(ตามนัยอรรถกถา) เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ๘ วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณมกุฏพันธนเจดีย์ ในวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน ๖ ของไทย)

วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ หลังจากพระพุทธองค์ ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ ๘ วัน ในวันแรม ๘ ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน ๖ ของไทย) ในวันนี้ นอกจากจะเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แล้ว วันนี้ยังเป็นวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดา สิ้นพระชนม์ (หลังเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย

ความเป็นมาและความสำคัญ

วันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวพุทธ ตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนวิสาขะ กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวันวิสาบูชา ๘ วัน ถ้าหากปีใดเป็นปีที่มีอธิกมาส (คือมีเดือน ๘ สองหน) ก็เลื่อนไปเป็นเดือน ๗ ถึงแม้วันอัฏฐมีบูชา จะเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในเมืองไทยเรามักลืมเลือนกันไปแล้ว จะมีเพียงบางวัดเท่านั้น ที่จัดให้มีการประกอบกุศลพิธีในวันนี้

ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินารา อันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยาน อยู่ในแคว้นมัลละ โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละ แยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือ มีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่าโกสินารกา และฝ่ายใต้ มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่าปาเวยยมัลลกะ ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง ๑๒ กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดี คั่นตรงกลาง

พระพุทธเจ้าทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพาน

พระโคตมพุทธเจ้า ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ ว่าทรงปลงพระชนมายุสังขาร แล้ว อีกสามเดือนจะปรินิพพาน (สร้างสรรค์ภาพโดย ครูเหม เวชกร)

เมืองกุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จ ปรินิพพาน ในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่น มีอยู่คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ที่เลื่อมใสพระตถาคตอย่างยิ่ง มีอยู่มากใน เมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้นจักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต ดังนี้ ฯ

— ที่มา: มหาสุทัสสนสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง ดังนี้เลย ดูกรอานนท์ แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ เป็นกษัตริย์ผู้ได้มูรธาภิเษก เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง ดูกรอานนท์ เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดย ยาวด้านทิศบูรพาและทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ ๗ โยชน์ ดูกรอานนท์ กุสาวดี ราชธานีเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่นและมีภิกษาหาได้ง่าย...
— ที่มา: มหาสุทัสสนสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

ดูบทความหลักที่: วันพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอัฏฐมีบูชาตามพุทธประวัติ

พระมหากัสสปะ ประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระ เป็นเวลา ๗ วัน ก่อนจะอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณมกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ ๘ อันเป็นที่มาของวันอัฏฐมีบูชา

พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละในราตรี ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินารา ตลอด ๗ วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๘ คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนคร เพื่อถวายพระเพลิง

พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๔ คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามถึงสาเหตุ พระอนุรุทธะเถระ แจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" กล่าวคือ หมู่เทวดาเหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะเถระ และภิกษุสาวกทั้ง ๕๐๐ รูป อยู่ในพิธี

ครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระและหมู่ภิกษุเดินทางจากเมืองปาวา หมายจะเข้าเฝ้าพระศาสดา ระหว่างทาง ได้พบกับพราหมณ์คนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพ สวนทางมา พระมหากัสสปะได้เห็นดอกมณฑารพก็ทราบว่า มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ดอกไม้นี้มีเพียงในทิพย์โลก ไม่มีในเมืองมนุษย์ การที่มีดอกมณฑารพอยู่ แสดงว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับพระศาสดา พระมหากัสสปะถามพราหมณ์นั้นว่า ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับพระศาสดาบ้างหรือไม่ พราหมณ์นั้นตอบว่า พระสมณโคดม ได้ปรินิพพานไปล่วงเจ็ดวันแล้ว

ประติมากรรรมรูปพระมหากัสสปะเถระถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อนการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

พระศาสดาปรินิพพานแล้ว คำนี้เสียดแทงใจของพระภิกษุปุถุชนยิ่งนัก พระภิกษุศิษย์ของพระมหากัสสปะบางรูป ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็กลิ้งเกลือกไปบนพื้น บ้างก็คร่ำครวญร่ำไห้ ว่า "พระศาสดาปรินิพพานเสียเร็วนัก" ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว ย่อมเกิดธรรมสังเวชว่า "แม้พระศาสดา ผู้เป็นดวงตาของโลก ยังต้องปรินิพพาน สังขารธรรมไม่เที่ยงแท้เสียจริงหนอ" แต่ในหมู่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น เสียงของสุภัททะ วุฑฒบรรพชิตก็ดังขึ้น "ท่านทั้งหลายอย่าไปเสียใจเลย พระสมณโคดมนิพพานไปซะได้ก็ดีแล้ว จะได้ไม่มีคนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ว่าสิ่งนี้สมควรกับเรา สิ่งนี้ไม่สมควรกับเรา" คำพูดของหลวงตาสุภัททะ เป็นที่สังเวชต่อพระมหากัสสปะยิ่งนัก ท่านคิดว่า

พระผู้มีพระภาคยังนิพพานไปได้ไม่นาน ก็มีภิกษุบาปชนกล่าวจาบจ้วงพระศาสดา จาบจ้วงพระธรรมวินัยเช่นนี้ ถ้าเวลาผ่านไป ก็คงมีภิกษุบาปชนเช่นนี้ กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยเกิดขึ้นเป็นอันมาก

แต่ท่านก็ยั้งความคิดเช่นนี้ไว้ก่อน เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะกระทำสิ่งใดๆ นอกจากจะต้องจัดการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสียก่อน (ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เสร็จสิ้นแล้ว ได้มี การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑ ในเวลาต่อมา)

เมื่อพระมหากัสสปะ และภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงมกุฏพันธนเจดีย์ แล้ว ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ รอบเชิง ตะกอน ๓ รอบ พระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้ว เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า

ขอพระยุคลบาท ของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักรอันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด

เมื่อพระมหากัสสปเถระ ถวายบังคมบาทพระพุทธศพ เพลิงสวรรค์ก็บันดาล ลุกโชติช่วง (สร้างสรรค์ภาพโดย ครูเหม เวชกร)

เมื่ออธิษฐานเสร็จ พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา พระเถระจับยุคลบาทไว้มั่น และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน มหาชนต่างเห็นความอัศจรรย์นั้น ก็ส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ เมื่อพระเถระและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายบังคมแล้ว ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วมพระสรีระของพระศาสดา ด้วยอำนาจของเทวดา ในการเผาไหม้นี้ ไม่มีควันหรือเขม่าใดๆ ฟุ้งขึ้นเลย เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น

เหล่าเจ้ามัลละก็ปะพรมพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยของหอม ๔ ชนิด รอบๆ บริเวณ ก็โปรยข้าวตอก เป็นต้น แล้วจัดกองกำลังอารักขา จัดทำสัตติบัญชร (ซี่กรงทำด้วยหอก) เพื่อป้องกันภัย แล้วให้ขึงเพดานผ้าไว้เบื้องบน ห้อยพวง ของหอม พวงมาลัย พวงแก้ว ให้ล้อมม่านและเสื่อลำแพนไว้ทั้งสองข้าง ตั้งแต่มกุฏพันธนเจดีย์ จนถึงศาลาด้านล่าง ให้ติดเพดานไว้เบื้องบน ตลอดทางติดธง ๕ สีโดยรอบ ให้ตั้งต้นกล้วย และหม้อน้ำ พร้อมกับตามประทีปมีด้ามไว้ตามถนนทุกสาย

พวกเจ้ามัลละนำพระธาตุทั้งหลายวางลงในรางทองแล้ว อัญเชิญไว้บนคอช้าง นำพระธาตุเข้าพระนครประดิษฐานไว้บนบัลลังก์ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ อย่าง กั้นเศวตรฉัตรไว้เบื้องบน แล้วจัดกองกำลังอารักขาอย่างนี้คือ "จัดเหล่าทหารถือหอกล้อมพระธาตุไว้ จากนั้นจัดเหล่าช้างเรียงลำดับกระพองต่อกันล้อมไว้ พ้นจากเหล่าช้าง ก็เป็นเหล่าม้า เรียงลำดับคอต่อกัน จากนั้นเป็นเหล่ารถ เหล่าราบรอบนอกสุดเป็นทหารธนูล้อมอยู่" พวกเจ้ามัลละจะจัดฉลองพระบรมธาตุตคลอด ๗ วัน ต้องการความมั่นใจว่า ๗ วัน นี้แม้จะมีการละเล่นก็เป็นการละเล่นที่ไม่ประมาท

แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

หลังจากนั้น เมื่อข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระสรีระกลายเป็นพระบรมสารีริกธาตุแล้ว เหล่ากษัตริยน์ในนครต่างๆ เมื่อทราบข่าวก็ปรารถนาจะได้พระบรมธาตุไปบูชา จึงส่งสาสน์ ส่งฑูตมาขอพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคของเรา" "พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราจึงมีส่วนที่จะได้พระบรมธาตุบ้าง" เหล่ามัลละกษัตริย์ก็ไม่ยอมยกให้ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานในเมืองของเรา" ดังนั้น กษัตริย์ในพระนครต่างๆ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แคว้นมคธ และกษัตริย์เหล่าอื่นๆ จึงยกกองทัพมาด้วยหวังว่าจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อยกกองทัพ มาถึงหน้าประตูเมือง ทำท่าจะเกิดศึกสงครามแย่งชิงพระบรมธาตุ ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ใหญ่คนหนึ่ง คือ โทณพราหมณ์ หวั่นเกรงว่าจะเกิดสงครามใหญ่ จึงขึ้นไปยืนบนป้อมประตูเมือง ประกาศว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทรงสรรเสริญขันติ สรรเสริญสามัคคีธรรม การที่เราจะมาประหัตประหารเพราะแย่งชิง พระบรมธาตุ ของพระองค์ผู้ประเสริฐ ย่อมไม่สมควร ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงยินดีในการที่จะแบ่งกันไปเป็น ๘ ส่วน และนำไปบูชายังบ้านเมืองของท่านทั้งหลายเถิด เพราะผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก"

โทณพราหมณ์ พราหมณ์ผู้ใหญ่ ผู้แจกพระบรมสารีริกธาตุ ที่กุสินารานคร

ในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตรได้กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ว่า หมู่คณะเหล่านั้นตอบว่า ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นขอท่าน นั่นแหละจงแบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ให้เรียบร้อยเถิด โทณพราหมณ์ รับคำของหมู่คณะเหล่านั้นแล้ว แบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาค ออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากันเรียบร้อย จึงกล่าว กะหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ขอพวกท่าน จงให้ตุมพะนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้า จักกระทำพระสถูป และกระทำการฉลองตุมพะบ้าง ทูตเหล่านั้นได้ให้ตุมพะแก่โทณพราหมณ์ ฯ

พวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพาน ในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาค เป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินาราตอบว่า ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคไม่มี เราได้แบ่งกันเสียแล้ว พวกท่านจงนำพระอังคารไปแต่ที่นี่เถิด พวกทูตนั้นนำพระอังคารไปจากที่นั้นแล้ว ฯ

ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในพระนครราชคฤห์ พวกกษัตริย์ ลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวสาลี พวกกษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์ พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองอัลกัปปะ พวกกษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ พวกเจ้ามัลละเมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองปาวา พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา โทณพราหมณ์ก็ได้กระทำสถูปและการฉลองตุมพะ พวกกษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระอังคารในเมืองปิปผลิวัน ฯ พระสถูปบรรจุพระสรีระมีแปดแห่ง เป็นเก้าแห่งทั้งสถูปบรรจุตุมพะ เป็นสิบแห่ง ทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร ด้วยประการฉะนี้ การแจกพระธาตุและการก่อพระสถูปเช่นนี้ เป็นแบบอย่างมาแล้ว

สถานที่ ที่สันนิษฐานกันว่า เป็นที่โทณพราหมณ์ แจกพระบรมสารีริกธาตุแก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง ๘ ในกุสินารานคร ปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย โดยมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่เป็นที่สังเกต

พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ แปดทะนาน เจ็ดทะนาน บูชากันอยู่ในชมพูทวีป ส่วนพระสรีระอีกทะนานหนึ่งของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุรุษที่ประเสริฐอันสูงสุด พวกนาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม พระเขี้ยวองค์หนึ่งเทวดา ชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในคันธารบุรี อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีกองค์หนึ่ง พระยานาคบูชากันอยู่ ฯ ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้า นั้นแหละ แผ่นดินนี้ ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งแก้วประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ประเสริฐที่สุด พระสรีระของพระพุทธเจ้า ผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่าอันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อันจอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลาย จงประนมมือ ถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ พระทนต์ ๔๐ องค์ บริบูรณ์ พระเกศาและพระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำต่อๆ กันไปในจักรวาล ดังนี้แล ฯ
— ที่มา: พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อที่ ๑๕๙-๑๖๒

ประเพณีวันอัฏฐมีบูชาในประเทศไทย

ประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลอง

ในประเทศไทย พบประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองที่ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยประเพณีนี้มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ในปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยจัดเป็นงานวันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง ณ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดจัดงานในวันวิสาขบูชา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ถึงวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ รวม ๙ วัน กิจกรรมภายในงานมีการแสดง แสง สี เสียง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน จนถึงพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า (จำลอง) มีประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียงเข้าชมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบประเพณีการจำลองถวายพระเพลิงอีกแห่งหนึ่งในภาคกลาง คือที่วัดใหม่สุคนธาราม จัดโดย องค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่มีการสืบสานประเพณีนี้มายาวนาวกว่า ๑๒๐ ปี ซึ่งถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในลุ่มน้ำภาคกลาง ที่รักษาประเพณีนี้มายาวนานที่สุด เป็นประเพณีพื้นบ้านที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขบวนแห่เครื่องสักการะ ตะไล บั้งไฟ มาจุดเพื่อเป็นพุทธสักการะ และมีขบวนพุทธประวัติ จำลองหลักธรรมคำสอน ก่อนที่จะมีพิธีการจำลองการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งมีประชาชนในชุมชนและทั่วไปแห่แหนกันมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

งานประเพณีวันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

การเวียนเทียน

แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน

การเวียนเทียน เป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสฬหบูชา

การเวียนเทียน เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติด้วยความสำรวม เพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่พบเห็น ทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น และชาวต่างประเทศ โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้

  • การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
    • ๑. การอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบาน
    • ๒. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
    • ๓. เตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน
    • ๔. ควรเดินทางมาถึงวัด หรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน ก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
    • ๕. เมื่อเดินทางมาถึงวัด ควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย เพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน
  • การปฏิบัติตนขณะเวียนเทียน
    • ๑. เมื่อเริ่มเวียนเทียน ต้องสำรวมกาย วาจา ใจให้สงบเรียบร้อย
    • ๒. ควรรักษาระยะการเดินให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น เพราะจะให้เสื้อผ้าผู้อื่นเสียหาย หรือทำให้บาดเจ็บได้
    • ๓. ควรเดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไม่เร็วหรือช้าเกินไป หรือเดินแซงกัน
    • ๔. เจริญภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณในรอบแรก พระธรรมคุณในรอบที่สอง และพระสังฆคุณในรอบที่สาม
    • ๕. ไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่ ตลอดจนทำให้ผู้อื่นเกืดความรำคาญหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
    • ๖. เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้

ระเบียบปฏิบัติการเวียนเทียน

พระภิกษุและพุทธศาสนิกชน ถือดอกไม้ธูปเทียน ร่วมเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

การเวียนทียนในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา มีระเบียบการปฏิบัติดังนี้

๑. เมื่อถึงกำหนดวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา ให้ทางวัดประกาศให้พุทธบริษัททราบทั่วกัน (ทั้งชาววัดและชาวบ้าน) และบอกกำหนดเวลาประกอบพิธีด้วยว่า จะประกอบเวลาไหนจะเป็นตอนบ่ายหรือค่ำก็ได้ แล้วแต่สะดวก

๒. เมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัททั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือลานพระเจดีย์อันเป็นหลักของวัดนั้นๆ

ภิกษุอยู่แถวหน้า ถัดไปสามเณร ท้ายสุด อุบาสกอุบาสิกา จะจัดให้ชายอยู่กลุ่มชาย หญิงอยู่กลุ่มหญิง หรือปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่จะกำหนด

ทุกคนถือดอกไม้ ธูปเทียนบูชาตามแต่จะหาได้ และศรัทธาของตน ควรกะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้จนครบ ๓ รอบสถานที่ที่เดิน ไม่หมดเสียในระหว่างเดิน

๓. เมื่อพร้อมกันแล้ว ประธานสงฆ์จุดเทียนและธูป ทุกคนจุดของตนตาม เสร็จแล้ว ถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุด แล้วประนมมือหันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้น แล้วกล่าวคำบูชาตามแบบที่กำหนดไว้ ตามประธานสงฆ์จนจบ

๔. ประธานสงฆ์ประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินนำหน้าแถว ไปทางขวามือของสถานที่เวียนเทียนนั้นจนครบ ๓ รอบ

การเดินขวาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง ตามธรรมเนียมอินเดียสมัยพุทธกาล

ในแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณตามลำดับ ดังนี้

รอบแรก ระลึกถึงพระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ

วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ

สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

คำแปล

เพราะเหตุอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงไกลจากกิเลส

เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

ทรงเป็นผู้สามารถฝึกบรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

ทรงเป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

รอบที่สอง ระลึกถึงพระธรรมคุณ

สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม

สันทิฏฐิโก อะกาลิโก

เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ (อ่านว่า วิญญูฮีติ)

คำแปล

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว

เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

เป็นสิ่งปฏิบัติได้และให้ผลได้โดยไม่จำกัดกาล

เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด

เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว

เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

รอบที่สาม ระลึกถึงพระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย

อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

คำแปล

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด

ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่

นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละ

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาต้อนรับ

เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน

เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี

เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

๕. เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว นำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่เตรียมไว้ ต่อจากนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถ หรือวิหารหรือศาลาการเปรียญ แล้วแต่ที่ทางวัดกำหนด

เริ่มทำวัตรเย็นและสวดมนต์ ทั้งบรรชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะธรรมดา เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติ และเรื่องที่เกี่ยวกับ วันมาฆบูชา ๑ กัณฑ์ เป็นอันเสร็จพิธี

หมายเหตุ

๑. ควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นพุทธบูชา

๒. ลำดับพิธีกรรมปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

คำบูชาในวันอัฏฐมีบูชา (สำหรับพระสงฆ์และประชาชน)

ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ.

สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย.

อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ. อะยัง โข ปะนะ ถูโป (ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ-, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง (ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา.

สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.


มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า

มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า

มกุฏพันธนเจดีย์ เป็นสถูปโบราณที่ถูกสร้างขึ้นตรงสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ได้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าในวันอัฏฐมีบูชา อยู่บริเวณด้านตะวันออกของ เมืองกุสินารา หรือปัจจุบันคือตำบลกาเซีย รัฐอุตตรประเทศ คนท้องถิ่นเรียกว่ารามภาร์-กา-ดีลา หรือรัมภาร์สถูป ตั้งอยู่ห่างจากมหาปรินิพพานสถูป ไปทางด้านทิศตะวันออก ๑ กิโลเมตร เดิมทีบริเวณมกุฏพันธนเจดีย์เป็นเชิงตะกอนไม้จันทร์หอมเพื่อใช้สำหรับถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงสั่งให้สร้างพระสถูปครอบบริเวณนั้นลง แต่สมัยต่อมาเมืองกุสิรานาถูกรุนรานและพระสถูปองค์นี้ถูกทำลายลงเหลือเพียงแต่ซากปรักหักพัง ภายหลังได้มีการค้นพบเป็นซากพระสถูปขนาดใหญ่ดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งต่อมารัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมพระสถูปองค์นี้ไว้อย่างดี ถ้าวัดรอบฐานของพระสถูปองค์นี้มีความยาวทั้งหมด ๔๖.๑๔ เมตร ส่วนเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๗.๑๘ เมตร


การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย (ในภาพ) การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา (First Buddhist council) ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา (The Sattapani Cave) ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมีพระมหากัสสปเถระ เป็นประธานสงฆ์

การสังคายนา หมายถึง การร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน มีระบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีการประชุมสงฆ์ดำเนินการรวบรวมจัดหมวดหมู่ จัดระบบให้เป็นที่เรียบร้อย แล้วมีการสวดซักซ้อมหรือสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน เป็นการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์แห่งพระธรรมวินัย และลงมติรับรองกันไว้เป็นหลักฐานสำคัญ แล้วมีการท่องจำ จดจำ หรือจารึกไว้สืบต่อมา

ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการประชุมสงฆ์ พระมหากัสสปเถระซึ่งเป็นผู้มีอายุพรรษามากกว่าพระสงฆ์ทุกรูปได้รับเลือกให้เป็นประธานสงฆ์ มีฐานะเป็นสังฆปริณายก (ผู้นำคณะสงฆ์) บริหารการคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ท่านจึงได้นำเรื่องที่พระภิกษุสุภัททะ กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยนั้นเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ ชวนให้ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยและได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ต่อจากนั้นมา ๓ เดือนก็ได้มีการประชุมทำสังคายนา ครั้งที่ ๑

ดูบทความหลักที่: การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท


มณฑารพ ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์

มณฑารพ หรือ มณฑา (อังกฤษ: Talauma candollei Bl.) อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับพวกจำปา จำปี และยี่หุบ เป็นไม้พุ่มสูงราว ๓-๑๐ เมตร เปลือกสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดใหญ่ รูปรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา มักเป็นคลื่นหรือเป็นลอน ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ หรือส่วนยอดของลำต้น มีสีเหลืองนวล มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ๓ กลีบ กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบดอกค่อนข้างหนา แข็ง ดอกมีกลิ่นหอมและส่งกลิ่นไปไกล โดยเฉพาะในตอนเช้าตรู่ จะส่งกลิ่นหอมแรงมาก และออกดอกตลอดปี ส่วนผลรูปรี ออกเป็นกลุ่ม และเนื่องจากมณฑามีดอกสวยและกลิ่นหอมจึงนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ

ดอกมณฑารพ ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์นี้ ตามตำนานกล่าวไว้ว่า เป็นดอกไม้ที่ไม่มีในโลกมนุษย์ และจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า คือ ประสูติ ตรัสรู้ ปลงอายุสังขาร ดับขันธปรินิพพาน วันจาตุรงคสันนิบาต วันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร และวันที่เสด็จลงจากเทวโลก หรือผู้มีฤทธิ์บางท่านแผลงฤทธิ์ เป็นต้น ซึ่งเทพเทวดาจะบันดาลให้ ดอกมณฑารพ ตกลงมาจากเทวโลก

ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

"ดูกรอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปราย ลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า ก็ประโคมอยู่ในอากาศ เพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต"

"ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ"

ในเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ทุกหนแห่งในเมืองกุสินาราเต็มไปด้วยดอกมณฑารพ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

"...สมัยนั้น เมืองกุสินาราเดียรดาษไปด้วยดอกมณฑารพโดยถ่องแถวประมาณแค่เข่า จนตลอดที่ต่อแห่งเรือน บ่อของโสโครกและกองหยากเยื่อ ครั้งนั้นพวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา สักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมมาลัยและของหอม ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์..."

นอกจากนี้ มณฑารพ ยังเป็นดอกไม้ของนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดีที่มีนามว่ากิริณีเทวี

— — ที่มา: หนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ ๗๘ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา