็นกัณฑ์เทศน์ว่าด้วยเรื่องชูชกเดินทางไปยังอาศรมพระเวสสันดรในเวลาจวนค่ำ แต่ไม่คิดจะเข้าเฝ้าทูลขอสองพระกุมารในเวลานั้น ด้วยเกรงว่าพระนางมัทรีจะขัดขวางตามวิสัยผู้เป็นแม่ รอให้พระนางมัทรีเสด็จไปหาผลไม้ และพระเวสสันดรประทับอยู่โดยลำพังในเวลารุ่งขึ้น จึงค่อยเข้าไปขอ
ในคืนนั้น พระนางมัทรีทรงพระสุบิน ด้วยเทวดามาบอกเหตุว่า มีบุรุษร่างกายกำยำ ผิวดำ ถือดาบสองมือ พังประตูอาศรมเข้าไปฉุดกระชากพระนาง ควักพระเนตร ตัดพระพาหาสิ้นทั้งซ้ายขวา ท้ายสุดผ่าพระอุระ ควักดวงพระหทัยแล้วหนีไป
พระนางทรงตระหนักดีว่าทรงฝันร้าย จึงกังวลพระทัยยิ่งนักและไม่วางพระทัย แม้พระเวสสันดรจะทรงทำนายเลี่ยงไปว่า เป็นธาตุวิปริตและทรงปลอบพระนางให้ทรงหายหวาดกลัวและคลายกังวล
ครั้นรุ่งเช้า พระนางก็ยังคงเสด็จไปหาผลไม้ ดังเช่นที่ทรงปฏิบัติทุกวัน ฝ่ายชูชกสบโอกาสดังคิด จึงเร่งเข้าเฝ้าพระเวสสันดรแล้วทูลขอสองพระกุมาร แม้พระเวสสันดรจะทรงอาลัยพระโอรสพระธิดาเพียงใด ก็ต้องตัดพระทัยเพื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณ อันจะยังประโยชน์สุขให้แก่มวลมนุษย์ ยิ่งกว่าสุขของพระองค์เอง
ทั้งสองพระกุมารก็เข้าพระทัยในเหตุผลของพระบิดา จึงยอมเสด็จไปกับชูชก ทั้งสามพระองค์ต้องทรงกลั้นอาลัย พระเวสสันดรต้องสะกดพระโทสะ ด้วยชูชกลงมือเฆี่ยนตีสองพระกุมารตั้งแต่ยังไม่ทันพ้นพระอาศรม
ก่อนจะทรงให้สองพระกุมารกับชูชกไป ได้ทรงตั้งค่าตัวไว้ว่า หากมีผู้ใดต้องการไถ่ตัวสองพระกุมารให้พ้นทาส พระชาลี นั้นทรงตั้งไว้พันตำลึงทอง พระกัณหาเป็นหญิง นอกจากทรัพย์พันตำลึงทองแล้ว ยังต้องประกอบด้วยข้าทาสชายหญิง ช้าง ม้า โคคาวี และโคอศุภราชอีกอย่างละร้อย
๙. กัณฑ์มัทรี
กัณฑ์มัทรี ประกอบด้วยคาถา ๙๐ คาถา เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้นิพนธ์ เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงทะยอยโอด ประกอบกิริยาใคร่ครวญหวนไห้ของพระนางมัทรี เมื่อตามหาพระโอรสและพระธิดาไม่พบ
กัณฑ์มัทรี เป็นกัณฑ์เทศน์ว่าด้วยเมื่อชูชก พาสองพระกุมารไปแล้ว พระอินทรเทพทรงเกรงว่าพระนางมัทรี จะทรงเสด็จกลับจากป่าเร็วกว่าปกติ ด้วยความกังวลที่ทรงฝันร้ายและพระนางจะเสด็จตามสองพระกุมารทัน จึงทรงบัญชาให้เทพยดาสามองค์ แปลงกายเป็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัว คือเสือโคร่ง เสือเหลือง และราชสีห์ นอนขวางทางเสด็จกลับพระอาศรม จนค่ำจึงหลีกทางให้พระนาง
ครั้นพระนางมัทรี เสด็จกลับถึงพระอาศรม ไม่ทรงเห็นสองพระกุมาร ทรงตามหาไม่พบ ก็กันแสงอ้อนวอนทูลถามพระเวสสันดร ถึงสองพระกุมาร พระเวสสันดรไม่ทรงตอบและทรงแกล้งกล่าวตำหนิที่พระนางทรงกลับมืดค่ำให้พระนางเจ็บพระทัยจะได้คลายทุกข์โศกถึงสองพระกุมาร
แม้พระนางจะทรงอ้อนวอนสักเท่าใดก็ไม่ทรงตอบ จนพระนางน้อยพระทัย ทรงออกติดตามพระโอรสพระธิดาทั้งราตรี ลุรุ่งอรุณวันใหม่ พระนางมัทรี จึงเสด็จกลับพระอาศรมด้วยความอิดโรยอ่อนพระทัยอ่อนล้าพระกำลังถึงกับทรงสลบไป
เมื่อพระเวสสันดรทรงแก้ไขให้ทรงฟื้นแล้วจึงทรงบอกความจริงว่า ได้ประทานพระโอรสพระธิดาให้ชูชกไปแล้ว ทรงขอให้พระนางอนุโมทนากับปิยบุตรทาน ด้วย อันจะส่งผลให้พระองค์เสด็จสู่พระสัมมาสัมโพธิญาณ พระนางมัทรีเมื่อทรงทราบความจริงก็ทรงบรรเทาโศกและทรงอนุโมทนาด้วย
จะเห็นได้ว่าพระนางมัทรี เป็นแบบอย่างของภรรยาที่ดี ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อสามี รวมถึงเป็นแม่ที่รักและเป็นห่วงลูกมาก เปรียบลูกเป็นเสมือนแก้วตาดวงใจ
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ
สักกบรรพ แปลว่า ตอนที่ว่าด้วยพระอินทร์ คือท้าวโกสินทร์สักรินทร์เทวราช ผู้เป็นจอมเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กัณฑ์สักกบรรพ ประดับด้วยคาถา ๑๓ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
กัณฑ์สักกบรรพ เป็นกัณฑ์เทศน์ว่าด้วยเมื่อพระเวสสันดรประทานสองพระกุมารให้ชูชกไปแล้ว พระอินทรเทพทรงดำริว่า แม้นมีผู้มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็จะทรงยกให้อีก จะทำให้พระเวสสันดรขาดผู้ปฏิบัติดูแล จึงทรงนิรมิตองค์เป็นพราหมณ์แก่เข้าไปทูลขอพระนางมัทรีและเป็นดังที่ทรงคาด
เมื่อพราหมณ์จำแลงรับพระนางมัทรีมาแล้ว จึงกลับร่างเป็นพระอินทรเทพ ถวายพระนางคืน พร้อมประทานพร ๘ ประการ ตามที่พระเวสสันดรทรงแสดงพระประสงค์ คือ
- ๑. ให้พระบิดาทรงรับพระองค์ กลับไปทรงครองราชย์สมบัติดังเดิม
- ๒. ให้พระองค์มีพระกรุณาและพระปัญญา ที่จะไม่ต้องเข่นฆ่าผู้มีทุจริตร้ายกาจ
- ๓. ให้พระองค์ทรงกอปรด้วยพระเมตตาและพระอำนาจ เป็นที่พึ่งและเป็นที่รักแก่ปวงชน
- ๔. ให้พระองค์ทรงพอพระทัย ตั้งมั่นอยู่แต่พระชายาพระองค์เดียว แม้มีสตรีเป็นที่รักมากเพียงใด ขออย่าให้ทรงลุอำนาจของสตรี จนเป็นทางที่ทุจริตผิดตามมาได้
- ๕. ให้พระโอรสได้ปกครองแผ่นดิน ทรงอำนาจด้วยธรรมปฏิบัติ
- ๖. ให้เกิดภักษาหารมากเพียงพอที่จะบริจาคเป็นทานมิได้ขาด
- ๗. ให้มีทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องอุดหนุนเป็นเครื่องไทยธรรมทานการกุศลของพระองค์มีแต่เพิ่มพูนมิรู้หมดสิ้น เช่นเดียวกับน้ำพระทัยในทางกุศลของพระองค์
- ๘. เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ไป ขอให้บังเกิดในสวรรค์ชั้นสูงมีพระบารมีและมิมีวันเสื่อมถอยลดลงจากพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญ
๑๑. กัณฑ์มหาราช
กัณฑ์มหาราช ประดับด้วยคาถา ๖๓ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และกวีอีก ๒ ท่าน คือพระยาธรรมปรีชา (บุญ) และขุนวรรณวาทวิจิตร
กัณฑ์มหาราช เป็นกัณฑ์เทศน์ว่าด้วยเรื่องชูชกพาชาลีกัณหาเดินดงหลงเข้าไปกรุงสีพีเพราะเทวดาดลใจ พระเจ้าปู่เจ้ายายไถ่เอาหลานไว้ พร้อมเลี้ยงดูชูชก แกกินมากจนท้องแตกตาย ฝ่ายพระเจ้ากรุงสญชัยได้จัดกองทัพไปอัญเชิญพระเวสสันดรกลับคืนวังและชาวเมืองกลิงคะก็คืนช้างคู่บารมีพอดี
ชูชกตั้งใจพาสองพระกุมารกลับไปหานางอมิตตดา ที่เมืองกลิงคราษฎร์ แต่เทพยดาดลใจให้ชูชกเดินทางผิด กลายเป็นเดินทางเข้าสู่กรุงสีพีของพระเจ้ากรุงสญชัย ฝ่ายพระเจ้ากรุงสญชัย คืนก่อนที่จะได้พบสองพระกุมารได้ทรงพระสุบินนิมิตว่า มีบุรุษรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวนำดอกบัวสองดอกมาถวาย ซึ่งโหรหลวงทำนายว่า จะมีพระญาติใกล้ชิดที่พลัดพรากไปกลับสู่พระนคร
รุ่งขึ้น ชูชกก็มีโอกาสนำสองพระกุมารเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดี ทั้งสองพระองค์ดีพระทัยยิ่งนัก พระราชทานสิ่งของไถ่องค์พระนัดดาทั้งสองตามที่พระเวสสันดรทรงกำหนดไว้และทรงให้จัดเลี้ยงชูชก ด้วยอาหารคาวหวานมากมาย ชูชกบริโภคเกินขนาดจนไฟธาตุไม่อาจเผาผลาญได้ อาหารไม่ย่อย สุดท้ายก็ถึงแก่จุกตาย ทรัพย์ที่ได้รับก็ถูกริบเข้าคลังหลวง หลังจากที่ประกาศให้วงศาคณาญาติให้มารับ แล้วไม่มีผู้ใดมารับ
หลังจากที่พระเจ้ากรุงสญชัยทรงสดับเรื่องราวจากพระนัดดาทั้งสองที่ต้องระกำลำบากกับพระชนกชนนี พระเจ้ากรุงสญชัยก็ทรงเตรียมยกพยุหยาตราไปรับพระเวสสันดรกับพระนางมัทรีกลับพระนคร ในวันรับเสด็จ พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ๘ คน นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาถวายคืน จึงโปรดให้พระชาลีทรงช้างปัจจัยนาเคนทร์นำขบวนสู่เขาวงกต
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์
กัณฑ์ฉกษัตริย์ คำว่าฉ หรือฉะ แปลว่า๖ (หก) เป็นกัณฑ์เทศน์ว่าด้วยเรื่อง ๖ กษัตริย์มาพบกันเกิดสลบไปทั้งหมด ร้อนถึงพระอินทร์รู้เหตุเลยบันดาลให้ฝนตกใหญ่ (ฝนโบกขรพรรษ) เมื่อทั้งหมดฟื้นคืนชีพแล้วได้ขออภัยต่อพระเวสสันดรและเชิญเข้าไปปกครองกรุงสีพี
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงตระนอน ประกอบกิริยานอนหลับใหลของกษัตริย์ ๖ พระองค์ เมื่อได้ทรงพบกัน
พระชาลีทรงช้างปัจจัยนาเคนทร์เป็นทัพหน้า เสด็จถึงเขาวงกตก่อนเพื่อเตรียมรับเสด็จพระเจ้ากรุงสญชัย เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จถึงเขาวงกต ทรงพระดำริว่าหากเสด็จเข้าไปพร้อมกันทุกพระองค์ จะเป็นเหตุให้ทุกข์โศกสาหัสจนระงับมิได้ จึงเสด็จเข้าสู่พระอาศรมแต่พระองค์เดียวก่อน พอทุเลาโศกลงบ้างแล้ว จึงจะให้พระนางผุสดีและสองพระกุมาร ตามเสด็จเข้าไป
แม้กระนั้น เมื่อทั้งสามพระองค์เสด็จเข้าไปในพระอาศรม พระนางมัทรีซึ่งมิอาจทรงหวังได้เลยว่า จะได้พบสองพระกุมารอีก ครั้นได้ทรงพบกัน จึงต่างกันแสงพิรี้รำพัน ทั้งเศร้าโศรกและยินดี จนข่มพระทัยไว้มิได้ ก็สลบสิ้นสติสมปฤดี ณ ที่นั้นทั้งสามพระองค์ ฝ่ายพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดีและพระเวสสันดร ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ทรงกลั้นโศกมิได้ กันแสงแล้วสลบสิ้นสติสมปฤดีไปเช่นกัน เหล่าพระสนมและข้าราชบริพารก็ล้วนโศกศัลย์ล้มสลบตามกันไป
เหตุครั้งนั้น ทำให้แผ่นพสุธาไหวทั่วทั้งพื้นพิภพ พระอินทรเทพทรงทราบจึงทรงแก้เหตุวิกฤติที่อุบัติขึ้น ทรงดลบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษ ตกลงมา ณ ที่นั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ และผู้คนทั้งหลายต่างฟื้นคืนสติโดยทั่วกัน นั่นเป็นฝนโบกขรพรรษ ที่เคยตกมาสมัยก่อนพุทธกาล ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเล่าโปรดพระอรหันตสาวก อันเป็นพระพุทธปรารภเรื่องพระเวสสันดร
๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ์
นครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์สุดท้ายของมหาชาติเวสสันดรชาดก ถือว่าเป็นกัณฑ์สวัสดีมีชัย เพราะเป็นตอนที่พระเวสสันดรเสด็จกลับเมือง
กัณฑ์นี้ประดับด้วยคาถา ๔๘ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงกลองโยน ประกอบกิริยาการยกขบวนพยุหยาตราของพระเวสสันดร พรั่งพร้อมด้วยขบวนพระอิสริยยศอย่างสมพระเกียรติ
กัณฑ์นครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์เทศน์ว่าด้วยเรื่องผลแห่งทาน ผลแห่งศีล และผลแห่งพระบารมี ๓๐ ทัศ ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ เมื่อกลับมาถึงกรุงสีพีแล้วบังเกิดฝนใหญ่ตกลงมาสร้างความชุ่มชื่นร่มเย็นแก่ชาวเมืองสีพี
เมื่อเหตุทั้งปวงคลี่คลายลง ต่างพระองค์ต่างสงบพระทัยได้แล้ว พระเจ้ากรุงสญชัยจึงขอให้พระเวสสันดร เสด็จกลับไปปกครองบ้านเมืองดังเดิม เหล่าข้าราชบริพารและเหล่าชาวเมืองที่ตามเสด็จพระเจ้ากรุงสญชัยมาต่างก็กราบทูลวิงวอนร้องขอให้พระเวสสันดร ทรงอภัยให้และกลับไปครองสิริราชสมบัติดังเดิม
พระเวสสันดรทรงใคร่ครวญไตร่ตรองเหตุที่ควรจะเป็นและทรงคำนึงถึงพระพรที่ทรงขอจากพระอินทรเทพว่า ให้พระราชบิดารับกลับไปครองสิริราชสมบัติ จึงตัดสินพระทัยเสด็จกลับพระนคร กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ เสด็จกลับกรุงสิพี พร้อมข้าราชบริพารและผู้ตามเสด็จ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องต้อนรับด้วยความปีติยินดีของชาวเมืองที่รักเคารพเทิดทูนพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
พระเวสสันดร ครองนครสีพีจนอายุ ๑๒๐ ปีจึงสวรรคต ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่าสันตุสิต อยู่สวรรค์ชั้นดุสิตก่อนที่จะมาประสูติเป็นสิทธัตถะกุมาร นั้นแล
พระพุทธองค์ทรงประชุมชาดก
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษ ให้ตกในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน.
ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
- พราหมณ์ชูชก ในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.
- นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.
- พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.
- อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.
- ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.
- พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.
- พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.
- พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.
- ชาลีกุมาร คือ ราหุล.
- กัณหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.
- ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.
- ก็พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.
— — ที่มา: อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี
ผ้าผะเหวด
ผ้าผะเหวด คือ ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรเพื่อใช้แห่ในงานบุญผะเหวด ซึ่งสมมติว่าเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง สมัยก่อนช่างแต้มรูปมักเป็นช่างพื้นบ้าน จึงใช้สีสันเลียนแบบธรรมชาติ ไม่เคร่งครัดเรื่องสัดส่วนของรูปร่างคน สัตว์ วัตถุสิ่งของมากนัก ตามคติความเชื่อของชาวอีสาน ผู้ใดฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียวและภายในวันเดียว พร้อมทั้งบำเพ็ญคุณงามความดีไปด้วย จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตรย
ลักษณะเด่นของผ้าผะเหวด
- ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบไม่เคร่งครัด ไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่วิจิตรบรรจง สื่อความหมายแบบซื่อตรง ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะอิสระ
- ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สื่อถึงพระพุทธศาสนา สะท้อนตัวตนคนอีสานที่ซื่อ ๆ ง่าย ๆ มีความสนุกสนาน
รูปลักษณ์ผ้าผะเหวดอีสาน
เมื่อสำรวจผ้าผะเหวดอีสานแบบผ้าวาดม้วนยาว สามารถพบได้ในชุมชนขนาดใหญ่ระดับตำบล เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง คือ มีวัดหลายแห่ง มีพระเณรบวชเรียนอย่างต่อเนื่อง มีพระเถระที่ใส่ใจเรียนรู้การอ่านใบลาน มีมรรคทายก มีผู้ใหญ่บ้าน มีชาวบ้านที่ให้ความสำคัญแก่จารีตประเพณีที่เรียกว่าฮีตสิบสอง โดยให้ความสำคัญมากที่สุดแก่ประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งเรียกว่าประเพณีบุญใหญ่
ผ้าผะเหวดอีสานแบบม้วนยาว เป็นผลงานพุทธศิลป์ที่เขียนเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เป็นภาพวาดที่ใช้ประกอบการแห่ในประเพณีบุญผะเหวด ใช้ในพิธีเชิญพระเวสสันดร เข้าเมือง และใช้ประดับรอบศาลาการเปรียญ หรือ ศาลาโรงธรรมในประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งเรียกว่าบุญเดือนสี่ หรือบุญมหาชาติ ผ้าผะเหวดแบบโบราณพบได้ทั้งในชุมชนผู้ไทและชุมชนอีสาน ความงามด้านศิลปะพื้นบ้านในผ้าผะเหวดมีระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งนักวิชาการด้านจิตรกรรมปัจจุบัน นิยมและยกย่องศิลปะร่วมสมัยและศิลปะของอารยชนที่เรียกว่างานวิจิตรศิลป์ มากกว่าศิลปกรรมของชาวบ้าน (Folk Art)
ภาพผะเหวดสองมิติแบน ๆ เป็นภาพวาดสีน้ำ มีลักษณะเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน ไม่มีการปรุงแต่งด้านเทคนิค ช่างวาดจะวาดอย่างอิสระ มีความรู้สึก มีจินตนาการ มีชีวิตจริงแบบพื้นบ้าน แสดงผ่านฉาก ผ่านการแต่งกาย ผ่านประเพณี พิธีกรรม และผ่านงานรื่นเริง จุดมุ่งหมายของการวาดภาพผ้าผะเหวด คือ เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยและประกอบการเล่าเรื่อง การเทศน์ การสอนหลักธรรมเป็นหลักใหญ่ และเพื่อตกแต่งสถานที่เป็นหน้าที่รอง ช่างวาดมีศรัทธาเป็นพื้นฐานในการสร้างงาน และได้รับค่าตอบแทนจากผู้ว่าจ้างให้วาด ซึ่งมีศรัทธาในหลักธรรมคำสอน และเชื่อว่าการสร้างภาพผะเหวดได้อานิสงค์เช่นเดียวกับการฟังธรรม
ผ้าผะเหวดแบบม้วนยาว มีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร และมีขนาดยาวประมาณ ๑๓ - ๓๐ เมตร การวาดภาพจะวาดเป็นช่องตามแนวนอน ผ้าผะเหวดขนาดสั้นที่สุดมีพื้นที่ประมาณ ๑๓ ช่อง ขนาดยาวที่สุดประมาณ ๑๘ ช่อง แต่ละช่องความยาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่บรรจุอยู่ในแต่ละช่อง หนึ่งเหตุการณ์เรียกว่า หนึ่งอนุภาค ภาพวาดที่เป็นภาพสามมิติจะวาดเต็มกรอบภาพ เป็นภาพขนาด ๖ นิ้วขึ้นไป ประกอบด้วยภาพวาดทั้งหมด ๑๓ ช่อง หรือ ๑๓ กัณฑ์ ภาพวาดที่เป็นภาพสองมิติแบน ๆ วาดหลายอนุภาคในหนึ่งกรอบภาพ วาดเต็มพื้นที่ เต็มโครงสร้าง ขนาดภาพทั้งคน ทั้งสิ่งมีชีวิต ทั้งอมนุษย์และสิ่งของ มีขนาดเล็กประมาณ ๒ นิ้ว ภาพแนวนี้เป็นฝีมือของช่างพื้นบ้าน มีลักษณะคล้ายภาพวาดลายเส้นแบบโบราณที่ปรากฏในฝาผนังถ้ำและที่หน้าผา โดยทั่วไปเชื่อว่าเป็นภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์
โครงสร้างของนิทานพระเวสสันดร
นิทานเรื่องพระเวสสันดร เขียนเป็นโครงสร้างนิทาน หรือไวยากรณ์นิทาน ได้ดังนี้
- แบบที่ ๑ เป็นโครงสร้างนิทานที่ยาวที่สุดประกอบด้วย พระมาลัยรับดอกบัวบูชา + พระมาลัยและพระอินทร์นำดอกบัวบูชาพระธาตุเกศเกล้าจุฬามณี + พระพุทธองค์โปรดพระญาติพระวงศ์ + เทศน์สังกาส + นิทานพระเวสสันดร + พระมาลัยหรือพระพุทธองค์เสด็จโปรดสัตว์นรก
- แบบที่ ๒ พระมาลัยและพระอินทร์นำดอกบัวบูชาพระธาตุเกศเกล้าจุฬามณี + นิทานพระเวสสันดร
- แบบที่ ๓ นิทานพระเวสสันดร
ในทั้งนี้ได้มีผู้นิยามความหมายของโครงสร้างนิทาน ไว้ว่า
โครงสร้างของนิทาน หมายถึง สิ่งที่กำหนดความเป็นนิทานแต่ละประเภท ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรมหลักของตัวละครที่นำมาเรียงร้อยต่อกันอย่างมีระบบสัมพันธ์กัน การศึกษาโครงสร้างของนิทานวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า นิทานในแต่ละวัฒนธรรมมีกฎในการดำเนินเรื่องของตนเอง (Self regulation) เช่นเดียวกับทีภาษาแต่ละภาษามีไวยากรณ์เป็นของตนเอง โครงสร้างของนิทานจะสะท้อนความคิด ระบบคิด และวัฒนธรรมของเจ้าของนิทาน
เมื่อพิจารณาโครงสร้างนิทานในผ้าผะเหวดแบบแรก ที่ยาวที่สุด ความคิดที่กำกับเนื้อหาของนิทาน คือความคิดเรื่องนรกภูมิ มนุสสภูมิ สวรรค์ภูมิ อันได้รับอิทธิพลจากไตรภูมิพระร่วง ภาพวาดตอนต้นเรื่อง ส่วนที่เป็นปรารภเหตุการเล่านิทานผะเหวดสันดร พระมาลัยและพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนของพุทธศาสนา มีสถานภาพสูงส่งกว่าพระอินทร์และเทวดาบนสวรรค์ แม้ตอนจบในนรกภูมิ พระมาลัย และพระอินทร์ ก็มีสถานภาพเทียบเท่าเทพเจ้าผู้ปลดปล่อยบาป และความทุกข์ให้กับผู้ทำผิดศีลในโลกมนุษย์ โครงสร้างนิทานที่กำกับภาพวาดผ้าผะเหวด คือความเชื่อเรื่องสวรรค์ภูมิ มนุสสภูมิและนรกภูมิ นิทานเรื่องผะเหวดสันดรประกอบด้วยอนุภาคย่อย ที่เสนอตัวอย่างพฤติกรรมที่นำสู่สวรรค์ภูมิและนรกภูมิ เป็นแก่นแกนของเรื่อง ซึ่งไม่ตรงกับแก่นเรื่องในตัวบทลายลักษณ์ด้านวรรณกรรม และด้านกลอนเทศน์ผะเหวด ที่มุ่งเน้นนิพพานหรือการหลุดพ้น ความแตกต่างของแก่นเรื่องแสดงว่า การเขียนภาพผะเหวดของแต่ละชุมชน เป็นสิ่งที่แสดงถึงการคิดต่างอย่างมีเสรีภาพ แหวกจากแนวคิดของศูนย์กลางทางการเมือง ทางศาสนา ทางเศรษฐกิจในเขตนครและเขตเมือง
ส่วนผ้าผะเหวดแบบที่สอง ประกอบด้วยภาพพระมาลัยขึ้นไปไหว้พระเกศเกล้าจุฬามณีบนสวรรค์ พร้อมกับพระอินทร์และเทวดา คู่กับภาพผะเหวด ๑๓ กัณฑ์ โครงสร้างนิทานแนวนี้แสดงความเชื่อว่าการทำบุญ การบำเพ็ญปรมัตถทานหรือมหาทาน เป็นปัจจัยนำไปสู่สวรรค์ ภาพวาดวิถีนี้ไม่กล่าวถึงนรกภูมิ ขนาดของภาพเน้นตัวละครโดยวาดเป็นภาพขนาดใหญ่ แสดงพฤติกรรมและเล่าเรื่องราว แต่ภาพไม่สร้างความรู้สึก ไม่สร้างจินตนาการ ภาพวาดมีลักษณะแข็งทื่อเช่นเดียวกับโครงสร้างของผ้าผะเหวดแบบที่สาม ที่ไม่กล่าวถึงสวรรค์และนรก บอกเล่าเรื่องราวเฉพาะนิทานผะเหวดสันดรเท่านั้น เป็นการวาดโดยประหยัดวัสดุเพื่อวางจำหน่ายโดยเฉพาะ ผู้วาดดูเหมือนขาดศรัทธาในการสร้างงาน ในหนึ่งภาพจะบรรจุเหตุการณ์หนึ่งอนุภาคเท่านั้น การวาดแนวนี้คล้ายกับการวาดจิตรกรรมฝาผนังประดับรอบศาลาโรงธรรม ซึ่งมีขนาดกว้างยาวใหญ่ และมุ่งสอนพุทธศาสนาหลายเรื่อง มีทั้งศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนธรรม ประดับรอบศาลาโรงธรรม โครงสร้างเฉพาะนิทานผะเหวดสื่อความคิด เรื่องอนิจลักษณ์ ความเปลี่ยนแปรของชีวิตและการให้ทาน ไม่ยึดติดในทรัพย์สินทั้งปวง
ภาพผะเหวดในฐานะพุทธศิลป์ที่มีทั้งการวาดแบบผ้าพระบฏและแบบผ้าม้วนยาว แบบภาพพิมพ์และจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้ม งานจิตรกรรมทุกรูปแบบมีหน้าที่สำคัญหลายประการ คือ เป็นภาพประกอบการเล่านิทานเรื่องผะเหวดสันดรให้เข้าใจง่าย ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังใช้ประดับศาลาโรงธรรม และใช้กั้นมุงสนามกลางแจ้งให้เป็นคีรีวงกตหรือเขาวงกต ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเวสสันดรขณะที่บำเพ็ญพรตเป็นดาบส ภาพผะเหวดม้วนยาวกรณีนี้ทำหน้าที่คล้ายฉาก ส่วนบทบาทแฝงเร้นที่สำคัญรองลงมา เกิดจากฝีมือของช่างวาดที่มีความสามารถสูง คุณภาพของภาพวาดเทียบได้กับวิจิตรศิลป์ เส้นและปลายพู่กันที่ระบายในพื้นผ้าสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจ เกิดเป็นรสมหัศจรรย์ตามเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะภาพแนวอีโรติคในกัณฑ์ชูชก กัณฑ์มหาพน กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์เพิ่ม ตอน พระมาลัยหรือพระพุทธเจ้าท่องแดนนรก ภาพแนวอีโรติคเหล่านี้ปรากฏเฉพาะฝีมือช่างพื้นบ้านอีสาน
ภาพผะเหวดที่มีอนุภาคเหตุการณ์อนุภาคเดียว ปรากฏในกัณฑ์ทศพร กัณฑ์จุลพล กัณฑ์มหาพน กัณฑ์วนปเวศน์และสักติกัณฑ์ ภาพผะเหวดที่มีอนุภาคเหตุการณ์หลายภาพ หลายอนุภาค ได้แก่ ปรารภเหตุการเล่าเรื่องผะเหวดสันดร กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์มัทรี นครกัณฑ์ กัณฑ์เพิ่มคือ พระพุทธองค์หรือพระมาลัยโปรดสัตว์นรก กัณฑ์ที่มีหลายอนุภาคเหตุการณ์คือ ๓ - ๗ อนุภาคคือ กัณฑ์มหาราช ความหลายอนุภาคของกัณฑ์นี้ส่งผลต่อการตีความแก่นหลักของเรื่องผะเหวดสันดร ภาพประกอบด้วยชูชกนำสองกุมารหลงทางสู่กรุงสีพี พระเจ้ากรุงสญชัยไถ่ตัวหลานทั้งสองจากชูชก ชูชกบริโภคอาหารจำนวนเจ็ดอย่าง อย่างละเจ็ดหม้อ ชูชกธาตุไฟแตกตาย พระสงฆ์ เณร อำมาตย์ ชาวบ้าน ทำพิธีส่งสกานหรือเผาศพชูชก ชาวบ้านฉลองเล่นรื่นเริงในงานศพชูชก ภาพลักษณ์ของชูชกในกัณฑ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งมี ไม่อดอยาก ไม่ได้ตายเพราะทุกข์ แต่ตายเพราะเสพสุขอย่างมหัศจรรย์ จึงมีผู้ศรัทธาบูชาเหรียญรูปชูชก เพื่อหวังผลความมั่งมีร่ำรวยเป็นสุข
เมื่อพิจารณาภาพผะเหวดม้วนยาวแบบสองมิติแบนๆ แนวจารีต ช่างวาดได้เพิ่มเติมเรื่องราว ซึ่งเป็นคติความเชื่อและเป็นวิถีจริยธรรม ที่เป็นบรรทัดฐานสำคัญของชีวิตประจำวัน คือเรื่องการลงโทษคนชั่ว การให้รางวัลคนดี และได้แสดงความเชื่อมั่นในบารมีของพระพุทธเจ้า บารมีของพระอรหันต์คือพระมาลัย ซึ่งเป็นศาสนบุคคลในประเพณีท้องถิ่น นับได้ว่าชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของผ้าผะเหวดสามารถประกอบสร้างทั้งพุทธศิลป์ คือ ภาพวาดในผ้าขนาดยาวๆ และสามารถต่อเติมวรรณศิลป์ที่เป็นเรื่องเล่าตามคตินิยมของชุมชน โดยไม่ติดกรอบประเพณีบุญผะเหวดแบบวัฒนธรรมหลวง
นอกจากนี้ภาพวาดบางผืน มีการผนวกกัณฑ์และตัดทอนบางกัณฑ์ เช่น ผนวกกัณฑ์จุลพนกับมหาพน หรือตัดทอนกัณฑ์วนปเวศน์และสักติกัณฑ์ การเรียงร้อยเรื่องแบบนี้คล้ายกับการเทศน์ผะเหวดในปัจจุบัน ที่รวบรัดตัดตอนเนื้อเรื่อง เพื่อประหยัดเวลาให้การทำบุญผะเหวดให้เสร็จโดยเร็ว เพราะต้องการเวลาไปทำงานอื่นในชีวิตประจำวัน และผู้ฟังเทศน์มีศรัทธาน้อยลง การทำบุญเป็นไปเพื่อสืบทอดประเพณีฮีตสิบสอง โดยขาดสำนึกทางศาสนาอย่างเข้าถึงแก่นแกนของความหมายหรือปรัชญาธรรม
— — ที่มาของภาพ: หนังสือผ้าผะเหวดโบราณร้อยเอ็ด ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดร้อยเอ็ด
หมายเหตุ: ประวัติผ้าผืนนี้เดิมอยู่ที่วัดป่าบ้านท่าม่วง (วัดป่าศักดาราม) อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาได้นำมาเก็บรักษาที่วัดเหนือท่าม่วง และปัจจุบันเก็บรักษาที่วัดท่าม่วง โดยเขียนบนผ้าเนื้อละเอียด สีสันสวยงาม อักษรที่เขียนกำกับร้อยละ ๙๐ เป็นอักษรธรรรม มีอักษรไทน้อย เป็นส่วนน้อย โดยจะเขียนภาพแล้วกำกับอักษรไว้ โดยพิจารณาจากศิลปะที่เขียนเทียบกับช่วงระยะเวลาประวัติผ้าผืนนี้ ประมาณกันว่าผ้าผืนนี้มีอายุประมาณ ๒๐๐ ปี
ความปลี่ยนแปลงของผ้าผะเหวด
ผ้าผะเหวด เป็นศิลปกรรมของชาวบ้าน (Folk Art) ที่มีการประกอบสร้างอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี บทบาทหน้าที่สำคัญคือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ หน้าที่โดยตรงคือ บอกเล่านิทานพระเวสสันดรผ่านภาพเขียนในหลายลักษณะ เช่น เป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ในพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง ในชุมชนขนาดใหญ่ ชาวบ้านทุกวัยจะพร้อมใจกันกระทำพิธีอัญเชิญสี่กษัตริย์ หรือหกกษัตริย์ คือพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี นางผุสดี และพระเจ้าสัญชัย จากเขาคีรีวงกต ซึ่งเป็นป่าเข้าสู่เมืองคือกรุงสีพี (หรือวัดในหมู่บ้าน) ชุมชนชาวนา ที่พระภิกษุและผู้สูงอายุเข้มแข็ง บรรยากาศตอนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองจะสนุก และชาวบ้านรวมกลุ่มแสดงความสามัคคีอย่างเข้มแข็ง โดยมีความเชื่อกันว่า จะส่งผลให้การเกษตรกรรมในชุมชนได้ผลดี ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์
แต่ในชุมชนเมืองที่ผู้คนค้าขายและรับราชการการแห่ผ้าผะเหวดไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญ บางแห่งตัดพิธีแห่ผ้าผะเหวดออกไป โดยให้เหตุผลว่าเสียเวลา ต้องทำงานอื่น บทบาททางสังคมของผ้าผะเหวดจึงลดลง นอกจากนี้ หากวัดสร้างศาลาการเปรียญขนาดใหญ่จะวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องผะเหวดสันดร (อ่านแบบสำเนียงทางภาคอีสาน) ไว้รอบศาลา ผ้าผะเหวดจึงหมดบทบาทด้านการประดับตกแต่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ใช้สอยสำคัญอีกประการหนึ่ง เยาวชนรุ่นลูกหลานจึงขาดโอกาสได้เห็น ได้สัมผัสกับผ้าผะเหวดในพิธีอัญเชิญสี่กษัตริย์เข้าเมือง ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทสมมติที่ชาวบ้านเป็นผู้แสดงร่วมกัน ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในผลบุญ เมื่อขาดพิธี ความคิดมุมมองที่มีต่อผ้าผะเหวดจึงเปลี่ยนไป เช่น ศรัทธาน้อยลง ความเชื่อมั่นในอานิสงส์ของการฟังเทศน์ให้ครบสิบสามกัณฑ์แล้วได้ขึ้นสวรรค์ ก็สั่นคลอน คงเหลือเฉพาะผู้มีอายุมากที่ฟังธรรม ในชุมชนขนาดเล็กบางวัดมีพระภิกษุเพียงรูปเดียว ความต่อเนื่องของประเพณีและการทำบุญให้ครบทุกขั้นตอนแทบเป็นไปไม่ได้ ขั้นตอนที่ถูกตัดออกคือ การแห่ผ้าและการเทศน์ธรรมแบบครบถ้วนมีคุณธรรม การทำบุญเปลี่ยนแปลงจากการทำบุญเพื่อฟังธรรม เป็นการทำบุญให้ทานที่เน้นการบริจาคให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับแล้ว เสียงการเทศน์แถมสมภาร คือ ประกาศยกย่องให้พรผู้บริจาคเงินดังกลบเสียงเทศน์ผะเหวด จนแทบไม่ได้ยินเสียงเทศน์ผะเหวด ส่งผลให้ตัวบทหรือคัมภีร์ผะเหวดขาดการสื่อสารไปยังชาวบ้าน การกล่อมเกลาทางศีลธรรมด้วย นิทานผะเหวดจึงลดทอนไม่ถูกผลิตซ้ำในด้านการรับสาร
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ วิธีการเขียนภาพผะเหวด วิธีการเขียนในจารีตเดิม ใช้การวาดภาพลายเส้นแล้วระบายสีน้ำ ผู้วาดต้องอ่านนิทานผะเหวดสันดรให้จบ ให้เข้าใจเป็นอะไร ฉากส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวของต้นไม้แซมแทรกในทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นเมือง เป็นบ้าน เป็นป่า โดยพื้นที่ป่ามีต้นไม้ นก ช้าง กวาง สัตว์ป่าและสัตว์น้ำมีมากกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ภาพวาดแบบเก่าที่เป็นสองมิติ ฉากที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติมีมากกว่ารูปตัวละครในทุกกัณฑ์ ส่วนภาพวาดยุคหลัง ที่เป็นภาพสามมิติจะมีเฉพาะรูปตัวละคร ไม่มีฉาก จึงขาดพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ทางวัฒนธรรม ขาดมิติที่ผสานกลมกลืนระหว่างฉากและรูป รูปตัวละครแข็งทื่อไม่สร้างความรู้สึกเชิงสุนทรียภาพ และภาพไม่สอดคล้องกับตัวบททางวรรณกรรม เป็นพุทธพานิชที่มีความง่ายแต่ไม่งาม ภาพวาดถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลง แนวโน้มในอนาคตภาพวาดผ้าผะเหวดอาจเป็นเพียงภาพอดีที่เก่าแก่ ทรุดโทรมตามเวลา สำนึกของกลุ่มชาติพันธุ์ทางพุทธศาสนาในหมู่คนรุ่นใหม่อาจเลือนลาง ขาดความสืบเนื่องกับประเพณีบุญผะเหวด โดยเชื่อว่า พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นกึ่งพุทธกาลที่พยากรณ์ว่า พุทธศาสนาจะสิ้นสุดเมื่อมีอายุครบ ๕,๐๐๐ ปี
ข้าวพันก้อน
ข้าวพันก้อน หมายถึง ข้าวเหนียวทำเป็นก้อนเล็กๆ โดยการแบ่งคนละกัณฑ์ หรือ คุ้มละ ๕ กัณฑ์ ก็ได้ แล้วไปจัดทำข้าวมาตามจำนวนพระคาถาในแต่ละกัณฑ์บ้านละเล็กบ้านละน้อยเข้ากันได้ ๑,๐๐๐ ก้อน และนำมาถวายเป็นพุทธบูชาในวันเทศน์มหาชาติ เป็นการบูชาพระคาถา มีชื่อเรียกต่างๆ ดังนี้